วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร



เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

Guidelines for the Promotion of Community Committee participation in Sub-community Development in Dusit District, Bangkok.

 

ภูสิทธ์  ขันติกุล

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสังคม

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

 

บทคัดย่อ

 

                การวิจัยในครั้งนี้ ได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมและสภาพปัญหาของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 3) เพื่อนำเสนอแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ทำการรวบรวมข้อมูลจากกรรมการชุมชนในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จำนวน 281 คน คิดเป็นร้อยละ 91.2 โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency), ค่าร้อยละ (Percentage), ค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean), ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation), Independent - Samples T test (T-test), One-Way ANOVA (F-test) และ Correlation พบว่า 1) การมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยภาพรวมและรายด้าน อยู่ในระดับมาก ส่วนด้านที่มีระดับการมีส่วนร่วมมากที่สุด คือ ด้านการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหาในการพัฒนาชุมชน รองลงมา ด้านการลงทุนปฏิบัติการพัฒนาชุมชน ด้านการวางแผนดำเนินการพัฒนาชุมชน และด้านการติดตามประเมินผลในการพัฒนาชุมชน 2) ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยอายุ อาชีพ รายได้ต่อเดือน และการเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม 3) แนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร สำคัญที่สุด คือกรรมการชุมชนต้องมีความมุ่งมั่นในการติดตาม ประเมินผล ตรวจสอบการดำเนินงาน กิจกรรมของแผนพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ควรติดตามด้วยตัวเองและนำผลการประเมินผลของกิจกรรมต่าง ๆ มาวางนโยบายแก้ปัญหาของชุมชนในครั้งต่อไปด้วย

คำสำคัญ: การมีส่วนร่วม, การพัฒนาชุมชน, กรรมการชุมชน

 

 

 

ABSTRACT

 

The objectives of this research were 1) to study level of participation and the problems of community committee in sub-community development in Dusit District, Bangkok, and 2) to study the factors that affect the participation of community committee in sub-community development in Dusit District, Bangkok. 3) Guidelines for the Promotion of Community Committee participation in Sub-community Development in Dusit District, Bangkok. Data was collected from 281, upon which 91.2 % of community committee members in Dusit District, Bangkok by using questionnaires as the research tool. The statistical measures used were frequency, percentage, arithmetic mean, standard deviation, independent sample T test (T-test), One-Way ANOVA (F-test) and correlation. The results are as follow: (1) The overall level of participation of community committee in sub-community development is high. When considered individually, the level of participation is high in all aspects. The highest level of participation is found in searching problems in sub-community development and their causes, followed by the investment in sub-community development, development planning, and evaluation of sub-community development. (2) Factors that contribute to the level of participation in sub-community development in Dusit District, Bangkok, consist of age, occupation, monthly income and membership in societal groups. (3) Guidelines for the Promotion of Community Committee participation in Sub-community Development in Dusit District, Bangkok. The most important is the Community Committee must be committed to monitoring, evaluation and inspection operations. Community development activities continue. And should follow up with itself and the evaluation of various activities to formulate policies to solve community problems by the next time.

Keywords: Participation, sub-community development, community committee

 

