วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนในชุมชนวัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนในชุมชนวัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
Changes in Residents’ Ways of Life in Wat Pracharabuedham Community, Dusit, Bangkok
 
ภูสิทธ์ ขันติกุล
Phusit Khantikul
สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสังคม
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
 
บทคัดย่อ
 
การวิจัยกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมา การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และเพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชนวัดประชาระบือธรรม ใช้เทคนิคเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบไม่ใช้ความน่าจะเป็น คือ แบบเจาะจง และแบบสโนว์บอล สำหรับสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน และประชาชน 23 คน และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา พบว่า ในอดีตชุมชนวัดประชาระบือธรรม ประกอบอาชีพทำนา และทำการเกษตรกรรมเป็นหลัก มีคลองบางกระบือ เป็นสายน้ำสำหรับการดำรงชีพทั้งบริโภคและอุปโภค ประชาชนจึงมีวิถีชีวิตแบบชาวนาชาวสวน แต่ปัจจุบันนี้ประชาชนมีวิถีชีวิตแบบชุมชนเมืองซึ่งอยู่กันอย่างหนาแน่น พื้นที่และประชากรขยายเพิ่มขึ้นจนได้แบ่งชุมชนเป็น 4 ชุมชน อาชีพมีความหลากหลายทั้งอยู่กับบ้าน เช่น อาชีพรับจ้าง ค้าขาย และอาชีพที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านนอกชุมชน เช่น อาชีพรับราชการ ทำให้การดำรงชีวิตอยู่กับความเร่งรีบตลอดเวลา ส่วนวัฒนธรรมของชุมชนยึดปฏิบัติกันมา คือ การทำบุญในวันขึ้นปีใหม่ และประเพณีวันสงกรานต์ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชน คือ 1) การสร้างถนนเข้าสู่ชุมชน โดยการสร้างสะพานตัดถนนวัดประชาระบือธรรมเข้าสู่ชุมชน 2) การเป็นพื้นที่เปิดทำให้สามารถเข้าถึงชุมชนได้ทั้งทางบกและทางน้ำ 3) นโยบายการพัฒนาพื้นที่ชุมชนของภาครัฐทั้งด้านอุปโภคและบริโภคอย่างต่อเนื่อง
คำสำคัญ: วิถีการดำรงชีวิต, การเปลี่ยนแปลง, ชุมชนวัดประชาระบือธรรม
 
ABSTRACT
 
The aims of this research were to study background and changes in ways of life including social, cultural and economic contexts, and to identify factors affecting changes of Wat Pracharabuedham Community. Non-probability Sampling technique including Purposive Sampling and Snowball Sampling was employed for the interview of community leader and 23 residents. The results of data analysis in terms of content analysis revealed that in the past local residents of Wat Pracharabuedham Community earned their living mainly from rice growing and agriculture with Bangkrabue canal as their sources of living both for water use and consumption. Their ways of life were, therefore, farmers and gardeners. However, at present the residents adopt urban life with crowded living conditions and expansion of areas and population, which lead to 4 community divisions and changes in more variety of occupations namely, employees, and merchants working at their homes, and civil servants working outside their community, and these changes result in rush living condition. In terms of cultural contexts, it was found that the handed on tradition and culture includes New Year Merit Making and Songkran Festival. Factors affecting changes in the community include 1) the road and bridge construction into the community, 2) its open area facilitating easy access to the community both by road and water way, and 3) the continuous state community development policies concerning living conditions and consumption.
Keywords: Way of Life, Changes, Wat Pracharabuedham Community
 
บทนำ (Introduction)

