วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนบนพื้นที่เช่า กรณีศึกษาชุมชนพัฒนาซอยระนองกลาง



The changing ways of life on the rented land: Case study

of Patthana Soi Ranongklang Community


ภูสิทธ์  ขันติกุล

สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสังคม

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา


บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชนทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจบนพื้นที่เช่าราชพัสดุของชุมชนพัฒนาซอยระนองกลาง เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร  เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสำรวจสภาพข้อมูลทั่วไปของชุมชน และแบบสัมภาษณ์ โดยมีเทคนิคเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบไม่ใช้ความน่าจะเป็น (Non-Probability Sampling) คือ แบบสโนว์บอล (Snowball Sampling) สำหรับสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน และปราชญ์ชาวบ้าน รวม 15 คน แล้วนำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยการตีความสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (inductive) และวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content analysis) เป็นหลัก ผลการศึกษาดังนี้ ชุมชนพัฒนาซอยระนองกลางมีอายุราว 54 ปี (พ.ศ. 2499) ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 7 ไร่ โดยชาวบ้านจะเช่าพื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ลักษณะเป็นชุมชนเปิดและแออัด ชาวบ้านมีวิถีชีวิตแบบคนเมือง สภาพการดำรงชีวิตจึงอยู่กับความเร่งรีบตลอดเวลา ความผูกพันกลมเกลียวในครอบครัวกลับเริ่มจืดจางลงไป   ทุก ๆ วัน เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่กับการทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นหลัก ทั้งในชุมชนและนอกชุมชนจึงไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัวและคนในชุมชนนัก ภาระการพัฒนาชุมชนจึงตกอยู่กับกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน จนส่งผลถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของชาวบ้านทุกคนเริ่มน้อยลงกว่าในอดีตอย่างมาก แต่ถึงอย่างไรชาวบ้านยังคงร่วมมือร่วมใจกันสืบสานประเพณีอันดีงามไว้มาตลอดเริ่มตั้งแต่ตั้งเป็นชุมชน คือ การทำบุญในวันขึ้นปีใหม่ และประเพณีวันสงกรานต์

คำสำคัญ: วิถีชีวิต, การเปลี่ยนแปลง, การศึกษาชุมชน, ชุมชนพัฒนาซอยระนองกลาง





ABSTRACT

This research aims to study the community history and the changing way of life of “Patthana Soi Ranongklang Community”, which concentrated on community way of life, social context, economic and culture. In order to complete the purposes, this research focused on qualitative methods that they were useful to gain detail about the issues studied. Research instruments used are general checklist, questionnaire, interviewing key local informants and scholars by used Non-probability Sampling technique (Snowball Sampling). Inductive and content analysis was used to ascertain information of the “Patthana Soi Ranongklang Community” changing way of life. The finding are that “Patthana Soi Ranongklang Community”, 54 years old (1956) which is situated on 7 rai of the land belong to the Treasury Department, Ministry of Finance. It is on open community but crowded. The people have urban lifestyle, which depends on hurry/rush all the time. That causes the harmony relationship in the family diminishes. As most of the community members have to spend most of the time earning money, both either the community and outside, thus they don’t have time for their family and their neighbours. So the aged people have to be responsible for the community development. The effect is that the participation from the community members mostly reduce from the past. However, the Community still conserved their community culture since they settle down their community which is Songkran and New Year Festival.

