วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร


ความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

Community Attachment of people in Baanpukonkarntorpa Community

of Dusit District, Bangkok Metropolitan.

 

ภูสิทธ์ ขันติกุล

สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสังคม

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

 

บทคัดย่อ

การวิจัยได้กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ความพึงพอใจต่อชุมชน และความผูกพันต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า ปัจจัยที่มีผลต่อความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนบ้านพักองค์ทอผ้า โดยใช้เทคนิคการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบไม่อาศัยความน่าจะเป็น ด้วยวิธีการสุ่มแบบโควต้า เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม จำนวน 122 คน และวิธีการสุ่มแบบเจาะจง ด้วยการสัมภาษณ์ประชาชนที่เป็นอดีตพนักงานโรงงานองค์การทอผ้า จำนวน 30 คน และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ได้แก่  ค่ามัชฌิมเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน T- test, F-test และวิเคราะห์เชิงพรรณาตามโครงสร้างเนื้อหาแบบสัมภาษณ์ พบว่า ประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนโดยภาพรวมอยู่ระดับปานกลาง ซึ่งมีค่าเฉลี่ยมากที่สุดในการมีส่วนร่วมกิจกรรมวันแม่ และวันพ่อ ส่วนความพึงพอใจของประชาชนต่อพื้นที่ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ซึ่งมีค่าเฉลี่ยมากที่สุดในเรื่องการบริการน้ำประปาภายในชุมชน ส่วนความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าทั้งภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับสูง โดยประชาชนมีความผูกพันในสถานที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อความผูกพันของประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า ได้แก่ ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ต่อเดือน ระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชน สถานะการครอบครองที่อยู่อาศัย การมีเพื่อนบ้านที่สนิทสนมคุ้นเคยกันภายในชุมชน การพบปะพูดคุย สนทนาปรึกษาและขอความช่วยเหลือกับเพื่อนบ้านที่สนิทสนมคุ้นเคยกันภายในชุมชนและผลประโยชน์ที่ได้รับจากชุมชน ทั้งนี้ยังพบว่า ความพึงพอใจต่อชุมชนมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความผูกพันของประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าอยู่ในระดับสูง ซึ่งยิ่งประชาชนมีความพึงพอใจต่อชุมชนมากขึ้น ยิ่งทำให้ประชาชนผูกพันต่อชุมชนสูงขึ้นด้วย

คำสำคัญ :การมีส่วนรวม, ความพึงพอใจต่อชุมชน, ความผูกพันต่อชุมชน

 

Abstract

The objective of this research is to study the people’s level of participation in activities of the community, their satisfaction towards the community, the attachment they have to the community, factors that affect people’s community attachment. The method used was non-probability sampling by quota sampling. The questionnaires were conducted by 122 people. Purposive sampling was also used by interviewing 30 former Onkarntorpa factory workers. The data was analyzed by using descriptive statistics, such as arithmetic mean and standard deviation, as well as by inferential statistics, such as T-test, F-test and descriptive analysis. The results of the research is that the participation of the population in the Baanpukonkarntorpa Community in various activities is at a medium level, with the average participation level during Mother’s and Father’s Days. The people’s general level of satisfaction towards the premises of the Baanpukonkarntorpa Community is at a high level. The people are most satisfied with the water supply within the community. The attachment of the people to the Baanpukonkarntorpa Community in general and by each category is at a high level. The feeling that the community is their home rated the highest average. Factors that influence the attachment of the people of the Baanpukonkarntorpa Community are level of education, profession, income, length of stay in the community, status of occupied housing, having neighbors they feel close and familiar with, meeting and interacting with familiar neighbors in the community, and as well as the benefits they receive from the community. The satisfaction of the community has a high level of positive relationship with the attachment of the people to the Baanpukonkarntorpa Community. The characteristic of the attachment of the people to the Baanpukonkarntorpa Community is similar to a big family where everybody can depend on each other. The more the people are satisfied with the community will surely make them even more attached to the community.

Keywords: Participation, Community Satisfaction, Community Attachment

 

