วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แนวทางการดำรงชีวิตอย่างมีสุขตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนในชุมชนเมืองเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร


แนวทางการดำรงชีวิตอย่างมีสุขตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนในชุมชนเมืองเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

The Way of Happily Lives According to Sufficiency Economy Philosophy of People in the Urban Community at Dusit District in Bangkok.

 

ภูสิทธ์ ขันติกุล

Phusit Khantikul

สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสังคม ภาคสังคมศาสตร์

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

 

บทคัดย่อ

การวิจัยในครั้งนี้กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความรู้ความเข้าใจ วิเคราะห์พฤติกรรมและระดับการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับชุมชน และศึกษาแนวทางการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนชุมชนเมืองเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยคำนวณเพื่อหากลุ่มตัวอย่างตามเทคนิคของทาโร ยามาเน่ สำหรับแบบสอบถามได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 392 ตัวอย่างและใช้เทคนิคการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบไม่อาศัยความน่าจะเป็น ด้วยวิธีการสุ่มแบบเจาะจง สำหรับการสัมภาษณ์กลุ่มประธาน/ผู้นำชุมชนเมือง หรือคณะกรรมการชุมชนที่ประชาชนเคารพนับถือจำนวน 26 คน/ชุมชน พบผลการศึกษาว่า ประชาชนในชุมชนเมืองส่วนใหญ่มีระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการใช้จ่ายใด ๆ ก็ต้องคำนึงถึงความจำเป็นต่อการดำรงชีพและไม่สุรุ่ยสุร่าย การกระทำกิจกรรมร่วมในชุมชนหรือสังคมไม่ควรเอาเปรียบผู้อื่นและเพื่อนร่วมงาน และการรู้จักประหยัด มัธยัสถ์เป็นหลักพื้นฐานสำคัญของความพอประมาณ ส่วนการปฏิบัติในกิจกรรมในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการใช้และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวกับการประหยัด เช่นการปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าเสมอเมื่อออกจากบ้านหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ ด้านการดำรงชีวิต ประชาชนจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ การประกอบอาชีพของตนและสมาชิกในครอบครัวเป็นอาชีพที่สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น รู้จักพอประมาณไม่ลงทุนเกินตัว การยึดมั่น และปฏิบัติตนตามหลักธรรมของศาสนาที่ตนนับถือ ส่วนการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับเห็นด้วยกับด้านจิตใจกับคำว่า พอ ที่เป็นการพัฒนาตนเอง ไม่เบียดเบียนและพึงพอใจในชีวิตที่พอเพียง ซึ่งจะประยุกต์ใช้กับตนและสมาชิกในครอบครัวปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักธรรมทางศาสนาอยู่เสมอ ส่วนในระดับชุมชนยังไม่ปรากฏชัดเจน จะมีการดำรงชีวิตด้วยการปรับตัวเองและครอบครัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีแนวทางในการดำรงชีวิตที่มีความสุขในระดับบุคคลและครอบครัว คือ การที่ผู้นำครอบครัวและสมาชิกยึดมั่นในการประกอบอาชีพที่สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น รู้จักพอประมาณและไม่ลงทุนเกินตัว แม้จะลำบากก็ต้องยึดหลักความพอเพียง ยึดมั่นและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของศาสนาและใช้ชีวิตอย่างมีสติ สมาธิ ปัญญา เดินทางสายกลางเท่านี้ก็เพียงพอ

 

คำสำคัญ เศรษฐกิจพอเพียง การประยุกต์ ระดับบุคคลและครัวเรือน ชุมชนเมือง

 

Abstract

The purposes of this study were to explore knowledge, to analyze behaviors and levels of applying for the principal of sufficiency economy philosophy both in the level of the families and the community, and to study the way of happily lives according to sufficiency economy philosophy of people in the urban community at Dusit district in Bangkok. In random sampling, Yamane Taro’s technique and nonprobability samples were used in this study. A total of 392 survey questionnaires were administered to potential respondents. The head of the urban community and 26 people-respected committees were interviewed in depth. The findings showed that the mostly urban people have had knowledge about sufficiency economy philosophy in the highest level. Particularly they are aware of the any necessary expenses for supporting lives not to be luxurious. They do not take advantage of other people and colleagues when participating in activities of the community or society. People economically know to pay and it is the moderately important basic.  For participating in the activities in the level of person and household according to sufficiency economy philosophy of people, it overall is at high level. Particularly it is aspect of the use and protection of natural resource and environment. The economy, the use of appliances is always turned off when they leave from their houses. It is very important for people and their members of family earning the honest living. They do not oppress other people. The moderation is used when they capitalize on something. They firmly believe and behave oneself well to practice the oneself-respected religion. About applying for sufficiency economy philosophy in the level of person and household, the mind level of people agrees with the word “sufficiency”, that is, it helps them for their own development. They satisfy with the way of sufficient lives. These are applied for oneself and their members in good path such as reducing evil and practicing according to religion. In the level of the community it is not clear, and the way of oneself and family is adjusted according to fluctuant situation. The way of their happily lives in the level of person and household is that the head of household and members adhere to honest career and do not oppress other people. The moderation is used when they capitalize on something.  Although it is very hard, they firmly believe in sufficiency, adhere and practice the teachings of religion. The consciousness, concentration, and wisdom are used in the way of their lives by focusing on the middle way and sufficiency.