Keywords: Way of life, Changing, Study to the Community, Patthana Soi Ranongklang Community,


หลักการและเหตุผล (Reasonable)

ชุมชนพัฒนาซอยระนองกลาง เป็นหนึ่งใน 44 ชุมชนของเขตดุสิต บนถนนสายสำคัญที่แห่งหนึ่งของเขต คือ ถนนลก (ถนนพระราม 5) แขวงถนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นชุมชนที่มีอายุราว 54 ปี (พ.ศ. 2499) อยู่บนพื้นที่เช่าราชพัสดุของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง คนในชุมชนเกือบทั้งหมดถูกย้ายที่มาจากบริเวณสะพานมัฆวาฬรังสรรค์ (ปัจจุบันเป็นที่ทำการองค์การสหประชาชาติ) การเริ่มต้นใหม่กับพื้นที่ทุ่งนาสำหรับชุมชนใหม่ ทำให้วิถีชีวิตชาวบ้านลำบากมากยิ่งขึ้นในช่วงเริ่มต้นสร้างชุมชน วิถีชีวิตของคนต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพอย่าง ทำให้เกิดอาชีพทั้งในชุมชนและนอกชุมชนหลากหลายตามความถนัดของตน นอกจากนี้การคมนาคมขนส่งยังไม่สะดวก สาธารณูปโภคไม่มี จนในที่สุดประชาชนหลายคนตัดสินใจหยิบวิถีชีวิตความเป็นสมถะเรียบง่ายมาใช้เพื่อยังชีพตนเองและครอบครัว เพื่อให้ตนเองและครอบครัวได้ดำรงชีวิตอยู่บนพื้นที่เช่าของทางการแห่งนี้ต่อไปให้นานที่สุด แต่สิ่งที่ไม่เคยหายไปจากความรู้สึกของชาวบ้านผู้สูงอายุรุ่นเก่าของชุมชนเลยว่า “พวกเราถูกไล่ที่มา”  และติดค้างอยู่ในใจตราบจนปัจจุบัน เมื่อกระแสของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้หลั่งไหลเข้าสู่ชุมชน ตั้งแต่มีการพัฒนาถนนพระราม 5 ให้เจริญขึ้น วิถีชีวิตของชาวบ้านก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ชาวบ้านเปิดรับความเจริญทางด้านวัตถุและวัฒนธรรมจากภายนอกมากขึ้น ชุมชนเปลี่ยนแปลงไปทั้งทางกายภาพ สังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรม  จนทิ้งไว้เฉพาะร่องรอยอดีตที่จวนเจียนจะหายไปจากชุมชน หากไม่มีการศึกษาไว้ ย่อมสูญเสียองค์ความรู้ที่สำคัญที่จะรู้ถึงการดำรงชีวิตอยู่ของชาวบ้านบนพื้นที่เช่าของทางราชการนี้ไปได้ การที่สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมได้เปลี่ยนแปลงไปจากชุมชนดั้งเดิมนั้นแนวคิดของ สัญญา สัญญาวิวัฒน์ (2549 : 5-8) ที่ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นการสะท้อนความแตกต่างของสิ่งนั้นเมื่อเปรียบเทียบกันสองเวลา อาจเกิดที่ลักษณะรูปทางกายภาพหรือเกิดที่หน้าที่ก็ได้ รวมถึงอาจเกิดจากหลายสาเหตุทั้งสาเหตุภายใน เช่น ปัจจัยธรรมชาติ ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ส่วนสาเหตุภายนอกทั้งในยามสงบและยามสงคราม มีการติดต่อระหว่างประเทศ เป็นต้น ส่วนนันทพร ศรีสุทธะ (2544 : 8) ได้แสดงแนวคิดว่าการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตคน หรือชุมชนนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักเสมอคือเข้าใจวัฒนธรรม การดำรงชีวิตของแต่ละชุมชนให้เข้าใจก่อน ซึ่งคำว่า “วิถีชีวิต” นั้นคือการที่บุคคลแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ เป็นประจำวันอย่างสม่ำเสมอ เป็นนิสัย ซึ่งจะสะท้อนทัศนคติ และวัฒนธรรมของบุคคล เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคลในเรื่องที่อยู่อาศัย ลักษณะครอบครัว ขนบธรรมเนียมประเพณี การดูแลสุขภาพ พฤติกรรมสุขภาพของบุคคลนั้น จะได้รับอิทธิพลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสิ่งแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ความแตกต่างของรายได้ การศึกษา อาชีพ ความเชื่อของบุคคล จะเป็นตัวกำหนดทำให้เกิดความแตกต่างของกิจกรรมในชีวิตประจำวัน  นอกจากนี้มีผลการวิจัยของ ชนินทร์ วิเศษสิทธิกุล (2547: บทคัดย่อ) พบว่าการเปลี่ยนแปลงชีวิตสังคมเมือง ซึ่งมิได้สอดคล้องกันระหว่างแนวทางพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์กับการใช้พื้นที่ของคนในพื้นที่ สำหรับสภาพชีวิตของผู้คนต่างมีความสัมพันธ์และกิจกรรมการใช้พื้นที่อย่างแน่นแฟ้น แต่ในการพัฒนาและอนุรักษ์ที่เข้ามาสู่พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ไม่ได้มีการพิจารณาถึงสภาพชีวิตสังคมเมือง จึงทำให้สภาพชีวิตสังคมเมืองในปัจจุบันถูกทำลายไปและยังเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เป็นต้น