บทนำ หรือ Introduction

                รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สะท้อนแนวทางของการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการที่รัฐบาลได้พยายามให้มีการกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีบทบาทเป็นผู้กำหนดทิศทางการปกครองท้องถิ่นของตัวเองให้มีอิสระเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ย่อมจะส่งผลให้เกิดองค์ความรู้ของชุมชนและเป็นการสร้างฐานรากของประเทศให้ยั่งยืนแก่การปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้มั่นคง ทั้งนี้เมื่อกล่าวถึงคำว่า การมีส่วนร่วม (Participation) นั้นเป็นคำที่มีความหมายในเชิงของความเป็นประชาธิปไตยอย่างสูงซึ่งตรงกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ราชกิจจานุเบกษา, 2550 : 28) ได้ตราไว้อย่างชัดเจนโดยกำหนดเป็นแนวนโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชน ในมาตราที่ 87 ไว้ 5 ประการ ได้แก่ 1) ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น 2) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะ 3) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ในรูปแบบองค์กรทางวิชาชีพหรือตามสาขาอาชีพที่หลากหลาย หรือรูปแบบอื่น 4) ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมือง และจัดให้มีกฎหมายจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองเพื่อช่วยเหลือการดำเนินกิจกรรมสาธารณะของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการของกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายทุกรูปแบบให้สามารถแสดงความคิดเห็นและเสนอความต้องการของชุมชนในพื้นที่ 5) ส่งเสริมและให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการพัฒนาการเมืองและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม  นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการหลายท่านได้แสดงแนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมไว้อย่างมากมาย ได้แก่ Erwin William (1976 : 138) ได้แสดงแนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมไว้ว่า การมีส่วนร่วมเป็นกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานพัฒนา ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ แก้ปัญหาของตัวเอง เน้นการมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแข็งขันกับประชาชน ใช้ความคิดสร้างสรรค์และความชำนาญของประชาชนแก้ไขร่วมกับการใช้วิทยาการที่เหมาะสมและสนับสนุน ติดตามการปฏิบัติงานขององค์การและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับแนวคิดของ ยุวัฒน์ วุฒิเมธี (2536 : 20) ได้ให้ความหมายของการมีส่วนร่วมว่า  การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการคิดริเริ่ม การพิจารณาตัดสินใจ การร่วมปฏิบัติและร่วมรับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ อันมีผลกระทบทั้งตัวประชาชนเอง นอกจากนี้ผู้วิจัยได้ประยุกต์แนวคิดของ Cohen & Uphoff (1980 : 213) ที่ได้เสนอรูปแบบการมีส่วนร่วมออกเป็น 4 แบบ ได้แก่ 1) การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (Decision Making) 2) การมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน (Implementation) 3) การมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์  (Benefits) 4) การมีส่วนร่วมในการประเมินผล (Evaluation) มาใช้เป็นกรอบแนวคิด (Conceptual Framework) ในการวิจัยในครั้งนี้ด้วย และสิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดนั่นก็คือการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ซึ่งผู้วิจัยให้ความสำคัญกับตัวผู้นำชุมชนมาเป็นอันดับแรก เนื่องจากเมื่อผู้นำชุมชนมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมที่มากย่อมส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนที่ดีไปด้วยนั่นเอง เมื่อกล่าวถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมีอยู่หลายลักษณะตามแนวคิดของ ปาริชาติ วลัยเสถียร และคณะ (2543 : 32) ได้กล่าวถึงลักษณะที่เป็นกระบวนการในการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการพัฒนา ได้แก่ 1) การมีส่วนร่วมในการศึกษาชุมชน จะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนได้ร่วมกันเรียนรู้สภาพของชุมชน การดำเนินชีวิต ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการทำงาน และร่วมกันค้นหาปัญหา สาเหตุของปัญหา ตลอดจนจัดลำดับความสำคัญของปัญหา 2) การมีส่วนร่วมในการวางแผน โดยจะมีการรวมกลุ่มอภิปรายและแสดงความคิดเห็นเพื่อกำหนดนโยบาย วัตถุประสงค์ วิธีการ แนวทางการดำเนินงาน และทรัพยากรที่ต้องใช้ 3) การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานพัฒนา โดยสนับสนุนด้านวัสดุ อุปกรณ์ แรงงาน เงินทุน หรือเข้าร่วมบริหารงาน การใช้ทรัพยากร การประสานงานและดำเนินการขอความช่วยเหลือจากภายนอก 4) การมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์จากการพัฒนา  เป็นการนำเอากิจกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านวัตถุ และจิตใจ  โดยอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันของบุคคลและสังคม 5) การมีส่วนร่วมในการติดตาม และประเมินผลการพัฒนา เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ทันที นอกจากแนวคิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนแล้วยังมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการมี ส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการชุมชนด้วย เช่น ฉวีวรรณ  สุมงคล (2550 : 75) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการชุมชน ศึกษากรณี : ชุมชนในพื้นที่เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ปรีดา เจษฎาวรางกูล (2550 : บทคัดย่อ) ได้วิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนในเขต เทศบาลเมืองคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เป็นต้น

ดังนั้นชุมชนภายใต้เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของประชาชนเพื่อร่วมกันเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้า จึงทำให้บทบาทในการพัฒนาชุมชนที่สำคัญจึงตกอยู่ที่กรรมการชุมชนทุกชุมชนจะต้องวางแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาชุมชนตรงตามหลักการและความจำเป็นของชุมชน แต่กลับเป็นว่าสิ่งที่ปรากฏอย่างชัดเจนในหลายชุมชนอยู่ที่กระบวนการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนที่ได้รับเลือกตั้งมานั่นเอง จึงเกิดคำถามวิจัยต่อกรรมการชุมชนว่าการมีส่วนร่วมเป็นอย่างไร อยู่ระดับไหน ปัจจัยอะไรที่มีผลต่อการมีส่วนร่วม จะมีแนวทางอย่างไร จึงเป็นเหตุที่ผู้วิจัยต้องศึกษาให้รู้ว่าระดับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชน รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาชุมชนเป็นอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลเชิงนโยบายของการพัฒนาชุมชนในเขตดุสิตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย หรือ Research objective