 

Key Word(s) Sufficiency Economy, Application, individuals and families Level, Urban Community

 

หลักการและเหตุผล (Reasonable)

การพัฒนาประเทศไทยนับตั้งแต่การมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2504-2544) เป็นต้นมามีจุดมุ่งเน้นที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศจากระบบการเกษตรกรรมไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ จึงทำให้เกิดการพัฒนาประเทศในหลากหลายด้านโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐและประชาชนหันไปให้ความสำคัญของวัตถุเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ประชาคมโลกมองว่าประเทศไม่ล้าสมัยจึงทำให้ละเลยการพัฒนาทางด้านจิตใจไปพร้อมด้วย จนกระทั่งปัญหาต่าง ๆ มากมายทั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในประเทศไทย การเมือง การเหลื่อมล้ำทางสังคม การศึกษา คุณธรรมจริยธรรม ซึ่งสามารถมองเห็นปัญหาได้ในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองหลวงของประเทศไทยจะเห็นปัญหาเหล่านี้อยู่เสมอ และจะเห็นได้จากแรงงานภาคเกษตรกรรมไหลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยแรงงานภาคเกษตรกรรมลดเหลือร้อยละ 45 ของแรงงานไทยทั่วไปประเทศและคาดว่าเมื่อสิ้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 แรงงานภาคเกษตรกรรมลดเหลือเพียงร้อยละ 30 และพื้นที่เกษตรเหลือเพียง 40 ล้านไร่ทั่วประเทศ โดยหวังว่าประเทศไทยจะต้องพัฒนาเป็นประเทศสังคมอุตสาหกรรมใหม่หรือที่เรียกว่า นิกส์ (กรมวิชาการเกษตร, 2540: 1) ทั้งนี้เมื่อมีการประเมินผลการพัฒนาประเทศในมิติของความยั่งยืน ความสมดุล ความพอดี และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี หรือความอยู่ดีมีสุขของประชาชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจเพียง พบว่า การใช้ทุนทางสังคม ทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ส่งผลให้ทุนต่าง ๆ ลดลงมาก สถาบันทางสังคมก็มีบทบาทลดลงไปด้วย เช่นสถาบันศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของคนน้อยลง ส่งผลให้ความสามารถในพึ่งตนเองและการมีภูมิคุ้มกันลดลงด้วย(สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2549: 3)

เมื่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยผันตัวเองอย่างรุนแรงเข้าสู่กระแสของสังคมอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัวลืมที่จะหันมาดูรากเหง้าของตัวเองที่เติบโตมาจากภาคเกษตรกรรมจึงทำให้ขาดภูมิคุ้มกันที่จะปกป้องตัวเองไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ตลอดระยะเวลา 40 ปี ก่อนที่จะภาครัฐจะฉุกคิดน้อมอัญเชิญแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าหัวมากำหนดเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (.. 2545 - 2549) ซึ่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานและพระราชดำริเพื่อชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย มาตั้งแต่ พ.. 2517 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์ ทรงได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติในพระราชกิจจาวัฒน์ โดยทรงแสดงให้เห็นถึงความพอเพียงความพอดีในความเป็นอยู่ ทรงใช้เหตุผลเป็นเครื่องนำทางตลอดเวลา (สุเมธ ตันติเวชกุล, 2549: 254 - 258) ซึ่งสิ่งสำคัญนั่นคือความพอเพียงในการดำรงชีวิต อันเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่ทำให้คนไทยสามารถพึ่งตนเอง และดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีศักดิ์ศรีภายใต้อำนาจและความมีอิสระในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ความสามารถในการควบคุมและจัดการเพื่อให้ตนเองได้รับการสอนงตอบต่อความต้องการ รวมทั้งความสามารถในการจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง(มูลนิธิชัยพัฒนา, 2550: 3) โดยพระองค์ทรงพระราชดำริแนวทางของความพอเพียงไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 ดังมีใจความว่า “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...”(18 กรกฎาคม 2517) เมื่อเกือบ 30 กว่าปีที่แล้วพระองค์ทรงวางแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย ให้คนไทยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” ซึ่งจะนำไปสู่ “ความสุข” ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง (มูลนิธิชัยพัฒนา, 2550: 4) จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541 พระองค์ทรงพระราชดำริย้ำเตือนคนไทยอีกครั้งหนึ่งว่า “...เมื่อมี 2517 วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมี พอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะเป็นไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย...” (มูลนิธิชัยพัฒนา, 2550: 5) ซึ่งหลังจากนั้นภาครัฐและประชาชนได้เริ่มเห็นความสำคัญของแนวการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีการนำไปกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 และที่ 10 (2550-2554) โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาประเทศไปสู่สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน (Green Society) ยึดคนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ให้สมดุลกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของคนไทย และการพัฒนาที่ยั่งยืน นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการบริหารและพัฒนาประเทศ ซึ่งมีการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่ภาคปฏิบัติให้ชัดเจน ดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2549: 8-9)

1. การดำเนินการในทางสายกลาง ที่อยู่บนพื้นฐานความพอดี เน้นการพึ่งตนเองเป็นหลัก มีการเตรียมความพร้อมทั้งคนและระบบที่ดี เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์

