วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความผูกพันของครอบครัวทหารต่อชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร


ความผูกพันของครอบครัวทหารต่อชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

Military Families’ Attachment to the Royal Guards Community of

Dusit District, Bangkok Metropolitan.

 

ภูสิทธ์ ขันติกุล1 กณิกนันท์ โภชฌงค์2

Phusit Khantikul & Kanikanan Poshong

1สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสังคม ภาควิชาสังคมศาสตร์

2สาขาวิชาภาษาจีน ภาควิชามนุษยศาสตร์

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

 

บทคัดย่อ

การวิจัยในครั้งนี้กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ความพึงพอใจต่อชุมชน และความผูกพันต่อชุมชน ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความผูกพันของประชาชน และลักษณะความผูกพันของครอบครัวทหารชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยใช้เทคนิคการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบไม่อาศัยความน่าจะเป็น (Non-Probability sampling) ด้วยวิธีการสุ่มแบบโควต้า (Quota Sampling) ตามอายุ โดนกำหนดอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปและตามครอบครัวละ 1 กลุ่มตัวอย่างด้วยแบบสอบถาม จำนวน 287 คน และวิธีการสุ่มแบบบอกต่อ (Snowball Sampling) ด้วยการสัมภาษณ์โดยเริ่มจากผู้นำชุมชนยานเกราะแล้วผู้รู้ที่ประชาชนในชุมชนเคารพนับถือ จำนวน 20 คน และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่  ค่ามัชฌิมเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่  Independent - Samples T test (T-test), One-Way ANOVA (F-test), Chi-Square และวิเคราะห์เชิงพรรณนาตามโครงสร้างเนื้อหาแบบสัมภาษณ์ พบผลการศึกษาคือ ประชาชนในชุมชนยานเกราะ มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนโดยภาพรวมอยู่ระดับปานกลาง โดยมีค่าเฉลี่ยมากที่สุดในการมีส่วนร่วมกิจกรรมวันแม่ และวันพ่อ ส่วนความพึงพอใจของประชาชนต่อพื้นที่ชุมชนยานเกราะ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ทั้งนี้ประชาชนมีความพึงพอใจโดยมีค่าเฉลี่ยมากที่สุดในเรื่องการคมนาคม (เดินทาง)ภายในชุมชนหรือการติดต่อกับคนภายนอกชุมชน และการเข้าถึงชุมชนมีความสะดวกสามารถเข้าได้หลายช่องทาง ส่วนความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนยานเกราะทั้งภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับสูง โดยประชาชนมีความรู้สึกว่าชุมชนเป็นบ้านมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความผูกพันของประชาชนในชุมชนยานเกราะ ได้แก่ อายุ สถานภาพ อาชีพ รายได้ต่อเดือน ระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชน การเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม การมีเพื่อนบ้านที่สนิทสนมคุ้นเคยกันภายในชุมชน และผลประโยชน์ที่ได้รับจากชุมชน ทั้งนี้ยังพบว่า ประชาชนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนยานเกราะอยู่ในระดับสูง และความพึงพอใจต่อชุมชนมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนยานเกราะอยู่ในระดับสูงมาก ส่วนลักษณะความผูกพันของครอบครัวทหารในชุมชนยานเกราะจะมีลักษณะเป็นบ้านหลังใหญ่ที่ทุกคนต้องดูแล ปกป้อง ทั้งหัวหน้าครอบครัวและคนในครอบครัวจะรักชุมชนที่ตนอาศัยอยู่มาก และลักษณะที่เป็นการแสดงพฤติกรรมในการมีส่วนร่วมของกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนและความพึงพอใจต่อพื้นที่ของชุมชนสูงจะทำให้ประชาชนยิ่งผูกพันต่อชุมชนสูงโดยจะพบว่าคนในชุมชนมีความรู้สึกว่าทุกคนในชุมชนเป็นเพื่อนบ้านที่สนิทสนมกันไป เป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน

 

คำสำคัญ การมีส่วนรวม ความพึงพอใจต่อชุมชน ความผูกพันต่อชุมชน ชุมชนยานเกราะ

 

Abstract

The objective of this research is to study the people’s level of participation in activities of the community, their satisfaction towards the community, the attachment they have to the community, factors that influence the attachment, as well as the characteristics of the relationships of military families’ of the Royal Guards community of Dusit District. The method used was non-probability sampling by quota sampling according to people’s age. The determined age was 18 years old onwards. One set of sample group was done per family. The questionnaires were conducted by 287 people. Snowball sampling was also used by interviewing people of the community, starting from the Royal Guards Community’s leader, then by 20 of the community’s well-respected persons. The data was analyzed by using descriptive statistics, such as arithmetic mean and standard deviation, as well as by inferential statistics, such as Independent - Samples T test (T-test), One-Way ANOVA (F-test), Chi-Square. Descriptive analysis according to the structure of the interview content was also used. The results of the research is that the participation of the population in the Royal Guards Community in various activities is at a medium level, with the average participation level during Mother’s and Father’s Days. The people’s general level of satisfaction towards the premises of the Royal Guards Community is at the highest level. The people are most satisfied with the transportation within the community and in contacting with people from outside the premises. The access to the community is convenient and there are various entrances. The attachment of the people to the Royal Guards Community in general and by each category is at a high level. The feeling that the community is their home rated the highest average. Factors that influence the attachment of the people of the Royal Guards Community are age, status, profession, income, length of stay in the community, membership of social groups, having neighbors they feel close and familiar with, and as well as the benefits they receive from the community. In addition, it was found that people that participate in activities have a high level of positive relationship towards the attachment of the people to the Royal Guards Community. The satisfaction of the community has a very high level of positive relationship with the attachment of the people to the Royal Guards Community. The characteristics of the attachment of military families’ is that they live in big houses that everyone has to protect and care for, starting from the leader of the family as well as all members. Therefore, they all love the community they live in. The characteristics that show the participation of activities within the community and the high level of satisfaction towards the premises of the community will enable the people to be more attached to the community. It was found that the people feel that everyone in the community is their neighbors, as if they are in the same family.

