วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลาดน้ำท่าคา


การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลาดน้ำท่าคา

People’s Participation to the Tourism Development: Tha-ka Foating Market


ภูสิทธ์  ขันติกุล

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

E-mail: phu_sit@hotmail.com


Phusit Khantikul

Faculty of Humanities and Social Sciences, Suan Sunandha Rajabhat University

E-mail: phu_sit@hotmail.com


บทคัดย่อ


การวิจัยกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ดังนี้ 1) เพื่อวิเคราะห์การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลาดน้ำท่าคา     2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลาดน้ำท่าคา 3) เพื่อวิเคราะห์แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชน การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลาดน้ำท่าคา ซึ่งการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณโดยใช้แบบสอบถามในการรวบรวมข้อมูลจากประชาชนที่อาศัยอยู่ตำบล ท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้แบบสอบถามที่สมบูรณ์ครบถ้วนในการวิเคราะห์ จำนวน 372 คน (คิดเป็นร้อยละ 99.47) วิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนาและเชิงอนุมาน ได้แก่ ค่ามัชฌิมเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างตัวแปร 2 ตัวที่เป็นอิสระต่อกัน(Independent - Samples T test ) การเปรียบเทียมความแตกต่างระหว่างตัวแปรมากกว่า 2 ตัวด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว(One-Way ANOVA) พบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลาดน้ำท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยรวมอยู่ระดับปานกลาง ส่วนรายด้านที่มีค่าเฉลี่ยระดับมาก ได้แก่ ด้านการมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในตำบลท่าคา รายด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือการมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผลด้านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในตำบลท่าคา ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในตำบลท่าคาเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้แก่ ปัจจัยด้านอายุ การศึกษา อาชีพ รายได้ต่อเดือน และระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชน ส่วนแนวทางทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตลาดน้ำท่าคาที่สำคัญที่สุดคือ การพัฒนาจากฐานรากที่เป็นประชาชนคนท้องถิ่นโดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มเยาวชนและกลุ่มภูมิปัญญาท้องถิ่นได้มีบทบาทในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจและร่วมรับผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม


คำสำคัญ: การมีส่วนร่วม, การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว, ตลาดน้ำท่าคา









Abstract


            The  purpose of the research on People’s Participation to the Tourism Development: Tha-ka Foating Market, aims (1) to analyze people’s particitpation to the development of tourism in Tha-ka Foating Market; (2) to analyze the factors affecting people’s participation to the tourism development, Tha-ka Foating Market; (3) to analyze people’s participation to the tourism development, Tha-ka Foating Market. The study is a qualitative research using questionnaires to collect data from people in Tha-ka, Amphawa, Samutsongkhram. The 372 complete responses (99.47%) were verified by descriptive and content analysis: such as medium, standard deviation, Independent-Samples T Test, One-Way ANOVA. The findings of this research are as follows: the overall people’s participation to the tourism development in Tha-ka Foating Market, people’s participation in looking into the problems of sustainable tourism in Tha-ka, people’s participation in following up and evaluation of the sustainable tourism in Tha-ka, and factors impacted on people’s participation to the sustainable tourism development are: the age, the education, the occupation, the monthly income, and the duration of living in the community; the most important approach to develop the sustainable tourism in Tha-ka is to develop from the local people, especially the space opened for the youngsters and local experts to collaborate in thinking, working, deciding and reasonably generating profits.


Keyword: Participation, Development of Tourism, Tha-ka Foating Market


บทนำ   

               

การมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมในกิจกรรมใด ๆ ของสังคม ชุมชนท้องถิ่น เครือข่าย กลุ่มทางสังคม    ต่าง ๆ ย่อมเป็นตัวชี้วัดของความเป็นประชาธิปไตยอย่างหนึ่งให้กับสังคม ชุมชนท้องถิ่นหรือหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนที่สุด จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนประเทศ ชุมชน หน่วยงานให้ดำเนินไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้เมื่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นแนวทางที่ยั่งยืนและสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ ชุมชนท้องถิ่น โดยการส่งเสริมหรือสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่ประเทศไทยได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550มาตรา 87 (1) ไว้ว่า “ภาครัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น (ราชกิจจานุเบก-ษา, 2550) สามารถชี้ให้เห็นว่าภาครัฐต้องคำนึงถึงกระบวนการที่เกิดจากประชาชนในท้องถิ่น หรือภาคประชาชนในท้องถิ่นอย่างจริงใจ เสมอภาค และต่อเนื่อง ทั้งนี้การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาในด้านใดก็ตามมีหลากหลายรูปแบบที่จะนำไปสู่ความประสบผลสำเร็จได้ทั้งในประเด็นการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (Decision making) การมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน (Implementation) การมี  ส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์ (Benefits) และการมีส่วนร่วมในการประเมินผล (Evaluation) (Cohen & Uphoff, 1977) นอกจากนี้การมีส่วนร่วมที่ประชาชนจะเข้าร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองมีหลายขั้นตอน ได้แก่ 1) กำหนดปัญหา สาเหตุของปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหา 2) การตัดสินใจเลือกแนวทาง และวางแผนพัฒนาแก้ไขปัญหา 3) การปฏิบัติงานในกิจกรรมการพัฒนา และ 4) การประเมินผลงานกิจกรรมการพัฒนา (อคิน รพีพัฒน์, 2547) รวมถึงแนวคิดของสุนีย์  มัลลิกะมาลย์ (2545) ได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้     6 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 ร่วมรับรู้ ระดับที่ 2 ร่วมคิด ร่วมแสดงความคิดเห็น ระดับที่ 3 ร่วมพิจารณา ร่วมตัดสินใจ ระดับที่ 4 ร่วมดำเนินการ ระดับที่ 5 ร่วมติดตาม  ตรวจสอบและประเมินผล ระดับที่ 6 ร่วมรับผล ถึงอย่างไรก็ตามการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่จะประสบผลสำเร็จได้มากน้อยเพียงใดจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยทั้งด้านกลไกของภาครัฐ ที่ต้องคำนึงถึงความแตกต่างของวัฒนธรรมท้องถิ่น ปัจจัยด้านประชาชน ต้องมีความรู้เข้าใจและมีประสบการณ์ในการพัฒนาท้องถิ่น ปัจจัยด้านนักพัฒนา จำต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในเนื้อหาของกระบวนการมีส่วนร่วม และปัจจัยจูงใจ เป็นการได้รับผลประโยชน์จากการได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม การพัฒนา ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน (ปาริชาติ วลัยเสถียร และคณะ, 2543) ซึ่งงานวิจัยนี้ได้มุ่งเป้าหมายในการศึกษาวิจัยการมีส่วนร่วมของประชาชนใน                การพัฒนาการท่องเที่ยวตลาดน้ำท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ที่ระบุไว้ว่า     การพัฒนาให้จังหวัดเป็นศูนย์กลางการพักผ่อน และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางแม่น้ำลำคลองระดับชาติ  ปลูกจิตสำนึกให้ชาวจังหวัดสมุทรสงครามรักถิ่นกำเนิด อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมดีงาม (กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสมุทรสงคราม, 2554) และที่สำคัญ เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มมีกระแสที่ดีขึ้น การเปิดพื้นที่ชุมชนท่าคาโดยภาครัฐเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจากกระแสทุนนิยมภายนอกเข้ามาจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนของสภาพพื้นที่ โดยเฉพาะปัจจัยด้านการสร้างถนน ซึ่งจะเห็นได้ว่า “เมื่อปี พ.ศ. 2525 ได้มีการตัดถนนผ่านชุมชนท่าคาทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปบ้างจากเดิมที่เคยคึกคักมานานและเคยเป็นเสมือนสายธารแห่งชีวิตของชาวชุมชน เริ่มซบเซาลง ชาวบ้านหันไปค้าขายกันที่ตลาดบก” (วิไลลักษณ์ รัตนเพียรธัมมะ และคณะ ในวารสารร่มพฤกษ์, 2550) ทำให้เห็นว่าปัจจัยที่เข้มแข็งในการยืนหยัดต้านทานกระแสแห่งเงินตราของโลกาภิวัฒน์ไม่ให้กระแสของนักท่องเที่ยวอันเป็นปัจจัยภายนอกมาล้มล้างความเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ จนมีคำกล่าวที่ว่า “การท่องเที่ยวเป็นเรื่องของคนนอก เป็นเรื่องที่เกิดมีมาภายหลัง เป็นกิจกรรมเสริมได้หรือควบคู่ไปได้เท่าที่สอดคล้อง แต่คงมิใช่จะให้ชาวสวนมอบกายถวายชีวิตของตนเองไปให้แก่การท่องเที่ยว” (สุรจิต ชิรเวทย์, 2551) ด้วยสภาพปัญหาและเหตุผลปัจจัยของชุมชนท่าคาแห่งนี้ที่เริ่มสะท้อนความเปลี่ยนแปลงไปและผู้วิจัยคาดการณ์ว่า ในเวลาอันใกล้ชุมชนท่าคาแห่งนี้จะได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงในการเปิดพื้นที่เหมือนแหล่งท่องเที่ยวตลาดน้ำ  อัมพวา จนจะทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมที่ผูกโยงกับความเป็นชาวสวนในพึ่งพาธรรมชาติในการดำรงชีวิตจืดจางหายไปในที่สุดจึงจำเป็นต้องค้นหาแนวทางในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ยั่งยืนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ


วัตถุประสงค์

               

                1. เพื่อวิเคราะห์การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลาดน้ำท่าคา

                2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลาดน้ำท่าคา

                3. เพื่อวิเคราะห์แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตลาดน้ำท่าคา


นิยามศัพท์


                ประชาชน หมายถึง ประชาชนที่อาศัยอยู่ใน 12 หมู่บ้าน และประชาชนที่เป็นสมาชิกกลุ่มเครือข่ายองค์กร กลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มประเพณีวัฒนธรรม กลุ่มสตรี กลุ่มเรือพาย กลุ่มท่องเที่ยวและกลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มขนมไทย กลุ่ม       จักสานก้านมะพร้าว และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่าคา ณ ตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

                การส่วนร่วม หมายถึง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลาดน้ำท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหา การมีส่วนร่วมในการวางแผน การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรม การมี       ส่วนร่วมในการตัดสินใจ และการมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผล

                การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หมายถึง การท่องเที่ยวที่มุ่งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันชุมชนท้องถิ่นต้องเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการการท่องเที่ยวและได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันด้วย




วิธีการดำเนินการวิจัย


                การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ(Quantitative) ประชากรทั้งสิ้น 5,647 คน ได้กลุ่มตัวอย่างด้วยการคำนวณตามสูตรของ       ยามาเน่ จำนวน 374 คน และผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างได้แบบสอบถามที่สมบูรณ์ครบถ้วนสามารถนำไปวิเคราะห์ผลได้ จำนวน 372 ชุด คิดเป็นร้อยละ 99.47 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถาม โดยมีเทคนิคเลือกตัวอย่างแบบมาใช้ความน่าจะเป็น (Probability Sampling) ใช้วิธีการสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling) วิเคราะห์หาข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติพรรณนา (Descriptive Statistic) ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (Means) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และใช้สถิติอนุมาน (Inferential Statistic) ได้แก่ สถิติ t-test และสถิติ F-test (One Way ANOVA) ทั้งนี้เกณฑ์ในการแปลผลค่าเฉลี่ยของคะแนน ผู้วิจัยกำหนดเกณฑ์โดยแบ่งระดับคะแนนออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ 1.00 - 1.80 (น้อยที่สุด), 1.81 - 2.60 (น้อย), 2.61 - 3.40 (ปานกลาง), 3.41 - 4.20 (มาก) และ4.21 - 5.00 (มากที่สุด)


