วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


วิถีชีวิตชุมชนเมือง กรณีศึกษาชุมชนวัดประชาระบือธรรม

The ways of life in Urban Community: A Case of Wat Pracharabuedham Community

                                                                                  

ผู้วิจัย : ภูสิทธ์  ขันติกุล

หลักการและเหตุผล (Reasonable)

ชุมชนวัดประชาระบือธรรม เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุราว 112 ปี ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ประกอบอาชีพทำนา ทำสวนผลไม้ เป็นหลัก ผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างกันมีวิถีชีวิตแบบชาวนาชาวสวน ดำรงชีวิตทุกอย่างอิงอยู่กับธรรมชาติ การเดินทางสัญจรต่าง ๆ ของประชาชนยังใช้เรือเป็นหลัก ครั้นเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ประชาชนให้ความสำคัญกับความเจริญทางด้านวัตถุมากขึ้น การเปิดรับข้อมูลข่าวสาร และวัฒนธรรมจากภายนอกชุมชนเพิ่มมากขึ้น ความเจริญเหล่านั้นได้หลั่งไหลเข้าสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเชิงกายภาพ สังคมและวัฒนธรรม แตกต่างกันไปในหลากหลายมิติ เกิดการติดยึดกับการบริโภคนิยมตามกระแส การเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างได้ผูกโยงให้เกิดปัญหาภายในชุมชนมากมาย ส่งผลต่อความกลมเกลียวเหนี่ยวแน่นภายในชุมชนความผูกพันในครอบครัวในชุมชนเริ่มจางหายไปจากวิถีชีวิตดั้งเดิม และทิ้งไว้เพียงร่องรอยอดีตที่จวนเจียนจะหายไปจากชุมชน ดังนั้นถ้าหากไม่ได้ทำการศึกษาในครั้งนี้จะส่งผลต่อเยาวชนรุ่นหลัง ที่ไม่สามารถทราบรากเหง้าวิถีชีวิตที่แท้จริงของชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ได้เลย

วัตถุประสงค์ (Objectives)

1. เพื่อสืบค้นวิถีชีวิตชุมชนวัดประชาระบือธรรมในบริบททางสังคมเศรษฐกิจ และบริบททางวัฒนธรรม

2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ชุมชนวัดประชาระบือธรรม

3. เพื่อศึกษาวิถีชีวิตชุมชนเมืองในสภาพปัจจุบันของชุมชนวัดประชาระบือธรรม

ระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology)

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสำรวจสภาพข้อมูลทั่วไปของชุมชน แบบสังเกต และแบบสัมภาษณ์ มีเทคนิคเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบไม่ใช้ความน่าจะเป็นคือ แบบเจาะจง สำหรับการคัดเลือกชุมชน และแบบสโนว์บอล สำหรับสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน และปราชญ์ชาวบ้าน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการตีความสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย และวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

ผล/สรุปผลการวิจัย (Result)

สภาพพื้นที่ในอดีตชุมชนวัดประชาระบือธรรม เป็นที่ราบลุ่มและเป็นทุ่งหญ้า มีลำคลอง 1 ลำคลองเรียกว่า คลองบางกระบือมีแบบแผนวิถีชีวิตแบบชาวนาชาวสวนอิงอาศัยธรรมชาติในการดำรงชีวิต เป็นสำคัญ การตั้งบ้านเรือนจะอยู่ในสวนผลไม้ของตนเองและใกล้กับลำคลองบางกระบือ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง เพื่อป้องกันน้ำท่วม ประชาชนอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่มีความผูกพันกันอย่างเหนี่ยวแน่น ส่วนการประกอบอาชีพนั้นประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพคล้ายคลึงกัน เป็นสังคมทางการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งอาชีพทำการเกษตร และเลี้ยงสัตว์ ในส่วนวัฒนธรรมที่ประชาชนยึดถือนั้นเป็นไปตามคติความเชื่อในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นแก่นในการดำรงชีวิต เช่น ทำบุญในวันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์  เป็นต้น เมื่อมีการพัฒนาถนนหนทางเข้ามาสู่ชุมชนวัดประชาระบือธรรม ได้ทำให้วัฒนธรรม ค่านิยม ความเจริญจากภายนอกหลั่งไหลเข้าสู่ชุมชนอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ วิถีชีวิตของประชาชนเริ่มเปลี่ยนไปพร้อมกับอาชีพที่หลากหลาย ประชาชนหันไปทำงานนอกบ้านเป็นหลัก ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนน้อยลง บ้านใกล้เรือนเคียงไม่รู้จักกัน ไม่มีเวลาให้กับครอบครัว ออกจากบ้านแต่เช้ากลับถึงบ้านค่ำ พฤติกรรมเหล่านี้คือวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ในชุมชนวัดประชาระบือธรรม ด้วยการเป็นชุมชนเปิด ส่งผลให้ประชาชนหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนมากขึ้น อาณาเขตของชุมชนเพิ่มขึ้นไปด้วย ทำให้การดูแลของผู้นำชุมชนไม่ทั่วถึง จึงมีการแบ่งชุมชนออกเป็น 4 ชุมชน คือ ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1-4 ดังเช่นในปัจจุบันนี้

อภิปรายผล (Discussion of Research)

ชุมชนวัดประชาระบือธรรม ชุมชนแห่งนี้งอยู่ถนน พระราม 5 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นชุมชนเมือง ที่มีพื้นที่บางส่วนเป็นอาคารพาณิชย์ บางส่วนเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นปูน ชั้น 2 เป็นไม้ บางส่วนเป็นบ้านไม้ 2 ชั้นใต้ถุนมีตรอก ซอยสามารถทะลุถึงกันได้ตลอดชุมชนจึงจัดเป็นชุมชนเปิด การประกอบอาชีพประชาชนมีหลากหลายตามความถนัดของตนเอง การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นั้นส่วนสำคัญที่สุดคือเป็นผลมาจากการสร้างถนนเข้ามาสู่ชุมชน จนทำให้ความเจริญได้หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของวีณา เอี่ยมประไพ (2550) เรื่อง วิถีชีวิตชุมชนคลองบางกอกน้อย พบว่า รัฐได้พัฒนาบ้านเมืองด้วยการสร้างเส้นทางถนนเข้าสู่ชุมชนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่ทางสังคม ซึ่งถนนเป็นปัจจัยหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้พื้นที่แตกต่างไปจากเดิม และสุกัญญา สุจฉายา และนันทิยา สว่างวุฒิธรรม (2546) เรื่องอัตลักษณ์ของชาวคลองภูมิ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พบว่า พื้นที่คลองภูมิเป็นพื้นที่สวนผลไม้ที่มีความร่มรื่น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโดยการตัดถนนย่านพระราม 3 ก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงจากสภาพภายนอกได้ส่งผลในด้านการดำรงชีวิตของประชาชนด้วย

ข้อเสนอแนะ (Research Recommendations)

ผู้นำชุมชน ประชาชนควรกระตุ้นคนในชุมชนเกิดความตระหนักในการอนุรักษ์ร่องรอยในอดีตเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เป็นตัวตนวิถีชีวิตของปู่ย่า ตายายให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

รูปภาพที่ใช้ในแผ่นพับ

 

บ้านไม้ใต้ถุนสูง และอุปกรณ์การทำอาหารรุ่นคุณทวด ปู่ย่า ตายาย ของคุณป้าพัชนี กุลสูตร ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น