วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร



A Political Participation Model of the people in Dusit District, Bangkok.

 

ภูสิทธ์  ขันติกุล

Phusit Khantikul

 

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสังคม

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

 

บทคัดย่อ

 

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อค้นหาระดับการมีส่วนร่วมทางการเมือง 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ทรงอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง 3)เพื่อสร้างรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยเครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ โดยมีเทคนิคเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็น(Probability Sampling) คือ แบบแบ่งชั้น(Stratified random sampling) เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างได้อย่างครอบคลุมทุกแขวง ทุกชุมชน และแบบง่าย(Simple Random Sampling) สำหรับการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามกับประชาชน จำนวน 400 คน และใช้เทคนิคเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบไม่ใช้ความน่าจะเป็น(Non-Probability Sampling) คือ แบบเจาะจง (Purposive Sampling) สำหรับการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้นำชุมชน 44 คน และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistic) สถิติเชิงอนุมาน(Inductive Statistics) และวิเคราะห์เชิงเนื้อหา(Content analysis) ผลการศึกษาดังนี้ ประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานครมีส่วนร่วมทางการเมืองในภาพรวมอยู่ในระดับต่ำ ส่วนรายด้าน พบว่า ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเพียง 2 ระดับเท่านั้นได้แก่ ระดับปานกลาง และต่ำ ซึ่งรายด้านที่อยู่ระดับปานกลาง ได้แก่ ด้านการใช้สิทธิเลือกตั้ง ด้านการติดตามข่าวสารทางการเมือง  และด้านการสนทนาเรื่องการเมือง ส่วนรายด้านที่อยู่ระดับต่ำ ได้แก่ ด้านการชุมนุมทางการเมือง ด้านการติดต่อกับนักการเมือง และด้านการเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคการเมืองและกลุ่มทางการเมืองต่าง ๆ ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ และสถานภาพ ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ ได้แก่ อาชีพ การเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม บทบาทหน้าที่ในครอบครัว และบทบาทหน้าที่ในชุมชน ปัจจัยสภาพแวดล้อมทางการเมือง ได้แก่ การรับรู้ข่าวสารทางการเมือง และการพัฒนาทางการเมือง ปัจจัยทางจิตวิทยาทางการเมือง ได้แก่ ความสนใจทางการเมือง พฤติกรรมทางการเมือง และการกล่อมเกลาทางการเมือง ส่วนปัจจัยที่สามารถพยากรณ์การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนมีจำนวน 4 ตัว เรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ ความสนใจทางการเมือง การรับรู้ข่าวสารทางการเมือง ค่านิยมพื้นฐานทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และสภาพแวดล้อมทางการเมือง ส่วนรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พบว่า ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นลักษณะลำดับขั้นฐานเจดีย์ ซึ่งเปรียบได้ว่าการเป็นฐานเจดีย์นั้นทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ก่อนส่วนอื่น ๆ มากที่สุดและเข้าถึงง่ายที่สุด โดยเปรียบให้เห็นว่ากิจกรรมทางการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดและเข้าถึงง่ายที่สุด นั่นจะเป็นฐานของการสร้างประชาธิปไตย ซึ่งกิจกรรมที่ประชาชนเข้าถึงมากที่สุด ได้แก่ รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยไปเลือกตั้งผู้แทนท้องถิ่น หรือ ส.ส. หรือ ส.ว. นั่นเอง ทั้งนี้ผลการวิจัยยังพบประเด็นที่น่าสนใจคือประชาชนพร้อมที่จะเลือกไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองใด ๆ เลย หากกิจกรรมทางการเมืองนั้นไม่ได้มีการบังคับโดยกฎหมาย

คำสำคัญ: การมีส่วนร่วมทางการเมือง, ปัจจัยในการมีส่วนร่วมทางการเมือง, รูปแบบการมีส่วนร่วม, ประชาชนเขตดุสิต

 

ABSTRACT

 

The study aims: 1) to find the level of participation in politics, 2) to examine factors influencing participation in politics, 3) to create a model of political participation of people in Dusit District, Bangkok. This is a mixed method of quantitative and qualitative research. The instruments used to collect data were questionnaires and interviews. The technique of a probability sampling, a stratified random sampling is used to collect data. The samples were selected from every community in Dusit District. A simple Random Sampling was used to collect data with questionnaires for 400 people. The non-probability sampling or the purposive sampling was used for in-depth interviews with 44 community leaders. The researcher analyzed the data by using descriptive statistic, inductive statistics, and content analysis. The findings are that: Dusit people participate in politics as a whole but at low levels; there are only two groups of moderate and low income who participate in politics. The moderate level groups participate in voting, tracking the political news, and discussion forums, while the low level group participates in political gathering, dealing with politicians, and attending political activities with political parties. Other political factors that influence the political participation of Dusit people are: 1) personal factors, such as age, and social status, 2) economic factors, such as occupation, membership of social groups, family role, and community role, 3) environmental factors, include political awareness and political news, and political development, 4) political psychological factors, such as political interest, political behavior, and Political Socialization. The predicted politic participation includes four chronological factors: political interests, the perception of politics, fundamental values of democratic politics, and political environment. A Model of Participation in Politics of People in Dusit District  was that public participation in politics is a pagoda style, or sequence database. The people can easily access to the politics. The most accessible and simplest way to access to the activities includes local representatives or MPs election. The result also found one more issue is that the people will participate in politics once they are forced by law.