บทนำ

กระแสของการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อตอบสนองความต้องการอันรวดเร็วทันใจของมนุษย์ ยิ่งตอบความต้องการที่สะดวกสบายเท่าไหร่ ยิ่งทำให้มนุษย์ยอมรับนวัตกรรมใหม่ ๆ เหล่านั้น ง่ายมากขึ้นเช่นกัน ความต้องการที่จะพัฒนานี้เองที่ทำให้ภาครัฐเกิดความละเลยหรือขาดความรับผิดชอบต่อสังคม จนก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพ(พื้นที่ ภูมิศาสตร์)  สังคม และวัฒนธรรม ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและการสูญสิ้นวิถีการดำรงชีวิตดีงามอันเป็นรากเหง้าของประชาชนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผูกพันของประชาชนที่มีต่อชุมชนหรือท้องถิ่น อันเป็นคุณค่าของชีวิตที่ถูกถ่ายทอดให้กันและกันสืบทอดจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งของคนในชุมชน จนกลายเป็นภูมิปัญญาชุมชน นั่นถือเป็นสิ่งที่ตีค่ามิได้ ทำให้สูญหายไปพร้อมกับกระแสของการพัฒนา หรือนโยบายการพัฒนาจากภาครัฐ นอกจากนี้แล้วยังมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชน เช่น นิเวศวิทยา การยอมรับสิ่งใหม่ การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ลักษณะบุคลิกภาพของปัจเจกบุคคล สื่อสารมวลชน และการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข, 2537 : 71-77) สำหรับประเทศไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม เศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิต ความผูกพันของประชาชนอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมตั้งแต่ ปีพุทธศักราช 2504 ที่มีการประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกเป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากนโยบายของภาครัฐ คนเมืองมักจักกระทบก่อนคนชนบทแต่ถึงอย่างไรก็ตามความเป็นวิถีชีวิตของคนเมือง ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากนโยบายของภาครัฐย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในอดีตหรือปัจจุบันย่อมไม่แตกต่างกันกันนัก แต่สิ่งที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ประชาชนคนเมืองมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตนเองและชุมชน จนก่อให้เกิดความผูกพันต่อชุมชนที่เหนียวแน่นแข็งแกร่ง เป็นปราการที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่านโยบายของรัฐบาลจะกี่ยุคกี่สมัยก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการพัฒนาของรัฐบาลในปัจจุบันที่จะทำการสร้างรัฐสภาไทยแห่งใหม่ได้การสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ชุมชนที่อาศัยอยู่มาหลายสิบปี จนประชาชนมีความผูกพันต่อชุมชนที่อยู่อาศัยอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า ที่ตั้งชุมชนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2478 (ราว 75 ปี) ย่อมสะท้อนความผูกพันต่อชุมชนของคนในชุมชนมากน้อยเพียงใด ซึ่งคำว่า “ความผูกพัน” เกี่ยวกับความรู้ จิตใจ ทัศนคติต่อพื้นที่ หรือสถาบันที่ตนอยู่อาศัยหรือทำงาน

การเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล ที่มีแนวคิดเริ่มต้นมาตั้งแต่ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2544 โดยประธานรัฐสภา(นายอุทัย พิมพ์ใจชน) ได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาสถานที่ตั้งรัฐสภาแห่งใหม่ กระทั่ง วันที่ 22 พฤษภาคม 2545 กศร.(คณะกรรมการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ) ที่มีรองนายกรัฐมนตรี(นาย กร ทัพพะรังสี) เป็นประธานคณะกรรมการ มีมติเห็นชอบให้ใช้พื้นที่ราชพัสดุทหาร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ก่อสร้างศูนย์ราชการรัฐสภาแห่งใหม่ ตามแนวคิดของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เคยทำการศึกษาให้กับสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาเมื่อ ปี 2542 และจึงทำการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 คณะ ทำหน้ากำกับจัดทำผังเบื้องต้นศูนย์ราชการรัฐสภาแห่งใหม่นั่นเอง (คณะสถาปัตยกรรมสาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545 : 1-2) แนวคิดนี้เองที่ทำให้ประชาชนตระหนักรู้เสมอว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นภายในพื้นที่ชุมชนแถบนี้ นั่นคือ รัฐสภาไทยแห่งใหม่จะเข้ามาแทนที่ชุมชนและพื้นที่ราชการต่าง ๆ จนกระทั่งเกิดความชัดเจนขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ได้มีการประกาศผลแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ในขั้นตอนที่ 2 ปรากฏว่า แบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่ชื่อ “สัปปายะสภาสถาน” รหัส สงบ 1051 ประกอบด้วย นายธรีพล นิยม นายอเนก เจริญพิริยเวศ นายชาตรี ลดาลลิตสกุล และนายปิยเมศ ไกรฤกษ์ ได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะ (สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2552 : ประกาศ) โดยจะมีการก่อสร้างภายใต้พื้นที่ 119 ไร่ (มติชนรายวัน 2551, 15 สิงหาคม) การเปิดพื้นที่เพื่อเวนคืนยังไม่มีความชัดเจนให้กับประชาชน แผนการรองรับการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของคนที่ผูกพันกับชุมชนยังไม่มี ทำให้คนในพื้นที่มีความรู้สึกกังวลอย่างมากและเริ่มส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่แล้ว จนกระทั่งคนในพื้นที่ได้สะท้อนความรู้สึกและความคิดเห็นออกมาโดย "สุกาญจนา" ตัวแทนแม่บ้าน ขส.ทบ. เปิดเผยว่า หลังจากที่ทราบว่า จะมีการเวนคืนพื้นที่เพื่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ คนในชุมชนก็ไม่เห็นด้วยและต่างกินไม่ได้นอนไม่หลับ บางคนถึงขนาดเสียสติ เพราะไม่รู้ว่าหากย้ายไปอยู่ที่วัดสลักเหนือจริง วิถีชีวิตเราจะเป็นอย่างไร อีกทั้งเงินเดือนข้าราชการทหารก็น้อย ถ้าเราต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นกับการใช้ชีวิตในพื้นที่แห่งใหม่เราก็ไม่เอา (มติชนรายวัน 2551, 15 สิงหาคม) ส่วนนายอุบล ม่วงทิม ประธานชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า เปิดเผยว่า ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2478 และอยู่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น แม้ว่าปัจจุบันที่พักอาศัยจะเริ่มทรุดโทรม แต่คนในชุมชนก็ยังอยากจะอยู่อาศัยในพื้นที่เดิม ไม่เพียงแต่คนในชุมชนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่สิ่งที่น่าเสียดายอีกประการหนึ่งคือ “บ้าน และห้องแถวโบราณ อายุเกือบ 100 ปี”  ซึ่งปลูกสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 โดยองค์การทอผ้าสร้างให้พนักงานอยู่อาศัย ซึ่งมีอยู่ในชุมชนถึง 72 หลัง และควรบูรณะ เพื่ออนุรักษ์ไว้ อีกทั้งที่ผ่านมาทางชุมชนฯ ได้ทำแผนพัฒนา เพื่อปรับปรุงบ้านโบราณเหล่านี้ เพื่อให้น่าอยู่ขึ้นด้วย ดังนั้นมัน “ไม่ใช่แค่เรื่องย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่น แต่มันเป็นเรื่องความผูกพันที่เรามีกับชุมชนด้วย เราอยู่กันแบบชุมชนดูแลกันเอง ชุมชนของเราไม่เคยมีคดีลักขโมย หรือค้ายา เป็นชุมชนที่พ่อแม่ผู้ปกครองสบายใจได้ว่า หากลูกเดินออกจากโรงเรียน แล้วจะเข้ามาในตรอกซอกซอยจะไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องสภาพแวดล้อมที่ลูกหลานจะต้องมาเจอ” (ผู้จัดการออนไลน์ 2551, 19 สิงหาคม) ผลลัพธ์สุดท้ายของนโยบายคือ การวางมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยมีการศึกษา พิจารณา กำหนดเกณฑ์ที่ เหมาะสมในการกำหนดสิทธิที่ชุมชนควรจะได้รับ ตลอดจนดำเนินการตรวจสอบสิทธิของชุมชน และจัดทำทะเบียนผู้อยู่อาศัยในชุมชนที่จะได้รับการพิจารณาค่าชดเชย แก่ประชาชนชุมชนตระกูลดิษฐ์ จำนวน 37 ครอบครัว ๆ ละ 250,000 บาท และชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าแบ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับการชดเชยที่พักอาศัย จำนวน 79 ครอบครัว และผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนความเสียหายทางจิตใจ และค่าขนย้าย จำนวน 19 ครอบครัว ๆ ละ 60,000 บาท (คณะทำงานกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบจากการปฏิบัติตามพันธกิจที่ ๕ เสริมสร้างและพัฒนางานด้านการบริหารจัดการด้านวิชาการ และด้านบริการ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ม.ป.ป.) โดยนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานมอบเงินชดเชยให้กับประชาชน ที่อาศัยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ส่วนพนักงานองค์การทอผ้าได้รับการชดเชยที่พักอาศัย 79 ครอบครัวนั้น จะได้จัดสร้างบ้านพักแบบสองชั้นพื้นที่ 55 ตารางเมตร บนเนื้อที่ดิน 11.1 ตารางวาต่อแปลงให้อยู่อาศัยแทนโดยจะเริ่มดำเนินการในสิ้นปีนี้ (มติชนออนไลน์ 2553, 12 กรกฎาคม) ซึ่งจนปัจจุบัน (พ.ศ. 2554) ประชาชนที่สมควรจะได้รับการจัดสร้างบ้านเรือนให้สำหรับพนักงานองค์การทอผ้าตามแนวทางของรัฐสภานั้น ยังไม่ได้ดำเนินการเลย ส่วน 19 รายนั้นได้รับค่าชดเชยเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการชดเชยของรัฐที่ไม่ได้รับความเสมอภาคทำให้มีผลต่อความผูกพันของประชาชนในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นผู้วิจัย จึงคัดเลือกชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าที่ปัจจุบันมีสมาชิกในชุมชนก็ยังคงอาศัยอยู่แม้ว่าจะมีการทรุดโทรมอยู่บ้างแต่ทางชุมชนก็ได้มีการทำแผนบูรณะ โดยชุมชนมีพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ ในกรรมสิทธิ์ที่ดินของกรมธนารักษ์ ประชากรทั้งหมดประมาณ 350 คน ครอบครัว 91 หลังคาเรือนที่มีเลขทะเบียนบ้าน (พรรณี แววงามและปัทมา จิตมั่น, 2553 : สัมภาษณ์, 10 ธันวาคม) เพื่อทำการศึกษาการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ความพึงพอใจ และความผูกพันของประชาชนที่มีต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า เพื่อเป็นองค์ความรู้ให้กับประชาชนเพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนการสร้างความกลมเกลียวเหนี่ยวแน่นของคนชุมชนต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1. เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน ความพึงพอใจต่อชุมชน และความผูกพัน ของประชาชนต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

2. เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อความผูกพันของประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

 

ขอบเขตการวิจัย

1. ขอบเขตประชากร ประชากรไว้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประชาชน จำนวน 350 คน ได้กลุ่มตัวอย่างตามสูตรของ ท่าโร ยามาเน่ (Taro Yamane, 1973 : 125) จำนวน 122 กลุ่มตัวอย่าง โดยเก็บข้อมูลเฉพาะประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และกลุ่มอดีตพนักงานโรงงานทอผ้า จำนวน 30 คน โดยเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้ามาไม่น้อยกว่า 20 ปี

2. ขอบเขตตัวแปร มี 2 ส่วน คือ ตัวแปรอิสระ ได้แก่ตัวแปรบุคคล ประกอบด้วย อายุ ศาสนา สถานภาพสมรสระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ต่อเดือน ระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชน การเป็นสมาชิกกลุ่มในชุมชน การเป็นเจ้าของบ้านผลประโยชน์ที่ได้รับจากชุมชน ส่วนตัวแปรตาม ได้แก่ ความผูกพันต่อชุมชน ประกอบด้วยความผูกพันด้านสถานที่ ความรู้สึกรักชุมชน ความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ความผูกพันด้านการทำหน้าที่ ความสัมพันธ์ทางสังคม และความรู้สึกว่าเป็นบ้าน

3. ขอบเขตเวลา กำหนดทำการวิจัยตั้งแต่เดือน มีนาคม 2554 – ตุลาคม 2554

 

การทบทวนวรรณกรรม

1. “ความผูกพัน” หมายถึง มีความเป็นห่วงกังวลเพราะรักใคร่ ก่อให้เกิดพันธะที่จะต้องปฏิบัติตาม (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546 : 741) ส่วนวาสเซอร์แมน (Wasserman, 1982 : 423) แบ่งความผูกพันต่อชุมชนเป็น 2 มิติ คือ ความเป็นปึกแผ่นของชุมชน (community solidarity) หมายความว่า การมีทัศนคติและความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยที่มีต่อคนในชุมชนทั้งหมด และความพึงพอใจต่อชุมชน (community satisfaction) หมายความว่า การมีทัศนคติและความรู้ของผู้อยู่อาศัยที่มีต่อบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยและชุมชนของตนเอง ทั้งนี้ทอดโดริ และลูลอฟ (G. L. Theodori and A. E. Luloff, 2000 : 408) ได้แบ่งความผูกพันต่อสังคมออกเป็น 3 ประการ ได้แก่ ความรู้สึกว่าเป็นบ้าน (feeling at home) การออกจากความเศร้าโศก (sorrow leaving) ความเกี่ยวข้องกับชุมชน(interest in community) และที่สำคัญแนวคิดของครอส (Jennifer E. Cross, 2004) ได้จัดแบ่งความผูกพันกับชุมชนออกเป็น 5 มิติ ได้แก่ 1) ความผูกพันด้านสถานที่ 2) ความรู้สึกรักชุมชน 3) ความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน 4) ความผูกพันด้านการทำหน้าที่ และ 5) ความสัมพันธ์ทางสังคม

2. ผลการวิจัยที่เกี่ยวกับความผูกพันของประชาชนที่มีต่อชุมชนไว้ เช่น นัยน์ปพร สุภากรณ์ (2550 : 129-130) ได้ทำการศึกษาเรื่อง ความผูกพันกับชุมชนของประชาชนในชุมชนแขวงวัดกัลป์ยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ผลการศึกษาพบว่า ความผูกพันกับชุมชนของกลุ่มตัวอย่างในชุมชนแขวงวัดกัลป์ยาณ์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีระดับความผูกพันกับชุมชนรวมทุกด้านอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 75.4 (ค่าเฉลี่ย = 0.77) และเมื่อพิจารณารายด้านพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความผูกพันกับชุมชนด้านความรู้สึกรักชุมชนในระดับที่สูงที่สุด ร้อยละ 89.5 (ค่าเฉลี่ย = 0.90) เมื่อแยกพิจารณาตัวแปรอิสระแต่ละตัวกับตัวแปรตาม พบว่า อายุ ศาสนา ระยะเวลาที่อยู่อาศัยอยู่ในชุมชน และการเป็นเจ้าของบ้านมีความสัมพันธ์กับความผูกพันกับชุมชน ส่วนปรียานุช วิริยราชวัลลภ (2539 : 86-87) ศึกษาเรื่อง ความผูกพันต่อชุมชน กรณีศึกษา ชุมชนบ้านชี อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี พบว่า ความผูกพันของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 53.5) ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความผูกพันต่อชุมชน พบว่า ระยะเวลาของการอยู่อาศัย สถานภาพสมรส ความเป็นเจ้าของบ้าน ความเป็นเจ้าของที่ดิน การมีที่ดินทำกิน มีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับปานกลางกับความผูกพันต่อชุมชน เป็นต้น

 