2. ความสมดุลและความยั่งยืน เน้นการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม มีความหลากหลายและมีการกระจายความเสี่ยง ใช้ทุนที่มีอยู่ในสังคม ทั้งทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทุนทางสังคม และทุนทางเศรษฐกิจ ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ทำลายความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3. ความพอประมาณอย่างมีเหตุผล เป็นการใช้ชีวิต กำหนดการผลิตและการบริโภคอยู่บนความพอประมาณ มีเหตุผล ไม่มากไม่น้อยเกินไป

4. การมีภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันโลก เป็นการเตรียมความพร้อมของคนและสังคมให้สามารถเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ ให้รู้เขา รู้เราเพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สามารถเลือกรับและบริโภคสิ่งที่ดีมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์

5. การเสริมสร้างคุณภาพคน ให้เป็นคนดี มีคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความขยัน อดทน มีวินัย มีสติตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาและความรู้อย่างต่อเนื่อง

แนวทางเหล่านี้เองที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นกับประชาชนคนไทยทั้งแผ่นดินเพื่อสร้างสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติให้มีความยั่งยืน ไม่เน้นเฉพาะภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชน หรือภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม แต่หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถเข้าไปบูรณาการได้กับทุกภาคส่วนของประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองหลวงหรือต่างจังหวัดสามารถนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเท่าเทียมกันขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคน แต่ละชุมชน และธุรกิจ แต่จะมีรูปแบบการใช้ที่แตกต่างกันออกไป

การวิจัยครั้งนี้จะให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนคนเมืองหลวงที่อาศัยอยู่ในชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นสำคัญซึ่งทางกรุงเทพมหานครได้เล็งเห็นความสำคัญของการใช้ชีวิตแบบพอเพียงจึงได้นำไปกำหนดไว้เป็นโยบาย เช่น ปี 2548 นโยบาย “ชีวิตกรุงเทพมหานคร ชีวิตพอเพียง เพื่อความสุขแบบพอเพียง” และให้ “คนกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” ปี 2549 นโยบาย “กรุงเทพมหานคร ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” โดยมุ่งขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครสู่เป้าหมายใน 4 มิติ ประกอบด้วย 1. มิติด้านคุณภาพชีวิต : ความอยู่ดีมีสุขของคนกรุงเทพมหานคร 2. มิติด้านสิ่งแวดล้อม : สิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืน 3. มิติดานวัฒนธรรม : การดำรงความเป็นไทยในความเป็นสากล และ 4. มิติด้านเศรษฐกิจ : สร้างเศรษฐกิจให้สมดุลภายใต้ความพอเพียง (สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร, 2551: 5) นอกจากนี้ยังกำหนดแนวคิดในยุทธศาสตร์หลักไว้ชัดเจน เกี่ยวกับวิถีชีวิตพอเพียงในมิติด้านเศรษฐกิจ และครอบครัวและชุมชนอยู่ดีมีสุข ปลอดภัยในมิติด้านสังคมวัฒนธรรม (สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร, 2551: 10) เมื่อพิจารณาแผนการพัฒนาของเขตดุสิตพบว่า ได้นำแนวคิดเหล่านี้ไปกำหนดไว้เป็นเป้าประสงค์ของการพัฒนาของเขตดุสิต ลำดับที่ 6 อย่างชัดเจนว่า “มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการขนาดเล็กมีขีดความสามารถในการแข่งขัน เศรษฐกิจชุมชนเป็นไปตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงและส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในระดับสากล”(สำนักงานเขตดุสิต, 2552: 12) นับเป็นระยะเวลาหลายสิบปีแล้วที่ประชาชนรับรู้รับทราบแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและได้น้อมนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตของตนเองอย่างต่อเนื่องมาตลอดแม้ว่าแต่ละคนจะมีบริบทแตกต่างกันไปหลากหลายรูปแบบของการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขบนพื้นฐานของความพอเพียง

ดังข้อความที่กล่าวมาข้างตนผู้วิจัยเล็งเห็นความสำคัญอย่างยิ่งของการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ทั้งในระดับปัจเจกชนและระดับชุมชนโดยเฉพาะชุมชนเมืองที่มีสภาวะแวดล้อมหรือกิเลสต่าง ๆ ของความทันสมัยที่คอยฉุดดึงให้คนหนีออกจากความพอเพียงและการพึ่งตนเองอย่างมากมาย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องทำการศึกษารูปแบบการดำรงชีวิตอย่างไรจึงจะมีความสุขในชุมชนเมืองภายใต้กรอบแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและยังส่งผลเป็นแรงกระตุ้นและแนวทางให้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้ว่า ไม่ว่าคนจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีบริบทของความเจริญ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากมายเพียงใด ก็ย่อมสามารถน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจไปใช้ได้เช่นเดียวกันกับประชาชนไทยทั่วประเทศ

 

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย (Objectives)

1. เพื่อสำรวจความรู้ความเข้าใจของการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนชุมชนเมืองเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

2. เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมและระดับการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับชุมชน ของประชาชนชุมชนเมืองเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