Keywords: political participation, factors of political participation, model of political participation, people in Dusit District

 

หลักการและเหตุผล (Reasonable)

ประเทศไทยนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ถือเป็นปฐมฤกษ์ในการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของประเทศตัวเองทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตย อันเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยประชาชนจะใช้อำนาจออกกฎหมายผ่านรัฐสภา ใช้อำนาจบริหารผ่านรัฐบาล และใช้อำนาจตุลาการผ่านศาล จนทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองในอุดมคติของหลาย ๆ ประเทศ (ทินพันธ์ นาคะตะ, 2543 : 1-2) จนทำให้สะท้อนลักษณะที่เห็นได้อย่างชัดเจนของประชาธิปไตยที่ว่า รัฐบาลได้อำนาจมาจากประชาชน หรือโดยความยินยอมของประชาชน ดังนั้นประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศตลอดเวลาผ่านกลไกลต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ หรือให้สิทธิ์ที่จะแสดงบทบาทต่าง ๆ ได้โดยตรง และการกระทำของรัฐบาลทุกอย่างต้องรับผิดชอบต่อประชาชน (อมร รักษาสัตย์ และคณะ, 2543 : 33)

ถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว 77 ปี อำนาจอธิปไตยนั้นจะเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนก็ตาม แต่ในความเป็นจริงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนก็ยังมีน้อยอยู่มาก การตื่นตัวทางการเมืองน้อย และประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้รับมากกว่าผู้กระทำ ดังนั้นอำนาจส่วนใหญ่ในการปกครองประเทศจึงไปตกอยู่กับชนชั้นนำของประเทศ ที่เรียกกันว่า “อมาตยาธิปไตย” จำพวกเจ้าขุนมูลนาย ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ รวมถึงนักธุรกิจ พ่อค้า เป็นต้น ผลพวงของการปกรองระบอบประชาธิปไตยนั่นก็คือการมีรัฐธรรมนูญไว้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองเทศ ซึ่งประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมาแล้วจนถึงปัจจุบันจำนวน 18 ฉบับ โดยส่วนมากสาเหตุหลักที่ต้องเปลี่ยนเนื่องมาจากผลพวงของการปฏิวัติรัฐประหาร จนกระทั่งการตื่นตัวของนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชน ในการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จึงทำให้กระแสประชาธิปไตยกลับมาเฟื่องฟูในสังคมไทยอีกครั้ง นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้ประชาชนชาวไทยตื่นตัวในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น จนในที่สุดกระแสประชาธิปไตยของโลกได้มีอิทธิพลเข้ามาขับเคลื่อนให้การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนได้พัฒนาไปสู่การสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาชน จนมีความรู้สึกประหนึ่งว่า “การเมืองเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องรับผิดชอบร่วมกัน การใช้อำนาจทางการเมืองล้วนมีผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนทั้งสิ้น” (สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, 2549 : 562-563)

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประชาชนชาวไทยมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นเนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2540 อันเป็นกฎหมายที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศขนานนามว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านการเมืองไว้อย่างชัดเจนว่า ให้เน้นการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมมากกว่าที่จะเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน นั่นหมายความว่า กำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองในทุกขั้นตอน เช่น กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชน การที่ประชาชนมีสิทธิในการเสนอร่างกฎหมาย การเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถลงประชามติและทำประชาพิจารณ์ได้ และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิลงนามเพื่อถอดถอนบุคลากรระดับสูง รวมถึงเน้นการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงบทบาททางการเมืองของตน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อการแก้ไขปัญหา และสร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคมของตน (จักษ์ พันธ์ชูเพชร, 2549 : 359-360) ซึ่งรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2550 ได้กำหนดบทบาทของประชาชนเกี่ยวกับการเมืองซึ่งสะท้อนเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้อย่างชัดเจนที่ว่า มาตรา 63 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มาตรา 65 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนและเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้นตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ราชกิจจานุเบกษา, 2550 : 17-18) มาตรา 164 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อมีมติให้ถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งได้ มาตรา 165 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ (ราชกิจจานุเบกษา, 2550 : 61) รวมถึงยังมีการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ส่วนท้องถิ่นโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นมากขึ้น ดังมาตรา 287 ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีวิธีการให้ประชาชนมีส่วนร่วมดังกล่าวได้ด้วย ยังรวมถึงที่ว่า ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรายงานการดำเนินงานต่อประชาชนในเรื่องการจัดทำงบประมาณ การใช้จ่าย และผลการดำเนินงานในรอบปี เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ราชกิจจานุเบกษา, 2550 : 115) เป็นต้น ถึงแม้ในปัจจุบันนี้กฎหมายจะกำหนดบทบาทของประชาชนไว้อย่างชัดเจนแล้วก็ตาม หาใช่ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะเข้าใจอย่างถี่ถ้วนในบทบาทของตนเองที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ๆ การเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชนจะมากหรือน้อยนั้น ย่อมสะท้อนถึงผู้นำประเทศ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน รวมถึงสถานศึกษาด้วยว่ายังขาดการให้ความรู้ทางการเมืองที่ถูกต้องให้กับประชาชน ส่วนผู้ที่เข้าไปเป็นตัวแทนประชาชนยังดำเนินแนวคิดในการผูกการเมืองติดกับทุนนิยม เอาวัตถุสิ่งของเพียงเล็กน้อยเพื่อแลกผลประโยชน์ของประชาชนทั้งชาติอยู่เช่นเดิม จะเห็นได้อย่างชัดเจนก่อนการเลือกตั้งแทบทุกครั้ง นั่นก็คือ การซื้อเสียง จนกลายเป็นค่านิยมที่ผิด ๆ ของประชาชนไปโดยปริยาย ซึ่งก่อนการเลือกตั้งมักจะได้ยินคำพูดที่ว่า “เงินไม่มา กาไม่เป็น”  ซึ่งโดยทั่วไปไม่ว่าในกรุงเทพมหานครหรือต่างจังหวัด สิ่งเหล่านี้จะเป็นบทสรุปของประชาธิปไตยแบบไทย ๆ หรือไม่ ไม่มีใครคาดการณ์ได้ ถึงอย่างไรทั้งปัจจัยด้านการศึกษา ด้านบทบาทของผู้นำ ทั้งปัจจัยด้านเงิน ย่อมไม่ใช่สิ่งชี้ขาดถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนน้อยหรือมากได้ แต่ยังคงพบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ยังมีประเด็นด้านความรู้ความเข้าใจทางการเมือง ข่าวสารและความสนใจทางการเมือง ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม การอาศัยอยู่ในเขตเมือง-ชนบท และความพอใจต่อการทำงานของรัฐบาลของประชาชนด้วย (บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และถวิลวดี บุรีกุล, 2548 : 66)

ปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมืองถือเป็นบริบทที่สำคัญยิ่งในการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นการสะท้อนอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และเมื่อรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดบทบาทของประชาชนในการมีส่วนร่วมทั้งการเมือง การพัฒนาตามบริบทของท้องถิ่นตัวเอง โดยได้การกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ส่วนท้องถิ่นให้บทบาทกับประชาชนมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นมากขึ้น เขตดุสิต เป็นเขตหนึ่งในกรุงเทพมหานครที่น่าสนใจในการศึกษาถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมืองเนื่องจากกว่า เป็นเขตที่มีสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของประเทศตั้งอยู่มากมาย เช่น รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล พรรคการเมือง รวมถึงกรมกองของหน่วยราชการ   ต่าง ๆ ซึ่งมีผลกระทบทางการเมืองโดยตรงต่อประชาชนในเขตดุสิต ซึ่งที่ผ่านมากิจกรรมทางการเมืองของประชาชนในการเรียกร้อง หรือการประท้วงต่าง ๆ มักจะเป็นคนที่เดินทางจากต่างจังหวัดมาเรียกร้อง ชุมนุมประท้วงแทบทั้งสิ้น ยังไม่พบว่าบทบาทของประชาชนในเขตดุสิตจะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างชัดเจน ยกเว้นกิจกรรมการเลือกตั้งทั่วไป หรือเลือกตั้งผู้นำชุมชนเท่านั้น อย่างไรก็ตามยังพบข้อมูลที่สะท้อนถึงความน่าสนใจในการศึกษาครั้งนี้ว่า จากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา สถิติของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต พบว่าเขตที่มีผู้มาใช้สิทธิน้อยที่สุด คือ เขตดุสิต มีผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น 38,869 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิ 84,610 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 45.94 (หนังสือพิมพ์มติชน, 2552 : ออนไลน์) จึงเป็นคำถามทางการวิจัยว่าปัจจัยอะไรบ้างที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน และจากการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนพบว่า ในบางชุมชนบทบาทสำคัญทางการเมืองมักจะอยู่กับผู้นำชุมชนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนบทบาทของประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองยังไม่ปรากฏชัดเจนว่ามากน้อยเพียงใด

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผู้วิจัยจึงมุ่งเป้าประสงค์การวิจัยเชิงพื้นที่ชุมชนในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ในการศึกษาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเป็นสำคัญ เพราะว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาระบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงระบอบการปกครองได้ นั่นก็คือ ประเทศใดที่ประชาชนมีระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองสูงย่อมแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยสูง แต่ประเทศใดที่ประชาชนมีระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่ำย่อมแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยต่ำไปด้วย ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้จึงเป็นไปเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับท้องถิ่นต่อไป

 

วัตถุประสงค์ (Objectives)

1. เพื่อค้นหาระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

2. เพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่ทรงอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

3. เพื่อสร้างรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

 

แนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (Literature)