               1. เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

                2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

                3. เพื่อเสนอแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

 

วิธีดำเนินการวิจัย หรือ Research methodology

                ผู้วิจัยใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างแบบไม่ใช้ความน่าจะเป็น(Non-Probability Sampling) คือ แบบเจาะจง (Purposive Sampling) ได้กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย 308 ตัวอย่าง โดยคัดเลือกคณะกรรมการที่อยู่ในตำแหน่งตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยกรรมการชุมชน พ.ศ.2534 ที่ได้กำหนดกรรมการชุมชนไว้ในหมวด 2 ข้อ 9 คณะกรรมการชุมชน ประกอบด้วยตำแหน่งต่าง ๆ ได้แก่ 1) ประธานกรรมการ จำนวน 1 คน 2) รองประธานกรรมการ จำนวน 1 คน 3) เลขานุการ จำนวน 1 คน 4) เหรัญญิก จำนวน 1 คน 5) นายทะเบียน จำนวน 1 คน 6) ประชาสัมพันธ์ จำนวน 1 คน และ 7) ตำแหน่งอื่นใด ตามที่คณะกรรมการชุมชนเห็นสมควรแต่งตั้ง (กำหนดให้เป็นกรรมการชุมชน) จำนวน 1 คน ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมาจากการศึกษากรอบแนวคิด แนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและอาศัยแนวทางจากงานวิจัยที่ผ่านมาแล้ว ในการสร้างเครื่องมือในการวิจัยในครั้งนี้ได้แบ่งเนื้อหาและโครงสร้างของแบบสอบถามออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ปัจจัยส่วนบุคคล ส่วนที่ 2 ปัจจัยด้านสังคม ส่วนที่ 3 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของกรรมการชุมชน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหาในการพัฒนาชุมชน ด้านการวางแผนดำเนินการพัฒนาชุมชน ด้านการลงทุนปฏิบัติการพัฒนาชุมชน และด้านการติดตามประเมินผลในการพัฒนาชุมชน ส่วนที่ 4 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพปัญหา อุปสรรคการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชน และข้อเสนอแนะ นำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) มีสถิติ ดังนี้ 1) สถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) เพื่อบรรยายข้อมูลทั่วไปของกลุ่มประชากรที่ศึกษา 2) สถิติอนุมาน (Inductive Statistics) หรือ สถิติอ้างอิง (Inferential Statistics) เพื่อทำการเปรียบเทียบและทดสอบข้อมูล ได้แก่ Independent - Samples T test (T-test), One-Way ANOVA (F-test) และทดสอบค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ โดยใช้สถิติ Correlation

 

ผลการวิจัย หรือ Result

                ผลการศึกษาในประเด็นที่เป็นภาพรวมและประเด็นที่น่าสนใจตามลำดับดังนี้

                ข้อมูลส่วนบุคคล

                กรรมการชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 53.4) มีอายุไม่เกิน 46 ปี (ร้อยละ 37.7) เกือบทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ (ร้อยละ 99.3) ที่สำคัญเกือบทั้งหมดอาศัยอยู่ในชุมชนตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 80.1) และเกือบทั้งหมดเคยได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน (ร้อยละ 90.7) ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารการพัฒนาชุมชน อันดับ 1 จากเจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบ อันดับ 2 โทรทัศน์ และส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของกรรมการชุมชน

                การมีส่วนร่วม

                กรรมการชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.52) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีระดับการมีส่วนร่วมมากที่สุด คือ ด้านการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหาในการพัฒนาชุมชน (ค่าเฉลี่ย 3.56) รองลงมา ด้านการลงทุนปฏิบัติการพัฒนาชุมชน (ค่าเฉลี่ย 3.52) ด้านการวางแผนดำเนินการพัฒนาชุมชน (ค่าเฉลี่ย 3.50) และด้านการติดตามประเมินผลในการพัฒนาชุมชน (ค่าเฉลี่ย 3.47)

                เปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคลกับการมีส่วนร่วม

ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชน ประกอบด้วยอายุ อาชีพ รายได้ต่อเดือน และการเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม และปัจจัยเหล่านี้แตกต่างกันจะมีการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนแตกต่างกันไปด้วย ปัจจัยด้านอายุ พบว่ากรรมการชุมชนที่มีอายุ 58 ปีขึ้นไป มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่ากรรมการที่มีอายุไม่เกิน 46 ปี โดยเฉพาะในด้านการวางแผนดำเนินการพัฒนาชุมชน ด้านการลงทุนปฏิบัติการพัฒนาชุมชน และด้านการติดตามประเมินผลในการพัฒนาชุมชน ส่วนปัจจัยด้านอาชีพ พบว่า กรรมการชุมชนที่มีอาชีพพ่อบ้านแม่บ้าน อาชีพรับจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่ากรรมการที่มีอาชีพเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน นอกจากนี้อาชีพพ่อบ้านแม่บ้าน อาชีพรับจ้างยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่าอาชีพค้าขายด้วย ส่วนปัจจัยด้านรายได้ต่อเดือน พบว่ากรรมการชุมชนที่มีรายได้ต่อเดือน 6,001-9,000 บาท มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่ากรรมการชุมชนที่มีรายได้ต่อเดือน 9,001-12,000 บาท และ12,001-15,000 บาท และกรรมการชุมชนที่มีรายได้ต่อเดือน 15,001 บาทขึ้นไป มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่ากรรมการชุมชนที่มีรายได้ต่อเดือน 9,001-12,000 บาท และ12,001-15,000 บาท เช่นกัน ส่วนปัจจัยด้านการเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม พบว่า กรรมการชุมชนคนใดที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมอื่น ๆ นอกเหนือจากตำแหน่งกรรมการชุมชนมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 กับกรรมการชุมชนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมอื่น ๆ

                ปัญหาอุปสรรคการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ที่มีความถี่มากที่สุด ได้แก่  ประชาชนไม่มีเวลาที่จะทำงานให้กับชุมชน และงบประมาณในการดำเนินงานพัฒนาชุมชนน้อย

                แนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชน

                ผู้วิจัย พบว่า การมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนควรได้รับการส่งเสริมใน 3 แนวทางใหญ่ ดังนี้

                แนวทางที่ 1 เน้นที่ “คน” เป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาชุมชน ทั้งนั้นคือ กรรมการชุมชน

                                - กรรมการควรมีการแสวงหาความรู้ที่เหมาะสมในการพัฒนาชุมชนของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนและชุมชนต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

                                - ควรเปิดโอกาสและส่งเสริมให้กรรมการที่มีอายุน้อย ๆ (อายุไม่เกิน 46 ปี) ซึ่งเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ เป็นวัยทำงานได้มีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมวางแผนดำเนินงาน ลงทุนปฏิบัติการในการพัฒนาชุมชน และเป็นส่วนสำคัญในการติดตามประเมินผลกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน

                                - ต้องบริหารจัดการเรื่องเวลาในการดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้องกับภาระหน้าที่หลัก(อาชีพการทำงานของกรรมการชุมชน) โดยเฉพาะอาชีพที่ควรได้รับการพิจารณาคืออาชีพลูกจ้างบริษัทเอกชน และอาชีพค้าขาย ควรจัดสรรให้ตรงกับวันหยุดเพื่อให้กรรมการชุมชนทุกคนได้มีโอกาสร่วมมือกันพัฒนาชุมชน ทั้งด้านการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหา การวางแผนดำเนินการ การลงทุนปฏิบัติการ และการติดตามประเมินผลในการพัฒนาชุมชน

                                - กรรมการชุมชนต้องมีภาวะความเป็นผู้นำที่ทำให้ประชาชนสามารถพึงได้ และนำประชาชนไปสู่ความเจริญอยู่ดีกินดี มีสุขในชุมชนของตนได้

                แนวทางที่ 2 ตระหนักในบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาชุมชน

- กรรมการชุมชนต้องดำเนินการติดตาม ประเมินผลในการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง และควรดำเนินการด้วยกรรมการเอง เนื่องจากจะได้รับรู้สภาพปัญหาของแผนงานที่ดำเนินการไป รวมถึงสามารถประมวลข้อบกพร่องในการดำเนินงานของแผนพัฒนามาปรับปรุงแก้ไขในการทำงานครั้งต่อไปให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างสมบูรณ์