ผลการวิจัย


การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลาดน้ำท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อพิจารณาทั้งภาพรวมและรายด้าน พบว่า ภาพรวมของประชาชนทั้งตำบลท่าคามีส่วนร่วมอยู่ระดับปานกลาง (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.32) ส่วนรายด้านที่มีค่าเฉลี่ยระดับมาก ได้แก่ ด้านการมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในตำบลท่าคา (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.43) รายด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือการมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผลเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในตำบลท่าคา     (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.23) ดังตารางต่อไปนี้


ตารางที่ 1 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยภาพรวมและรายด้าน

การมีส่วนร่วมของประชาชน
Mean
S.D.
ระดับ
1. ด้านการมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหา
3.43
0.94
มาก
2. ด้านการมีส่วนร่วมในการวางแผน
3.33
1.06
ปานกลาง
3. ด้านการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรม
3.36
1.04
ปานกลาง
4. ด้านการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
3.25
1.11
ปานกลาง
5. ด้านการมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผล
3.23
1.11
ปานกลาง
รวม
3.32
0.98
ปานกลาง

               

                ส่วนรายด้านที่น่าสนใจและประชาชนให้ความสำคัญเข้าไปมีส่วนร่วมมากที่สุดนั่นก็คือ ด้านการมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในตำบลท่าคา โดยเฉพาะการค้นหาสาเหตุของปัญหา ประชาชนจะมีส่วนร่วมมากที่สุด (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.48) รองลงมา ได้แก่ การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการค้นหาปัญหา (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.46)







ตารางที่ 2 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้านการค้นหาปัญหา

ด้านการมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหา
Mean
S.D.
ระดับ
1. การสำรวจและเก็บข้อมูล
3.37
1.12
ปานกลาง
2. การศึกษาสาเหตุของปัญหา
3.48
1.09
มาก
3. การวิเคราะห์ปัญหาและกำหนดประเด็นปัญหาขึ้น
3.43
1.13
มาก
4. การอำนวยความสะดวกในการค้นหาปัญหาที่เกิดขึ้น
3.44
1.07
มาก
5. การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการค้นหาปัญหา
3.46
1.02
มาก
6. การร่วมประเมินความเป็นไปได้ในการดำเนินการ
3.37
1.04
ปานกลาง
รวม
3.43
0.94
มาก


                นอกจากนี้ความเห็นของประชาชนในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยทั่วไปจะชี้ให้เห็นว่า ประชาชนในพื้นที่จะมีความสุขและพึงพอใจมากถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวและใช้พื้นที่ท่าคาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ หากเมื่อใดชุมชนเกิดปัญหาในการพัฒนา      การท่องเที่ยวของชุมชนประชาชนพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวทำให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาและเกิดความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาชุมชนร่วมกัน และประสงค์จะให้การส่งเสริมและการพัฒนาการท่องเที่ยวในตำบลท่าคา ทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่เปลี่ยนไป เป็นต้น ซึ่งทัศนคติเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่าประชาชนมีความหวงแหนทรัพยากรดั้งเดิมของชุมชนและพร้อมที่จะพัฒนาโดยไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิมนัก ดังตารางต่อไปนี้


ตารางที่ 3 ทัศนคติของประชาชาชนต่อพฤติกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตลาดน้ำท่าคา

อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ทัศนคติการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
Mean
S.D.
ระดับ
1. การมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวทำให้ประชาชนในตำบลท่าคาได้รับความรู้และวิทยาการใหม่ๆจากการท่องเที่ยวเรียนรู้ถึงข้อมูลต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา
3.95
0.78
มาก
2. การมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวทำให้สถานที่และพื้นที่ตำบลท่าคา เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น
3.93
0.84
มาก
3. การมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวทำให้สภาพแวดล้อมในพื้นที่ตำบลท่าคาจะถูกทำลายโดยนักท่องเที่ยว
3.83
0.91
มาก
4. การมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวทำให้รู้สึกพึงพอใจและมีความสุขที่เห็นนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวและพักผ่อนในตำบลท่าคา
4.00
0.82
มาก
5. การส่งเสริมและการพัฒนาการท่องเที่ยวในตำบลท่าคา ทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่เปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตของตนเอง
3.98
0.81
มาก
6. การมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวทำให้เกิดรักความภาคภูมิใจในชุมชน ความรักต่อท้องถิ่นและความรับผิดชอบต่อสังคม
3.97
0.82
มาก
7. การมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวทำให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาและเกิดความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาชุมชนร่วมกัน
3.98
0.82
มาก
รวม
3.95
0.63
มาก