 

Key Word(s) Participation, Community Satisfaction, Community Attachment, Royal Guards Community

 

หลักการและเหตุผล (Reasonable)

ปัจจุบันกระแสของการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อตอบสนองความต้องการอันรวดเร็วทันใจของมนุษย์ ยิ่งตอบความต้องการที่สะดวกสบายเท่าไหร่ ยิ่งทำให้มนุษย์ยอมรับนวัตกรรมใหม่ ๆ เหล่านั้น ง่ายมากขึ้นเท่านั้น จนละเลยหรือขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพ(พื้นที่ ภูมิศาสตร์)  สังคม และวัฒนธรรม ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและการสูญสิ้นวิถีการดำรงชีวิตดีงามอันเป็นรากเหง้าของประชาชนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผูกพันของประชาชนที่มีต่อชุมชนหรือท้องถิ่น อันเป็นคุณค่าของชีวิตที่ถูกถ่ายทอดให้กันและกันสืบทอดจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งของคนในชุมชน จนกลายเป็นภูมิปัญญาชุมชน นั่นถือเป็นสิ่งที่ตีค่ามิได้ ทำให้สูญหายไปพร้อมกับกระแสของการพัฒนา หรือนโยบายการพัฒนาจากภาครัฐ นอกจากนี้แล้วยังมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชน เช่น นิเวศวิทยา การยอมรับสิ่งใหม่ การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ลักษณะบุคลิกภาพของปัจเจกบุคคล สื่อสารมวลชน และการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข, 2537 : 71-77 ) การเปลี่ยนแปลงด้านการสื่อสารทำให้มนุษยชาติใช้เทคโนโลยีสร้างความสัมพันธภาพผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชนในเมืองใหญ่มักให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีจนเกินไป หลายครอบครัวความผูกพันในครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงไป นอกจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ทำให้ความผูกพันของคนน้อยลงแล้ว ยังเกิดอาจเกิดได้หลายสาเหตุ บางครั้งเกิดมาจากภายใน เช่น ปัจจัยธรรมชาติ ปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ก็ได้ อีกสาเหตุอาจมาจากภายนอก เช่น ในยามสงบ มีการติดต่อค้าขายระหว่างกัน และในยามสงคราม เกิดความขัดแย้งระหว่างชายแดนได้ (สัญญา สัญญาวิวัฒน์, 2549 : 7-8) เมื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม เศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิต ความผูกพันของประชาชนอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมแล้วความเป็นวิถีชีวิตของคนเมือง จึงได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากนโยบายของภาครัฐ  แต่ความเป็นชุมชนเมืองมักจะมีระบบระเบียบที่ชัดเจนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ ทำให้หลายคนมักมองว่า วิถีชีวิตคนเมืองโดยเฉพาะในเมืองหลวงแล้วความผูกพันของคนมักเป็นไปแบบหลวม ๆ ไม่แน่นแฟ้น แต่นั่นเป็นเพียงการตั้งสมมติฐานเท่านั้น เพราะความผูกพันที่มีต่อชุมชนต้องอิงอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งกาสาร์ดา และ จาโนวิทซ์ (Kasarda & Janowitz, 1974 : 329-330) ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า บุคคลที่มีส่วนร่วมในสถาบันของท้องถิ่นมาก จะให้ความผูกพันต่อชุมชนสูงตามไปด้วยแต่ถ้าเมื่อใดความต้องการของเขาไม่ได้รับการตอบสนองความผูกพันต่อชุมชนก็จะต่ำลงและพร้อมจะออกจากชุมชนนั้น การโยกย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยยังเป็นอุปสรรคการพัฒนาความสัมพันธ์ของท้องถิ่นด้วย เช่น ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ความสัมพันธ์กับเครือญาติ และความสัมพันธ์กับกิจกรรมหรือองค์การต่าง ๆ ในท้องถิ่น ซึ่งมีผลทำให้ความผูกพันต่อชุมชนลดลงด้วย นอกจากนี้สมศักดิ์ ศรีสันติสุข (2537 : 7-8) ได้อธิบายไว้ว่า ความรู้สึกผูกพันจะนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิตต่าง ๆ ในชุมชนให้ดีขึ้น กล่าวคือ การที่สมาชิกในชุมชนมีความผูกพันทางจิตใจต่อถิ่นที่อยู่อาศัยนั้น คือ สมาชิกทั้งหลายได้มีการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนร่วมกัน เช่น เป็นที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และการพักผ่อนหย่อนใจ สิ่งเหล่านี้ทำให้สมาชิกในชุมชนมีความผูกพันกับถิ่นที่อยู่ของตน ซึ่งอาจจะคาดหวังได้ว่า บุคคลซึ่งมีความผูกพันต่อชุมชนสูง จะแสดงความรู้สึกและความรับผิดชอบต่อชุมชนเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตต่าง ๆ ให้ดีขึ้น เช่นเดียวกับชุมชนแขวงแขวงวัดกัลยาณ์มีระดับความผูกพันกับชุมชนในระดับสูง เนื่องจากคนในชุมชนหลายคนตั้งรกรากอยู่ในที่นี้ทำให้ลูกหลายรุ่นต่อมามีความผูกพันกับชุมชนไม่อยากย้ายไปอยู่ที่อื่น อีกเหตผลสำคัญทุกคนรู้สึกรักชุมชนมากที่สุดเสมือนเป็นบ้านของตน แม้ชุมชนอื่นจะดีกว่าให้สิ่งที่ตนได้มากกว่าชุมชนแห่งนี้ ทุกคนในชุมชนยังรู้สึกพึงพอใจและคิดถึงชุมชนนี้มากกว่าชุมชนอื่น ๆ (นัยน์ปพร สุภากรณ์, 2550 : 44) ดังนั้นความผูกพันของคนในชุมชนจึงมีหลากหลายปัจจัยแตกต่างกันไปตามบริบทของชุมชน ทำให้ผู้วิจัยสนใจที่ศึกษาความผูกพันของคนในชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานครซึ่งธรรมชาติของชุมชนแห่งนี้แตกต่างจากชุมชนอื่น