- กรรมการชุมชน เป็นบทบาทหน้าที่หนึ่งที่ต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม ดังนั้นนอกจากบทบาทหน้าที่อื่นแล้ว ด้านการลงทุนปฏิบัติการจำเป็นที่ต้องเสียสละทุนทรัพย์ในการดำเนินโครงการและกิจกรรมให้กับประชาชนในชุมชนบ้าง ซึ่งข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อการดำเนินงานของชุมชน แสดงถึงความเสียสละ ความทุ่มเทให้กับประชาชนและชุมชน นอกจากการเสียสละด้านเวลาในการพัฒนาชุมชนอย่างเต็มกำลังความสามารถแล้ว การเสียสละด้านทุนทรัพย์เพื่อใช้ในการพัฒนาชุมชน เป็นการสะท้อนความมีน้ำใจและการเอื้ออารีต่อประชาชนในชุมชนได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน

                แนวทางที่ 3 ประสานความสัมพันธ์กับบุคคลและหน่วยงานภายนอกชุมชน

                                - กรรมการชุมชนควรรู้จักการประสานความร่วมมือ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการพัฒนาชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ ทั้งนี้ต้องสร้างจิตสำนึกของความรู้รักสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน

                                - กรรมการชุมชนควรมีความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพอันดีกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ เช่น สำนักงานเขต โรงเรียน โรงพยาบาล บริษัท มูลนิธิ กองทุนต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการขอความช่วยเหลือและได้รับความช่วยเหลือหากมีความต้องของประชาชนในชุมชนได้

                                - กรุงเทพมหานครและสำนักงานเขตดุสิตควรมีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้แต่ละชุมชนในการพัฒนาชุมชนอย่างเพียงพอ และมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันกรรมการชุมชนต้องสำรองจ่ายไปก่อนแล้วจึงนำมาเบิกแต่กว่าสำนักงานเขตจะอนุมัติให้เวลานาน 2-3 เดือน ส่งผลให้คณะกรรมการเกิดความเบื่อหน่ายที่จะดำเนินการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องต่อไป

- หน่วยงานภาครัฐและภาคีต่างๆควรลงพื้นที่เพื่อสำรวจและสร้างความเข้าใจกับประชาชนและคณะกรรมการชุมชน เพราะประชาชนในชุมชนมีความแตกต่างกันในหลากหลายมิติ สิ่งสำคัญก็เพื่อพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ปลอดภัยน่าอยู่ พร้อมทั้งหน่วยงานภายนอกเหล่านี้ควรเป็นที่ปรึกษาประจำชุมชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและกรรมการชุมชน ว่าจะไม่มีการพัฒนาชุมชนไปอย่างไรทิศทางและโดดเดี่ยว

 

อภิปรายผลการวิจัย หรือ Discussion

ผู้วิจัยได้อภิปรายผลการศึกษาไว้ดังนี้

1. ระดับการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน ซึ่งด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือด้านการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหาในการพัฒนาชุมชน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.56 อันเนื่องจากว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่อยู่ในอาศัยในชุมชนมาเป็นระยะมากกว่า 10 ปี จึงมีประสบการณ์ตรงในการพับปัญหาและสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน และเป็นที่คุ้นเคยกับประชาชนในชุมชน ทำให้การลงสำรวจปัญหาของชุมชน การเสนอความคิดเป็นและปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนเพื่อหาทางออกต่อหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานเอกชนเข้ามาศึกษาปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนได้เป็นอย่างดี แม้กระทั่งการที่คณะกรรมการแต่ละคนได้ทำการรวบรวมปัญหาของชุมชนเสนอที่ประชุมกรรมการชุมชนและนำเสนอปัญหาของประชาชนเพื่อหาวิธีการแก้ไขต่อสำนักงานเขตดุสิตทราบและร่วมกันคิดวิเคราะห์หาแนวทางในการพัฒนาชุมชนยังได้รับความร่วมมือด้วยดีเช่นเดียวกัน ส่วนด้านการลงทุนปฏิบัติการพัฒนาชุมชน อยู่ในระดับการมีส่วนร่วมมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.52 และมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับ ด้านการวางแผนดำเนินการพัฒนาชุมชน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.50 เป็นผลเนื่องจากว่า คณะกรรมการชุมชนโดยพื้นฐานเป็นคนในพื้นที่ ดังนั้นทำให้การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในโครงการและกิจกรรมเพื่อการวางแผนงานพัฒนาชุมชน การนำแผนพัฒนาชุมชนไปดำเนินงานตามโครงการและกิจกรรมที่กำหนดไว้ การประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาของชุมชน การจัดทำแผนพัฒนาชุมชนทุกแผนทั้งแผนนโยบาย แผนกลยุทธ์ และแผนปฏิบัติการ ร่วมกับประชาชน และคณะกรรมการในชุมชน ทำให้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนและคณะกรรมการชุมชนทุกคนเป็นอย่างดี เพราะว่าทุก ๆ กิจกรรมทุก ๆ โครงการที่เกิดขึ้นย่อมนำผลประโยชน์ คือความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ชุมชนที่อาศัยอยู่ทั้งสิ้น แม้กระทั่งการที่คณะกรรมการต้องเข้าไปประสานความร่วมมือกับประชาชนในชุมชนเพื่อจัดโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน การร่วมลงมือปฏิบัติในทุก ๆ โครงการและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนด้วยตัวเอง รวมถึงยังได้เสียสละทุนทรัพย์ในการดำเนินโครงการบางส่วนในการพัฒนาชุมชน ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ประชาชนมีความสำนึกร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาชุมชน และการมีส่วนร่วมรับผิดชอบ โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เกิดจากการมีส่วนร่วมทั้งของคณะกรรมการชุมชนและประชาชนในชุมชนอย่างเต็มกำลังความสามารถแทบทั้งสิ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคณะกรรมการชุมชนมีความร่วมมือกันและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนอยู่ในระดับที่ดี