ดังนั้นด้วยเหตุผลและแนวคิดดังกล่าวจึงทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะการศึกษาการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชนทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจบนพื้นที่เช่าของชุมชนพัฒนาซอยระนองกลาง เขตดุสิต กรุงเทพมหานครเป็นอย่างไร เพื่อสะท้อนให้ผู้นำชุมชน ประชาชนในชุมชนได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์รักษาร่องรอยในอดีตของชุมชนอันเป็นรากเหง้าที่ดีงามของชุมชนไว้ให้อยู่อย่างยั่งยืนและเตรียมความพร้อมให้กับการดำรงวิถีชีวิตในปัจจุบันต่อไป


วัตถุประสงค์ (Objectives)

เพื่อศึกษาความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชนทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจบนพื้นที่เช่าราชพัสดุ ชุมชนพัฒนาซอยระนองกลาง เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร


ระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology)

                การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสำรวจสภาพข้อมูลทั่วไปของชุมชน และแบบสัมภาษณ์ โดยมีเทคนิคเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบไม่ใช้ความน่าจะเป็น(Non-Probability Sampling) คือ แบบสโนว์บอล (Snowball Sampling) โดยสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน เป็นลำดับแรก และปราชญ์ชาวบ้าน รวม 15 คน หรือจนกว่าข้อมูลจะสมบูรณ์แล้วนำมาวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงตรรกะเหตุผล โดยการตีความสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (inductive) และวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content analysis) เป็นหลัก เมื่อสรุปผลการวิจัยแล้วมีการยืนยัน(Data Verify) ผลการวิจัยให้กับชุมชนรับรองด้วย


ผลการวิจัย (Result)