ชุมชนวัดประชาระบือธรรม เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุราว 112 ปี อยู่ในช่วงรัชกาลที่ 5 โดยในอดีตประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือการทำนา ทำสวนผลไม้เป็นหลัก ผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างกันตามพื้นที่ของสวนผลไม้ มีการดำรงชีวิตตามวิถีชาวนาชาวสวน การดำรงชีวิตทุกอย่างถูกอิงอยู่กับธรรมชาติ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่มีลำคลองหลายสายและได้ใช้เป็นเส้นทางสัญจรต่าง ๆ ซึ่งประชาชนใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทางสัญจรระหว่างประชาชน และชุมชนด้วย ส่วนทางบกประชาชนจะใช้การเดินเท้าสัญจรไปตามคูในสวนผลไม้ต่าง ๆ ซึ่งถือว่ามีความยากลำบากมากจนกระทั่ง ราวพุทธศักราช 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ใช้เงินพระคลังข้างที่อันเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ตัดสินพระทัยซื้อพื้นที่สวนต่อท้องนาสามเสนจากราษฎรตามราคาอันสมควร หลังจากนั้นพระองค์ทรงเริ่มให้มีการขุดคลอง ทำสะพานสร้างพระอุทยาน ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล ไม้ดอก และสร้างพลับพลาไว้เป็นที่เสด็จประทับแรม โปรดเกล้าฯ ให้เรียกที่ประทับว่า “สวนดุสิต” (กนกวรรณ ชัยทัต, 2548 : 55-59) เมื่อกระแสการพัฒนาของสังคมได้เริ่มเข้าสู่พื้นที่ชุมชน และสังคมโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคโลกาภิวัตน์มากขึ้นเรื่อย ๆ ประชาชนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับความเจริญทางด้านวัตถุมากขึ้นตามไปด้วย การเปิดรับข้อมูลข่าวสาร และวัฒนธรรมจากภายนอกชุมชนเพิ่มมากขึ้น ความเจริญต่าง ๆ ได้หลั่งไหลเข้าสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ประเด็นของการเปิดรับความเจริญเหล่านี้ก็เพื่อการสนองความต้องการของตัวเอง ครอบครัวเป็นสำคัญ เมื่อความเจริญทางวัตถุเพิ่มขึ้นได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงกายภาพ สังคมและวัฒนธรรม ที่แตกต่างกันไปในหลากหลายมิติ ทั้งนี้วิถีชีวิตของคนก็ย่อมถูกกำหนดให้แตกต่างกันด้วยวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ ดังนั้นวิถีชีวิตของชาวไทยหรือต่างชาติก็ดี จะมีวิถีชีวิตที่เป็นลักษณะของตนเอง จึงไม่ถือว่าวัฒนธรรมของใครสูงหรือต่ำ ล้าหลัง ป่าเถื่อน กว่าอีกวัฒนธรรมหนึ่ง (สุพัตรา สุภาพ, 2541: 103) อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นการสะท้อนความแตกต่างของสิ่งนั้นเมื่อเปรียบเทียบกันสองเวลา อาจเกิดที่ลักษณะรูปทางกายภาพหรือเกิดที่หน้าที่ก็ได้ รวมถึงอาจเกิดจากหลายสาเหตุทั้งสาเหตุภายใน เช่น ปัจจัยธรรมชาติ ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ส่วนสาเหตุภายนอกทั้งในยามสงบและยามสงคราม มีการติดต่อระหว่างประเทศ เป็นต้น (สัญญา สัญญาวิวัฒน์, 2549 : 5-8) นอกจากนี้นันทพร ศรีสุทธะ (2544 : 8) ได้แสดงแนวคิดว่าการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตคน หรือชุมชนนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักเสมอคือเข้าใจวัฒนธรรม การดำรงชีวิตของแต่ละชุมชนให้เข้าใจก่อน ซึ่งคำว่า “วิถีชีวิต” นั้นคือการที่บุคคลแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ เป็นประจำวันอย่างสม่ำเสมอ เป็นนิสัย ซึ่งจะสะท้อนทัศนคติ และวัฒนธรรมของบุคคล เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคลในเรื่องที่อยู่อาศัย ลักษณะครอบครัว ขนบธรรมเนียมประเพณี การดูแลสุขภาพ พฤติกรรมสุขภาพของบุคคลนั้น จะได้รับอิทธิพลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสิ่งแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ความแตกต่างของรายได้ การศึกษา อาชีพ ความเชื่อของบุคคล จะเป็นตัวกำหนดทำให้เกิดความแตกต่างของกิจกรรมในชีวิตประจำวัน  นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชีวิตของประชาชนทั้งในเมืองและหรือชนบท เกิดขึ้นแตกต่างกันออกไปตามบริบทของชุมชนเอง ซึ่งมีผลการวิจัยที่พบว่าการเปลี่ยนแปลงชีวิตสังคมเมือง ซึ่งมิได้สอดคล้องกันระหว่างแนวทางพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์กับการใช้พื้นที่ของคนในพื้นที่ สำหรับสภาพชีวิตของผู้คนต่างมีความสัมพันธ์และกิจกรรมการใช้พื้นที่อย่างแน่นแฟ้น แต่ในการพัฒนาและอนุรักษ์ที่เข้ามาสู่พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ไม่ได้มีการพิจารณาถึงสภาพชีวิตสังคมเมือง จึงทำให้สภาพชีวิตสังคมเมืองในปัจจุบันถูกทำลายไปและยังเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เป็นต้น(ชนินทร์ วิเศษสิทธิกุล, 2547: บทคัดย่อ)   หรือบางครั้งการเปลี่ยนแปลงของประชาชนยังเป็นไปโดยนโยบายของรัฐและโดยตัวชุมชนเองพร้อมกันด้วย(เสาวภา ไพทยวัฒน์, 2551 : บทคัดย่อ) จนทำให้หลายชุมชนที่เคยมีการประกอบอาชีพในชุมชนต้องออกไปประกอบอาชีพและศึกษาต่อในชุมชนเมือง ความผูกพันในครอบครัวและชุมชนไม่ใกล้ชิดมากนัก ทำให้ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ประเพณีของบรรพบุรุษซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เปลี่ยนมาเป็นหน้าที่ต้องปฏิบัติหรือสิ่งที่ควรปฏิบัติ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ ปัจจัยด้านประชากรและด้านนโยบายพัฒนาของรัฐ (จารุภา ศิริธุวานนท์, 2551 : บทคัดย่อ) การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในประเทศ และกระแสโลกาภวิตน์ได้ก่อให้ประชาชนติดยึดกับการบริโภคนิยมตามกระแส  การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชุมชนได้ผูกโยงก่อให้เกิดปัญหามากมายทั้งยาเสพติด อาชญากรรม การแก่งแย่งทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ การทะเลาะวิวาทของวัยรุ่นในชุมชน ความกลมเกลียวเหนี่ยวแน่นภายในชุมชนเริ่มน้อยลงความผูกพันในครอบครัวในชุมชนเริ่มจางหายไปจากวิถีชีวิตดั้งเดิม แม้ในภาวะปัจจุบันประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ภายในชุมชนเองมุ่งกับการพัฒนาทางด้านวัตถุเพียงอย่างเดียว จนประชาชนได้หลงลืมความเป็นอดีตที่ดีงาม ทิ้งไว้เฉพาะร่องรอยอดีตที่จวนเจียนจะหายไปจากชุมชน และในปัจจุบันยังไม่พบว่ามีงานวิจัย หรือวรรณกรรมใด ที่ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสเหล่านี้ไว้

