วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วัฒนธรรมทางการเมืองและการกล่อมเกลาทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 สังกัดสำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

วัฒนธรรมทางการเมืองและการกล่อมเกลาทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 สังกัดสำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

Democratic Political Culture and Political Socialization of students in grades 5 and 6 of Dusit District Office, Bangkok.

ภูสิทธ์ ขันติกุล

Phusit Khantikul

สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสังคม ภาควิชาสังคมศาสตร์

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ปี 2554

บทคัดย่อ  การวิจัยในครั้งนี้กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ปัจจัยที่มีผลต่อวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยและลักษณะของกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 สังกัดสำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยใช้เทคนิคเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นคือ แบบแบ่งชั้น(Stratified random sampling)และสุ่มตัวอย่างแบบง่าย(Simple Random Sampling)เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 300 คนให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนทุกแขวง และใช้เทคนิคเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบไม่ใช้ความน่าจะเป็น คือ แบบเจาะจง (Purposive Sampling) สำหรับการสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียน และ/หรือครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม จำนวน 9 คน แล้วนำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่  ค่ามัชฌิมเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่  Independent - Samples T test (T-test), One-Way ANOVA (F-test), Correlation และวิเคราะห์เชิงพรรณาตามโครงสร้างเนื้อหา พบผลการศึกษาคือ นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 สังกัดสำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีความคิดเห็นต่อวัฒนธรรมทางการเมืองโดยภาพรวมอยู่ระดับมาก เมื่อพิจารณาตามรายข้อพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีความเหมาะสมกับประเทศไทย ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ การคอรัปชั่น (การทุจริต การฉ้อโกง) เป็นเรื่องปกติในสังคมไทย ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ได้แก่ ระดับชั้นเรียน อาชีพของมารดา และความสนใจในการติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวทางการเมือง และลักษณะของกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของนักเรียนจะเน้นทั้งในชั้นเรียน นอกชั้นเรียน และนอกโรงเรียน แต่จะให้ความสำคัญมากกับการกล่อมเกลาทางการเมืองในชั้นเรียนโดยผ่านกระบวนการกลุ่ม และการมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน

Abstract The aims of this research is to study the level of democratic political culture, the factors that affect the democratic political culture, as well as the characteristics of the political socialization process of democratic culture of students in grades 5 and 6 of Dusit District Office, Bangkok. Stratified random sampling and simple random sampling are the methods used in this research in order to collect data from questionnaires completed by 300 people in the sample group that covered every school in the sub-district area. Purposive sampling has also been used to interview nine school administrators and/or teachers of Social Studies, Religion and Culture. The collected data has then been analyzed by using descriptive statistics such as arithmetic means, standard deviation, and inferential statistics, e.g. Independent - Samples T test (T-test), One-Way ANOVA (F-test), Correlation, inclusive of descriptive analyses according to the content structure. It was found that the general view that students in grades 5 and 6 of the Dusit District Office area of Bangkok have towards political culture is at a relatively high level. If measured by each question, the topic that has the most average mean is the democratic form of government with the King as Head of State is found to be the most suitable for Thailand. The lowest is that corruption is considered normal in the Thai society. Factors that are relevant to democratic political culture are the level of schooling, profession of students’ mothers, and the interest to follow political news and movements. The Political Socialization process of democratic politics of students is stressed within the classroom, outside classes, as well as outside the school. However, importance is given to political socialization within the classroom via group process and participation in the teaching and learning.