                ย้อนอดีตราว ๆ 54 ปีที่แล้ว ก่อนการตั้งเป็นชุมชนพัฒนาซอยระนองกลาง บนพื้นที่จำนวน 7 ไร่แห่งนี้เคยเป็นท้องทุ่งนา ชาวบ้านระแวกนี้มีอาชีพทำนาและสวนผลไม้เป็นหลัก วิถีชีวิตอยู่กันอย่างเรียบง่าย การปลูกบ้านมีขอบเขตของตัวเองอย่างชัดเจน ส่วนการเดินทาง คมนาคมขนส่ง    ต่าง ๆ ไม่ค่อยสะดวกนัก โดยชาวบ้านจะใช้ถนนลก (สมัยราชกาลที่ 5) ในการสัญจรไปมา ปัจจุบันเรียกว่า ถนนพระราม 5 (เทพชู ทับทอง, 2524 : 86)  ลักษณะถนนพระราม 5 ในอดีตเป็นเพียงถนนเล็ก ๆ แคบ ๆ ไม่มีรถเมล์วิ่งผ่าน มีเพียงสามล้อถีบเท่านั้นที่วิ่งส่งชาวบ้านเข้าพระนคร เริ่มต้นก่อตั้งชุมชน บนพื้นที่ราชพัสดุอยู่ในกรรมสิทธิ์ของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งชาวบ้านจะต้องเช่าอยู่อาศัยในตารางวาละ 5-6 บาท โดยภูมิหลังของชาวบ้านส่วนใหญ่ถูกย้ายมาจากชุมชนเดิม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณติดวัดมงกุฎกษัตริยาราม เมื่อ พ.ศ. 2499 ตรงกับจุดที่ทางราชการมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นที่ประชุมสภาของโลก (ปัจจุบันเป็นที่ทำการองค์การสหประชาชาติ)นั่นเอง จึงเป็นสาเหตุสำคัญให้มีเจ้าหน้าที่ของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง กองรักษาที่หลวงร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนางเลิ้งได้เชิญ (แต่ชาวบ้านรู้สึกเสมอว่า “พวกเราถูกไล่ที่มา”) โดยได้ให้ชาวบ้านทั้งหมดที่อยู่อาศัยบริเวณสะพานมัฆวาฬรังสรรค์ออกจากพื้นที่ แล้วจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้ในที่ดินของกรมธนารักษ์นอกพระนคร ซึ่งติดถนนพระราม 5 อยู่ระหว่างถนนระนอง 1และระนอง 2 จึงได้เรียกว่า “ระนองกลาง” (แต่เดิม) ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ย้ายครอบครัวมาตั้งสร้างชุมชนใหม่ในที่แห่งนี้ แต่มีอีกส่วนหนึ่งได้แยกย้ายไปอยู่ที่อื่นตามความสมัครใจ นับแต่ปี 2499 เป็นต้นมาทางราชการคือ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้เก็บค่าเช่าจากชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่แห่งนี้ทุกปี การมาตั้งชุมชนใหม่ทำให้ชาวบ้านต้องดิ้นรนและปกป้องตนเองในการรังแกจากชุมชนอื่น ๆ ทำให้ชุมชนแห่งนี้ในอดีตมีชื่อเสียงในเรื่อง “การเป็นนักเลง” และชาวบ้านแถบนั้นจะรู้จักในชื่อว่า “นักเลงระนองกลาง” จึงไม่ค่อยมีคนที่อื่นกล้าเข้ามาทำความเดือดร้อนหรือสร้างปัญหาให้ คนเก่า ๆ ในชุมชนซึ่งเคยเป็นนักเลงก็ล้มหายตายจากและบางคนได้ย้ายไปอยู่ที่อื่นหมดแล้ว และปัจจุบันนี้ชาวบ้านอยู่กันอย่างรักใคร่กลมเกลียวกันเป็นอย่างดี

                การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชนในบริบททางสังคม พบว่า จากสภาพสังคมที่เรียบง่าย กลายเป็นสภาพชุมชนแออัด มีผู้คนอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น ลักษณะเป็นชุมชนเปิดถึงแม้จะมีทางหลักเป็นทางตันแต่ก็สามารถเข้าออกได้ 3 ทาง ได้แก่ ทางเข้าถนนพระราม 5 เป็นทางเข้าหลัก ทางเข้าถนนระนอง 1 และถนนรอง 2 เป็นทางเข้ารอง ชาบ้านใช้พื้นที่จำนวน 7 ไร่ เต็มพื้นที่โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ติด ๆ กัน ระหว่างบ้านมีซอยเล็ก ๆ สำหรับทางเดิน ถนนที่ใช้ในการสัญจรของคนกลายเป็นที่จอดรถของชาวบ้าน ลักษณะของบ้านมีความหลากหลายมากทั้งที่เป็นบ้านปูนและไม้ 2 ชั้นติด ๆ กัน สำหรับเป็นที่พักอาศัยอย่างเดียวไม่มีรั้วรอบขอบชิด มีทั้งที่ยังคงสภาพเดิมราว 50 กว่าปีที่แล้วไว้อย่างชัดเจน และปรับปรุงให้มีสภาพที่สมบูรณ์ขึ้น และมีบ้านอีกจำนวนหนึ่งที่มีรั้วรอบขอบชิด


