ถึงอย่างไรก็ตาม ยังพบว่า การมีส่วนร่วมอีกด้านหนึ่งที่แม้จะอยู่ในระดับมากก็ตามแต่ค่อนไปในระดับปานกลาง คือด้านการติดตามประเมินผลในการพัฒนาชุมชน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.47 เป็นผลเนื่องจากว่า เมื่อมีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมในการพัฒนาชุมชนแล้วนั้น ผลลัพธ์ที่เกิดจากการดำเนินงานของโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อสิ้นสุดการดำเนินงาน ยังไม่พบว่ามีการนำข้อบกพร่องของผลการปฏิบัติงานมาปรับปรุงแก้ไขในการดำเนินงานครั้งต่อไป รวมถึงการประเมินผลการปฏิบัติงานเมื่อเสร็จสิ้นสุดแผนงาน ยังขาดการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานทุกขั้นตอนของแผนพัฒนาชุมชนด้วย และการติดตาม ตรวจสอบยังไม่เป็นระบบครอบคลุมทุกขั้นตอนและยังขาดความต่อเนื่องของการประเมินผล แต่ถึงอย่างไร ทุก ๆ โครงการและกิจกรรมยังมีการติดตามประเมินผลในหลาย ๆ โครงการหรือกิจกรรมอยู่เช่นกัน เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมและรายด้านพบว่าการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมาก ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ฉวีวรรณ  สุมงคล (2550 : 75) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการชุมชน ศึกษากรณี : ชุมชนในพื้นที่เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พบว่า การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการชุมชนอยู่ในระดับมาก

2. ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชน ประกอบด้วยอายุ อาชีพ รายได้ต่อเดือน และการเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม

                2.1 ปัจจัยด้านอายุ ผลการศึกษาปรากฏว่า กรรมการชุมชนที่มีอายุ 58 ปีขึ้นไป มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่ากรรมการที่มีอายุไม่เกิน 46 ปี โดยเฉพาะในด้านการวางแผนดำเนินการพัฒนาชุมชน ด้านการลงทุนปฏิบัติการพัฒนาชุมชน และด้านการติดตามประเมินผลในการพัฒนาชุมชน เนื่องจากว่า กรรมการที่มีอายุ 58 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุที่ทำงานอยู่ภายในชุมชน ซึ่งมีอาชีพพ่อบ้าน แม่บ้าน (ร้อยละ 23.3) และถือเป็นกลุ่มอายุหลักที่มีบทบาทสำคัญมากต่อการพัฒนาชุมชนรวมถึงการมีเวลาที่จะเสียสละให้กับชุมชนได้อย่างเต็มที่ ส่วนกรรมการที่มีอายุไม่เกิน 46 ปี เป็นกลุ่มอายุที่ยังคงมีอาชีพหลักของตนเองและต้องทำงานนอกชุมชนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะเห็นได้จากการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพรับจ้าง (ร้อยละ 25.1) และรับราชการ (24.7) ซึ่งเป็นอาชีพส่วนใหญ่ของกรรมการชุมชน ดังนั้นการที่กรรมการชุมชนกลุ่มอายุนี้มีเวลาในการทำงานพัฒนาชุมชนจึงเป็นไปได้ค่อยข้างน้อยมาก เมื่อพิจารณาโดยภาพรวม พบว่า ปัจจัยด้านอายุมีผลต่อการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร สอดคล้องงานวิจัยของ เจตน์ มงคล (2547 : 84) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการชุมชนเทศบาลตำบลบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า ระดับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการชุมชนอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างมาก ปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมได้แก่อายุของกรรมการชุมชน โดยกรรมการที่มีอายุระหว่าง 51 60ปี มีส่วนร่วมในการประเมินผลมากที่สุด และกลุ่มอายุระหว่าง 41 50 ปี มีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์มากที่สุด