ดังนั้นด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะการศึกษาร่องรอยของวิถีชีวิตที่หลงเหลืออยู่เป็นอย่างไร ปัจจัยที่ส่งผลถึงความเปลี่ยนแปลงไปของสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของประชาชน และปัจจุบันวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนบนฐานชุมชนเมืองเป็นอย่างไร เพื่อชี้ให้ผู้นำชุมชน ประชาชนในชุมชนได้ตระหนักถึงผลของการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อวิถีชีวิตดั้งเดิม ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ร่องรอยในอดีตของชุมชนอันเป็นรากเหง้าที่ดีงามของชุมชนไว้ให้อยู่อย่างยั่งยืน

 

วัตถุประสงค์ (Objectives)

1. เพื่อศึกษาความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจของชุมชนวัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุมชนวัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

 

วัสดุอุปกรณ์และวิธีดำเนินการ (Materials and Methodology)

          การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสำรวจสภาพข้อมูลทั่วไปของชุมชน แบบสังเกต และแบบสัมภาษณ์ โดยมีเทคนิคเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบไม่ใช้ความน่าจะเป็น(Non-Probability Sampling) คือ แบบเจาะจง (Purposive Sampling) สำหรับการคัดเลือกชุมชน โดยศึกษา 4 ชุมชน คือ ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 – 4  และแบบสโนว์บอล (Snowball Sampling) สำหรับสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน และปราชญ์ประชาชน จำนวน 23 คน แล้วนำมาวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงตรรกะเหตุผล โดยการตีความสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (inductive) และวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content analysis) เป็นหลัก เมื่อสรุปผลการวิจัยแล้วมีการยืนยัน(Data Verify) ผลการวิจัยให้กับชุมชนรับรองด้วย

 
ผลการวิจัย (Result)