เพราะเป็นชุมชนทหาร เป็นบ้านพักของครอบครัวทหารที่มีกฎกติกาที่เข้มงวดชัดเจน เป็นรูปธรรมให้ความสำคัญกับความอาวุโส และระดับยศ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ซึ่งชุมชนจะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล ในการก่อสร้างศูนย์ราชการรัฐสภาแห่งใหม่ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ได้มีการประกาศผลแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2553นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา พร้อมด้วยประธานวุฒิสภา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานวุฒิสภา พร้อมนายรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ส.ส. ข้าราชการ ประชาชน เข้าร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารรัฐสภาหลังใหม่ ณ พื้นที่ราชพัสดุ ถนนทหารเกียกกาย เขตดุสิต อย่างพร้อมเพรียง (มติชนออนไลน์ 2553, 12 สิงหาคม) การเปิดพื้นที่เพื่อเวนคืนยังไม่มีความชัดเจนให้กับประชาชน แผนการรองรับการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของคนที่ผูกพันกับชุมชนยังไม่มี ทำให้คนในพื้นที่มีความรู้สึกกังวลอย่างมากและเริ่มส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่แล้ว จนกระทั่งคนในพื้นที่ได้สะท้อนความรู้สึกและความคิดเห็นออกมาโดย "สุกาญจนา" ตัวแทนแม่บ้าน ขส.ทบ. เปิดเผยว่า หลังจากที่ทราบว่า จะมีการเวนคืนพื้นที่เพื่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ คนในชุมชนก็ไม่เห็นด้วยและต่างกินไม่ได้นอนไม่หลับ บางคนถึงขนาดเสียสติ เพราะไม่รู้ว่าหากย้ายไปอยู่ที่วัดสลักเหนือจริง วิถีชีวิตเราจะเป็นอย่างไร อีกทั้งเงินเดือนข้าราชการทหารก็น้อย ถ้าเราต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นกับการใช้ชีวิตในพื้นที่แห่งใหม่เราก็ไม่เอา (มติชนรายวัน 2551, 15 สิงหาคม) รวมถึงนายอุบล ม่วงทิม ประธานชุมชนยานเกราะ เปิดเผยว่า ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในชุมชนยานเกราะเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2478 และอยู่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น แม้ว่าปัจจุบันที่พักอาศัยจะเริ่มทรุดโทรม แต่คนในชุมชนก็ยังอยากจะอยู่อาศัยในพื้นที่เดิม ไม่เพียงแต่คนในชุมชนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่สิ่งที่น่าเสียดายอีกประการหนึ่งคือ “บ้าน และห้องแถวโบราณ อายุเกือบ 100 ปี”  ซึ่งปลูกสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 โดยองค์การทอผ้าสร้างให้พนักงานอยู่อาศัย ซึ่งมีอยู่ในชุมชนถึง 72 หลัง และควรบูรณะ เพื่ออนุรักษ์ไว้ อีกทั้งที่ผ่านมาทางชุมชนฯ ได้ทำแผนพัฒนา เพื่อปรับปรุงบ้านโบราณเหล่านี้ เพื่อให้น่าอยู่ขึ้นด้วย ดังนั้นมัน “ไม่ใช่แค่เรื่องย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่น แต่มันเป็นเรื่องความผูกพันที่เรามีกับชุมชนด้วย เราอยู่กันแบบชุมชนดูแลกันเอง ชุมชนของเราไม่เคยมีคดีลักขโมย หรือค้ายา เป็นชุมชนที่พ่อแม่ผู้ปกครองสบายใจได้ว่า หากลูกเดินออกจากโรงเรียน แล้วจะเข้ามาในตรอกซอกซอยจะไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องสภาพแวดล้อมที่ลูกหลานจะต้องมาเจอ (ผู้จัดการออนไลน์ 2551, 19 สิงหาคม) เช่นเดียวกับชุมชนยานเกราะ ซึ่งเป็นชุมชนทหารที่ครอบครัวทหารได้พักอาศัยอยู่มาอย่างยาวนานจนกระทั่งทุกคน ทุกครัวเรือนมีความผูกพันกลมเกลียวเหนี่ยวแน่นเป็นอย่างใกล้ชิด โดยชุมชนแหงนี้มีประกอบด้วยครัวเรือน รวมทั้งหมด 290 ครัวเรือน โดยลักษณะที่พักอาศัยจะแบ่งเป็นที่พักของนายทหารชั้นสัญญาบัตรหรือที่เรียกว่า อาคารนายทหาร มี 1 อาคารโดยมีพื้นที่ใช้สอยภายในตัวเรือนมากกว่าของข้าราชการชั้นประทวน คือ ภายในจะประกอบด้วยห้อง 2 ห้อง โดยอาคารนายทหารจะมีความกว้างกว่า แฟลตเล็กน้อย และมีบ้านทาวน์เฮาส์ 2 อาคาร ซึ่งเป็นที่พักของ จ่าอาวุโส ลักษณะของชุมชนจะประกอบด้วยกำลังพลและครอบครัวที่มีความรู้จักกันดี  มีความสัมพันธ์กันมากเนื่องจากทำงานร่วมกัน (ภรณ์นภัส เบินท์ และภูสิทธ์ ขันติกุล, 2552 : 33) ลักษณะของประชาชนที่อาศัยในชุมชนยานเกราะตามคำบอกเล่าของร้อยเอกกลิ้ง บุญถนอม หัวหน้าชุมชนยานเกราะ กล่าวว่า สมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่จะมาจากต่างจังหวัด ร้อยละ 70 ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ทุกคนก็อยู่กันแบบพี่ ๆน้อง ๆ พึ่งพาอาศัยกันในชุมชน เวลาขอความร่วมมือก็มักจะมาร่วมกิจกรรมกันทั้งครอบครัว (ภรณ์นภัส เบินท์ และภูสิทธ์ ขันติกุล, 2552 : 37) ด้วยเหตุผลที่ประชาชนมาจากหลายจังหวัดต่างวัฒนธรรมต่างทางความคิดมาอยู่ร่วมกันในพื้นที่ชุมชนเดียวกันมีรูปแบบการดำรงชีวิตอย่างเดียวกันในระยะเวลาที่ยาวนาน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะทำการศึกษาความผูกพันของประชาชนที่มีต่อชุมชนที่ตนอาศัยอยู่โดยเป็นรูปแบบการดำรงชีวิตแบบครอบครัวทหาร เพื่อเป็นองค์ความรู้ให้กับประชาชนเพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย (Objectives)

1. เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมของชุมชน ความพึงพอใจของประชาชนต่อชุมชน และความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

2. เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความผูกพันของประชาชนในชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

3. เพื่อกำหนดลักษณะความผูกพันของครอบครัวทหารชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

 

ระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology)

          ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ประชาชนที่เป็นสมาชิกครอบครัวทหารอาศัยอยู่ในชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,017 คน โดยกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างตามสูตรของ ท่าโร ยามาเน่ (Taro Yamane, 1973 : 125) ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 287 คน ใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างโดยไม่อาศัยความน่าจะเป็น (Non-Probability sampling) ด้วยวิธีการสุ่มแบบโควต้า (Quota Sampling) ตามอายุของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปและเก็บจากครอบครัวละ 1 กลุ่มตัวอย่าง เพื่อเก็บข้อมูลแบบสอบถามจำนวน 287 คน และด้วยวิธีการสุ่มแบบบอกต่อ (Snowball Sampling) สำหรับสัมภาษณ์ประชาชนลุ่มผู้นำชุมชนและผู้อาวุโสหรือผู้ที่ประชาชนที่คนในชุมชนเคารพนับถือ จำนวน 20 คน โดยเริ่มจากผู้นำชุมชนยานเกราะเป็นลำดับแรก นำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) โดยใช้สถิติพรรณา(Descriptive Statistics) ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และใช้สถิติอ้างอิง (Inferential Statistics) เพื่อทำการเปรียบเทียบและทดสอบข้อมูล ได้แก่ Independent - Samples T test (T-test), One-Way ANOVA (F-test) ส่วนการวิเคราะห์แบบสัมภาษณ์ใช้วิธีวิเคราะห์เชิงพรรณา (Descriptive Analysis) ส่วนเกณฑ์ในการวัดระดับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ คือ ค่าเฉลี่ยระหว่าง 3.01 – 4.00 (มีส่วนร่วมมาก) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 2.01 – 3.00 (มีส่วนร่วมปานกลาง) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.00 – 2.00 (มีส่วนร่วมน้อย) ส่วนเกณฑ์วัดระดับความพึงพอใจต่อชุมชน คือ ค่าเฉลี่ยระหว่าง 4.21 - 5.00 (มากที่สุด) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 3.41 - 4.20 (มาก) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 2.61 - 3.40 (ปานกลาง) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.81 - 2.60 (น้อย) และค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.00 - 1.80 (น้อยที่สุด) (ธานินทร์ ศิลป์จารุ, 2549 : 77) รวมถึงเกณฑ์วัดระดับความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนยานเกราะ คือ ค่าเฉลี่ยระหว่าง 3.68 - 5.00 (สูง) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 2.34 - 3.67 (ปานกลาง) และค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.00 - 2.33 (ต่ำ)