2.2 ปัจจัยด้านอาชีพ ผลการศึกษาปรากฏว่า กรรมการชุมชนที่มีอาชีพพ่อบ้านแม่บ้าน มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่าอาชีพค้าขายและลูกจ้างบริษัทเอกชน ส่วนกรรมการชุมชนที่มีอาชีพรับจ้าง มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่ากรรมการที่มีอาชีพค้าขายและอาชีพลูกจ้างบริษัทเอกชน และกรรมการชุมชนที่มีอาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่ากรรมการที่มีอาชีพลูกจ้างบริษัทเอกชน เนื่องจากว่า กรรมการที่มีอาชีพพ่อบ้านแม่บ้าน และรับจ้างจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่าอาชีพค้าขายและลูกจ้างบริษัทเอกชน เพราะกลุ่มอาชีพเหล่านี้จะมีเวลาส่วนใหญ่ในการประกอบอาชีพอยู่ภายในชุมชนและเป็นอาชีพของกลุ่มคนสูงวัย บางคนก็เกษียณอายุราชการมาแล้วใช้เวลาอยู่กับบ้านในชุมชนเป็นส่วนใหญ่จึงทำให้โอกาสในการเข้าร่วมพัฒนาชุมชนจึงทำได้มากกว่ากลุ่มอาชีพค้าขายและลูกจ้างบริษัทเอกชน ที่กรรมการส่วนหนึ่งต้องออกไปประกอบอาชีพนอกชุมชนทำให้โอกาสที่จะมีส่วนร่วมกับชุมชนน้อยลงไปด้วย อีกกลุ่มอาชีพหนึ่งคือกรรมการชุมชนที่มีอาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่ากรรมการที่มีอาชีพลูกจ้างบริษัทเอกชน เพราะว่าระเบียบข้อบังคับและความเคร่งครัดขององค์กรมีผลต่อความมั่นคงด้านอาชีพด้วย ซึ่งพนักงานรัฐวิสาหกิจมีระเบียบข้อบังคับที่เอื้ออำนวยให้กับพนักงานลูกจ้างมากกว่าเอกชน ดังนั้นโอกาสในการมีส่วนร่วมของกรรมการที่มีอาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจในการพัฒนาชุมชนจึงมีมากกว่ากรรมการที่มีอาชีพลูกจ้างบริษัทเอกชนนั่นเอง เมื่อพิจารณาโดยภาพรวม พบว่า ปัจจัยด้านอาชีพมีผลต่อการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร สอดคล้องงานวิจัยของ สุภชัย ตรีทศ (2547 : บทคัดย่อ) ได้ทำการวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนต่อการวางแผนพัฒนาเทศบาลเมืองชลบุรี ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยด้านอาชีพ มีผลต่อการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนในการวางแผนพัฒนาเทศบาล ส่วนงานวิจัยของ ขนิษฐา ศรีนนท์ (2544 : บทคัดย่อ) ได้ทำการวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนย่อยต่อการวางแผนพัฒนาเทศบาลนครนนทบุรี ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยด้านอาชีพ มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาเทศบาล เช่นเดียวกัน