ความสำคัญและความเป็นมาของปัญหา

จุดเริ่มประชาธิปไตยของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หรือราว 79 ปีผ่านมาแล้ว โดยการเปลี่ยนผ่านอำนาจสูงสุดของประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศคือ ประชาชน หรือเป็นอำนาจอธิปไตย หรือเรียกอีกอย่างว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั่นหมายความว่า พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ (ทินพันธุ์ นาคะตะ, 2543 : 126) ซึ่งตามหลักการสำคัญของประชาธิปไตยนั้นจำเป็นต้องประกอบด้วย 1) หลัก “อำนาจอธิปไตย” เป็นของมวลชน หรือมาจากประชาชน 2) หลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน 3) หลัก “การปกครองของกฎหมาย” (The Rule of Law) 4) หลักของการรวมศูนย์อำนาจในรัฐสภา และหลักการแยกอำนาจการคานอำนาจ (วิชัย ตันศิริ, 2548 : 302-319) ซึ่งสรุปให้เข้าถึงอย่างง่าย คือ ประชาชนปกครองตนเอง ประชาชนทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยจะยึดหลักเสียงข้างมากในการตัดสินปัญหาหรือลงมติในเรื่องต่าง ๆ แต่ก็ต้องรับฟังเสียงข้างน้อยหรือมีลักษณะที่สำคัญ ได้แก่ 1) เป็นอำนาจของปวงชน 2) ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ 3) การปกครองต้องถือเสียงข้างมาก 4) ประชาชนต้องมีสิทธิและเสรีภาพ และ 5) หลักความเสมอภาค (เกรียงศักดิ์ ราชโคตร์, 2552 : 62) นั่นเอง นั่นคือหลักการที่ควรจะเป็นไปตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงแล้วประชาชนในประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเมืองหรือการตื่นตัวทางการเมืองยังน้อยมาก ดังนั้นอำนาจในการปกครองประเทศจึงตกอยู่กับชนชั้นนำของประเทศ ที่เรียกกันว่า “อมาตย์” จำพวกเจ้าขุนมูลนาย รวมถึงชนชั้นกลางจำพวก ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ พ่อค้า เป็นต้น ภายหลังที่เกิดกระแสประชาธิปไตยเมื่อนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชน ในการเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และในทศวรรษที่ผ่านมากระแสประชาธิปไตยกลับมาเฟื่องฟูในสังคมไทยอีกครั้ง ในยุคของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ด้วยการแปลงประชาธิปไตยให้กินได้ด้วยประชานิยม (สำนักข่าวทีนิวส์, 2554 : ออนไลน์) เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้ประชาชนชาวไทยตื่นตัวในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น จนในที่สุดกระแสประชาธิปไตยของโลกได้มีอิทธิพลเข้ามาขับเคลื่อนให้การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนได้พัฒนาไปสู่การสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาชน จนมีความรู้สึกประหนึ่งว่า “การเมืองเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องรับผิดชอบร่วมกัน การใช้อำนาจทางการเมืองล้วนมีผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนทั้งสิ้น” (สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, 2549 : 562-563) ความสำเร็จของการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะบรรลุผลได้นั้นย่อมขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนไทย มีระดับและลักษณะอย่างไร กล่าวคือหากคนไทยมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับสูง และมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงอันเกิดจากการมีจิตสำนึกทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของประเทศแล้ว ความสำเร็จของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย ย่อมจะสัมฤทธิ์ผล แต่หากตรงกันข้ามแล้ว ความสำเร็จของระบอบประชาธิปไตยย่อมเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง (วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ, 2544 : 179)