การวิจัยในครั้งนี้ได้อาศัยแนวคิด ทฤษฎีหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่มีการศึกษามาแล้วเป็นแนวทาง โดยมีแนวคิดจากนักวิชาการหลายท่านที่ได้สะท้อนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองไว้และปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไว้หลากหลายและมีแนวคิดที่สอดคล้องกัน เช่น Myron Wiener (1971 : 161-163) ได้สรุปความหมายของคำว่า การมีส่วนร่วมทางการเมือง ไว้ดังนี้ 1) การเข้าร่วมทางการเมือง คือ การกระทำในรูปแบบการสนับสนุนหรือเป็นการกระทำเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาล (support and demand) 2) การเข้าร่วมทางการเมือง คือ พยายามเพื่อก่อให้เกิดสัมฤทธิผลการในการใช้อิทธิพล (influence) ต่อการปฏิบัติงานของรัฐบาลหรือการเลือกสรรผู้นำรัฐบาล 3) การเข้าร่วมทางการเมือง คือ การกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายของพลเมือง (legitimate) 4) การเข้าร่วมทางการเมือง คือ การกระทำที่มีตัวแทนทางการเมือง (representation) 5) การเข้าร่วมทางการเมือง คือ สภาพที่บุคคลไม่ต้องการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง (alienation) เพราะเห็นว่า การเข้ามามีส่วนร่วมนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากการเฉยเมยทางการเมือง (apathy) เป็นการขาดความสนใจต่อการเมืองทั้งสิ้น 6) ผู้ที่เข้าร่วมทางการเมืองจะหมายถึงผู้กระตือรือร้น (active) หรือผู้ที่มีความตื่นตัวทางการเมืองเป็นพิเศษ (activists) 7) การเข้าร่วมทางการเมือง คือ การกระทำที่มีต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา (persistence continuum) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความเป็นสถาบัน (institutionalized) และมีการจัดตั้ง นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงการกระทำที่เป็นครั้งคราว ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างทันทีทันใด และบีบคั้นความรุนแรง 8) การเข้าร่วมทางการเมือง คือ การกระทำที่เป็นความพยายามในการที่จะเข้ามามีอิทธิพลเหนือการปฏิบัติการของราชการ (bureaucratic actions) และนโยบายสาธารณะ (public policy) 9) การเข้าร่วมทางการเมือง คือ การกระทำที่มีผลต่อการเมืองในระดับชาติ (national politics) และการเมืองในระดับท้องถิ่น 10) การเข้าร่วมทางการเมือง คือ การกระทำทางการเมือง (political action) แต่ในขณะเดียวกัน แต่ละสังคมมีการกระทำทางการเมืองแตกต่างกันออกไป ตามบริบทของสังคมนั้น ๆ เช่นว่า ในสังคมหนึ่งถือว่าการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นการกระทำที่เกิดจากความสมัครใจไม่ว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ก็ตาม หรืออาจเกิดขึ้นเพียงบางครั้งคราวหรือต่อเนื่อง อาจถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงเป็นทั้งการต่อต้าน เช่น การเดินประท้วง การก่อจลาจล และทั้งที่เป็นการสนับสนุน เช่น การให้ความร่วมมือกับทางการในการเสียภาษี การเกณฑ์ทหาร เป็นต้น (Lester W. Milbrath & M. L. Goal, 1977 : 2) รวมถึงสิทธิพันธ์ พุทธหุน (2541 : 156-157) ยังได้สรุปความหมายของการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง ไว้ว่า กิจกรรมของประชาชนที่มุ่งจะเข้าไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินนโยบายของรัฐบาลในระดับต่าง ๆ ซึ่งรูปแบบการเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองในแต่ละสังคมย่อมแตกต่างกันไปด้วย โดยมีปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนด้วย ดังนี้ 1) ระบบการเมือง 2) วัฒนธรรมทางการเมือง 3) โครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงปัจจัยด้านอื่น ๆ มาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งสามารถอธิบายปัจจัยต่าง ๆ ได้ดังนี้ 1) ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ เพศ ระดับการศึกษา รายได้ และอาชีพ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง 2) ปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางการเมือง ได้แก่ พฤติกรรมร่วมทางสังคม ระดับการพัฒนาหรือความทันสมัยทางสังคมและเศรษฐกิจ การกระทำหรือปฏิกิริยาตอบสนองต่อการมีส่วนรวมของประชาชนโดยผู้นำทางการเมืองหรือผู้แทนของประชาชน (สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, 2549 : 595-604) นอกจากนี้ถวิลวดี บุรีกุลและคณะ (2546 : 8-9) ได้กล่าวถึงระดับของการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองโดยใช้คำถามที่ถามถึงความถี่ของการมีส่วนร่วมในการกระทำกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ ความสนใจและการมีส่วนร่วมระดับต่ำ ประกอบด้วย พูดคุยเรื่องการเมือง การไปลงคะแนนในการเลือกตั้งท้องถิ่น การไปลงคะแนนในการเลือกตั้งระดับชาติ การพูดชักชวนผู้อื่น ให้ไปลงคะแนน การร่วมประชาสัมพันธ์ทางการเมือง ส่วนความสนใจและการมีส่วนร่วมระดับปานกลาง ประกอบด้วย การติดต่อกับนักการเมือง การบริจาคเงินหรือสิ่งของ การร่วมชุมนุมฟังการหาเสียง/แนะนำตัว การเข้าร่วมในเวทีสาธารณะ การรวมตัวกับคนอื่นเป็นกลุ่มผลประโยชน์หรือเป็นสมาชิกกลุ่ม การช่วยผู้สมัครหรือพรรคการเมืองหาเสียง การบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ส่วนความสนใจและการมีส่วนร่วมระดับสูง ประกอบด้วย การดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรคการเมือง และการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนงานวิจัยที่เกี่ยวกับข้องกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น วารุณี ล้อมลิ้ม (2540 : บทคัดย่อ) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนภายหลังการปฏิรูปการเมือง พ.ศ.2540 : ศึกษาเฉพาะพื้นที่เขตการปกครองของกรุงเทพมหานคร ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีส่วนร่วมทางการเมืองอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนปัจจัยด้านคุณลักษณะส่วนบุคคล ปัจจัยด้านความรู้ในในเรื่องบทบาทหน้าที่และกระบวนการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปัจจัยด้านความรู้ในเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ และกิจฎิภันส์ ยศปัญญา (2547 : 61) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ศึกษาเฉพาะกรณี ประชาชนในหมู่บ้านสินธนา 1 เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร ผลการศึกษาพบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่ในระดับต่ำ ปัจจัยด้านเพศ การศึกษา รายได้ และอาชีพมีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมือง ส่วนอายุ และความเข้าใจทางการเมืองไม่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองแต่เป็นความสัมพันธ์ระดับสูง เป็นต้น โดยผู้วิจัยได้นำแนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวคิดในการวิจัย เรื่องรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