 

ผล/ สรุปผลการวิจัย (Result)

          ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ทุกคนเป็นสมาชิกของครอบครัวทหาร ซึ่งส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนโดยภาพรวมอยู่ระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 2.89) ซึ่งประชาชนจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมวันแม่ และวันพ่อ (ค่าเฉลี่ย 3.55) มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ โครงการ "เสาธง 5 นาที" (ค่าเฉลี่ย 3.61) กิจกรรมวันมาฆบูชาและกิจกรรมวันเข้าพรรษา (ค่าเฉลี่ย 3.52) กิจกรรมวันสงกรานต์ (ค่าเฉลี่ย 3.39) ส่วนความพึงพอใจของประชาชนต่อพื้นที่ชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานครในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.65) เมื่อพิจาราณารายข้อ พบว่าทุกข้อมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด โดยประชาชนจะมีความพึงพอใจในการคมนาคม (เดินทาง)ภายในชุมชนหรือการติดต่อกับคนภายนอกชุมชน และการเข้าถึงชุมชนมีความสะดวกสามารถเข้าได้หลายช่องทาง (ค่าเฉลี่ย 4.71) มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือความพึงพอใจในพื้นที่ชุมชนมีความเหมาะสมเพียงพอกับจำนวนประชาชนที่อาศัยอยู่ (ค่าเฉลี่ย 4.70) และความพึงพอใจในการรักษาความสะอาดและการกำจัดขยะมูลฝอยภายในชุมชน และการมีพื้นที่สีเขียวและที่พักผ่อนหย่อนใจภายในชุมชน (ค่าเฉลี่ย 4.69) ตามลำดับ ส่วนความผูกพันของประชาชนในชุมชนยานเกราะโดยภาพรวมอยู่ระดับสูง (ค่าเฉลี่ย (ค่าเฉลี่ย 4.61) เมื่อพิจารณาตามรายด้านพบว่า ทุกด้านอยู่ในระดับสูง โดยเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ ด้านความรู้สึกว่าเป็นบ้าน (ค่าเฉลี่ย 4.71) ด้านความรู้สึกรักชุมชน (ค่าเฉลี่ย 4.69) ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม และความผูกพันในสถานที่ (ค่าเฉลี่ย 4.67) ด้านความผูกพันด้านการทำหน้าที่ (ค่าเฉลี่ย 4.66) และด้านความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน (ค่าเฉลี่ย 4.65)

          ทั้งนี้จากการสัมภาษณ์ประชาชนกลุ่มผู้นำชุมชนและผู้อาวุโสหรือผู้ที่ประชาชนที่คนในชุมชนเคารพนับถือ พบว่า ความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนยานเกราะ ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1) ประชาชนจะมีความรู้สึกผูกพันกับชุมชนเป็นอย่างมากเพราะว่าอยู่อาศัยกันมาเป็นเวลานาน ทั้งรักและหวงแหนชุมชน “ชุมชนนี้เปรียบเสมือนครอบครัวขนาดใหญ่ ที่ทุกคนมาอยู่ร่วมกัน มีทั้งความอบอุ่น ความสบายใจและความปลอดภัยที่ได้จากเพื่อนฝูงและสมาชิกชุมชน” ซึ่งสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของจินตนา บูชา (2554 : สัมภาษณ์, 28 สิงหาคม) ที่เป็นสมาชิกชุมชน อาชีพแม่บ้าน ที่กล่าวว่า “...รู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้าน และผูกพันกับทุกที่ในชุมชน...”

2) ประชาชนมีความรู้สึกรักและหวงแหนชุมชน โดยที่คิดว่าในชุมชนนั้นมีความรักและสามัคคีกัน โดย “รูปแบบที่สมาชิกในชุมชนนั้นแสดงออกมาก็จะเป็นในเรื่องการให้ความร่วมมือและช่วยเหลือกันเป็นส่วนใหญ่”โดยการให้ความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือนี้ก็สามารถแสดงออกได้โดยการที่สมาชิกในชุมชนนั้น “ร่วมกันดูแล ปกป้องและรักษาชุมชนของพวกเขาอย่างเต็มที่” ซึ่งสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของสมศักดิ์ สืบศรี, จ.ส.อ. (2554 : สัมภาษณ์, 30 สิงหาคม) สมาชิกชุมชน ประกอบอาชีพรับราชการทหาร ที่กล่าวว่า “...รู้สึกรัก ปกป้องและหวงแหนชุมชนมาก...”

3) ประชาชนมีความรู้สึกว่าความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนนั้น “ถึงแม้ว่าจะเป็นที่พักของข้าราชการ แต่ทุกคนในชุมชนก็อยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น มีความรักและความห่วงใยความสามัคคีกัน อยู่กันเหมือนพี่น้อง พึ่งพาอาศัยกัน และมีระเบียบวินัย” ซึ่งเวลาส่วนใหญ่ที่จะได้พบปะกันก็จะเป็นเวลาหลังเลิกงาน ซึ่งในการพบปะกันนั้นก็จะมีการพูดคุยกัน ซึ่งสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของโอภาส แก่นไธสง, จ.ส.อ. (2554 : สัมภาษณ์, 30 สิงหาคม) สมาชิกชุมชน ประกอบอาชีพรับราชการทหารตำแหน่ง ผบ.หมวด ที่กล่าวว่า “...ประชาชนมีความเป็นกันเองของผู้คนในชุมชน...”