วิธีดำเนินการวิจัย

                1. ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จำนวน 350 คน โดยกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างตามสูตรของ ท่าโร ยามาเน่ (Taro Yamane, 1973 : 125) ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 122 คน ใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างโดยไม่อาศัยความน่าจะเป็น (Non-Probability sampling) ด้วยวิธีการสุ่มแบบโควต้า (Quota Sampling) ตามเพศของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ เพศชาย 61 คน และเพศหญิง 61 คน และกำหนดตามอายุของกลุ่มตัวอย่างตั้งแต่ อายุ 18 ปีขึ้นไป และวิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) กับประชาชนที่เป็นอดีตพนักงานโรงงานองค์การทอผ้า กระทรวงกลาโหมก่อนมีประกาศพระราชกฤษฎีกายุบเลิกองค์การทอผ้า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา โดยเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าไม่น้อยกว่า 20 ปี

2. การวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วยการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) โดยใช้สถิติพรรณา(Descriptive Statistics) ได้แก่ ค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และใช้สถิติอ้างอิง (Inferential Statistics) เพื่อทำการเปรียบเทียบและทดสอบข้อมูล ได้แก่ Independent - Samples T test (T-test), One-Way ANOVA (F-test) ส่วนการวิเคราะห์แบบสัมภาษณ์ใช้วิธีวิเคราะห์เชิงพรรณา (Descriptive Analysis) ส่วนเกณฑ์ในการวัดระดับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ คือ ค่าเฉลี่ยระหว่าง 3.01 – 4.00 (มีส่วนร่วมมาก) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 2.01 – 3.00 (มีส่วนร่วมปานกลาง) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.00 – 2.00 (มีส่วนร่วมน้อย) ส่วนเกณฑ์วัดระดับความพึงพอใจต่อชุมชน คือ ค่าเฉลี่ยระหว่าง 4.21 - 5.00 (มากที่สุด) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 3.41 - 4.20 (มาก) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 2.61 - 3.40 (ปานกลาง) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.81 - 2.60 (น้อย) และค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.00 - 1.80 (น้อยที่สุด) (ธานินทร์ ศิลป์จารุ, 2549 : 77) รวมถึงเกณฑ์วัดระดับความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า คือ ค่าเฉลี่ยระหว่าง 3.68 - 5.00 (สูง) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 2.34 - 3.67 (ปานกลาง) และค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.00 - 2.33 (ต่ำ)

3. การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยเครื่องมือวิจัย 2 แบบ ได้แก่ เก็บข้อมูลแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 122 คน และแบบสัมภาษณ์ที่มีโครงสร้างสำหรับประชาชนที่เป็นอดีตพนักงานโรงงานองค์การทอผ้า กระทรวงกลาโหมก่อนมีประกาศพระราชกฤษฎีกายุบเลิกองค์การทอผ้า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2541 เป็นต้นมา โดยเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าไม่น้อยกว่า 20 ปี จำนวน 30 คน

 

ผลการวิจัย

                ประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนโดยภาพรวมอยู่ระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 2.62) ซึ่งประชาชนจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมวันแม่ และวันพ่อ (ค่าเฉลี่ย 3.55) มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ กิจกรรมวันสงกรานต์ และกิจกรรมวันปีใหม่และกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ส่วนความพึงพอใจของประชาชนต่อพื้นที่ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า เขตดุสิต กรุงเทพมหานครโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.43) โดยประชาชนจะมีความพึงพอใจในการบริการน้ำประปาภายในชุมชน (ค่าเฉลี่ย 3.97) มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ การบริการโทรศัพท์ การบริการไฟฟ้าการบริการด้านสุขภาพอนามัยรวมถึงการป้องกันและระบบรักษาความปลอดภัยภายในชุมชน ส่วนความผูกพันของประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าโดยภาพรวมอยู่ระดับสูง (ค่าเฉลี่ย 3.86) เมื่อพิจารณาตามรายด้านพบว่า ทุกด้านอยู่ในระดับสูง โดยเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ ด้านความผูกพันในสถานที่ (ค่าเฉลี่ย 3.97) ด้านความรู้สึกว่าเป็นบ้าน (ค่าเฉลี่ย 3.89) ด้านความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน (ค่าเฉลี่ย 3.87) ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม และความผูกพันด้านการทำหน้าที่ (ค่าเฉลี่ย 3.82) และด้านความรู้สึกรักชุมชน (ค่าเฉลี่ย 3.80) ดังตารางที่ 1 ต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงระดับความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าโดยภาพรวม

ลำดับ
ความผูกพันต่อชุมชนของประชาชน
Mean
S.D.
ระดับ
1
ความผูกพันในสถานที่
3.97
0.83
สูง
2
ด้านความรู้สึกรักชุมชน
3.80
0.80
สูง
3
ด้านความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน
3.87
0.85
สูง
4
ด้านความผูกพันการทำหน้าที่ในชุมชน
3.82
0.76
สูง
5
ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม
3.82
0.81
สูง
6
ด้านความรู้สึกว่าเป็นบ้าน
3.89
0.83
สูง
รวม
3.86
0.73
สูง