           

ระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology)

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากรในการวิจัยครั้งนี้ คือ ประชาชนทั้งชายและหญิง อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปที่มีบัญชีรายชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในชุมชน 44 ชุมชน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีหน่วยวิเคราะห์ 2 กลุ่ม ได้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified random sampling) เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างได้อย่างครอบคลุมทุกแขวง และวิธีการสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling) เพื่อสุ่มตัวอย่างจากประชากรตามขนาดแต่ละแขวง จะได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน จากประชากรทั้งสิ้น 84,869 คน และกลุ่มผู้นำชุมชน ผู้วิจัยเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยกำหนดสัมภาษณ์ทุกชุมชน เฉพาะผู้นำชุมชน หรือประธานกรรมการชุมชน จำนวน 44 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ผู้วิจัยสร้างแบบสอบถามขึ้นมาจากการศึกษากรอบแนวคิด แนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองและอาศัยแนวทางจากงานวิจัยที่ผ่านมาแล้ว ในการสร้างเครื่องมือในการวิจัยในครั้งนี้ได้แบ่ง 2 แบบ ได้แก่ แบบที่ 1 เป็นแบบสอบถาม (Questionnaires)มีเนื้อหาและโครงสร้างของแบบสอบถามออกเป็น 7 ส่วน ได้แก่ส่วนที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่เกี่ยวกับปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพ และการศึกษา ส่วนที่ 2 เป็นแบบสอบถามที่เกี่ยวกับปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจ ได้แก่ อาชีพ รายได้ การเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม บทบาทหน้าที่ในครอบครัว และบทบาทในชุมชน ส่วนที่ 3 เป็นแบบวัดเกี่ยวกับปัจจัยสภาพแวดล้อมทางการเมือง มี 4 ประเด็นใหญ่ ๆ ได้แก่ การรับรู้ข่าวสารทางการเมือง วัฒนธรรมทางการเมือง ลักษณะสภาพแวดล้อมทางการเมือง การพัฒนาทางการเมือง ส่วนที่ 4 เป็นแบบวัดเกี่ยวกับปัจจัยด้านจิตวิทยา มี 5 ประเด็นใหญ่ ๆ ได้แก่ พฤติกรรมทางการเมือง การกล่อมเกลาทางการเมือง ค่านิยมพื้นฐานทางการเมืองแบบประชาธิปไตย อุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และความสนใจทางการเมือง ส่วนที่ 5 เป็นแบบวัดเกี่ยวกับระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้แก่ การติดตามข่าวสารทางการเมือง การใช้สิทธิเลือกตั้ง การสนทนาเรื่องการเมือง การเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคการเมืองและกลุ่มทางการเมืองต่าง ๆ การติดต่อกับนักการเมือง และการชุมนุมทางการเมือง ส่วนที่ 6 เป็นแบบสอบถามที่เกี่ยวกับรูปแบบทางการเมืองที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองตามลำดับขั้นของการมีส่วนร่วมทางการเมืองในบริบทสากล อ้างอิงของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และถวิลวดี บุรีกุล (2548 : 64) มีจำนวน 15 ข้อ ได้แก่ 1) ไม่สนใจและเข้าร่วมกิจกรรมใดเลย 2) แสดงตนเป็นผู้สนใจทางการเมืองเช่นรวมพูดคุยเรื่องการเมือง 3) ไปเลือกตั้ง 4) เป็นผู้เปิดประเด็นพูดคุยเรื่องการเมือง ให้ความรู้ผู้อื่น 5) พยายามพูดเชิญชวนให้ผู้อื่นไปเลือกผู้ที่ตนสนับสนุน 6) ร่วมประชาสัมพันธ์ทางการเมือง เช่น การสวมเสื้อหรือติดสติกเกอร์ที่รถยนต์ 7) ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้นำทางการเมือง 8) บริจาคเงิน/สิ่งของช่วยเหลือพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง 9) ร่วมการประชุม ฟังการหาเสียง แนะนำตัว หรือการชุมนุมทางการเมือง 10) ช่วยรณรงค์หาเสียง 11) สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง 12) ร่วมกิจกรรมของพรรคเช่นเข้าร่วมประชุม 13) ดำเนินกิจกรรมหาเงินเข้าพรรคการเมือง 14) เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคการเมือง 15) ร่วมดำเนินกิจกรรมสาธารณะ และดูแลกิจกรรมของพรรคการเมือง ส่วนที่ 7 เป็นแบบสอบถามแบบปลายเปิดเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ส่วนเครื่องมือแบบสัมภาษณ์เชิงลึก (Depth Interview) มี จำนวน 5 ข้อคำถาม

การวิเคราะห์ข้อมูล การวิจัยในครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) โดยใช้สถิติ ได้แก่ 1) สถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) เพื่อบรรยายข้อมูลทั่วไปของกลุ่มประชากรที่ศึกษา 2) สถิติอนุมาน (Inductive Statistics) หรือ สถิติอ้างอิง (Inferential Statistics) เพื่อทำการเปรียบเทียบและทดสอบข้อมูล ได้แก่ Independent - Samples T test (T-test) One-Way ANOVA (F-test) และPearson s Product Moment Correlation Coefficient (r) มีการใช้วิธีการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Analysis) ส่วนการวิเคราะห์แบบสัมภาษณ์เชิงลึกใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis)

 