4) ประชาชนส่วนใหญ่จะมี “บทบาทในการร่วมกันดูแลความเป็นอยู่ของชุมชนนั้นให้เรียบร้อย เมื่อมีกิจกรรมของชุมชนก็จะร่วมมือในการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่” ซึ่งการดูแลชุมชนนั้นก็ไม่ต่างไปกับการดูแลครอบครัวของตนเองสมาชิกในชุมชนก็เหมือนพี่น้องกัน ซึ่งสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของอรรณน ศรีสุข, จ.ส.อ. (2554 : สัมภาษณ์, 30 สิงหาคม) เป็นสมาชิกชุมชน อาชีพรับราชการทหารตำแหน่ง รอง ผบ.หมวด ที่กล่าวว่า “...ช่วยกันดูแลรักษาคนและสถานี่ให้เรียบร้อยเหมือนพี่น้อง...”

5) ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าความสัมพันธ์กันทางสังคมนั้นมีมากพอสมควร ซึ่ง “การอยู่ร่วมกันในชุมชนนั้นอยู่กันเหมือนญาติ พี่น้องกัน” ซึ่งลักษณะของการแสดงออกก็คือ “ยามใครมีปัญหาหรือได้รับความเดือดร้อนก็จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดูแลซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดเป็นความผูกพันที่มากขึ้น” ซึ่งสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของชัยรัตน์ โพธิ์เงินนาค, ร.ท. (2554 : สัมภาษณ์, 18 สิงหาคม) เป็น สมาชิกชุมชน อาชีพข้าราชการบำนาญ ที่กล่าวว่า “...แนะนำ บอกเล่า ให้ญาติทุกคนต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตาม...”

6) ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าชุมชนนี้ “เป็นชุมชนใหญ่ซึ่งอาจะเรียกได้ว่าเป็นบ้านหลังใหญ่ที่ทุกคนได้อยู่ร่วมกัน” ซึ่งที่นี่มีทั้งความรักใคร่สามัคคีกัน อยู่กันอย่างอบอุ่น มีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเต็มที่ ทำให้ได้ความรู้สึกที่เหมือนเป็นพี่เป็นน้องกัน และมีความปลอดภัยที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของกนกวรรณ อำไพรัตน์ (2554 : สัมภาษณ์, 18 สิงหาคม) เป็นสมาชิกชุมชน อาชีพรับราชการที่กล่าวว่า “...เป็นบ้านหลังใหญ่ที่มีความดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน...”

ปัจจัยปัจจัยที่มีผลต่อความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ได้แก่

-      อายุ โดยประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 31 ปีขึ้นไปมีความผูกพันต่อชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานครมากกว่าประชาชนที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี และประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 41-50 ปีมีความผูกพันต่อชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานครมากกว่าประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 31-40 ปี

-      สถานภาพ โดยประชาชนที่มีสถานภาพสมรสมีความผูกพันต่อชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานครมากกว่าประชาชนที่มีสถานภาพโสด และเป็นม่าย/หย่าร้าง/แยกกัน

-      อาชีพ โดยประชาชนที่ประกอบอาชีพพ่อบ้าน แม่บ้านมีความผูกพันต่อชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานครมากกว่าประชาชนที่ประกอบอาชีพค้าขาย และอื่น ๆ ได้แก่ นักศึกษา ธุรกิจส่วนตัว และประชาชนที่ประกอบอาชีพรับจ้างมีความผูกพันต่อชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานครมากกว่าประชาชนที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ ได้แก่ นักศึกษา ธุรกิจส่วนตัว รวมถึงประชาชนที่ประกอบอาชีพลูกจ้างบริษัทเอกชน พนักงานรัฐวิสาหกิจ และรับราชการมีความผูกพันต่อชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานครมากกว่าประชาชนที่ประกอบอาชีพค้าขาย และอื่น ๆ ได้แก่ นักศึกษา ธุรกิจส่วนตัว และเกษียณอายุ

-      รายได้ต่อเดือน โดยประชาชนที่มีรายได้ต่อเดือน15,001 บาทขึ้นไป มีความผูกพันต่อชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานครมากกว่าประชาชนที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 15,000 บาท

-      ระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชน โดยประชาชนที่มีระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชนตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป มีความผูกพันต่อชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานครมากกว่าประชาชนที่มีระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชนไม่เกิน 20 ปี

-      การเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมโดยประชาชนที่เป็นกลุ่มสมาชิกกลุ่มทางสังคมมีความผูกพันต่อชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานครมากกว่าประชาชนที่ไม่เป็นกลุ่มสมาชิกกลุ่มทางสังคม

-      การมีเพื่อนบ้านที่สนิทสนมคุ้นเคยกันภายในชุมชน โดยประชาชนที่มีเพื่อนบ้านที่สนิทสนมคุ้นเคยกันกับทุกคนในชุมชนมีความผูกพันต่อชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานครมากกว่าประชาชนที่มีเพื่อนบ้านที่สนิทสนมคุ้นเคยกันจำนวนมากแต่ไม่ทุกคนและมีบ้างเล็กน้อย