ความเป็นมาของชุมชนวัดประชาระบือธรรม พบว่าในอดีตเป็นที่ราบลุ่มและเป็นทุ่งหญ้า มีลำคลองไหลผ่านประชาชนเรียกว่า คลองบางกระบือ และมีหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ติดลำคลองประกอบอาชีพทำการเกษตร คือ การทำนา ทำสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน มะพร้าว และเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วัว และกระบือ สัตว์เลี้ยงประเภทวัวและกระบือมีพันธุ์ดีและแข็งแรง จนมีชื่อเสียงมาก หลายคนจึงรู้จักและเรียกหมู่บ้านนี้ว่า หมู่บ้านบางกระบือ ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2440 ประชาชนได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นมีชื่อว่า วัดบางกระบือ ตามชื่อของหมู่บ้าน และได้เปลี่ยนชื่อภายหลังว่า วัดประชาระบือธรรม วัดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนมาร่วมกว่า 112 ปี และเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2475 ขุนสำราญราษฎร์บริรักษ์ นายอำเภอเขตดุสิต และนายบรรณกิจ ท้าวสั้น ได้ขออนุญาตต่อเจ้าอาวาสวัดประชาระบือธรรม เพื่อจัดตั้งโรงเรียนในเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 12 ตารางวา  ใช้ชื่อโรงเรียนประชาบาล ถนนนครไชยศรี ปี พ.ศ. 2480 ได้โอนให้แก่เทศบาลนครกรุงเทพ ได้ชื่อว่า โรงเรียนเทศบาล ปี พ.ศ. 2496 เทศบาลนครกรุงเทพได้โอนโรงเรียนให้กับกรมสามัญศึกษา มีสภาพเป็นโรงเรียนประชาบาล และได้เปลี่ยนชื่อว่า โรงเรียนวัดประชาระบือธรรม และชื่อชุมชนจึงเรียกตามชื่อของวัดและโรงเรียนนับแต่นั้นเป็ต้นมา การเปลี่ยนแปลงของชุมชนดั้งเดิมสู่ชุมชนจัดตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ. 2538 จึงเกิดเป็นชุมชนอย่างเป็นทางการขึ้น โดยเริ่มแรกแบ่งออกเป็น 3 ชุมชนก่อน ได้แก่ ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1-3 และต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ก็เกิดขึ้นอีก 1 ชุมชน คือ ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 4 ซึ่งชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 เป็นชุมชนฐานเดิมของทุกชุมชน เหตุผลที่สำคัญในการแบ่งเป็นชุมชนย่อย เนื่องมาจากชุมชนวัดประชาระบือธรรม เป็นชุมชนที่มีประชาชนเริ่มทยอยเข้ามาเพื่อปลูกบ้านพักอาศัย พื้นที่จึงมีการขยายเพิ่มมากตามจำนวนประชาชนที่เข้ามา ทำให้ชุมชนใหญ่ขึ้นและเริ่มมีปัญหาด้านการบริหาร การปกครอง การพัฒนาไม่ทั่วถึง และกรรมการก็มากเกินกว่าระเบียบกรุงเทพมหานครกำหนด โดยอาศัยระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยกรรมการชุมชน พ.ศ.2534 จึงทำให้เกิดการแบ่งชุมชนให้มีความเหมาะสมและมีกรรมการที่ดูแลได้อย่างทั่วถึงนั่นเอง จนกระทั่งปัจจุบันจากชุมชนเล็ก ๆ ไม่ค่อยได้รับการดูแลจากทางราชการนัก ปัจจุบันกลายเป็นชุมชนที่มีการพัฒนาให้มีความเจริญหลากหลายด้าน ทั้งการคมนาคม การสาธารณูปการ สาธารณูปโภค โดยเฉพาะคนภายนอกหรือหน่วยงานภายนอกสามารถเข้าถึงชุมชนวัดประชาระบือธรรม ได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วกว่าในอดีตมาก สาเหตุหนึ่งก็เพราะตั้งอยู่ติดกับถนนพระราม 5 อันเป็นถนนสายสำคัญของเขตดุสิตตัดผ่านนั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตในบริบททางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 ชุมชนแห่งนี้เป็นพื้นที่ดั้งเดิมของการตั้งชุมชน โดยสสภาพชุมชนนั้นได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ มีซอยหลักทั้งหมด 6 ซอย อาณาเขตติดกับกรมทหารและที่พักทหารเป็นส่วนใหญ่ ประชาชนนับถือพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เมื่อเข้าสู่ชุมชนจะพบว่าบ้านเรือนของประชาชนจะสร้างติดกันซึ่งมีลักษณะเป็นทั้งอาคารพานิชย์ (พักและค้าขาย) และเป็นบ้านเรือนไม้ 2 ชั้น (ที่พักอย่างเดียว) รวมถึงเป็นที่พักอาศัยชั่วคราว (ที่พักอย่างเดียว)

 


 

ภาพที่ 1 ลักษณะเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น


 


 

ภาพที่ 2 ทั้งอาคารพานิชย์ (พักและค้าขาย)

 

ภายในชุมชนมีสิ่งอำนวยความสะดวกจำนวนมาก เช่น โทรศัพท์สาธารณะ ตู้ไปรษณีย์ในชุมชน ระบบไฟฟ้าในชุมชน ระบบน้ำประปาที่ใช้ในชุมชน ร้านของชำ, ร้านอาหารตามสั่ง, ร้านซ่อมและร้านซักรีด มีศูนย์สุขภาพประจำชุมชนและศูนย์สุขภาพผู้สูงอายุ รวมถึงตลาดนัดตั้งอยู่ในวัดประชาระบือธรรมอีกด้วย การประกอบอาชีพหลัก ๆ ของชาวชุมชนได้แก่ รับจ้าง ค้าขาย รับราชการ ลูกจ้างหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานรัฐอื่น ส่วนประเพณีและวัฒนธรรมที่ชุมชนได้ดำรงมั่นคงไว้เป็นหลักให้กับประชาชนในชุมชนได้มีส่วนร่วมกันทำบุญกันอย่างยิ่งใหญ่และยังคงยึดถือตราบจนทุกวันนี้ ได้แก่ ประเพณีวันสงกรานต์ และประเพณีทำบุญตักบาตรวันปีใหม่ และที่สำคัญสิ่งที่สามารถสะท้อนภาพในอดีตของชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 ได้ก็คือวัดประชาระบือธรรม เนื่องจากตั้งมาแล้วไม่น้อย 100 ปี และเป็นวัดที่มีมาก่อนการตั้งชุมชนประชาระบือธรรม 1 หลายทศวรรษ ส่วนงานศิลป์ งานปั้นหรืองานแกะสลักในชุมชนที่สืบทอดกันมาแต่อดีต มีอยู่ 2 ประการ ได้แก่ การทำดอกไม้ประดิษฐ์จากสบู่ และการร่อนทอง ซึ่งการร่อนทองได้ไม่มีการสืบทอด ที่เหลือก็คงเป็นการทำดอกไม้ประดิษฐ์จากสบู่ โดยมีเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้นที่ยังทำอยู่ และมักจะเป็นผู้สูงอายุในชุมชนทำเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