ภาพที่ 1 ลักษณะเป็นบ้านไม้ 2 ชั้นติดกัน                     ภาพที่ 2 ลักษณะเป็นบ้านปูนและไม้ 2 ชั้น

ไม่มีรั้วรอบขอบชิด (สภาพเดิม 50 กว่าปี)                    ติดกันที่ไม่มีรั้วรอบขอบชิด (ปรับปรุงใหม่)











       



ภาพที่ 3 ลักษณะเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น                                                ภาพที่ 4 ตรอกสำหรับเดินเข้า - ออกระหว่าง

ที่มีรั้วรอบขอบชิด (ปรับปรุงใหม่)                                  บ้าน(สะท้อนภาพบ้านเรือนเมื่อ 50 ปีที่แล้ว)













ภาพที่ 5 ถนนสัญจรภายในชุมชนกลายเป็นที่จอดรถประจำของชาวบ้าน

ส่วนลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวขยายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่กันตั้งแต่ปู่ย่า พ่อแม่ ลูก แต่พบว่าความผูกพันในครอบครัวนั้นเริ่มน้อยลงซึ่งสาเหตุหนึ่ง คือชาวบ้านต้องออกไปทำงานนอกชุมชน เพราะการย้ายชุมชนมาก็เพียงย้ายที่อยู่อาศัยมาเท่านั้นแต่การทำงานประกอบอาชีพยังต้องอยู่ระแวกเดิม และอีกปัจจัยหนึ่ง คือการต้องดิ้นรนประกอบอาชีพทั้งในชุมชนหรือใกล้ชุมชน จึงทำให้ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นหลัก ส่งผลให้ไม่ค่อยมีเวลากับคนในครอบครัวมากนัก ทำให้วิถีชีวิตมีลักษณะที่ว่า “พ่อแม่ ต้องออกไปทำงานนอกบ้านแต่เช้า ลูกไปโรงเรียน ปู่ย่าตายายดูแลบ้าน โอกาสได้พูดคุยกันในแต่ละวันมีน้อยมาก ทำให้ความอบอุ่นในครอบครัวเริ่มจืดจางลงไป และมีหลายครอบครัวมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันบ่อยขึ้น” จากการสังเกตพบว่า วันจันทร์ – วันศุกร์ จะไม่ค่อยมีประชาชนวัยทำงานอยู่เลย จะเหลือแต่ผู้สูงอายุในชุมชนคอยดูแลบ้าน ชุมชนจะเงียบมาก คำถามที่ว่า ทำไมประชาชนทุกคนต้องดิ้นรนกันมากจนลืมความสุขในชีวิตครอบครัวไป ก็เพราะว่า ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนมีเป็นจำนวนมากและส่วนหนึ่งที่ต้องจ่ายนั่นก็คือ ค่าเช่าที่ราชพัสดุของทางราชการ(กรมธนารักษ์) นั่นเอง จากคำสัมภาษณ์ของคุณกัลยา สุกอร่าม รองประธานชุมชน (2553 : สัมภาษณ์) พบว่า “ค่าเช่าพื้นที่อยู่ที่ตารางวาละ 5-6 บาทก็จริง แต่ครอบครัวหนึ่งมีหลายสิบตารางว่า อย่างที่บ้านก็ต้องจ่ายเดือนหนึ่ง ประมาณ 5,000 บาท ซึ่งต้องช่วยกันหามาจ่ายกับทางการให้ได้