ผลการวิจัย (Result)

            การวิจัยเรื่อง รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พบผลการวิจัยดังนี้

            ข้อมูลทั่วไปของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 50.66) และมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับเพศชาย (ร้อยละ 48.29) อายุอยู่ระหว่าง 30-49 ปี (ร้อยละ 43.57) เป็นส่วนใหญ่ มีสถานภาพสมรส (ร้อยละ 39.37) อาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง (ร้อยละ 21.78) รองลงมาประกอบอาชีพค้าขาย (ร้อยละ 19.69) ส่วนการเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมนั้นประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม (ร้อยละ 53.81) แต่ส่วนที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม (ร้อยละ 43.57) ซึ่งการเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมนั้นมีหลากหลายกลุ่ม ได้แก่ เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมที่มีความถี่สูงสุด คือการเป็นสมาชิกกลุ่มอาชีพ/กลุ่มแม่บ้านพ่อบ้าน (ร้อยละ 16.07) รองลงมาเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ (ร้อยละ 15.63) กลุ่ม/ชุมรมผู้สูงอายุ (ร้อยละ 14.29) สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (ร้อยละ 12.95) เป็นต้น ในด้านการศึกษาส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับ ม.6 หรือปวช. (ร้อยละ 24.67) รองลงมา มีระดับการศึกษาปริญญาตรี (ร้อยละ 22.31) ส่วนใหญ่มีรายได้ต่อเดือน ระหว่าง 3,000-6,000 บาท (ร้อยละ 22.83) รองลงมา รายได้ต่อเดือนอยู่ระหว่าง 6,001-9,000 บาท (ร้อยละ 19.42) การแสดงบทบาทหน้าที่ในครอบครัว ส่วนใหญ่มีบทบาทหน้าที่ในครอบครัวโดยเป็นสมาชิกในครอบครัว/ผู้อาศัย (ร้อยละ 48.56) รองลงมา มีบทบาทหน้าที่ในครอบครัวเป็นพ่อ (หัวหน้าครอบครัว) เป็นผู้รับผิดชอบหลักในครอบครัว (ร้อยละ 26.51) ส่วนบทบาทในชุมชน ส่วนใหญ่มีบทบาทในชุมชนโดยเป็นสมาชิกของชุมชนหรือลูกบ้าน (ร้อยละ 70.34)

ส่วนผู้นำชุมชนส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 70.45) มีอายุไม่เกิน 49 ปี (ร้อยละ 59.09) ส่วนอายุ 50 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 40.91) มีสถานภาพสมรสเป็นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 95.45) ผู้นำชุมชนทุกคนนับถือพุทธศาสนา (ร้อยละ 100) มีอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว (ร้อยละ 40.91) รองลงมาอาชีพพ่อบ้านแม่บ้าน อาชีพรับราชการ (ร้อยละ 20.45) ระดับการศึกษาส่วนใหญ่มีระดับการศึกษา ม.6/ปวช. (ร้อยละ 52.27) รองลงมามีระดับการศึกษาปวส. (ร้อยละ 25.00) ส่วนรายได้ต่อเดือน อยู่ระหว่าง 5,001-10,000 บาท (ร้อยละ 72.73)

            การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานครมีส่วนร่วมทางการเมืองในภาพรวมอยู่ในระดับต่ำ (ค่าเฉลี่ย 1.99) ส่วนรายด้าน พบว่า ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเพียง 2 ระดับเท่านั้นได้แก่ ระดับปานกลาง และต่ำ ได้แก่ รายด้านที่ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอยู่ระดับปานกลาง คือ ด้านการใช้สิทธิเลือกตั้ง (ค่าเฉลี่ย 2.72) ด้านการติดตามข่าวสารทางการเมือง (ค่าเฉลี่ย 2.44) และด้านการสนทนาเรื่องการเมือง (ค่าเฉลี่ย 2.32) ทั้งนี้รายด้านที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองอยู่ระดับต่ำ ได้แก่ ด้านการชุมนุมทางการเมือง (ค่าเฉลี่ย 1.57) ด้านการติดต่อกับนักการเมือง (ค่าเฉลี่ย 1.56) และด้านการเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคการเมืองและกลุ่มทางการเมืองต่าง ๆ มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด (ค่าเฉลี่ย 1.36) ดังตาราง 1 ดังต่อไปนี้

 

การมีส่วนร่วมทางการเมืองรายด้าน
Mean
S.D.
ระดับการมีส่วนร่วมทางการเมือง
ด้านการติดตามข่าวสารทางการเมือง
2.44
0.59
ปานกลาง
ด้านการใช้สิทธิเลือกตั้ง
2.72
0.74
ปานกลาง
ด้านการสนทนาเรื่องการเมือง
2.32
0.74
ปานกลาง
ด้านการเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคการเมืองและกลุ่มทางการเมืองต่าง ๆ
1.36
0.61
ต่ำ
ด้านการติดต่อกับนักการเมือง
1.56
0.64
ต่ำ
ด้านการชุมนุมทางการเมือง
1.57
0.69
ต่ำ
รวม
1.99
0.52
ต่ำ

ตาราง 1 แสดงค่าเฉลี่ยและระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยภาพรวมและรายด้าน

 