อนึ่ง การพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยให้ประสบผลสำเร็จจำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้การกล่อมเกลาทางการเมือง และการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนด้วย ซึ่งการที่สังคมการเมืองของประเทศกำลังพัฒนาที่มีเพียงแต่สถาบันทางการเมืองตามรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะส่งผลให้สังคมการเมืองดังกล่าว พัฒนาการทางการเมืองไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ จำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างให้ประชาชนในสังคมมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่สอดคล้องต้องกันมาสนับสนุนด้วย (สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, 2549 : 662) ซึ่งวัฒนธรรมทางการเมืองจะมีความสำคัญต่อการพัฒนาการทางการเมืองของปัจเจกบุคคลอย่างมาก แต่ถึงอย่างไรวัฒนธรรมทางการเมืองก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แตกต่างกันได้ขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลที่ได้อบรมกล่อมเกลาทางการเมือง กลุ่มบุคคล เช่นกลุ่มชนชั้นรากหญ้า(ล่าง) กลุ่มชนชั้นกลาง และกลุ่มชนชั้นสูง จะมีแนวคิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่แตกต่างกันไป (ภูสิทธ์ ขันติกุล, 2553 : 58) การที่จะพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้มีเสถียรภาพ มีความมั่นคง เกิดความต่อเนื่องได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ให้เกิดขึ้นในระบบการเมืองของประชาชนได้อย่างแท้จริง ดังคำกล่าวของ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ว่า ...การพัฒนาการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ก็จะต้องทำให้ประชาชนมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยให้จงได้เสียก่อน...” (วิลาส ภู่ศิลป์, 2538 : 3) ดังนั้นการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยจะมีประสิทธิภาพทุกคนต้องร่วมกันสร้างสรรค์ และเสริมสร้างให้วัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทยมีลักษณะสอดคล้องรองรับ และสนับสนุนต่อระบอบและกระบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตย การเสริมสร้างให้วัฒนธรรมทางการเมืองไทยเป็นประชาธิปไตย ซึ่งการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นเครื่องมือชี้วัดของความเป็นประชาธิปไตยในสังคม (วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ, 2544 : 176) ถึงอย่างไรสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม จึงยึดจารีตประเพณีเป็นหลักในการดำเนินชีวิตอย่างเหนียวแน่น ลักษณะทางโครงสร้างของสังคมไทยจึงสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมที่ยกย่องความมีอิสระ ความสบาย เน้นลำดับชั้นทางสังคมยอมรับอำนาจของผู้ที่เหนือกว่ายึดถือบุคคลมากกว่าหลักการ มีลักษณะประนีประนอม โดยมีกระบวนการกล่อมเกลาและค่านิยมในวิถีไทยเป็นรากฐานบ่งบอกถึง วัฒนธรรมทางการเมืองไทยได้อย่างชัดเจน (ณัฐพงษ์ ใบยา, 2550 : 1-2) การเรียนรู้ การใช้สิทธิ การรักษาแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เป็นหน้าที่ของชาวไทยที่ถูกตราไว้ในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ในมาตรา 70 บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ และมาตรา 72 บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งทั้ง 2 มาตราอยู่ในหมวด 4 ว่าด้วย หน้าที่ของชนชาวไทย (ราชกิจจานุเบกษา, 2550 : 20) ดังนั้นการที่จะพัฒนาประชาธิปไตยให้ประชาชนคนไทยเป็นหน้าที่จำเป็นต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กเป็นต้นไป นั่นหมายความว่าสถาบันการศึกษาจึงเป็นสถาบันที่สำคัญในการทำหน้าที่ทั้งด้านความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ การอบรมกล่อมเกล่าจิตใจ แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งประชาธิปไตยในสถาบันการศึกษาจะสอดแทรกอยู่ในหลักสูตรและกิจกรรมต่าง ๆ ที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาได้รับจากการศึกษาหาความรู้ การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย (เยาวเรศ แตงจวง, 2549 : 2) และการปลูกฝังให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย ตามที่หนังสือเรียนประถมศึกษา พิจารณาเป็น 2 ประเด็น คือ 1) การปลูกฝังเกี่ยวกับวิถีชีวิตประชาธิปไตย อันได้แก่ หลักแห่งสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ความมีเหตุผล ความรับผิดชอบ การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น 2) การปลูกฝังเกี่ยวกับสถาบันและกระบวนการทางการเมือง การปกครองแบบประชาธิปไตย อันได้แก่ รัฐสภา รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง (ปรีชา ธรรมวินทร, 2532 : 83) นอกจากนี้ หนังสือเรียนที่ปลูกฝังให้เกิดความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยมากที่สุด คือ หนังสือเรียนระดับชั้น ป.5-6 รองลงมา หนังสือเรียนระดับชั้น ป.3-4 และ ป.1-2 แสดงว่ารัฐใช้หนังสือเรียน ป.5-6 เป็นเครื่องมือกล่อมเกลาทางการเมืองมากที่สุด (ปรีชา ธรรมวินทร, 2532 : 128) และระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 จึงใช้เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการวิจัยในครั้งนี้ด้วย

ดังนั้นการสร้างประชาธิปไตยให้ประชาชนไทยมีวิถีความเป็นประชาธิปไตยจำเป็นต้องปลูกฝังกันอย่างจริงจังตั้งแต่วัยเด็ก หรือวัยนักเรียนระดับประถมศึกษาเป็นต้นมา เนื่องจากนักเรียนจะได้รับการปลูกฝังวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองของ หลักสูตรการศึกษา ผู้บริหาร ครู กลุ่มเพื่อน กิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงอย่างไรสิ่งสำคัญที่สุดคือสภาพแวดล้อมในวิถีชีวิตของนักเรียนมีรูปแบบการเอื้ออำนวยในการพัฒนาประชาธิปไตยไปพร้อมกันด้วย ดังเช่นกลุ่มเป้าหมายที่ผู้วิจัยสนใจที่จะศึกษา คือ กลุ่มนักเรียนระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำนวน 9 โรงเรียน เพราะว่าโรงเรียนเหล่านี้ตั้งอยู่ในเมืองหลวง มีสถาบันการเมือง เช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา กระทรวง กรมกองต่าง ๆ รวมถึงพรรคการเมืองที่แสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยมากมายซึ่งทำให้นักเรียนในโรงเรียนได้พบเห็นสภาพแวดล้อมต่าง ๆ อยู่เนือง ๆ ทำให้ผู้วิจัยเกิดคำถามว่า เมื่อนักเรียนได้อยู่ในสถานบันการศึกษาที่ดี มีวัสดุอุปกรณ์ในการเรียนการสอนดี ครูมีประสิทธิภาพ อยู่ใกล้สภาพแวดล้อมที่แสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยมากมายเช่นนี้ นักเรียนมีวัฒนธรรมและการกล่อมเกลาทางการเมืองแบบประชาธิปไตยเพียงใด มีปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่อการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยและลักษณะการกล่อมเกลาทางการเมืองรูปแบบใดที่ดีและเหมาะสมสำหรับพัฒนานักเรียนต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1. เพื่อศึกษาระดับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 สังกัดสำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่ผลต่อวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 สังกัดสำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

3. เพื่อศึกษาลักษณะของกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 สังกัดสำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ประโยชน์ของการวิจัย

ได้องค์ความรู้ใหม่ในการวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมือง และกระบวนการกล่อมเกลาทางกาเมืองแบบประชาธิปไตยของนักเรียนในกรุงเทพมหานครเพื่อนำไปต่อยอดวิจัยรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมและประสบผลสำเร็จในการสร้างประชาธิปไตยในโรงเรียนของนักเรียนระดับประถมศึกษา

ผลการวิจัยนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการวางแผนงานให้กับผู้บริหารโรงเรียน และครูเพื่อวางแนวทางในการพัฒนาความรู้ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และสร้างพฤติกรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยอย่างเหมาะสม

วิธีดำเนินการวิจัย

                ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชายหญิง ที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ในเขตดุสิต สังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร จำนวน 1,204 คน (สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร. 2553 : Online) โดยกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างตามสูตรของ ท่าโร ยามาเน่ (Taro Yamane, 1973 : 125) ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 300 คน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างโดยอาศัยหลักความน่าจะเป็น (Probability Sampling) ใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) และวิธีการสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling) เพื่อสุ่มตัวอย่างจากนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 จากทะเบียนนักเรียนของแต่ละโรงเรียนเพื่อเก็บข้อมูลให้ครอบคลุมทุกโรงเรียน เพื่อเก็บข้อมูลแบบสอบถามจำนวน 300 คน และการสัมภาษณ์ใช้เทคนิคไม่อาศัยความน่าจะเป็น (Non-Probability sampling) ด้วยวิธีสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยกำหนดสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียน และ/หรือครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม จาก 9 โรงเรียน ๆ ละ 1 คน เป็นจำนวนทั้งสิ้น 9 คน นำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) โดยใช้สถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และใช้สถิติอ้างอิง (Inferential Statistics) เพื่อทำการเปรียบเทียบและทดสอบข้อมูล ได้แก่ Independent - Samples T test (T-test), One-Way ANOVA (F-test) ส่วนการวิเคราะห์แบบสัมภาษณ์ใช้วิธีวิเคราะห์เชิงพรรณา (Descriptive Analysis) ส่วนเกณฑ์ในการวัดระดับวัฒนธรรมทางการเมือง คือ ค่าเฉลี่ยระหว่าง 4.21 - 5.00 (มากที่สุด) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 3.41 - 4.20 (มาก) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 2.61 - 3.40 (ปานกลาง) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.81 - 2.60 (น้อย) และค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.00 - 1.80 (น้อยที่สุด) (ธานินทร์ ศิลป์จารุ, 2549 : 77) ส่วนเกณฑ์วัดระดับการกล่อมเกลาทางการเมือง คือ ค่าเฉลี่ยระหว่าง 2.34 - 3.00 (สูง) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.67 - 2.33 (ปานกลาง) และค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.00 - 1.66 (ต่ำ)