ภาพที่ 3 สรงน้ำพระในวันสงกรานต์ (จัดทุกปี)

 


 

ภาพที่ 4 การละเล่นของผู้สูงอายุในชุมชนจะถูกจัดไว้ในวันสงกรานต์

 

ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมจะมีการจัดขึ้นทุกปีและทั้ง 4 ชุมชนจะร่วมกันจัดขึ้นอย่างพร้อมเพรียง โดยจัดขึ้นที่วัดประชาระบือธรรมที่เป็นศูนย์กลางของ 4 ชุมชนนั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตในบริบททางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของชุมชนวัดประชาระบือธรรม 2 เป็นชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่บนพื้นที่อันเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน และเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ในอดีตบริเวณนี้เป็นสวนผลไม้ จำพวกสวนทุเรียน มะพร้าว หมาก และสวนผักต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีน้ำท่วมบ่อยครั้ง จึงทำให้บ้านเรือนมีลักษณะใต้ถุนสูง ซึ่งปัจจุบันยังคงเห็นร่องรอยในอดีตอยู่เพียงหลังเดียวเท่านั้น คือบ้านของผู้ให้ข้อมูลท่านหนึ่งในชุมชน อายุ 71 ปี ซึ่งบ้านหลังนี้มีอายุมากว่า 80 ปีหรือร่วม 100 ปีก็เป็นได้ เนื่องจากได้มีการสืบทอดมาตั้งแต่ทวดของคุณป้าแล้วประมาณ 3 รุ่น คือ รุ่นทวด ปู่ย่า พ่อแม่ และปัจจุบันนี้เป็นรุ่นลูก ๆ

 

 

 

 

นอกจากตัวบ้านแล้วยังคงเห็นล่องน้ำในสวนที่สามารถนึกภาพของความเป็นสวนในอดีตได้อย่างชัดเจน

 


 

ภาพที่ 5 บ้านที่มีลักษณะดั้งเดิมเมื่อ 80 กว่าปีที่แล้ว

 

            สภาพทั่วไปของชุมชนในปัจจุบันชุมชนเป็นวิถีคนเมืองเกือบทั้งหมดจนแทบจะกลายเป็นชุมชนแออัดไปด้วยซ้ำ ส่วนด้านอาชีพ การสาธารณสุข การศึกษาการปกครองและขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของประชาชนไม่แตกต่างกันกับชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 เลย ส่วนด้านศิลปกรรมประเภทประติมากรรม งานปั้นหรืองานแกะสลักภายในชุมชนยังคงสืบทอดกันมาแต่อดีต อยู่ 2 ประการ ได้แก่ การตีทอง และการแกะสลักสบู่

 


 

ภาพที่ 6 หม้อดินเล็ก-ใหญ่ที่สะท้อนการดำรงชีวิต

 

 

 

 

 

 


 

ภาพที่ 7 อาชีพการตีทองของประชาชนที่คงเหลือในอดีตของ

            ประชาชนในชุมชนอยู่เพียงแห่งเดียวในชุมชน

 

การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตในบริบททางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของชุมชนวัดประชาระบือธรรม 3 เป็นชุมชนที่อยู่บนพื้นที่ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และพื้นที่เอกชนบางส่วน ลักษณะบ้านเรือนมี 3 ลักษณะใหญ่ ๆ ได้แก่ ลักษณะเป็นบ้านเรือนไม้ 2 ชั้น ลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้นทันสมัยและอพาร์ตเม้นท์ และลักษณะที่เป็นพักอาศัยทั่วไป ส่วนอาชีพ การสาธารณสุข การศึกษาการปกครองและขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของประชาชนในชุมชนไม่แตกต่างกันกับชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 นัก อนึ่งสิ่งที่ชุมชนยังคงหลงเหลือให้เห็นร่องรอยในอดีตคือ บ้านของผู้ให้ข้อมูลท่านหนึ่งในชุมชน ซึ่งมีอายุไม่น้อยกว่า 50 ปี ลักษณะของบ้านเรือนทั้งสองไม่แตกต่างจากชุมชนวัดประชาระบือธรรม 2 นั่นเองและมีการซ่อมแซมบางส่วนที่ชำรุดไปด้วย สุดท้าย คือ

การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตในบริบททางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของชุมชนวัดประชาระบือธรรม 4 ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่กว้างสำหรับการเลี้ยงโค ที่ถูกต้อนมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกบ้าง ส่วนใหญ่เป็นกระบือพันธุ์ดี แข็งแรง มีชื่อเสียงมากสมัยนั้น และภายในพื้นที่แห่งนี้หลายครั้งได้มีคนเข้ามาลักลอบปลูกเป็นเพิงอาศัยอยู่เป็นประจำ จนกลายเป็นสลัม มีน้ำสกปรก ในคูคลองผักตบชวาขึ้นเต็มพื้นที่ไปหมด แถมยังมีป่าหญ้าคาจำนวนมากอีกด้วย ไม่มีน้ำประปา และไฟฟ้า จนกระทั่งบริษัทอาคารพัฒนาจำกัด ได้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ในเนื้อที่ 8 ไร่ จำนวน 120 คูหา ทำให้ประชาชนจากหลายพื้นที่ต่างเข้ามาจับจองเป็นที่อยู่อาศัยกันอย่างมากมาย กระทั่ง พ.ศ. 2540 ได้ตั้ง

 

 

 

 

 

เป็นชุมชนวัดประชาระบือธรรม 4 ขึ้นอย่างเป็นทางการมีคณะกรรมการบริหารจัดการชุมชนเช่นเดียวกับชุมชนอื่น ๆ ด้วยความเป็นชุมชนภายใต้อาคารบ้านพักของบริษัทที่กำหนดไว้แล้วอย่างชัดเจนจึงทำให้ไม่มีการสะท้อนให้เห็นความเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมเลย แต่มักจะพบว่าประชาชนในชุมชนได้ถูกความเป็นวิถีชีวิตคนเมืองกลืนหายไปกับกระแสโลกาภิวัฒน์ยากที่หลีกเลี่ยง

 


 

ภาพที่ 8 อาคารพานิชย์ 120 คูหา

           เป็นที่ตั้งชุมชนวัดประชาระบือธรรม 4

 

การดำรงชีวิตของประชาชนในชุมชนวัดประชาระบือธรรม ตั้งแต่อดีตราว 112 ปีมาแล้วประชาชนในปัจจุบันเป็นทั้งคนดั้งเดิมของชุมชนและคนที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยใหม่ ตลอดการเปลี่ยนแปลงที่ความเจริญหลั่งไหลเข้าสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับการเปิดพื้นที่รับความเจริญอย่างเต็มที่ของประชาชนทำให้ทั้งพื้นที่และวิถีของคนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแทบไม่หลงเหลือความดั้งเดิมให้เห็น จนวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนเป็น วิถีชีวิตของคนเมือง ซึ่งเป็นไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปของความเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงนั่นเองและคงเป็นการยากที่จะหวนกลับสู่ความเป็นดั้งเดิมอีก

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชนวัดประชาระบือธรรม พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชน ดังนี้ (1)  ปัจจัยการสร้างถนนเข้าสู่ชุมชน ซึ่งเริ่มที่ถนนพระราม 5 เป็นถนนสายสำคัญที่ตัดผ่าน และการสร้างสะพานตัดถนนวัดประชาระบือธรรมเข้าสู่ชุมชน (2) ปัจจัยเชิงพื้นที่ ซึ่งชุมชนวัดประชาระบือธรรมมีลักษณะของพื้นที่เป็นพื้นที่เปิดทำให้สามารถเข้าถึงชุมชนได้ทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งทางบก คือถนนวัดประชาระบือธรรมตัดผ่านชุมชนตามตรอกซอกซอยมีการ

 

 

 

ทำทางเดินอย่างสะดวกสบาย ส่วนทางน้ำ คือก่อนที่จะมีการสร้างถนนทับคลองประชาชนยังใช้เรือในการสัญจรเข้าสู่ชุมชนด้วยเพราะนอกจากคลองบางกระบือที่เป็นสายสำคัญแล้ว ยังมีคลองวัดน้อยนพคุณ เป็นคลองเล็ก ๆ ในการสัญจรด้วย (3) ปัจจัยเชิงนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาเพื่อให้ชุมชนเกิดความสะดวกสบาย ซึ่งโดยความเป็นชุมชนตั้งอยู่ในเขตเมืองหลวงแล้วการพัฒนาจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ความเจริญทางวัตถุต่าง ๆ ไหลบ่าเข้าสู่ชุมชนอย่างมากมายทั้งด้านอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต นอกจากนี้ยังเกิดจากปัจจัยภายในชุมชน องคาพยพของชุมชนทั้ง ครอบครัว กลุ่มประชาชน กลุ่มผู้นำชุมชนมีความอ่อนแอลงขาดความรักความสามัคคี ผู้คนดั้งเดิมไหลออกจากชุมชน คนต่างถิ่นย้ายเข้าอยู่แทน การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจากฐานชุมชน วัฒนธรรมดั้งเดิมเบาบางลง เกิดความคิดที่แตกต่างกัน วิถีการดำรงชีพแตกต่างกัน ส่งผลต่อการขับเคลื่อนองคาพยพในชุมชนอ่อนแอลงไป การเปลี่ยนแปลงของชุมชนจึงขาดทิศทางในการพัฒนาชุมชนไปอย่างสิ้นเชิง