                นอกจากนี้การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตลาดน้ำท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ยังพบปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นที่ต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนโดยมีนโยบายเป็นตัวกำหนด กับประชาชนหรือเจ้าของที่ดินติดกับคลองท่าคาอันเป็นที่ตั้งของตลาดน้ำท่าคาในด้านทัศนคติในการพัฒนาการท่องเที่ยว รวมถึงขาดการมีส่วนร่วมจากเจ้าของที่โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการนัก เช่น การเป็นกรรมการในตลาดน้ำท่าคา และสิ่งสำคัญที่สุด คือขาดการสื่อสารถึง          ความต้องการของคนที่อยู่ชิดติดกับพื้นที่ ขาดการประสานประโยชน์ร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นกับประชาชนเจ้าของที่อย่างจริงจังจึงทำให้การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมีความขัดแย้งภายในที่ยังรอการแก้ไขอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ (ผู้ให้ข้อมูลชุมชนท่าคา, 2552)

ปัจจัยที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลาดน้ำท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม พบว่า ปัจจัยที่ไม่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้แก่ เพศ และภูมิลำเนาเดิม ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้แก่ ปัจจัยด้านอายุ พบว่า ประชาชนที่มีอายุแตกต่างกัน มีส่วนร่วมใน     การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยภาพรวม และรายด้านทุกด้าน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 31-40 ปี มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากกว่าประชาชนที่มีอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 20 ปี และประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 61 ปีขึ้นไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนน้อยกว่าประชาชนที่มีอายุ 21-30 ปี, 31-40 ปี และ41-50 ปี หรือ ตั้งแต่  21-50 ปีนั่นเอง ส่วนปัจจัยด้านระดับการศึกษา พบว่า ประชาชนที่มีระดับการศึกษาแตกต่างกัน มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยภาพรวม และด้านการมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในตำบลท่าคา ด้านการมีส่วนร่วมใน       การตัดสินใจในการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในตำบลท่าคา แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และยังพบว่าประชาชนที่มีระดับการศึกษาแตกต่างกันมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านการมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผลด้านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในตำบลท่าคา แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยประชาชนที่มีระดับการศึกษาอนุปริญญา หรือ ปวส. มีส่วนร่วมใน        การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้านการตัดสินใจมากกว่าประชาชนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ รวมถึงด้านการติดตามประเมินผล พบว่า ประชาชนที่มีระดับการศึกษาประถมศึกษา อนุปริญญา หรือ ปวส. และปริญญาตรี มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากกว่าประชาชนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ และปัจจัยด้านอาชีพ พบว่า ประชาชนที่มีอาชีพแตกต่างกัน มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยภาพรวม และรายด้านทุกด้านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยประชาชนที่มีอาชีพทำสวนมะพร้าวมีส่วนร่วมใน  การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนน้อยกว่าประชาชนที่มีอาชีพพ่อบ้าน แม่บ้านและรับจ้างทั่วไป รวมถึงปัจจัยด้านรายได้ต่อเดือน พบว่าประชาชนที่มีรายได้ต่อเดือนแตกต่างกัน มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยภาพรวม และรายด้านทุกด้านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยประชาชนที่มีรายได้ต่อเดือนตั้งแต่10,001-15,000 บาท มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากกว่าประชาชนที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 5,000 บาท ตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท ตั้งแต่ 15,001-20,000 บาท และตั้งแต่ 25,001 บาทขึ้นไป รวมทั้งปัจจัยด้านระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชน พบว่าประชาชนที่มีระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในตำบลท่าคาแตกต่างกัน มีส่วนร่วมใน   การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยภาพรวม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และรายด้าน จำนวน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในตำบลท่าคา ด้านการมีส่วนร่วมในการวางแผนด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนในตำบลท่าคา ด้านการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรมในการพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนในตำบลท่าคา และด้านการมีส่วนร่วมใน          การตัดสินใจในการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในตำบลท่าคา โดยประชาชนที่มีระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในตำบลท่าคามากกว่า 20 ปี มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้านการค้นหาปัญหามากกว่าประชาชนที่มีระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในตำบลท่าคาตั้งแต่ 16-20 ปี

                แนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตลาดน้ำท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน พบว่า แนวทางที่เป็นประโยชน์สามารถนำไปสู่การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่ตลาดน้ำท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามได้นั้นมี        3 แนวทางใหญ่ ดังนี้

                                แนวทางที่ 1 พัฒนาประชาชนในท้องถิ่นโดยมุ่งการส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มเยาวชน(อายุไม่เกิน 20 ปี) และกลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 61 ปีขึ้นไป) ในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นภูมิปัญญาชุมชน หรือเป็นพ่อ แม่ของกลุ่มเยาวชนในชุมชนท่าคานั่นเองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดน้ำให้มากขึ้น โดยการเป็นส่วนหนึ่งจะรับรู้ เข้าใจในวิถีการดำรงชีวิต และได้ร่วมรับประโยชน์ที่เกิดจากท่องเที่ยวได้ เช่น การเป็นกลุ่มอาสาพัฒนาคลองท่าคา มัคคุเทศก์น้อย แม่ค้ารุ่นเยาว์ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเยาวชนจะต่อยอดการพัฒนา              การท่องเที่ยวของชุมชนจากผู้สูงอายุ หรือพ่อแม่ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มเยาวชนและกลุ่มภูมิปัญญาท้องถิ่นได้มีบทบาทในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจและร่วมรับผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม

แนวทางที่ 2 พัฒนาเครือข่ายหรือกลุ่มทางสังคมในท้องถิ่น ให้มีบทบาทในการเข้ามีส่วนร่วมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลาดน้ำคาของเครือข่ายหรือกลุ่มทางสังคมในชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มประเพณีวัฒนธรรม กลุ่มสตรี กลุ่มเรือพาย กลุ่มท่องเที่ยวและกลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มขนมไทย กลุ่มจักสานก้านมะพร้าว และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่าคา ซึ่งทุกกลุ่มต้องมีแนวทาง     การจัดการของเครือข่ายหรือกลุ่มทางสังคมให้เป็นไปเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน หรือบูรณาการการทำงานให้สอดคล้องกับการพัฒนาตลาดน้ำที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนซึ่งจะยั่งยืนกว่าการมุ่งเชิงธุรกิจเป็นสำคัญ

แนวทางที่ 3 พัฒนาโดยภาครัฐหรือรัฐบาลท้องถิ่น

                - รัฐบาลท้องถิ่นต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่ประกอบอาชีพทำน้ำตาลมะพร้าว รับจ้างทั่วไป ค้าขายที่บ้าน และประกอบอาชีพใด ๆ ในชุมชน ซึ่งควรจัดกิจกรรมเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนกลุ่มเหล่านี้ให้มากขึ้นและต้องจัดอย่างต่อเนื่อง

                - รัฐบาลท้องถิ่นต้องให้การส่งเสริมและสนับสนุนกับกลุ่มอาชีพทำน้ำตาลมะพร้าวขายในตลาดน้ำท่าคา เนื่องจากพื้นที่ชุมชนมีอาชีพผลิตน้ำตาลมะพร้าว และควรกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการชุมชนไว้ให้ชัดเจน โดยการกำหนดให้อาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าว และผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวเป็นอาชีพหลักเพื่อการท่องเที่ยวของชุมชน