3. เพื่อศึกษาแนวทางการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนชุมชนเมืองเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology)

          ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในทั้ง 26 ชุมชนทั้งชาย และหญิงมีจำนวนทั้งสิ้น 19,847 คน โดยกำหนดกลุ่มตัวอย่างตามสูตรของ ทาโร ยามาเน่ (Yamane, 1973: 125) ได้ขนาดของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 392 คน ใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างโดยไม่อาศัยความน่าจะเป็น (Non-Probability sampling) ด้วยวิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยพิจารณากำหนดตามอายุของกลุ่มตัวอย่างตั้งแต่ อายุ 18 ปีขึ้นไป ถือเป็นวัยผู้ใหญ่ตอนต้นเนื่องจากบุคคลในช่วงอายุดังกล่าวมีวุฒิภาวะในการตัดสินใจ หรือมีวิจารณญาณญาณเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ชัดเจนขึ้น เพื่อเก็บข้อมูลแบบสอบถาม และวิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) สำหรับสัมภาษณ์กับกลุ่มประธานชุมชน/ผู้นำชุมชน หรือคณะกรรมการชุมชนที่ประชาชนเคารพนับถือ ชุมชนเมืองละ 1 คนโดยการสัมภาษณ์ตั้งเกณฑ์ตามความเหมาะสมตามระยะเวลา ความสะดวกของผู้นำในการให้ข้อมูลและงบประมาณ มีจำนวน 26 คน/ชุมชน แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) โดยใช้สถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และใช้สถิติอ้างอิง (Inferential Statistics) เพื่อทำการเปรียบเทียบและทดสอบข้อมูล ได้แก่ Independent - Samples T test (T-test), One-Way ANOVA (F-test) โดยมีเกณฑ์การวัดความรู้ความเข้าใจในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มี 5 ระดับ ได้แก่ ตั้งแต่ 80% ขึ้นไป (มากที่สุด) 70 – 79% (มาก) 60 – 69% (ปานกลาง) 50 – 59% (น้อย) และต่ำกว่า 50% (น้อยที่สุด) เกณฑ์ในการวัดการปฏิบัติกิจกรรมและการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือน มี 5 ระดับ ไดแก่ ค่าเฉลี่ยระหว่าง 4.21 - 5.00 (มากที่สุด) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 3.41 - 4.20 (มาก) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 2.61 - 3.40 (ปานกลาง) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.81 - 2.60 (น้อย) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.00 - 1.80 (น้อยที่สุด) ส่วนการวิเคราะห์แบบสัมภาษณ์ใช้วิธีวิเคราะห์เชิงพรรณา (Descriptive Analysis)

 

ผล/ สรุปผลการวิจัย (Result)

          ประชาชน (ผู้ตอบแบบสอบถาม) ในชุมชนเมืองส่วนใหญ่มีระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 16 ข้อ เรียงจากค่าร้อยละที่มากไปน้อย ได้แก่ 1) การใช้จ่ายใด ๆ ต้องคำนึงถึงความจำเป็นต่อการดำรงชีพและไม่สุรุ่ยสุร่าย (ร้อยละ 99.74) 2) การกระทำกิจกรรมร่วมในชุมชนหรือสังคมไม่ควรเอาเปรียบผู้อื่นและเพื่อนร่วมงาน (ร้อยละ 99.23) 3) การรู้จักประหยัด มัธยัสถ์เป็นหลักพื้นฐานสำคัญของความพอประมาณ (ร้อยละ 98.98) 4) การประพฤติปฏิบัติตนให้มีความซื่อสัตย์สุจริตในชีวิตเสมอเป็นเงื่อนไขด้านคุณธรรม (ร้อยละ 98.72) 5) การลงทุนในกิจการงานใด ๆ ต้องไม่ทำเกินตัวเกินความสามารถของตน (ร้อยละ 98.47) 6) การกระทำกิจการลงทุนใด ๆ ต้องค้นหาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรู้จักวางแผน (ร้อยละ 98.21) 7) การรู้จักแสวงหาความรู้จากหลากหลายแหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารเป็นการสร้างรอบรู้ และรอบคอบก่อนการตัดสินใจในการกระทำการใด ๆ เป็นเงื่อนไขด้านความรู้ (ร้อยละ 97.96) 8) การรู้จักคิด วางแผน วิเคราะห์ สังเคราะห์ว่าควรทำหรือไม่ควรนั้นแสดงถึงการมีเหตุผล (ร้อยละ 97.70) 9) การกระตุ้นตนเองให้เป็นคนรู้จักศึกษา หาความรู้ใส่ตัวทั้งการดำรงชีพ และในอาชีพเสมอ (ร้อยละ 96.68) 10) การรู้จักเคารพกฎกติกาของครอบครัว ชุมชน สังคม หรือองค์การที่ตนเองเกี่ยวข้องด้วย, การรู้จักวางแผนระบบการใช้จ่ายเงินแต่ละเดือน วางแผนอนาคตให้กับคนในครอบครัวรู้จักการเก็บออมเพื่ออนาคต (ร้อยละ 96.68) 11) การจัดทำบัญชีครัวเรือน หรือการจัดทำบัญชีรายรับ-จ่าย เป็นการวางแผนที่ดีของตนเองและครอบครัวต่อการดำรงชีพในอนาคต (ร้อยละ 95.92) 12) การรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและชุมชน (ร้อยละ 95.15) 13) การติดตามข่าวสารการเปลี่ยนแปลงของสังคม บ้านเมือง เทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอ (ร้อยละ 94.64) 14) การประกอบอาชีพด้วยความขยันอดทนในหน้าที่การงานเป็นเงื่อนไขด้านคุณธรรม (ร้อยละ 94.13) 15) การดำรงชีวิตด้วยสติปัญญาเป็นเงื่อนไขของความรู้ (ร้อยละ 90.82) และ16) การดำรงชีวิตด้วยความระมัดระวังเป็นเงื่อนไขด้านความรู้ (ร้อยละ 89.03)

การปฏิบัติในกิจกรรมในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนในชุมชนเมือง เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จำแนกโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.72) เมื่อพิจารณาตามรายด้านพบว่า ทุกด้านมีการปฏิบัติในกิจกรรมในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับมาก โดยเรียงจากมากไปน้อย ดังนี้

          1) ด้านการใช้และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ค่าเฉลี่ย 3.99)

          2) ด้านการดำรงชีวิต (ค่าเฉลี่ย 3.95)

          3) ด้านการเอื้ออาทร เกื้อกูลต่อกัน (ค่าเฉลี่ย 3.86)

          4) ด้านการลดรายจ่าย (ค่าเฉลี่ย 3.57)

          5) ด้านการออม (ค่าเฉลี่ย 3.50)

          6) ด้านการเพิ่มรายได้ (ค่าเฉลี่ย 3.46)

ส่วนรายข้อที่น่าสนใจแต่ละด้าน ดังนี้

- ด้านการดำรงชีวิต ประชาชนมีการปฏิบัติในกิจกรรมในระดับบุคคลและครัวเรือน ที่มีระดับการปฏิบัติมากที่สุดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ 1) การประกอบอาชีพของตนและสมาชิกในครอบครัวเป็นอาชีพที่สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น รู้จักพอประมาณและไม่ลงทุนเกินตัว (ค่าเฉลี่ย 4.27) และ 2) การยึดมั่นและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของศาสนา (ค่าเฉลี่ย 4.22)

- ด้านการใช้และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชาชนมีการปฏิบัติในกิจกรรมในระดับบุคคลและครัวเรือน ที่มีระดับการปฏิบัติมากที่สุดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าเสมอเมื่อออกจากบ้านหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ (ค่าเฉลี่ย 4.35) ดังตารางที่แสดงค่าเฉลี่ยโดยรวมดังนี้

การปฏิบัติในกิจกรรมในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
Mean
S.D.
ระดับการปฏิบัติ
ด้านการลดรายจ่าย
3.57
0.78
มาก
ด้านการเพิ่มรายได้
3.46*
1.02
มาก
ด้านการออม
3.50
0.98
มาก
ด้านการดำรงชีวิต
3.95
0.72
มาก
ด้านการใช้และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3.99
0.70
มาก
ด้านการเอื้ออาทร เกื้อกูลต่อกัน
3.86
0.84
มาก
ผลรวม
3.72
0.70
มาก

* S.D. > 1 จึงวิเคราะห์ด้วยค่ามัธยฐาน (Mdn = 3.60 อยู่ในระดับมาก)

 

ส่วนการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนในชุมชนเมือง เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร  โดยภาพรวมอยู่ในระดับเห็นด้วย (ค่าเฉลี่ย 4.04) เมื่อพิจารณาตามรายด้านพบว่า ด้านที่มีความคิดเห็นในการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนในชุมชนเมือง ดังนี้

          1) ด้านจิตใจ (ค่าเฉลี่ย 4.33)

          2) ด้าน พอ พัฒนาตนเอง ไม่เบียดเบียนและพึงพอใจในชีวิตที่พอเพียง (ค่าเฉลี่ย 4.23)

          3) ด้านสังคม (ค่าเฉลี่ย 4.12)

          4) ด้านทรัพยากรธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อม (ค่าเฉลี่ย 3.97)

          5) ด้านเศรษฐกิจ (ค่าเฉลี่ย 3.84)

6) ด้านเทคโนโลยี (ค่าเฉลี่ย 3.75)

ส่วนรายข้อที่น่าสนใจแต่ละด้าน ดังนี้

- ด้านจิตใจ ได้แก่ ประชาชนมีการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนของประชาชนในชุมชนเมือง เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ 1) ยึดมั่นในการประกอบอาชีพที่สุจริตเสมอ ถึงแม้ว่าครอบครัวจะตกอยู่ในภาวะลำบากและขาดแคลนก็ตาม (ค่าเฉลี่ย 4.40) 2) แม้การดำรงชีพในปัจจุบันจะลำบากพร้อมที่จะต่อสู้กับชีวิต ไม่ท้อแท้จนกว่าตนเองและครอบครัวจะประสบผลสำเร็จโดยยึดหลักความพอเพียง (ค่าเฉลี่ย 4.32) และ3) ความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะดำรงชีพด้วยความพอเพียงและพึ่งตนเองให้มากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.26)