 

                ทั้งนี้จากการสัมภาษณ์ประชาชนที่เป็นอดีตพนักงานโรงงานทอผ้า พบว่า ความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1) ด้านความรู้สึกผูกพันกับสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชนนั้นรู้สึกผูกพันอย่างมาก เพราะอาศัยอยู่กันมายาวนานมาก ๆ หลายคนอาศัยอยู่มาตั้งแต่เด็ก หลายคนที่อยู่มาตั้งแต่ทำงานในโรงงานทอผ้า ของกระทรวงกลาโหม และหลายครอบครัวบ้านพักในชุมชนถือเป็นบ้านหลังแรกในกรุงเทพมหานครที่เก่าแก่มากตั้งแต่ยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้นเมื่อโรงงานทอผ้ายุบก็เป็นชุมชนอาศัยมาจนถึงปัจจุบันนี้

2) ด้านความรู้สึกรักชุมชน ประชาชนจะมีความรู้สึกรักโดยมักแสดงออกในการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ช่วยกันทำความสะอาดชุมชน และคอยช่วยเหลือคนในชุมชน และมีการสร้างอาชีพทำมาหากินในชุมชน และเป็นรู้สึกเป็นบ้านที่ดี

3) ด้านความรู้สึกว่าความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนนั้น ซึ่งชุมชนแห่งนี้เคยเป็นชุมชนที่พักของพนักงานโรงงานทอผ้ามาก่อน และประชาชนที่เป็นเจ้าบ้านจึงเป็นผู้ที่เคยประกอบอาชีพในโรงงานองค์การทอผ้าด้วยเช่นกัน

4) ด้านความรู้สึกผูกพันต่อหน้าที่ของประชาชนหลายคนจะอยู่ในกลุ่มที่เป็นผู้นำในชุมชน และมีบทบาทในการทำงานเพราะใจรักในฐานะเป็นกรรมการชุมชน เป็นอาสาสมัครศูนย์สุขภาพ โดยปัจจุบันคณะกรรมการชุมชนและผู้นำในชุมชนได้ทำหน้าที่ดูแลลูกบ้านเป็นอย่างดี มีความรับผิดชอบ ซึ่งการเป็นกรรมการชุมชนถือว่าเป็นจิตอาสาที่จะเสียสละเพื่อสังคมไม่มีผลตอบแทน ใด ๆ จากภาครัฐหรือชุมชน การทำงานให้กับชุมชนจึงทำให้ประชาชนมีความผูกพันกับบทบาทหน้าที่ของกรรมการชุมชนที่แสดงออกมา ซึ่งคนทำงานให้กับชุมชนต้องเป็นผู้ที่มีใจรัก

5) ด้านความสัมพันธ์ทางสังคมนั้น ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกผูกพันกันเหมือนญาติพี่น้อง มีความรักใคร่ห่วงใย ช่วยเหลือกันในทุกๆ เรื่อง เช่น เจ็บป่วย โดยบางวันก็ไปทานข้าวกับเพื่อนบ้าน และปรึกษาหารือร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน รักใคร่กันดี ซึ่งประชาชนในชุมชนจะคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันเสมอ มีสิ่งใดก็เอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน

6) ด้านความรู้สึกเป็นบ้าน ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกต่อชุมชนว่าเป็นบ้านหลังที่สองที่อยู่แล้วมีความสุข รู้สึกสบายใจ มีญาติพี่น้องที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่เด็ก มีมีความรักมีความสามัคคีกันภายในชุมชน มีเพื่อนบ้านที่ดี อบอุ่นสบายใจมาก และที่สำคัญทุกคนมีความรู้สึกที่ตรงกันว่า “ชุมชนนี้อยู่แล้วมีความสุข”

ปัจจัยปัจจัยที่มีผลต่อความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ได้แก่

-      ระดับการศึกษา โดยประชาชนที่มีระดับการศึกษาม. 3 มีความผูกพันต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าน้อยกว่าประชาชนที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่า ม.3, ม.6 หรือปวช. และอนุปริญญาตรี หรือ ปวส. และปริญญาตรีขึ้นไป

-      อาชีพ โดยประชาชนที่ประกอบอาชีพพ่อบ้าน แม่บ้าน มีความผูกพันต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าน้อยกว่าประชาชนที่ประกอบอาชีพรับจ้าง ค้าขาย ลูกจ้างบริษัทเอกชน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ รับราชการ และอื่น ๆ (นักศึกษา)

-      รายได้ต่อเดือน โดยประชาชนที่มีรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป มีความผูกพันต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้ามากกว่าประชาชนที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 5,000 บาท

-      ระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชน โดยประชาชนที่มีระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชนตั้งแต่ 31 ปีขึ้นไป มีความผูกพันต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้ามากกว่าประชาชนที่มีระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชนไม่เกิน 20 ปี

-      สถานะการครอบครองที่อยู่อาศัย โดยประชาชนที่มีสถานะเป็นผู้อาศัยมีความผูกพันต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้ามากกว่าประชาชนที่มีสถานะเป็นเจ้าของบ้าน