 

อภิปรายผล (Discussion of Research)

ชุมชนวัดประชาระบือธรรม ตั้งอยู่ถนนพระราม 5 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร สภาพของชุมชนทั่วไป มีลักษณะเป็นชุมชนเมือง เป็นต้นว่าบางพื้นที่อาคารพาณิชย์ บางพื้นที่เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นปูน ชั้น 2 เป็นไม้ บางพื้นที่บ้านมีลักษณะเพิงที่พักอาศัยชุมชนแออัด บางส่วนเป็นบ้านไม้ 2 ชั้นใต้ถุนสูง บางพื้นที่เป็นทาวเฮ้าว์ให้เช่า เป็นต้น มีตรอก ซอยที่สามารถทะลุถึงกันได้ตลอดชุมชน จึงจัดเป็นชุมชนเปิด มีการพัฒนาพื้นที่ของชุมชนได้พัฒนาเต็มศักยภาพ และการขยายฐานความเจริญทางพื้นที่ในอนาคตเป็นไปได้ยาก ส่วนการประกอบอาชีพประชาชนมีหลากหลายตามความถนัดของตนเอง ส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพที่ทำงานนอกชุมชน ทั้งอาชีพรับจ้าง ค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว รับราชการ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์ของผู้นำชุมชน ที่ว่า “ตอนนี้ประชาชนส่วนใหญ่ของชุมชนมีความหลากหลายในการประกอบอาชีพ ไม่เหมือนในอดีตแล้ว และโดยทั่วไปจะออกไปทำงานนอกชุมชน ทั้งเป็นลูกจ้างและรับราชการ” (มนัส  สุวรรณพานิช, 2552: สัมภาษณ์) ส่วนการเปลี่ยนแปลงของชุมชนวัดประชาระบือธรรมที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือสภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงในสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่าด้านอื่น ๆ ความเจริญทางวัตถุได้หลั่งไหลเข้าสู่ชุมชน

 

 

 

อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มีการสร้างถนนวัดประชาระบือธรรมเข้าสู่ชุมชนแทนการใช้การคมนาคมทางน้ำอย่างเช่นในอดีต ดังนั้นการสร้างถนนจึงส่งผลทางตรงต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สอดคล้องกับผลการวิจัยของสุกัญญา สุจฉายา และนันทิยา สว่างวุฒิธรรม (2546: บทคัดย่อ)  ศึกษาเรื่องอัตลักษณ์ของชาวคลองภูมิ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พบว่า พื้นที่คลองภูมิเป็นพื้นที่สวนผลไม้ที่มีความร่มรื่นและชาวสวนยังคงรักษาความเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างโดยการตัดถนนย่านพระราม 3 ก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงจากสภาพภายนอกได้ส่งผลในด้านการดำรงชีวิต รวมถึงผลการวิจัยของวีณา เอี่ยมประไพ (2550: บทคัดย่อ) ได้ทำการวิจัยเรื่อง วิถีชีวิตชุมชนคลองบางกอกน้อย ผลการวิจัยพบว่า การสร้างเส้นทางถนนเข้าสู่ชุมชนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่ทางสังคม ซึ่งถนนเป็นปัจจัยหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้พื้นที่แตกต่างไปจากเดิมเช่นเดียวกัน ในส่วนของวัฒนธรรมประเพณีนั้นประชาชนส่วนใหญ่ถือคติความเชื่อตามหลักของพุทธศาสนา ซึ่งชุมชนแห่งนี้จะมีวัดประชาระบือธรรมเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความคติความเชื่อของตน ดังเช่น การทำบุญวันธรรมสวนะ ทำบุญวันเกิด ทำบุญตักบาตรไหว้พระตามประเพณีสำคัญ ๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ มาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา เข้าพรรษา ออกพรรษา และลอยกระทง ซึ่งประเพณีต่าง ๆ เป็นการทำบุญตามฤดูกาล การถ่ายทอดความรู้ทางวัฒนธรรมมีลักษณะการให้ลูกหลานได้เข้าไปมีส่วนร่วมปฏิบัติด้วยกัน โดยเฉพาะประชาชนในชุมชนได้ให้ความสำคัญกับการทำบุญในวันปีใหม่และวันสงกรานต์มาก ซึ่งได้สอดคล้องกับผลการวิจัยของ วิวัฒนชัย บุญญานุพงศ์ (2544 : บทคัดย่อ) ได้ทำการวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชน: ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนมอญบ้านเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ผลการวิจัยพบว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชนในกิจกรรมการทำบุญในวันสงกรานต์เป็นประจำสูงกว่ากิจกรรมอื่น ๆ เพราะเป็นประเพณีที่แสดงออกได้ถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และขอพรผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของชาวมอญเกาะเกร็ด

อย่างไรก็ตามความเป็นวิถีชีวิตคนเมือง ได้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ การกินอยู่(เรื่องปากท้อง) ของตนเองและครอบครัวเป็นหลัก การทำบทบาทหน้าที่ของประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนทั้งในครอบครัวและในชุมชนน้อยลงไป อย่างเห็นได้ชัด เช่น บทบาทการสั่งสอนบุตรหลานของพ่อแม่ เริ่มไม่มีเวลาให้กับสิ่งเหล่านี้แล้ว แต่บทบาทเหล่านี้ไปตกอยู่กับสถาบันการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ เวลาที่ลูกจะอยู่กับพ่อแม่ไม่มากเท่ากับอยู่กับครู และเพื่อนที่โรงเรียน ด้วยเหตุนี้ส่งผลต่อความผูกพันระหว่างพ่อแม่ ลูก ที่เคยอบอุ่น ใกล้ชิดกันอย่างเช่นวิถีชีวิตในอดีตนั้นได้เริ่มจืดจางหายไป สอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์ของผู้นำชุมชนที่ว่า “ประชาชนให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพของตนเองมากกว่าการดูแลครอบครัว ตื่นขึ้นก็ต่างกันต่างไปทำงาน ลูกก็ไปโรงเรียน พอตอนเย็นก็ค่อยเจอได้มีโอกาสเจอกัน บางวันก็ไม่ได้เจอกันเลย ความอบอุ่นอย่างเช่นอดีตไม่มีอีกแล้ว” (จิรฐา นุชพ่วง, 2552: สัมภาษณ์) รวมถึงจารุภา ศิริธุวานนท์ (2551 : บทคัดย่อ) ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมชุมชนมอญเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พบว่า ความผูกพันในครอบครัวและชุมชนไม่ใกล้ชิดมากนัก ทำให้ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ประเพณีของบรรพบุรุษซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เปลี่ยนมาเป็นหน้าที่ต้องปฏิบัติหรือสิ่งที่ควรปฏิบัติ

 

ข้อเสนอแนะ (Research Recommendations)

ผู้นำชุมชน ประชาชน รวมถึงกลุ่มเยาวชน ควรร่วมกันจัดกิจกรรมภายในชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความสามัคคี ความผูกพันของครอบครัว ชุมชนเพิ่มมากขึ้น และกระตุ้นคนในชุมชนเกิดความตระหนักในการอนุรักษ์ร่องรอยในอดีตเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เป็นตัวตนวิถีชีวิตของปู่ย่า ตายายให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

 

บรรณานุกรม (Bibliography)

กนกวรรณ ชัยทัต. (2548). การสร้างความเป็นสมัยใหม่ด้วยมิติวัฒนธรรม : มุมมองเรื่องพื้นที่ ศึกษาจากพระราชวังดุสิต-วัดเบญจมาบพิตร-ถนนราชดำเนิน ในสมัยรัชกาลที่ 5. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

จารุภา ศิริธุวานนท์. (2551). การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมชุมชนมอญเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโครงการและประเมินโครงการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร.

จิรฐา นุชพ่วง. (2552, 5 เมษายน). ประธานชุมชนวัดประชาระบือธรรม 3. สัมภาษณ์

ชนินทร์  วิเศษสิทธิกุล. (2547). การเปลี่ยนแปลงชีวิตสังคมเมืองในเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์การวางแผนและเมืองมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

มนัส  สุวรรณพานิช. (2552, 5 เมษายน). ที่ปรึกษาคณะกรรมการชุมชนชุมชนวัดประชาระบือธรรม 2. สัมภาษณ์

นันทพร ศรีสุทธะ. (2544). วิถีชีวิตชุมชนกับการเกิดโรคเบาหวาน กรณีศึกษาชุมชนบ้านจัว ตำบลสมัย อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการส่งเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

วิวัฒนชัย บุญญานุพงศ์. (2544). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชน: ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนมอญบ้านเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. ปริญญาศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

วีณา เอี่ยมประไพ. (2550). วิถีชีวิตชุมชนคลองบางกอกน้อย. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

สัญญา สัญญาวิวัฒน์. (2549). ทฤษฎีและกลยุทธ์การพัฒนาสังคม (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุพัตรา สุภาพ. (2541). สังคมและวัฒนธรรมไทย ค่านิยม : ศาสนา : ประเพณี. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพมหานคร: ไทยวัฒนาพานิช.

สุกัญญา สุจฉายา และนันทิยา  สว่างวุฒิธรรม. (2546). อัตลักษณ์ของชาวสวนคลองภูมิ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร. ทุนวิจัยจากคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ.

เสาวภา  ไพทยวัฒน์. (2551). วิวัฒนาการและรูปแบบสังคมเมือง: กรณีศึกษาย่านเทเวศร์. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น