                - รัฐบาลท้องถิ่นต้องเป็นเจ้าภาพในการสร้างความปรองดองลดความขัดแย้งของคนในชุมชนมองประโยชน์เชิงสังคมมากก่อนเชิงธุรกิจ โดยให้ความสำคัญและวางแนวทางการแก้ไขบนพื้นฐานของประชาชนดั้งเดิม(อยู่ชุมชนมาแล้วไม่น้อยกว่า     20 ปี) เป็นสำคัญ

                - รัฐบาลท้องถิ่นควรค้นหาจุดแข็งที่เป็นทุนทางสังคมและวัฒนธรรม โดยจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ภายในชุมชนที่สามารถพัฒนาเชื่อมโยงระหว่างตลาดน้ำท่าคาให้เป็นการเพิ่มเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนและกลุ่มเครือข่าย หรือกลุ่มทางสังคมต่าง ๆ ได้ให้บทบาทในการบริหารจัดการเป็นของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน ซึ่งมีรัฐบาลท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น นักพัฒนา บ้าน วัด โรงเรียนให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณและวิชาการ


สรุปและข้อเสนอแนะ


                1. สรุปผลการวิจัย

                                1.1  ผลจาการสังเกตในการวิจัยพบว่า ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ทุนทางสังคมและวัฒนธรรมยังอุดมสมบูรณ์อย่างมากเพียง ประชาชนส่วนใหญ่ของชุมชนมีอาชีพการทำสวนมะพร้าว ทำน้ำตาลมะพร้าว ซึ่งดำรงชีวิตกันอย่างเงียบสงบ มีการเดินทางด้วยทางเรือที่ใช้คลองภายในชุมชนเป็นเส้นทางอยู่กันอย่างชัดเจน เพียงแต่ว่ากระแสการท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้าสู่ชุมชนมีมากขึ้น โดยเฉพาะจุดที่ตั้งตลาดน้ำท่าคา จะพบการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพมาก มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอาคารบ้านเรือน ไปจากเดิมมากมายจากบ้านไม้ชายคลอง กลายเป็นร้านค้า ขายอาหารหลากหลายชนิดซึ่งมีทั้งรับมาจากนอกชุมชนและภายในชุมชนเอง การท่องเที่ยวส่งผลกระทบอย่างมากต่อวิถีชีวิตชาวบ้านทำให้ประชาชนเริ่มเปลี่ยนแปลงการดำรงชีพของตัวเองไปอย่างมาก ชาวบ้านถึงแม้จะประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่นเดิมแต่มีจุดมุ่งหมายจากความเป็นอยู่พอเพียงตามวิถีดั้งเดิมแล้ว เปลี่ยนเป็นการผลิตที่มุ่งเน้นการค้าขายเชิงธุรกิจเป็นสำคัญนั่นเอง

                                1.2 ประชาชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุอยู่ระหว่าง 21-30 ปี ระดับการศึกษาประถมศึกษา จำนวน 111 คน มีอาชีพรับจ้างทั่วไป รายได้ต่อเดือนอยู่ในช่วงต่ำกว่า 5,000 บาท มีภูมิลำเนาเดิมเป็นคนในพื้นที่ตำบลท่าคา และอยู่อาศัยในชุมชนตั้ง 20 ปีขึ้นไป

                                1.3 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาการท่องเที่ยวตลาดน้ำท่าคา อำเภออัมพวา กรุงเทพมหานคร พบว่า ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในด้านการค้นหาปัญหามากที่สุด และมีความคิดเห็นว่า ประชาชนจะรู้สึกพึงพอใจและมีความสุขที่เห็นนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวและพักผ่อนในตำบลท่าคา ส่วนด้านการติดตามประเมินผลการดำเนินการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวประชาชนจะเข้าร่วมน้อยที่สุด