ผลการวิจัย

นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 สังกัดสำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีความคิดเห็นด้านวัฒนธรรมทางการเมืองโดยภาพรวมอยู่ระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.01) เมื่อพิจารณาตามรายข้อพบว่า รายข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีความเหมาะสมกับประเทศไทย (ค่าเฉลี่ย 4.51) มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด” รองลงมา ได้แก่ลักษณะของผู้นำทางการเมืองที่เหมาะสมกับประเทศไทย คือ "นึกถึงประโยชน์ส่วนร่วมเป็นสำคัญ" (ค่าเฉลี่ย 4.47) การเลือกตั้งนับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแสดงออกทางประชาธิปไตย เช่นการเลือกตั้งหัวหน้าห้องเรียน (ค่าเฉลี่ย 4.39) การเคารพสิทธิของผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย (ค่าเฉลี่ย 4.34) คนที่มีจิตใจประชาธิปไตยเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีและยอมรับในความสามารถของผู้อื่น (ค่าเฉลี่ย 4.32) การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย (ค่าเฉลี่ย 4.31) ส่วนรายข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ “การคอรัปชั่น (การทุจริต การฉ้อโกง) เป็นเรื่องปกติในสังคมไทย (ค่าเฉลี่ย 2.59)” ส่วนการกล่อมเกลาทางการเมืองของนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 สังกัดสำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานครโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง หรือนาน ๆ ครั้ง (ค่าเฉลี่ย 2.28) เมื่อพิจารณาตามรายข้อพบว่า นักเรียนได้รับการกล่อมเกลาทางการเมืองผ่าน “การเปิดโอกาสให้นักเรียนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียน (ค่าเฉลี่ย 2.67)” มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน เช่น การเลือกคณะกรรมการนักเรียน (ค่าเฉลี่ย 2.65) นักเรียนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการทำรายงานกลุ่มร่วมกัน (ค่าเฉลี่ย 2.62) นักเรียนมีโอกาสตัดสินใจเลือกชมรายการที่ตนต้องการ (ค่าเฉลี่ย 2.59) นักเรียนติดตามข่าวสารทางการเมืองจากโทรทัศน์ (ค่าเฉลี่ย 2.51) ส่วนรายข้อที่นักเรียนได้รับการกล่อมเกลาทางการเมืองมีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือผ่าน “การติดตามข่าวสารทางการเมืองจากวิทยุ (ค่าเฉลี่ย 1.81)”

            ทั้งนี้จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียนและครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจดังนี้

1) ผู้บริหารโรงเรียนและครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม มีความพยายามให้เกิดการบูรณาการเนื้อหาการเรียนการสอน ให้ความรู้นอกชั้นเรียน ให้เรียนรู้สถานการณ์จริง ๆ ฝึกให้ผู้เรียนมีการพูดคุยกันถึงข่าวทางการเมือง เพื่อฝึกให้รู้จักวิจารณ์อย่างง่าย-ยาก สอนให้ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ และมีการพาไปทัศนศึกษาดูงานที่รัฐสภาอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ยังมีการนำสำนวน สุภาษิต คติสอนใจ มาสอนเพิ่มให้แก่นักเรียนอย่างต่อเนื่อง

2) ผู้บริหารโรงเรียนและครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม พยายามที่จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการแสดงบทบาทหน้าที่ความเป็นพลเมืองที่ดีให้กับนักเรียน สอดคล้องหน้าที่ความเป็นพลเมืองที่ดี ความเชื่อมั่นในตนเองทั้งในชั้นเรียน เช่น กิจกรรมการเสริมสร้างการพัฒนาจิตสำนึกเน้นให้เด็กมีความเชื่อมั่น กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก ตระหนักในหน้าที่พลเมืองของตนเองมีจิตสาธารณะพร้อมที่จะดูแลผู้อื่น การแสดงบทบาทสมมติ  นอกชั้นเรียน เช่น การเลือกตั้งสภานักเรียน หัวหน้าชั้นเรียน การล้อเลียนการเมือง การบำเพ็ญประโยชน์ทั้งในโรงเรียนและบ้าน ฝึกให้นักเรียนมีจิตอาสา

3) กิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน ได้แก่ กิจกรรมการเลือกตั้งประธานนักเรียน การเลือกตั้งหัวหน้าห้อง การทำกิจกรรมกลุ่มต่าง ๆ ในชั้นเรียนการแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน และกิจกรรมการอบรมการปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียน

4) ผู้บริหารโรงเรียนและครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญมากกับการกล่อมเกลาทางการเมืองผ่านหนังสือเรียนโดยเฉพาะครูที่สอนจะต้องมีการสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย การเมืองผ่านกิจกรรมในชั้นเรียนด้วย นอกจากนี้ยังมีการกล่อมเกลาทางการเมืองให้กับนักเรียนผ่านหนังสือเรียนเสริม เช่น นิทานทางการเมืองโดยเล่าเนื้อหาผ่านตัวการ์ตูน เป็นต้น ซึ่งในหนังสือเรียนนั้นได้กำหนดให้มีการเรียนเกี่ยวกับหน้าที่พลเมืองหรือประชาธิปไตยไว้อยู่แล้ว

5) ผู้บริหารโรงเรียนและครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม มีการถ่ายทอดความรู้ทางการเมืองที่หลากหลายลักษณะ ได้แก่ การเลือกตั้งคณะกรรมการนักเรียน มีการทำป้ายหาเสียง เดินรณรงค์หาเสียง การเล่นบทบาทสมมติ ทำบอร์ดความรู้ประชาธิปไตย แจกแผ่นพับ โดยส่วนใหญ่แต่ละโรงเรียนจะให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างแท้จริง ลงมือปฏิบัติด้วย ซึ่งหลายโรงเรียนจัดกระบวนการเลือกตั้งลักษณะเดียวกันกับการเลือกตั้งของท้องถิ่นหรือประเทศ เป็นการสอนให้เด็กได้เรียนรู้และสัมผัสกับสถานการณ์จริงได้ ซึ่งภายในโรงเรียนตลอดระยะเวลา 1 ปีการศึกษามีกิจกรรมที่หลากหลายเกี่ยวกับประชาธิปไตย ทั้งการเลือกตั้งประธานนักเรียน การเลือกหัวหน้าห้อง การแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ และมีการกล่อมเกลาทางการเมืองผ่านหนังสือเรียนรวมถึงมีการปลูกฝังให้นักเรียนทำกิจกรรมในชั้นเรียนเป็นสำคัญ

ปัจจัยที่ผลต่อวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 สังกัดสำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ได้แก่

-       ระดับชั้นเรียน โดยนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีความคิดเห็นด้านวัฒนธรรมทางการเมืองมากกว่านักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5

-       อาชีพของมารดา โดยนักเรียนที่มีมารดาประกอบอาชีพอื่น ๆ (แม่บ้าน ช่างเสริมสวย) มีวัฒนธรรมทางการเมือง มากกว่านักเรียนที่มารดาประกอบอาชีพรับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว บริษัทเอกชนและรับจ้างทั่วไป

-       ความสนใจในการติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวทางการเมือง  ซึ่งนักเรียนที่มีความสนใจในการติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกวัน/เป็นประจำ มีความคิดเห็นด้านวัฒนธรรมทางการเมืองมากกว่านักเรียนที่มีความสนใจในการติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวทางการเมืองบางครั้ง/นาน ๆ ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดเห็นด้านการเลือกตั้งเป็นวิธีที่ดีที่สุด ความสำคัญของการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง และความคิดเห็นการยอมรับระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย

นอกจากนี้การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมทางการเมืองและปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคล พบว่า ปัจจัยด้านระดับชั้นเรียนของนักเรียนกับวัฒนธรรมทางการเมือง มีความสัมพันธ์เชิงลบ (Negative Correlations) อยู่ในระดับต่ำ ปัจจัยด้านอาชีพของมารดา ของนักเรียนกับวัฒนธรรมทางการเมืองมีความสัมพันธ์เชิงบวก (Positive Correlations) อยู่ในระดับต่ำ และปัจจัยด้านความสนใจในการติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักเรียนกับวัฒนธรรมทางการเมืองมีความสัมพันธ์เชิงลบ (Negative Correlations) อยู่ในระดับต่ำ เมื่อนักเรียนมีความสนใจในการติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้นจะทำให้มีความคิดเห็นทางวัฒนธรรมทางการเมืองน้อยลงบ้างเล็กน้อย ส่วนปัจจัยด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยของนักเรียนกับวัฒนธรรมทางการเมืองมีความสัมพันธ์เชิงบวก (Positive Correlations) อยู่ในระดับต่ำเมื่อนักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่สูงขึ้นจะทำให้นักเรียนมีความคิดเห็นด้านวัฒนธรรมทางการเมืองสูงขึ้น ส่วนปัจจัยด้านวัฒนธรรมทางการเมืองของนักเรียนกับการกล่อมเกลาทางการเมืองมีความสัมพันธ์เชิงบวก (Positive Correlations) อยู่ในระดับปานกลางเมื่อนักเรียนมีความคิดเห็นด้านวัฒนธรรมทางการเมืองมากขึ้นจะทำให้การกล่อมเกลาทางการเมืองสูงขึ้นทันที