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชนในบริบททางเศรษฐกิจ พบว่า จากอาชีพที่ทำงานนอกชุมชนเป็นหลักปัจจุบันนี้มีลักษณะของการประกอบอาชีพอยู่ในชุมชนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอาชีพใช้แรงงาน รับจ้างทั่วไป กิจการส่วนตัว ซึ่งจากการสำรวจการประกอบอาชีพภายในชุมชนจะพบว่า ภายในชุมชนจะมีร้านของชำ จำนวน 3 ร้าน, ร้านอาหารตามสั่ง 3 ร้าน, ร้านซ่อม 3 ร้าน, ร้านซักรีด 3 ร้าน มีร้านเสริมสวย/ความงาม จำนวน 2 ร้าน และมีรถเข็นค้าขายจำนวนหลายคันเช่นกัน รวมถึงมีรถยนต์ส่วนตัวจำนวนมากที่จอดอยู่ในชุมชน จากการสอบถามพบว่า หลากครอบครัวมีอาชีพอยู่นอกชุมชนจะใช้ชุมชนเป็นเพียงที่พักอาศัยเป็นหลัก

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชนในบริบททางวัฒนธรรม พบว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนพัฒนาซอยระนองกลาง ส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อชาติไทยที่อาศัยอยู่ตั้งแต่ตั้งเป็นชุมชน มีส่วนน้อยมากที่อพยพมาจากต่างจังหวัด โดยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนายึดเหนี่ยวจิตใจเสมอมา ซึ่งในวันพระแรม 8 ค่ำ และขึ้น 15 ค่ำ จะมีการถือศีลอยู่ภายในศาลาธรรม และมีการสวดมนต์ตอนเช้าเวลา 9.00 นาฬิกาของทุกวัน โดยชุมชนจะมีศาลาธรรมที่ร่วมกันสร้างขึ้น ประชาชนเรียกว่า “วัดดวงใจ 72 พรรษาระนองกลาง” ใช้ประกอบพิธีกรรมของชุมชน เช่น การทำบุญวันธรรมสวนะ ทำวัตรสวดมนต์ สรงน้ำพระ ทำบุญวันสงกรานต์ และวันขึ้นปีใหม่ ทำกิจกรรมเหล่านี้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2499 (54 ปี)โดยจัดกิจกรรมทุกปี ส่วนประเพณีที่ชุมชนได้ดำรงไว้อย่างมั่นคงเป็นหลักให้กับชาวบ้านในชุมชนได้มีส่วนร่วมกันทำบุญกันอย่างยิ่งใหญ่และยังคงยึดถือตราบจนทุกวันนี้ ได้แก่ ประเพณีวันสงกรานต์ จัดขึ้นที่วัดดวงใจ 72 พรรษาระนองกลาง ในวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี ในงานจะมีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษและผู้มีพระคุณทุกท่าน และมีอีกประเพณีหนึ่งที่สำคัญถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานเช่นเดียวกัน ได้แก่ประเพณีทำบุญตักบาตรวันปีใหม่นั่นเอง




















ภาพที่ 4 กิจกรรมสวดมนต์ตอนเช้าของทุกวัน              ภาพที่ 5 ศาลาธรรม วัดดวงใจ 72 พรรษา

ในชุมชนระนองกลาง                                                      ระนองกลาง

ณ ศาลาธรรม วัดดวงใจ 72 พรรษาระนองกลาง


ผู้วิจัยสามารถยืนยันได้ว่าการดำรงชีวิตของประชาชนในชุมชนพัฒนาซอยระนองกลาง ตั้งแต่อดีตราว 54 ปีที่แล้ว จนกระทั่งปัจจุบันเป็น วิถีชีวิตของคนเมือง ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนขึ้นอยู่กับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสความเจริญที่หลั่งไหลเข้ามาในชุมชน และสิ่งสำคัญที่สุด ความเปลี่ยนแปลงของดำรงชีวิตทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมในชุมชนพัฒนาซอยระนองกลางแต่ละวันจากอดีตถึงปัจจุบันถูกแขวนไว้กับนโยบายของรัฐนั่นเอง


อภิปรายผล (Discussion of Research)