-      การมีเพื่อนบ้านที่สนิทสนมคุ้นเคยกันภายในชุมชน โดยประชาชนที่มีเพื่อนบ้านที่สนิทสนมคุ้นเคยกันกับทุกคนในชุมชนมีความผูกพันต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้ามากกว่าประชาชนที่มีเพื่อนบ้านที่สนิทสนมคุ้นเคยกันจำนวนมากแต่ไม่ทุกคน

-      การพบปะพูดคุย สนทนาปรึกษาและขอความช่วยเหลือกับเพื่อนบ้านที่สนิทสนมคุ้นเคยกันภายในชุมชน โดยประชาชนที่มีการพบปะพูดคุย สนทนาปรึกษาและขอความช่วยเหลือกับเพื่อนบ้านที่สนิทสนมคุ้นเคยกันภายในชุมชนทุก ๆ วัน มีความผูกพันต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้ามากกว่าประชาชนที่มีการพบปะพูดคุย สนทนาปรึกษาและขอความช่วยเหลือกับเพื่อนบ้านที่สนิทสนมคุ้นเคยกันภายในชุมชนเกือบทุกวันใน 1 สัปดาห์ และนาน ๆ ครั้ง (สัปดาห์/เดือนละครั้ง)

-      การได้รับผลประโยชน์จากชุมชน และความผูกพันต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พบว่าประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์จากชุมชน มีสัมพันธ์อยู่ระดับปานกลางค่อนสูง (r = 0.518) กับความผูกพันต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

 

อภิปรายผลการวิจัย

ความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ให้ความรู้สึกผูกพันในสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน มีความรู้สึกว่าเป็นบ้านหลังใหญ่ที่อยู่ร่วมกัน และชุมชนมีความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนอย่างชัดเจน เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าจำนวนมากอาศัยมากกว่า 20 ปีขึ้นไป และจะเห็นว่าผู้ที่เป็นอดีตพนักงานโรงงานทอผ้ายังอาศัยอยู่ในชุมชนจำนวนมากหลายคนที่อยู่มาตั้งแต่เกิด ทำให้ประชาชนจำนวนมากหรือเกือบทุกคนเป็นเพื่อนบ้านที่สนิทสนมคุ้นเคยกันภายในชุมชน มีการพบปะ พูดคุยสนทนาปรึกษาและขอความช่วยเหลือระหว่างกันแทบทุก ๆ วัน และส่วนใหญ่จะได้รับผลประโยชน์จากชุมชนโดยเฉพาะในเรื่องการมีแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืมภายในชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กองทุนออมทรัพย์ และสหกรณ์เคหะสถานชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า เป็นต้น การการคมนาคมขนส่ง ถนนหนทางภายในชุมชนมีความสะดวกสบาย การได้รับความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่อาศัยอยู่ในชุมชน รวมถึงการมีความอบอุ่นใจที่ได้รับมิตรภาพที่ดี ๆ จากเพื่อนบ้าน และสิ่งสำคัญที่สุดทุกคนมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า รู้สึกผูกพันกับสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน และชุมชนนี้เป็นเสมือนบ้านหลังใหญ่เป็นบ้านหลังที่สองที่ต้องคอยดูแลปกป้อง สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของราตรี หวานชะเอม อายุ 54 ปี อาศัยอยู่ในชุมชนมาแล้ว 54 ปี(ตั้งแต่เกิด) (2554 : สัมภาษณ์, 23 พฤษภาคม) ที่กล่าวว่า “...มีความผูกพันกับสถานที่เนื่องจากอาศัยอยู่มาตั้งแต่ทำงานอยู่โรงงานแล้ว พอโรงงานยุบก็กลายมาเป็นที่อยู่อาศัยมาจนทุกวันนี้...” และคำสัมภาษณ์ของรัชนีวรรณ ปรีทรัพย์ (2554 : สัมภาษณ์, 18 พฤษภาคม)กรรมการชุมชน อายุ 58 ปี อาศัยอยู่ในชุมชนมาแล้ว 58 ปี (ตั้งแต่เกิด) ที่กล่าวว่า “...ชุมชนแห่งนี้อยู่แล้วมีความสุข รู้สึกสบายใจ มีญาติพี่น้องที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน...” จึงทำให้ประชาชนในชุมชนมีความผูกพันกับชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าในระดับสูง ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยเกี่ยวกับ ความผูกพันกับชุมชนของประชาชนในชุมชนแขวงวัดกัลป์ยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ของนัยน์ปพร สุภากรณ์ (2550 : 129-130) พบผลการวิจัยว่า ความผูกพันกับชุมชนของกลุ่มตัวอย่างในชุมชนแขวงวัดกัลป์ยาณ์ มีระดับความผูกพันกับชุมชนรวมทุกด้านอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 75.4 (ค่าเฉลี่ย = 0.77)

 