2.3 ปัจจัยด้านรายได้ต่อเดือน ผลการศึกษาปรากฏว่า กรรมการชุมชนที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 3,000 บาท, 3,000-6,000 บาท, 6,001-9,000 บาท และ15,001 บาทขึ้นไป มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่ากรรมการชุมชนที่มีรายได้ต่อเดือน 9,001-12,000 บาท เนื่องจากว่าเมื่อพิจารณาโดยการเชื่อมโยงระหว่างรายได้ต่อเดือนกับอาชีพ จะเห็นได้ว่ากรรมการชุมชนที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 3,000 บาท, 3,000-6,000 บาท, 6,001-9,000 บาท อยู่ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพพ่อบ้าน แม่บ้าน รับจ้างทั่วไป ค้าขาย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ภายในชุมชนและใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด ส่วนกรรมการที่มีรายได้ต่อเดือน 15,001 บาทขึ้นไป เช่นเดียวกันส่วนใหญ่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ รับราชการ และเป็นข้าราชการบำนาญ จึงทำให้มีโอกาสที่จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งจะแตกต่างจากกรรมการที่มีรายได้ ต่อเดือน 9,001-12,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาชีพลูกจ้างเอกชน นั่นเอง เมื่อพิจารณาโดยภาพรวม พบว่า ปัจจัยด้านรายได้ต่อเดือนมีผลต่อการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร สอดคล้องงานวิจัยของ สาวิตรี ทองยิ้ม (2550 : 80-82) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการหมู่บ้าน ตำบลหนองประดู่ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี พบว่า ปัจจัยด้านรายได้ มีผลต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการหมู่บ้าน ตำบลหนองประดู่ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี

2.4 ปัจจัยด้านการเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม ผลการศึกษาปรากฏว่า กรรมการที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมและกรรมการที่ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน โดยภาพรวมแตกต่างกัน และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า กรรมการที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมและกรรมการที่ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนด้านการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหาในการพัฒนาชุมชน,  ด้านการวางแผนดำเนินการพัฒนาชุมชน และด้านการลงทุนปฏิบัติการพัฒนาชุมชน มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนด้านการติดตามประเมินผลในการพัฒนาชุมชน มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และเมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยพบว่า กรรมการที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมมีค่าเฉลี่ยของการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนเท่ากับ 3.73 ในขณะที่กรรมการที่ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.43 แสดงว่ากรรมการที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่ากลุ่มที่ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม เนื่องจากกว่ากรรมการที่นอกจากเป็นกรรมการชุมชนแล้วยังได้เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมอื่น ๆ แสดงถึงความทุ่มเท มุ่งมั่น และเสียสละเพื่อประโยชน์ของชุมชนในการเข้าไปมีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาชุมชนให้มีความเจริญรุ่งเรือง เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและดำรงชีพอย่างมีความสุขยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ธนาวิทย์ กางการ (2546 : 75-82) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนในเขตเทศบาล ตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พบว่า ปัจจัยด้านการเป็นสมาชิกของกลุ่มและสังคมของกรรมการชุมชน มีผลต่อการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนในเขตเทศบาล ตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

 

เอกสารอ้างอิง หรือ References

ขนิษฐา ศรีนนท์. 2544. การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนย่อยต่อการวางแผนพัฒนาเทศบาลนครนนทบุรี. ภาคนิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารทั่วไป บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา.

เจตน์ มงคล. (2547). การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการชุมชนเทศบาลเมืองบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ฉวีวรรณ สุมงคล. (2550). การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการชุมชน : กรณีศึกษาชุมชนในพื้นที่เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

ธนาวิทย์ กางการ. (2546). การมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนในเขตเทศบาลตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต  สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา  สถาบันราชภัฎธนบุรี.

ปรีดา เจษฎาวรางกูล. (2550). การมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนในเขต เทศบาลเมืองคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี. ภาคนิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ปาริชาติ วลัยเสถียร  และคณะ. (2543). กระบวนการและเทคนิคการทำงานของนักพัฒนา.กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

ยุวัฒน์  วุฒิเมธี. (2536). หลักการพัฒนาชุมชนและการพัฒนาชนบท. กรุงเทพมหานคร: อนุเคราะห์ไทย.

ราชกิจจานุเบกษา. (2009, May 5). รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550. from http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2550/A/047/1.PDF.

สาวิตรี ทองยิ้ม. (2550). การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการหมู่บ้าน ตำบลหนองประดู่ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี. ภาคนิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครองท้องถิ่น บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

สุภชัย ตรีทศ. (2547). การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนต่อการวางแผนพัฒนาเทศบาลเมืองชลบุรี. ภาคนิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยบูรพา.

Cohen John M. and Uphoff, NormanT. (1980). Participation’s Place in Rural Development, Seeking Clarity Through Specificity” World Development. Vol. 8.

Erwin, William. (1976). Participation Management: Concept, Theory and Implementation. Atlanta: Georgia State University.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น