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในชุมชนพัฒนาซอยระนองกลางทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเริ่มตั้งแต่ก่อตั้งชุมชน โดยบริบททางสังคม ชุมชนมีลักษณะเป็นเมืองและแออัด จัดเป็นชุมชนเปิดที่มีการพัฒนาเต็มพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงของชุมชนมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปตามศักยภาพของชาวบ้าน สาธารณูปโภคและสาธารณูปการมีสมบูรณ์เช่นเดียวกับชุมชนเมืองทั่วไป ส่วนบริบททางเศรษฐกิจนั้นเห็นได้ว่ามีการประกอบอาชีพที่หลากหลายตามความถนัดของตนเอง โดยส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพที่ทำงานนอกชุมชน ทั้งอาชีพรับจ้าง ค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว รับราชการ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์ของผู้นำชุมชน ที่ว่า “ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเพเดิมทำงานนอกชุมชนเป็นหลัก และจะมีอาชีพอยู่ในระแวกเดิมด้วย ส่วนอาชีพในชุมชนก็มีความหลากหลายในการประกอบอาชีพ ทั้งค้าขาย ร้ายอาหาร รับจ้างทั่วไป รวมถึงลูกจ้างและรับราชการบริษัทต่าง ๆ ด้วย” (วิมล วงษ์แสงจันทร์, 2552: สัมภาษณ์) ส่วนบริบททางวัฒนธรรมประเพณีของชาวบ้านส่วนใหญ่ถือคติความเชื่อตามหลักของพุทธศาสนา ซึ่งชุมชนแห่งนี้จะมีศาลาธรรม ที่ชาวบานเรียกว่า วัดดวงใจ 72 พรรษาระนองกลาง เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความคติความเชื่อของตน ดังเช่น สวดมนต์ไหว้พระทุกเช้าของผู้สูงอายุในชุมชน และประเพณีที่ชาวบ้านในชุมชนได้ให้ความสำคัญ ก็คือการทำบุญในวันปีใหม่และวันสงกรานต์ตั้งเริ่มตั้งชุมชนแล้ว สอดคล้องกับผลการวิจัยของ วิวัฒนชัย บุญญานุพงศ์ (2544 : บทคัดย่อ) ได้วิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชน: ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนมอญบ้านเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ผลการวิจัยพบว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชนในกิจกรรมการทำบุญในวันสงกรานต์เป็นประจำสูงกว่ากิจกรรมอื่น ๆ เพราะเป็นประเพณีที่แสดงออกได้ถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และขอพรผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของชาวมอญเกาะเกร็ด และผลการวิจัยของทองพูล วงษา (2547 : 75) เรื่อง การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมเศรษฐกิจ กรณีศึกษาบ้านหินลับศิลามงคล ตำบลหนองสรรค์ อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู พบว่า ชาวบ้านหินลับศิลามงคลเป็นผู้ยึดถือคำสอนของศาสนาพุทธ และปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนา ทุกคนมีความกลัวต่อการทำบาป และในวันที่ 13 เมษายนของทุกปีจะมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