ส่วนลักษณะการกล่อมเกลาทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของนักเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีกิจกรรมทั้งในชั้นเรียน และนอกชั้นเรียน(ในโรงเรียน) และนอกโรงเรียน โดยในชั้นเรียน จะผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่  แบบเรียนหลัก หนังสือนิทาน ตัวการ์ตูน ครูแทรกในทุกกลุ่มสาระ ทุกรายวิชา นำข่าวสารมาวิเคราะห์และพูดคุยในชั้นเรียน กระบวนการกลุ่ม แสดงความคิดเห็น เลือกหัวหน้าห้องเรียน และสุภาษิต คติคำสอน ส่วนภายในโรงเรียน ได้แก่  เลือกตั้งประธานนักเรียน เดินรณรงค์หาเสียง ทำบอร์ดความรู้ประชาธิปไตย/แจกแผ่นพับ การอบรมนักเรียนตอนเช้าหน้าเสาธง กิจกรรมลูกเสือเนตรนารี กิจกรรมกีฬาสีของโรงเรียนและ กิจกรรมอื่น ๆ ในโรงเรียน ส่วนภายนอกโรงเรียน ได้แก่ สังเกตประสบการณ์ตรงในด้านการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น/ระดับชาติ ทัศนศึกษาที่รัฐสภา ทัศนศึกษาทำเนียบรัฐบาลเดินรณรงค์การเลือกตั้งในชุมชนใกล้เคียง

อภิปรายผล

วัฒนธรรมทางการเมืองตามความคิดเห็นนักเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 สังกัดสำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานครโดยภาพรวมอยู่ระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.01) โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายข้อที่เกี่ยวข้องกับ “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีความเหมาะสมกับประเทศไทย (ค่าเฉลี่ย 4.51) มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด” นั่นเป็นเพราะว่านักเรียนมีความเชื่อมั่นว่า ลักษณะของผู้นำทางการเมืองที่เหมาะสมกับประเทศไทย ก็คือ "การนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ" ดังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เสียสละแก่ประชาราษฎร์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมตลอดระยะเวลาครองราชย์ 60 กว่าปี ทั้งนี้ยังมีหลักการทรงงานที่แสดงถึงความเป็นประชาธิปไตย เช่น การมีส่วนร่วม คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม รู้รักสามัคคี ระเบิดจากข้างใน เป็นต้น นอกจากนี้นักเรียนยังมีความเชื่อมั่นและศรัทธาว่าการเลือกตั้งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแสดงออกทางประชาธิปไตย การเคารพสิทธิของผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย รวมถึงคนที่มีจิตใจประชาธิปไตยเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีและยอมรับในความสามารถของผู้อื่นด้วย และสิ่งสำคัญที่สุดนักเรียนได้ปฏิเสธโดยแสดงความคิดเห็นว่า “การคอรัปชั่น (การทุจริต การฉ้อโกง) เป็นเรื่องปกติในสังคมไทย (ค่าเฉลี่ย 2.59) มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด” โดยนักเรียนเชื่อมั่นว่าการคอรัปชั่น (การทุจริต การฉ้อโกง)ไม่ใช่เรื่องดีที่ต้องเกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งมีส่วนหนึ่งมีผลกับการที่ครูได้สอนนักเรียนเกี่ยวกับการเป็นพลเมืองดีโตไปไม่โกงบ้านเมืองเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในการเรียนการสอนของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของโกสุม กระจ่างสี (2554 : สัมภาษณ์, 14 กันยายน) ผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่ง  กล่าวไว้ว่า “โรงเรียนยังได้มีการสอดแทรกเนื้อหาการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องของการคอรัปชั่นตามโครงการโตไปไม่โกงอีกด้วย เช่น ชี้ให้เด็กเห็นถึงการคอรัปชั่นจะส่งผลกระทบต่อเด็กและประเทศชาติอย่างไร” เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมนักเรียนมีความคิดเห็นทางวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยอยู่ในระดับมาก สอดคล้องกับงานวิจัยของวีรดา ชุลีกราน (2544 : บทคัดย่อ) เรื่องแนวทางการพัฒนาวิถีชีวิตประชาธิปไตยของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดราชบุรี พบผลวิจัยว่า วิถีชีวิตประชาธิปไตยของนักเรียนโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก รวมถึงผลการวิจัยของสุณีย์ ช่วยออก (2537 : บทคัดย่อ) เรื่อง ความสำนึกต่อความเป็นพลเมืองดีในวิถีชีวิตประชาธิปไตยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีความสำนึกต่อความเป็นพลเมืองดีในวิถีชีวิตประชาธิปไตยในระดับขั้นการเห็นคุณค่าและการตอบสนอง โดยมีค่าเฉลี่ยความสำนึกต่อความเป็นพลเมืองดีในวิถีชีวิตประชาธิปไตยในคุณลักษณะด้านคารวธรรม สามัคคีธรรม ปัญญาธรรม อยู่ในระดับสูงทั้ง 3 ด้าน