ส่วนลักษณะความผูกพันของครอบครัวทหารต่อชุมชนยานเกราะ จะมีลักษณะชุมชนเป็นบ้านหลังใหญ่ที่ทุกคนต้องดูแล ปกป้อง ทั้งหัวหน้าครอบครัวและคนในครอบครัวจะรักชุมชนที่ตนอาศัยอยู่มากและทุกคนจะมีความผูกพันกันสูง และมีลักษณะที่เป็นการแสดงพฤติกรรมในการมีส่วนร่วมของกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนและความพึงพอใจต่อพื้นที่ของชุมชนสูงจะทำให้ประชาชนยิ่งผูกพันต่อชุมชนสูงโดยจะพบว่าคนในชุมชนมีความรู้สึกว่าทุกคนในชุมชนเป็นเพื่อนบ้านที่สนิทนสนมกันไป เป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน นอกจากนี้ลักษณะความผูกพันจะขึ้นอยู่กับการเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมด้วย

อภิปรายผล (Discussion of Research)

ความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกันพบว่า ประชาชนในชุมชนยานเกราะ มีความผูกพันโดยภาพรวมอยู่ระดับสูง (ค่าเฉลี่ย (ค่าเฉลี่ย 4.61) เมื่อพิจารณาตามรายด้านพบว่า ทุกด้านอยู่ในระดับสูง โดยเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ ด้านความรู้สึกว่าเป็นบ้าน (ค่าเฉลี่ย 4.71) ด้านความรู้สึกรักชุมชน (ค่าเฉลี่ย 4.69) ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม และความผูกพันในสถานที่ (ค่าเฉลี่ย 4.67) ด้านความผูกพันด้านการทำหน้าที่ (ค่าเฉลี่ย 4.66) และด้านความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน (ค่าเฉลี่ย 4.65) เนื่องจากว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนยานเกราะหลายคนอาศัยมากกว่า 20 ปีขึ้นไป การมีเพื่อนบ้านที่สนิทสนมคุ้นเคยกันภายในชุมชนจำนวนมากเกือบทุก ๆ คนในชุมชนและมีการพบปะ พูดคุยสนทนาปรึกษาและขอความช่วยเหลือระหว่างกันแทบทุก ๆ วัน และหลายคนจะได้รับผลประโยชน์จากชุมชนทั้งในเรื่องการการคมนาคมขนส่ง ถนนหนทางภายในชุมชนมีความสะดวกสบาย การได้รับความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่อาศัยอยู่ในชุมชน รวมถึงการมีความอบอุ่นใจที่ได้รับมิตรภาพที่ดี ๆ จากเพื่อนบ้าน และการได้รับสวัสดิการจากชุมชน เช่น ศูนย์สุขภาพชุมชน อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยต่าง ๆ การตรวจตราดูแลความปลอดภัยจากยาเสพติดภายในชุมชน เป็นต้น และสิ่งสำคัญที่สุดทุกคนมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า ชุมชนนี้เป็นเสมือนบ้านหลังใหญ่เป็นบ้านหลังที่สองที่ต้องคอยดูแลปกป้อง สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของจินตนา บูชา (2554 : สัมภาษณ์, 28 สิงหาคม) ที่เป็นสมาชิกชุมชน อาชีพแม่บ้าน ที่กล่าวว่า “...รู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้าน และผูกพันกับทุกที่ในชุมชน...” และคำสัมภาษณ์ของกนกวรรณ อำไพรัตน์ (2554 : สัมภาษณ์, 18 สิงหาคม) เป็นสมาชิกชุมชน อาชีพรับราชการที่กล่าวว่า “...เป็นบ้านหลังใหญ่ที่มีความดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน...” รวมถึงคำสัมภาษณ์ของสมศักดิ์ สืบศรี, จ.ส.อ. (2554 : สัมภาษณ์, 30 สิงหาคม) สมาชิกชุมชน ประกอบอาชีพรับราชการทหาร ที่กล่าวว่า “...รู้สึกรัก ปกป้องและหวงแหนชุมชนมาก...”  จึงทำให้ประชาชนในชุมชนมีความผูกพันกับชุมชนยานเกราะในระดับสูง ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยเกี่ยวกับ ความผูกพันกับชุมชนของประชาชนในชุมชนแขวงวัดกัลป์ยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ของนัยน์ปพร สุภากรณ์ (2550 : 129-130) พบผลการวิจัยว่า ความผูกพันกับชุมชนของกลุ่มตัวอย่างในชุมชนแขวงวัดกัลป์ยาณ์ มีระดับความผูกพันกับชุมชนรวมทุกด้านอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 75.4 (ค่าเฉลี่ย = 0.77)

ข้อเสนอแนะ (Research Recommendations)

1) คณะกรรมการชุมชนควรส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการชุมชนสัมพันธ์รอบวังสุโขทัยและการสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประชาชนมีส่วนร่วมอยู่ในระดับปานกลางที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด รวมถึงพยายามส่งเสริมให้ประชาชนได้มีสถานที่พบปะพูดคุย สนทนาปรึกษาหารือกันมากขึ้นเนื่องจากการที่ประชาชนได้มีการพบปะพูดคุย สนทนาปรึกษาและขอความช่วยเหลือกับเพื่อนบ้านที่สนิทสนมคุ้นเคยกันภายในชุมชนทุก ๆ วัน และเกือบทุกวันใน 1 สัปดาห์ จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนยานเกราะมากขึ้น นอกจากนี้ชุมชนต้องจัดเวลาให้เหมาะสมกับประชาชนที่มีอาชีพลูกจ้างบริษัทเอกชน เนื่องกลุ่มอาชีพนี้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานครน้อยกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ๆ ในชุมชน