                                1.4 ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในตำบลท่าคาเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้แก่ ปัจจัยด้านอายุ การศึกษา อาชีพ รายได้ต่อเดือน และระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชน ซึ่งในปัจจัยต่าง ๆ นี้พบว่ามีงานวิจัยที่สอดคล้อง ได้แก่ ประยูร      ศรีประสาธน์ (2542) ได้เสนอปัจจัยของการมีส่วนร่วม ว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมมีด้วยกัน 3 ปัจจัย คือ ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ เพศ ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ ได้แก่ การศึกษา อาชีพ รายได้ และการเป็นสมาชิกกลุ่ม ปัจจัยด้านการสื่อสาร ได้แก่ การรับข่าวสารจากสื่อมวลชนและสื่อบุคคล ส่วนคูฟแมน (Koufman, 1949) ได้ศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนในชนบท  พบว่า  อายุ  เพศ  การศึกษา  ขนาดของครอบครัว  อาชีพ  รายได้และระยะเวลาการอยู่อาศัยในท้องถิ่น  มีความสัมพันธ์กับระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน

                                1.5 แนวทางทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตลาดน้ำท่าคาที่สำคัญที่สุด ได้แก่ การพัฒนาจากฐานรากที่เป็นประชาชนคนท้องถิ่นโดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มเยาวชนและกลุ่มภูมิปัญญาท้องถิ่นได้มีบทบาทในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจและร่วมรับผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม

                2. ข้อเสนอแนะ

                การพัฒนาชุมชนท่าคา หรือตลาดน้ำท่าคา ต้องพัฒนาจากฐานรากของชุมชนที่คำนึงถึงวิถีชีวิตโดยรวมของประชาชนเป็นสำคัญ และภาครัฐ หน่วยงานภายนอก หรือรัฐบาลท้องถิ่นควรเป็นเพียงผู้สนับสนุนและส่งเสริมเท่านั้น” หมายความว่า ให้ชาวบ้านยอมรับการเปลี่ยนแปลง หรือการพัฒนาการท่องเที่ยวตลาดน้ำท่าคาโดยชาวบ้าน เป็นของชาวบ้านและเพื่อประโยชน์ของชาวบ้าน


กิตติกรรมประกาศ


                การทำวิจัยในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีจากเงินทุนสนับสนุนจากงบประมาณเงินรายได้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา 2553 พร้อมกับได้รับความกรุณาและความช่วยเหลืออย่างดียิ่งจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าคา     คุณลุงจรูญ เจือไทย และประชาชนในตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จึงขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง


เอกสารอ้างอิง


ราชกิจจานุเบกษา. 2550. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, [Online, accessed 15 May 2011], Available from http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2550/A/047/1.PDF

Cohen, .J.M., artd Uphoff, N.T. 1977. Rural development participation : Concept and measures for project design irnplernentation and evaluation, Rural Development Committee Center for International Studies, Cornell University, 2-26.

อคิน รพีพัฒน์. 2547. การมีส่วนร่วมของประชาชนในงานพัฒนา, กรุงเทพมหานคร, ศูนย์การศึกษานโยบายสาธารณสุข.

สุนีย์  มัลลิกะมาลย์. 2545. รัฐธรรมนูญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรุงเทพมหานคร, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปาริชาติ วลัยเสถียร และคณะ. 2543. กระบวนการและเทคนิคการทำงานของนักพัฒนา, กรุงเทพมหานคร, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสมุทรสงคราม. 2554. [Online, accessed 20 May 2011], Available from http://www.samutsongkhram.go.th/2011V2/data/vision_new53.doc

วิไลลักษณ์ รัตนเพียรธัมมะ และคณะ. 2550. ตลาดน้ำค่าคา : การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน, บทความในวารสารร่มพฤกษ์ ฉบับที่ 2 กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2550: 227.

สุรจิต ชิรเวทย์. 2551. ฅนแม่กลอง, สมุทรสงคราม, ส.เอเซียเพรส.

ผู้ให้ข้อมูลชุมชนท่าคา. 2552. สัมภาษณ์.

ประยูร  ศรัประสาธน์. 2542. รายงานการวิจัย เรื่อง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วม ในการดำเนินงานของคณะกรรมการการศึกษาประจำโรงเรียนประถมศึกษา, ปทุมธานี, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

Koufman , H.F. 1949. Participation Organized Activities in Selected Kentucky Localities,

         Agricultural Experiment Station Bulletins, March: 7.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น