ข้อเสนอแนะ

1) โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาต้องพยายามทำความเข้าใจกับนักเรียนถึงสถานภาพของตนเองและสถานภาพที่เกิดขึ้นภายหลังที่มิใช่สถานภาพติดตัวมาแต่กำเนิด เพื่อให้นักเรียนได้สามารถกำหนดบทบาทของตนเองได้อย่างถูกต้องตั้งแต่วัยเยาว์และเป็นการกล่อมเกลา หรือปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ตามกฎหมาย วัฒนธรรมไทยอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกที่จะสอดแทรกไว้ในทุกกลุ่มสาระโดยผ่านกระบวนการกลุ่มในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน ทั้งนี้ต้องเพิ่มเติมองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างถูกต้อง

2) สถาบันครอบครัว (บ้าน) และสถาบันการศึกษา (โรงเรียน) ต้องร่วมมือกันในการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองไทย การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กับวัฒนธรรมไทยที่ถูกต้อง ตามกฎหมายและตามทำนองครองธรรม โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ผ่านทางสื่อสารมวลชนต่าง ๆ ทั้งในเรื่องการคอรัปชั่น (การทุจริต การฉ้อโกง) ของนักการเมือง หรือผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ เมื่อนักเรียน (ลูก) เกิดความสงสัยถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูต้องเสียสละเวลาอธิบาย พูดคุย ให้เหตุผลในสิ่งที่ถูกต้องทันที โดยต้องไม่อิงความชอบ ความรัก ความรู้สึกส่วนตัวหรือฝักใฝ่ข้างใดข้างหนึ่ง แต่ควรอิงเหตุผลที่ถูกต้อง ถูกกฎหมาย ถูกต้องตามทำนองครองธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

บรรณานุกรม

เกรียงศักดิ์ ราชโคตร์. (2552). การเมืองการปกครองของไทย. กรุงเทพมหานคร: สหธรรมิก.
โกสุม กระจ่างสี. (2554, 14 กันยายน). ผู้บริหารโรงเรียนสุโขทัย, สัมภาษณ์.
ณัฐพงษ์ ใบยา. (2550). วัฒนธรรมประชาธิปไตยทางการเมืองของผู้นำท้องถิ่น อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน. ภาคนิพนธ์ปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบริหารและพัฒนาประชาคมเมืองและชนบท มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์.
ทินพันธุ์ นาคะตะ. (2543). ประชาธิปไตยไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
ธานินทร์ ศิลป์จารุ. (2549). การวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วย SPSS. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร: วี. อินเตอร์ พริ้น.
ปรีชา ธรรมวินทร. (2532). การกล่อมเกลาทางการเมืองโดยผ่านหนังสือเรียน: วิเคราะห์หนังสือเรียนตามหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521. สารนิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ภูสิทธ์ ขันติกุล. (2553). รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร. งานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
เยาวเรศ แตงจวง. (2549). วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. งานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์.
ราชกิจจานุเบกษา. (2550). รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. [Online] accessed 8 October 2009. Available from http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2550/A/047/1.PDF
วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ. (2544). วัฒนธรรมทางการเมือง การเมืองการปกครองไทยตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: วี.เจ.พริ้นติ้ง.
วิชัย ตันศิริ. (2548). วิวัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วิลาศ ภู่ศิลป์. (2538). วัฒนธรรมทางการเมืองของนักการเมืองท้องถิ่น ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างสมาชิกสภาเทศบาลกับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย
วีรดา ชุลีกราน. (2544). แนวทางการพัฒนาวิถีชีวิตประชาธิปไตยของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดราชบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ภาควิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. (2549). การเมืองไทย. กรุงเทพมหานคร: เสมาธรรม.
สำนักข่าวทีนิวส์. (2554). รายงานพิเศษ ประชาธิปไตยกินได้!! อภิสิทธิ์ย่ำรอยทักษิณ ". [Online] accessed 11 May 2011. Available from http://www.tnews.co.th/html/read.php?hot_id=13652
สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร. (2553). จำนวนนักเรียน 2553. [Online] accessed 10 May 2011. Available from http://www.bmaeducation.in.th/content_view.aspx?con=1134
สุณีย์ ช่วยออก. (2537). ความสำนึกต่อความเป็นพลเมืองดีในวิถีชีวิตประชาธิปไตยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
สุนทร พูนเอียด. (2526). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของนักศึกษาในวิทยาลัยครูกลุ่มภาคใต้. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Yamane, Taro. (1973). Statistics : An Introductory Analysis. (3 rd ed.). Tokyo : Harper.

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น