ปัจจัยสภาพแวดล้อมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานครมีระดับการรับรู้ข่าวสารทางการเมือง รวมถึงความคิดเห็นทางการเมืองด้านต่าง ๆ อีก 3 ด้านได้แก่ ด้านวัฒนธรรมทางการเมือง ด้านลักษณะสภาพแวดล้อมทางการเมือง และด้านการพัฒนาทางการเมือง ของปัจจัยสภาพแวดล้อมทางการเมืองในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 2.86) เมื่อพิจารณาตามรายด้าน พบว่า ประชาชนมีความคิดเห็นทางการเมืองอยู่ในระดับสูง มี 2 ด้าน ได้แก่ ด้านลักษณะสภาพแวดล้อมทางการเมือง (ค่าเฉลี่ย 3.05) และด้านการพัฒนาทางการเมือง (ค่าเฉลี่ย 3.01) ส่วนความคิดเห็นทางการเมืองอยู่ในระดับปานกลาง 2 ด้านเช่นกัน ได้แก่ ด้านวัฒนธรรมทางการเมือง (ค่าเฉลี่ย 2.94) และด้านการรับรู้ข่าวสารทางการเมือง (ค่าเฉลี่ย 2.42) ดังตาราง 2 ดังต่อไปนี้

 

ปัจจัยสภาพแวดล้อมทางการเมือง
Mean
S.D.
ระดับการรับรู้และความคิดเห็น
ด้านการรับรู้ข่าวสารทางการเมือง
2.42
0.63
ปานกลาง
ด้านวัฒนธรรมทางการเมือง
2.94
0.40
ปานกลาง
ด้านลักษณะสภาพแวดล้อมทางการเมือง
3.05
0.47
สูง
ด้านการพัฒนาทางการเมือง
3.01
0.41
สูง
รวม
2.86
0.33
ปานกลาง

ตาราง 2 แสดงค่าเฉลี่ยและระดับปัจจัยสภาพแวดล้อมทางการเมือง โดยภาพรวมและรายด้าน

 

ปัจจัยทางจิตวิทยาทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานครมีระดับความคิดเห็นทางการเมืองของปัจจัยทางจิตวิทยาทางการเมืองโดยภาพรวม อยู่ระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 2.92) เมื่อพิจารณาตามรายด้าน พบว่า รายด้านของปัจจัยทางจิตวิทยาทางการเมืองที่มีระดับความคิดเห็นทางการเมืองสูง ได้แก่ ด้านค่านิยมพื้นฐานทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และด้านอุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย (ค่าเฉลี่ย 3.09) และด้านพฤติกรรมทางการเมือง (ค่าเฉลี่ย 3.03) ส่วนรายด้านของปัจจัยทางจิตวิทยาทางการเมืองที่มีระดับความคิดเห็นทางการเมืองปานกลาง 2 ด้าน ได้แก่ ด้านการกล่อมเกลาทางการเมือง (ค่าเฉลี่ย 2.77) และด้านความสนใจทางการเมือง (ค่าเฉลี่ย 2.64) ดังตาราง 3 ดังต่อไปนี้

 

ปัจจัยทางจิตวิทยาทางการเมือง
Mean
S.D.
ระดับความคิดเห็นทางการเมือง
ด้านความสนใจทางการเมือง
2.64
0.55
ปานกลาง
ด้านพฤติกรรมทางการเมือง
3.03
0.40
สูง
ด้านการกล่อมเกลาทางการเมือง
2.77
0.41
ปานกลาง
ด้านค่านิยมพื้นฐานทางการเมืองแบบประชาธิปไตย
3.09
0.46
สูง
ด้านอุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย
3.09
0.42
สูง
รวม
2.92
0.34
ปานกลาง

ตาราง 3 แสดงค่าเฉลี่ยและระดับปัจจัยทางจิตวิทยาทางการเมือง โดยภาพรวมและรายด้าน

 

การเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ ปัจจัยสภาพแวดล้อมทางการเมืองและปัจจัยทางจิตวิทยาทางการเมืองในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีดังนี้

            ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ และสถานภาพ

            ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ ได้แก่ อาชีพ การเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม บทบาทหน้าที่ในครอบครัว และบทบาทหน้าที่ในชุมชน

            ปัจจัยสภาพแวดล้อมทางการเมือง ได้แก่ การรับรู้ข่าวสารทางการเมือง และการพัฒนาทางการเมือง

            ปัจจัยทางจิตวิทยาทางการเมือง ได้แก่ ความสนใจทางการเมือง พฤติกรรมทางการเมือง และการกล่อมเกลาทางการเมือง

            ส่วนปัจจัยที่สามารถพยากรณ์การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนมีจำนวน 4 ตัว เรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ ความสนใจทางการเมือง การรับรู้ข่าวสารทางการเมือง ค่านิยมพื้นฐานทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และสภาพแวดล้อมทางการเมือง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร สามารถสรุปรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นลำดับขั้นฐานเจดีย์การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ตามบริบทของความยากง่ายในการเข้าถึงกิจกรรมทางการเมือง ดังนี้

สนใจ ให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมน้อย
 



 
เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคการเมือง
 
ดำเนินกิจกรรมหาเงินเข้าพรรคการเมือง
 
สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
 
การเข้าถึงยาก
ร่วมกิจกรรมของพรรคเช่นเข้าร่วมประชุม
 
บริจาคเงิน/สิ่งของช่วยเหลือพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง
 
การเข้าถึงค่อนข้างยาก
ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้นำทางการเมือง
 
ร่วมดำเนินกิจกรรมสาธารณะ และดูแลกิจกรรมของพรรคการเมือง
 
สนใจ ให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมปานกลาง
ช่วยรณรงค์หาเสียง
 
ร่วมประชาสัมพันธ์ทางการเมือง เช่น การสวมเสื้อหรือติดสติกเกอร์ที่รถยนต์
 
ร่วมการประชุม ฟังการหาเสียง แนะนำตัว หรือการชุมนุมทางการเมือง
 
พยายามพูดเชิญชวนให้ผู้อื่นไปเลือกผู้ที่ตนสนับสนุน
 
การเข้าถึงกิจกรรมง่าย
เป็นผู้เปิดประเด็นพูดคุยเรื่องการเมือง ให้ความรู้ผู้อื่น
 
แสดงตนเป็นผู้สนใจทางการเมืองเช่นรวมพูดคุยเรื่องการเมือง
ไปเลือกตั้งผู้แทนท้องถิ่น หรือ ส.ส. หรือ ส.ว.