          2) กองทัพในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดและคณะกรรมการชุมชนยานเกราะควรมีโครงการในการเสริมสร้างอาชีพที่เป็นของหน่วยต้นสังกัดเพื่อเป็นแหล่งจ้างงานเพิ่มเติมให้กับประชาชนที่เป็นแม่บ้าน หรือครอบครัวทหารที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องจากแหล่งจ้างในงานชุมชนนั้นมีน้อย ถึงแม้ว่าประชาชนจะมีความพึงพอใจก็ตามแต่ยังมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับน้อยที่สุด นอกจากนั้นพยายามให้ประชาชนที่มีอาชีพค้าขายมีแหล่งจ้างงานและแหล่งเงินกู้เพิ่มเติม เนื่องจากประชาชนที่มีอาชีพค้าขายมีความพึงพอใจต่อชุมชนน้อยกว่าหลายกลุ่มอาชีพ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจในประโยชน์ที่จะได้รับจากการเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมต่าง ๆ ในชุมชนให้ต่อเนื่องและชัดเจน เนื่องจากผู้ที่เป็นกลุ่มสมาชิกกลุ่มทางสังคมจะมีความพึงพอใจกว่าผู้ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมนั่นเอง

3) ประชาชนในชุมชนต้องหันมาค้นหาความเป็นตัวตนเองชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนหรือเอกลักษณ์ของชุมชนที่แตกต่างจากชุมชนอื่น เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนของตนเองและส่งเสริมเอกลักษณ์ของชุมชนภายในครอบครัวเป็นการปลูกฝังให้กับเยาวชนได้รู้และตระหนักปฏิบัติตามเอกลักษณ์ของตนเองจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรของชุมชนตนเองได้ เนื่องจากเยาวชนนั้นมีระยะการอยู่ในชุมชนไม่มากนักทำให้ความผูกพันในชุมชนด้านอัตลักษณ์นี้น้อยกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนมากกว่า 20 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ถึงแม้ว่าความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ประชาชนจะมีความผูกพันสูงก็ตามแต่เมื่อพิจารณาทุกด้านแล้วจะมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด จึงควรส่งเสริมให้ชัดเจน

 

การอ้างอิง (References)

กนกวรรณ อำไพรัตน์. (2554, 18 สิงหาคม). ประชาชนในชุมชนยานเกราะ. สัมภาษณ์.
จินตนา  บูชา. (2554, 28 สิงหาคม). ประชาชนในชุมชนยานเกราะ. สัมภาษณ์.
ชัยรัตน์  โพธิ์เงินนาค, ร.ท. (2554, 18 สิงหาคม).  ข้าราชการทหารเกษียณอายุ/ประชาชนในชุมชนยานเกราะ. สัมภาษณ์.
ธานินทร์ ศิลป์จารุ. 2549. การวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วย SPSS. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร: วี. อินเตอร์ พริ้น.
นัยน์ปพร สุภากรณ์. 2550. ความผูกพันกับชุมชนของประชาชนในชุมชนแขวงวัดกัลป์ยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สังคมวิทยาประยุกต์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
ภรณ์นภัส เบินท์ และภูสิทธ์ ขันติกุล. 2552. การศึกษาวิถีชีวิตชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร. งานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา.
สมศักดิ์ ศรีสันติสุข. 2537. สังคมวิทยาชุมชน. ขอนแก่น : ภาควิชาสังคมิวทยาและมานุษยิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
สมศักดิ์ สืบศรี, จ.ส.อ. (2554, 30 สิงหาคม). ผบ.หมวด/ข้าราชการทหาร/ประชาชนในชุมชนยานเกราะ. สัมภาษณ์.
สัญญา สัญญาวิวัฒน์. 2549. ทฤษฎีและกลยุทธ์การพัฒนาสังคม. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์. 2551, 19 สิงหาคม. รัฐสภาหลังใหม่ ความสง่างามบนคราบน้ำตา นร.-ปชช. จาก http://www.manager.co.th/home/ สืบค้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2554.
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. 2551. รัฐสภาแห่งใหม่ บนน้ำตาชาว “เกียกกาย” ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม 2551 ฉบับที่ 11115.
หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์. 2553, 12 สิงหาคม. พระบรมฯ”ทรงเป็นองค์ประธานวางศิลาฤกษ์”รัฐสภา”แห่งใหม่. จาก http://www.matichon.co.th/ สืบค้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2554.
อรรณน ศรีสุข, จ.ส.อ. (2554, 30 สิงหาคม). รอง ผบ.หมวด/ข้าราชการทหาร/ประชาชนในชุมชนยานเกราะ. สัมภาษณ์.
โอภาส แก่นไธสง, จ.ส.อ. (2554, 30 สิงหาคม). ข้าราชการทหาร/ประชาชนในชุมชนยานเกราะ. สัมภาษณ์.
John D. Kasarda and Morris Janowitz. 1974. “Community Attachment in Mass Society” in American Sociological Review Vol. 39 (June): 328-339.
Yamane, Taro. 1973. Statistics : An Introductory Analysis (3 rd ed.). Tokyo : Harper.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น