- ด้านสังคม ได้แก่ ประชาชนมีการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนของประชาชนในชุมชนเมือง เขตดุสิต กรุงเทพมหานครในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการมีความยินดีเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางชุมชนจัดขึ้น เช่น กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา กิจกรรมวันพ่อ แม่ วันเด็ก เป็นต้น (ค่าเฉลี่ย 4.23)

- ด้าน“พอ” พัฒนาตนเอง ไม่เบียดเบียนและพึงพอใจในชีวิตที่พอเพียง ได้แก่ ประชาชนมีการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนของประชาชนในชุมชนเมือง เขตดุสิต กรุงเทพมหานครในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตนและสมาชิกในครอบครัวปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักธรรมทางศาสนาอยู่เสมอ (ค่าเฉลี่ย 4.33) ดังตารางที่แสดงค่าเฉลี่ยโดยรวมดังนี้

การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
Mean
S.D.
ระดับความคิดเห็น
ด้านจิตใจ
4.33
0.61
เห็นด้วยอย่างยิ่ง
ด้านเศรษฐกิจ
3.84
0.73
เห็นด้วย
ด้านสังคม
4.12
0.72
เห็นด้วย
ด้านเทคโนโลยี
3.75
0.82
เห็นด้วย
ด้านทรัพยากรธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อม
3.97
0.79
เห็นด้วย
ด้าน พอ พัฒนาตนเอง ไม่เบียดเบียนและพึงพอใจในชีวิตที่พอเพียง
4.23
0.74
เห็นด้วยอย่างยิ่ง
ผลรวม
4.04
0.55
เห็นด้วย

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการปฏิบัติตามกิจกรรมในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนในชุมชนเมืองเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ได้แก่

- การได้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ประชาชนที่เคยและไม่เคยเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงได้มีการปฏิบัติตามกิจกรรมในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนเมืองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยผู้ที่เคยเข้ารับการอบรมจะสามารถปฏิบัติตามกิจกรรมในระดับบุคคลและครัวเรือนได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยเข้ารับการอบรมเลย

- การเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม พบว่า ประชาชนที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมได้มีการปฏิบัติตามกิจกรรมในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนเมือง แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยผู้ที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมจะสามารถปฏิบัติตามกิจกรรมในระดับบุคคลและครัวเรือนได้มากกว่าผู้ที่ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม

ปัจจัยที่มีผลต่อการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนในชุมชนเมือง เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ได้แก่

- การได้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนที่เคยและไม่เคยเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงได้มีการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนเมืองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยผู้ที่เคยเข้ารับการอบรมจะสามารถประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยเข้ารับการอบรมเลย

- การเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม ประชาชนที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมได้มีการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนเมืองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยผู้ที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมจะสามารถประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนได้มากกว่าผู้ที่ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม

อภิปรายผล (Discussion of Research)

กิจกรรมที่ปฏิบัติในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนในชุมชนเมืองเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.72) เมื่อพิจารณาตามรายด้านพบว่า ด้านการใช้และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ค่าเฉลี่ย 3.99) มีค่าเฉลี่ยสูงสุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าเสมอเมื่อออกจากบ้านหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ (ค่าเฉลี่ย 4.35) เนื่องจากครัวเรือนในชุมชนเมืองการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายชนิดบ่อยครั้งที่ต้องใช้พร้อม ๆ กันจำนวนหลายประเภทซึ่งทำให้สิ้นเปลืองพลังงานและเพิ่มรายจ่ายของครัวเรือนมากขึ้นด้วย ดังนั้นจึงทำให้ประชาชนหันมาให้ความสำคัญในการใช้พลังงานไฟฟ้าให้น้อยลง หรือเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานและจะเป็นการประหยัดรายจ่ายลงอีกทางหนึ่งด้วย เช่นเดียวกับผลการวิจัยของ ศิริวรรณ พัฒนารุ่งพานิช (2552: 78-83) ที่ทำการศึกษาเรื่อง การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิตของข้าราชการทหาร กอง 9 ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการทองทัพไทย พบว่า ข้าราชการ กอง 9 ศูนย์รักษาความปลอดภัยส่วนใหญ่มีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต อยู่ในระดับมากโดยเฉพาะการเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟ การทำบัญชีครัวเรือน รายรับ-จ่าย เป็นต้น แต่ยังพบว่าการมีส่วนร่วมในการสร้างอาชีพเสริมให้ตนเองและเข้าร่วมกลุ่มกับชุมชนในกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพของชุมชน หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่จัดขึ้นมีค่ามัธยฐานที่ต่ำที่สุด(Mdn = 3.60) เนื่องจากประชาชนในชุมชนเมืองแต่ละคนมีหน้าที่การงานและมีอาชีพหลักอยู่แล้ว ทั้งนี้ยังไม่ค่อยมีเวลาให้กับการสร้างอาชีพเสริมในชุมชนนัก นอกจากนี้ประชาชนในชุมชนเมืองส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท และที่สำคัญประชาชนอาศัยอยู่ในชุมชนตั้งแต่ 30 กว่าปีขึ้นไปการปฏิบัติในกิจกรรมด้านเศรษฐกิจพอเพียงจึงมีทิศทางที่ไม่แตกต่างกันนักคือต้องรู้จักควบคุมรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และประหยัดมัธยัสถ์มากขึ้น ทั้งนี้เมื่อต้องใช้เวลาโดยส่วนใหญ่ดิ้นรนหารายได้เพิ่มมากขึ้นจึงไม่ค่อยมีเวลาในการผลิตเครื่องอุปโภค บริโภคใช้เองในครอบครัวนัก ดังนั้นสิ่งใดที่ซ่อมได้ก็อาจจะซ่อมแซมก่อนแต่ถ้าจำเป็นที่ต้องซื้อใหม่ได้จะตัดสินใจหาซื้อทดแทนทันที รวมถึงการทำบัญชีรายรับ รายจ่ายไว้ควบคุมค่าใช้จ่ายของตนเองและครอบครัว แต่ก็ไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่องเพราะยังมีเกณฑ์ที่โน้มเอียงมาในระดับปานกลาง เนื่องจากต้องใช้เวลาส่วนใหญ่มุ่งทำงานสร้างรายได้ จึงไม่ค่อยมีเวลาและโอกาสในการทำบัญชีครัวเรือนในแต่ละเดือนอย่างต่อเนื่องนัก เช่นเดียวกับผลการวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ความเข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริกับการบันทึกบัญชีครัวเรือนของประชาชนในเขตพื้นที่ ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พบว่า การบันทึกบัญชีครัวเรือนของประชาชนภาพรวมอยู่ในระดับบางครั้ง เช่นเดียวกัน (สุคนธ์ เหลืองอิงคะสุต, 2551: บทคัดย่อ)

การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนของประชาชนในชุมชนเมืองเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พบว่า โดยภาพรวมประชาชนเห็นด้วย (ค่าเฉลี่ย 4.04) กับการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งด้านจิตใจ (ค่าเฉลี่ย 4.33) มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาได้แก่ ด้าน คำว่า พอ พัฒนาตนเอง ไม่เบียดเบียนและพึงพอใจในชีวิตที่พอเพียง (ค่าเฉลี่ย 4.13) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่จะยึดมั่นในการประกอบอาชีพที่สุจริตเสมอ ถึงแม้ว่าครอบครัวจะตกอยู่ในภาวะลำบากและขาดแคลนก็ตาม (ค่าเฉลี่ย 4.40) และปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักธรรมทางศาสนาอยู่เสมอ (ค่าเฉลี่ย 4.33) โดยความเป็นจริงประชาชนในชุมชนเขตดุสิตมีการปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว แต่เพียงไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ปฏิบัติประจำอยู่นั้นเป็นความพอเพียงหรือไม่ และที่สำคัญประชาชนในชุมชนเมืองส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินที่ตนเองเป็นผู้ก่อ แต่ยังไม่ได้มีความทุกข์ยากลำบากจนเลี้ยงชีพไม่ได้ แต่กลับพบว่าประชาชนรู้จักตนเองดีพอสมควรว่ามีศักยภาพเพียงใด จะดำรงชีพอยู่อย่างไรกับชีวิตในชุมชนเมือง จะเอาตัวอย่างไรในสภาวะเศรษฐกิจข้าวของแพง จะปฏิบัติตามตามหลักธรรมของพุทธศาสนาอย่างไรจึงจะทำให้ตนเองมีความสุขตามอัตภาพซึ่งสิ่งเหล่าประชาชนสามารถปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่ จึงทำให้ประชาชนมีความเห็นด้วยว่า ตนเองมีความพอใจ มีความสุข ยินดีกับชีวิตตามอัตภาพของตนเองที่เป็นอยู่แล้วในขณะนี้ นี้คือความพอเพียง ตามความคิดเห็นของประชาชนในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร (ภูสิทธ์ ขันติกุล, 2555: 173-174) ทั้งนี้ประชาชนในชุมชนเมืองจะรู้จักควบคุมตนเอง ค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้มาก เนื่องจากภาระจำเป็นที่ต้องรับผิดชอบในครัวเรือนที่สูง เช่น ค่าอาหาร ค่าไฟฟ้า น้ำประปา และค่าเทอมบุตรหลานเป็นต้น ซึ่งผลการวิจัยของนฤมล นิราทร, อรศรี งามวิทยาพงศ์ และชไมพร รุ่งฤกษ์ฤทธิ์ (2550: 111) ผู้ที่ประกอบอาชีพตามเศรษฐกิจนอกภาคทางการในเขตเมือง กรณีศึกษาในเขตดินแดง ซึ่งมีความเป็นไปได้ หรืออาจกล่าวว่า ณ เวลาปัจจุบันมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว หากแต่ไม่ปรากฏชัดเจนในรูปของกลุ่ม หรือขบวนการที่มีชื่อหรือวัตถุประสงค์ชัดเจน เมื่อศึกษาเจาะลึกพบว่า ผู้ดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญานี้ มีความสุขในชีวิตได้ตามอัตภาพของฐานะตนเอง

นอกจากนี้ไม่ว่าประชาชนในชุมชนเมืองหรือนอกชุมชนเมืองจะมีผลต่อการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงและปฏิบัติในกิจกรรมของเศรษฐกิจพอเพียงเช่นเดียวกัน คือ ปัจจัยด้านการได้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง โดยผู้ที่เคยเข้ารับการอบรมจะสามารถประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยเข้ารับการอบรมเลย และการเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม โดยผู้ที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมจะสามารถประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนได้มากกว่าผู้ที่ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม

ข้อเสนอแนะ (Research Recommendations)

1) ประชาชนต้องเข้าใจในศักยภาพของตนเองและบริบททางสังคมเมืองที่เป็นอยู่ โดยไม่ควรคำนึงถึงพฤติกรรมในการดำรงชีวิตที่คุ้นชินกับวิถีชีวิตคนเมือง เช่นการผูกติดกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเจริญทางวัตถุ การแข่งขันกันสูงในอาชีพการงาน ความเอารัดเอาเปรียบกัน ความโลก บริโภคนิยม ความทันสมัยของเทคโนโลยี ปัญหาสังคมอีกจำนวนมากมาย มุ่งประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนร่วม เป็นต้น ลดการพบปะสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ให้น้อยลง ส่วนการตัดสินใจใด ๆ ในครอบครัวหรือที่ทำงานไม่ยึดเหตุผลของตนเองเป็นสำคัญ และมุ่งมันประกอบอาชีพอย่างหนึ่งอย่างใดที่ตนเองถนัดให้ดีมีคุณภาพ และเมื่อใช้จ่ายแล้วมีเงินเหลือจากการใช้จ่ายประจำเดือนควรนำเงินไปเก็บออมเสมอ

          2) ผู้นำครอบครัวควรให้คำแนะนำ ปรึกษาหารือกับสมาชิกในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสถานะภาพ การเงินของตนเอง และครอบครัว ไม่ควรใช้เทคโนโลยีตามความเจริญก้าวหน้า แต่ควรใช้เทคโนโลยีตามความเหมาะสม คุ้มค่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากเทคโนโลยีนั้น ๆ เป็นสำคัญ เพราะโดยปกติครัวเรือนในเมืองจะมีอุปกรณ์เทคโนโลยีที่หลากหลายกับการใช้งานในครัวเรือนอยู่แล้ว แต่ที่พบว่ามีปัญหาคือ สมาชิกในครอบครัวมักใช้เทคโนโลยีไม่เหมาะสมกับการใช้งานและฐานะของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการใช้โทรศัพท์ราคาแพงหรือ การใช้คอมพิวเตอร์ที่ราคาสูง ที่ไม่เหมาะกับนักเรียนหรือครอบครัวที่ฐานะไม่ค่อยดีนัก เป็นต้น นอกจากนี้ควรต้องรู้จักการผลิตเครื่องอุปโภค บริโภคใช้เองในครอบครัว เช่น ไม้ถูกพื้น ผ้าถูกพื้น ผ้าเช็ดเท้า น้ำยาล้างจาน เป็นต้น ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการปลูกพืชในครัวเรือน และรู้จักประหยัดมัธยัสถ์ พึ่งพาตนเองและสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวด้วย นอกจากนี้ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างอาชีพเสริมให้ตนเองและเข้าร่วมกลุ่มกับชุมชนในกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพของชุมชน หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่จัดขึ้นด้วย

3) หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น เขตดุสิต จะต้องปรับวิธีการทำงานโดยการลงพื้นที่สำรวจความต้องการ ความถนัด ภูมิปัญญาของชุมชน เพื่อพัฒนาอาชีพให้สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีพของประชาชนในแต่ละชุมชนเพื่อเป็นการสร้างการมีรายได้เพิ่มขึ้นของประชาชนที่ว่างงาน หรือทำงานในชุมชน และพยายามสร้างพลังชุมชนให้กับประชาชนแต่ละชุมชนเกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างอาชีพเสริมให้ตนเองและเข้าร่วมกลุ่มกับชุมชนในกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพของชุมชน หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่จัดขึ้น เนื่องจากกิจกรรมในระดับบุคคลและครัวเรือนด้านการเพิ่มรายได้อยู่ในระดับค่าเฉลี่ยต่ำสุด

 

การอ้างอิง (References)

นฤมล นิราทร, อรศรี งามวิทยาพงศ์, ชไมพร รุ่งฤกษ์ฤทธิ์. (2550). เศรษฐกิจนอกภาคทางการในเขตเมืองเพื่อการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
ภูสิทธ์ ขันติกุล. (2555). การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนของประชาชนในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร. งานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
มูลนิธิชัยพัฒนา. (2550). เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
ศิริวรรณ พัฒนารุ่งพานิช. (2552). การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิตของข้าราชการทหาร กอง 9 ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการทองทัพไทย. ภาคนิพนธ์ปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บัณฑิตวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา.
สำนักงานเขตดุสิต. (2552). แผนปฏิบัติราชการ ประจำปี พ..2552. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานเขตดุสิต.(เอกสารอัดสำเนา)
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2549). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่สิบ (พ.ศ.2550-2554). กรุงเทพฯ: คุรุสภาลาดพร้าว.
สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร. (2551). แผนบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2552-2555. กรุงเทพฯ: สินธุ ครีเอชั่น.
สุคนธ์ เหลืองอิงคะสุต. (2551). ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ความเข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริกับการบันทึกบัญชีครัวเรือนของประชาชนในเขตพื้นที่ ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี.
Yamane, Taro. 1973. Statistics: An Introductory Analysis. (3 rd ed.). Tokyo: Harper.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น