ข้อเสนอแนะ

1. ประชาชนในชุมชนต้องหันมาส่งเสริมและคำนึงถึงชุมชนของตนเองเป็นสำคัญก่อนเสมอ โดยเฉพาะประชาชนที่มาอาศัยกับญาติในชุมชน เพื่อให้เข้าใจความเป็นชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าให้มาก ส่งเสริมให้รักชุมชน ให้เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องคอยดูแลรักษาชุมชน ต้องรู้จักพิทักษ์และปกป้องเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับชุมชน และที่สำคัญต้องรู้จักจะเสียสละเวลาและทุนทรัพย์เพื่อการพัฒนาชุมชน เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าเป็นเพียงที่พักอาศัย โดยอพยพมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาอยู่กับญาติชั่วคราวเพื่อมาทำงาน

2. การวิจัยครั้งต่อไปที่น่าสนใจคือการวิจัยเพื่อสร้างแผนความผูกของประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า

 

เอกสารอ้างอิง

คณะทำงานกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบจากการปฏิบัติตามพันธกิจที่ ๕ เสริมสร้างและพัฒนางานด้านการบริหารจัดการด้านวิชาการ และด้านบริการ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล.(ม.ป.ป.). เอกสารเผยแผ่ มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง “โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่”.  สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
คณะสถาปัตยกรรมสาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2545). โครงการจัดทำผังเบื้องต้นศูนย์ราชการรัฐสภาแห่งใหม่ (รายงานผลงานวิจัย). สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
ธานินทร์ ศิลป์จารุ. (2549). การวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วย SPSS. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร: วี. อินเตอร์ พริ้น.
นัยน์ปพร สุภากรณ์. (2550). ความผูกพันกับชุมชนของประชาชนในชุมชนแขวงวัดกัลป์ยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สังคมวิทยาประยุกต์) ไม่ได้ตีพิมพ์,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
เนรมิต ต้นภูบาล, (2554, 20 พฤษภาคม). สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง/กลุ่มออมทรัพย์/ประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า. สัมภาษณ์.
ประทุม สีหมอก, (2554, 18 พฤษภาคม). สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์/ประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า. สัมภาษณ์.
ปรียานุช วิริยราชวัลลภ. (2539). ความผูกพันต่อชุมชน กรณีศึกษา ชุมชนบ้านชี อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต(สังคมวิทยา) ไม่ได้ตีพิมพ์,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
นัยน์ปพร สุภากรณ์. (2550). ความผูกพันกับชุมชนของประชาชนในชุมชนแขวงวัดกัลป์ยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สังคมวิทยาประยุกต์) ไม่ได้ตีพิมพ์,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2546). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2542. กรุงเทพมหานคร : นามีบุ๊คส์ พับลิเคชั่นส์.
พรรณี แววงามและปัทมา จิตมั่น, (2553, 10 ธันวาคม). อาสาสมัครสาธารณสุขศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า.  สัมภาษณ์.
รัชนีวรรณ ปรีทรัพย์, (2554, 18 พฤษภาคม). เลขานุการประธานชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า. สัมภาษณ์.
ราตรี หวานชะเอม, (2554, 23 พฤษภาคม). อาสาสมัครสาธารณสุขศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า. สัมภาษณ์.
สมศักดิ์ ศรีสันติสุข. (2537). สังคมวิทยาชุมชน. ขอนแก่น : ภาควิชาสังคมิวทยาและมานุษยิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2552). ประกาศคณะกรรมการตัดสิน เรื่อง การประกวดการออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ขั้นตอนที่ 2. ประกาศ ณ วันที่ 2 เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2552, โดยนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา, ประธานกรรมการ.
รัฐสภาหลังใหม่ ความสง่างามบนคราบน้ำตา นร.-ปชช. (2551). หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2554 จาก http://www.manager.co.th/home/
 
รัฐสภาแห่งใหม่ บนน้ำตาชาว “เกียกกาย”. (2551).หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. วันที่ 15 สิงหาคม 2551. ฉบับที่ 11115.
รัฐสภาจ่ายเงินชดเชยสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ให้แก่ 56 ครอบครัว. (2553). หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ  10 สิงหาคม 2554 จาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1278909589&grpid=03&catid=00
พระบรมฯ”ทรงเป็นองค์ประธานวางศิลาฤกษ์”รัฐสภา”แห่งใหม่. (2553). หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ  12 สิงหาคม 2554 จาก http://www.matichon.co.th/
อุบล ม่วงทิม, (2554, พฤษภาคม 23). ประธานชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า. สัมภาษณ์.
Theodori, G. L. and A. E. Luloff. (2000). Urbanization and Community Attachment in Rural Areas in Society & Natural Resources. Taylor & Francis, 13 : 399-420.
Wasserman, Ira M. (1982). “size of place in relation to community attachment and satisfaction with community services” in Social Indicators Research. 11.
Jennifer E. Cross. (2004). “Improving Measure of Community Attachment” Prepared For the annual Meeting of the Rural Sociology Society. August 12-15.
Yamane, Taro. (1973). Statistics : An Introductory Analysis. (3 rd ed.). Tokyo : Harper.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น