เมื่อสรุปโดยรวม พบว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนพัฒนาซอยระนองกลางเป็นการดำรงชีวิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป การพัฒนาเป็นไปอย่างช้า ๆ มีวิถีชีวิตอยู่กับความเร่งรีบตลอดเวลาและต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพเพื่อมีรายได้ในการเลี้ยงครอบครัว อีกส่วนหนึ่งต้องนำมาจ่ายค่าเช่าให้กับรัฐตามนโยบายของรัฐ หากเมื่อไหร่ที่รัฐต้องการพื้นที่เหล่านี้คืน ความทุกข์เข็ญ ความเดือนร้อนของชีวิตหลายครอบครัวย่อมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นวิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนพัฒนาซอยระนองกลางจึงเป็นวิถีชีวิตคนเมืองที่สามารถเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีรูปแบบ  ถูกแขวนไว้กับนโยบายของรัฐ เป็นวิถีชีวิตที่ชาวบ้านมีความทุกข์มาก ผู้วิจัยยืนยันอย่างนี้ ก็เพราะว่า สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของผู้นำชุมชน ว่า “เมื่อ พ.ศ. 2537 กรมธนารักษ์มีการบอกเลิกสัญญาเช่าบริเวณซอยระนองกลาง เพื่อให้กระทรวงยุติธรรมเข้าจัดตั้งสำนักงานอัยการของสำนักงานอัยการสูงสุด และกรมธนารักษ์แจ้งว่าไม่มีระเบียบในการให้ความช่วยเหลือจัดที่อยู่อาศัยให้ใหม่ หรือจ่ายเงินช่วยเหลือค่าขนย้ายให้แก่ผู้เช่าเดิม จึงไม่อาจช่วยเหลือในส่วนนี้ได้ ทำให้ชาวชุมชนพัฒนาซอยระนองกลางได้รับความเดือดร้อนในเรื่องการจัดหาที่อยู่ใหม่จนถึงปัจจุบัน” (วิมล วงษ์แสงจันทร์, 2552: สัมภาษณ์) และสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของชาวบ้าน ว่า “ชีวิตตอนนี้ครอบครัวยายมีความทุกข์ใจมาก ไม่รู้วันไหนรัฐจะมาไล่ทีเราอีก” (วรรณา สุขประเสริฐ, 2552 : สัมภาษณ์)



ข้อเสนอแนะ (Research Recommendations)

รัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจน การดำเนินกิจการใด ๆ ที่เป็นนโยบายอันมีผลต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านส่วนใหญ่ควรทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้มากและชัดเจน รวมถึงต้องรับผิดชอบความเดือนร้อนของชาวบ้านอันเป็นผลมาจากการกระทำนั้น ๆ ของรัฐ ส่วนชาวบ้านควรร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาชุมชนของตนเองให้มากขึ้นเพื่อยืนยันว่าการดำรงวิถีชีวิตของทุกครอบครัวมีความมั่นคงและให้ชุมชนแห่งนี้เป็นศักยภาพอันมีคุณค่าทางสังคม วัฒนธรรมของชุมชนในเขตดุสิต กรุงเทพมหานครให้ได้


บรรณานุกรม (Bibliography)

กัลยา สุกอร่าม. (2553, 29 กรกฎาคม). รองประธานชุมชนพัฒนาซอยระนองกลาง. สัมภาษณ์

ชนินทร์  วิเศษสิทธิกุล. (2547). การเปลี่ยนแปลงชีวิตสังคมเมืองในเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์การวางแผนและเมืองมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ทองพูล วงษา. (2547). การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมเศรษฐกิจ กรณีศึกษาบ้านหินลับศิลามงคล ตำบลหนองสรรค์ อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษาเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย.

เทพชู ทับทอง. (2524). กรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ 200 ปี. กรุงเทพมหานคร : เทพพิทักษ์การพิมพ์.

นันทพร ศรีสุทธะ. (2544). วิถีชีวิตชุมชนกับการเกิดโรคเบาหวาน กรณีศึกษาชุมชนบ้านจัว ตำบลสมัย อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการส่งเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

วรรณา สุขประเสริฐ. (2552, 11 กรกฎาคม). ประชาชนชุมชนพัฒนาซอยระนองกลาง. สัมภาษณ์.

วิมล วงษ์แสงจันทร์. (2552, 1 เมษายน). ประธานชุมชนพัฒนาซอยระนองกลาง. สัมภาษณ์.

วิวัฒนชัย บุญญานุพงศ์. (2544). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชน : ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนมอญบ้านเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. ปริญญาศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

สัญญา สัญญาวิวัฒน์. (2549). ทฤษฎีและกลยุทธ์การพัฒนาสังคม (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น