สนใจ ให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมมาก



 

ไม่สนใจและไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดเลย

 

ภาพ 1 แสดงลำดับขั้นฐานเจดีย์การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ตามบริบทของความยากง่ายในการเข้าถึงกิจกรรมทางการเมือง

 

อภิปรายผล (Discussion of Research)

การวิจัยเรื่อง รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ผู้วิจัยได้อภิปรายผลการศึกษาไว้ดังนี้

1. ระดับการมีส่วนร่วมทางเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับต่ำ เมื่อพิจารณาจากรายด้าน 6 ด้าน มีเพียง 2 ระดับเท่านั้น คือระดับปานกลางและระดับต่ำ ซึ่งด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ด้านการใช้สิทธิเลือกตั้ง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ  2.72 โดยเฉพาะในเรื่องการไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งระดับชาติ(ส.ส.) และ(ส.ว.) รวมถึงการไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น(กรรมการชุมชนสมาชิกสภาเขตดุสิต(ส.ข.) สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) นั่นเป็นเพราะว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีโอกาสแสดงบทบาทหน้าที่ทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นการแสดงบทบาททางการเมืองที่ง่าย นับว่าเปนทางการที่สุดและใช้เวลาน้อย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน มีอาชีพรับจ้าง ค้าขาย รับราชการเป็นหลัก จึงไม่ค่อยมีเวลาให้กับกิจกรรมการเมืองอื่น ๆ ซึ่งตรงกับระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ชี้ให้เห็นว่าการเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคการเมืองและกลุ่มทางการเมืองต่าง ๆ การสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การเขียนเรื่องร้องทุกข์ เสนอปัญหาไปยังนักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำทางการเมืองและหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ รวมถึงการชุมนุมทางการเมือง การฟังปราศรัยหาเสียง และการติดต่อกับนักการเมืองนั้นมีระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับต่ำทุกข้อ เนื่องจากประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องการเมืองน้อยกว่าการประกอบอาชีพ หรือเรื่องปากท้อง และคิดว่าเรื่องการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องของตนเองที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะว่าตนเองเป็นเพียงลูกบ้านชาวบ้านทั่วไปในชุมชนเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน ที่ว่า “ประชาชนมีความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อสถานการณ์ทางการเมือง จึงทำให้ประชาชนลดระดับความสนใจทางการเมืองลงมาก” (สามารถ อำพันหอม, 2553 : สัมภาษณ์) และสอดคล้องกับแนวคิดของ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (2541 : 143) กล่าวว่าการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นการแสดงออกในลักษณะของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ที่แทบไม่ต้องลงทุน ด้านแรงงานหรือกำลังทรัพย์แต่การที่คนไม่ออกไปใช้สิทธินั้นอาจเกิดจากความเบื่อหน่ายต่อสถานการณ์บ้านเมือง ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แย่งชิงผลประโยชน์และแตกแยกกันเองของนักการเมือง จึงไม่อยากเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง

เมื่อพิจารณาระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยภาพของเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งตรงกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552 พบว่า เขตดุสิตมีสถิติของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต น้อยที่สุด และสอดคล้องกับผลการวิจัยของ กิจฎิภันส์ ยศปัญญา (2547 : 61) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ศึกษาเฉพาะกรณี ประชาชนในหมู่บ้านสินธนา 1 เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร ผลการศึกษาพบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่ในระดับต่ำ และวัชรี ด่านกุล (2541 : 87-88) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนอายุ 18-20 ปี : ศึกษากรณี อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ผลการศึกษาพบว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนส่วนใหญ่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ โดยเน้นเฉพาะกิจกรรมการไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง รวมถึงผลการวิจัยของมนัสชัย บำรุงเขต (2550 : 64) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับท้องถิ่นของประชาชน ในองค์การบริหารส่วนตำบลบางซ้าย อำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผลการศึกษาพบว่า ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยภาพรวมระดับน้อย และผลการวิจัยของเทิดศักดิ์ ฤทธิชัย (2543 : 128) ศึกษาเรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม : ศึกษาเฉพาะกรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยราคำแหง ผลการศึกษาพบว่า ในภาพรวมนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงมีส่วนร่วมทางการเมืองทุกด้านอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงผลการวิจัยของศุภวัธ มีบุญธรรม (2547 : 73) ศึกษาเรื่อง การรับรู้ข่าวสารทางการเมืองกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนิสิตนักศึกษา : ศึกษาเฉพาะกรณีนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลการศึกษาพบว่า นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการรับรู้ข่าวสารทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับต่ำ

            2. ปัจจัยที่ทรงอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ และสถานภาพ ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ ได้แก่ อาชีพ การเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม บทบาทหน้าที่ในครอบครัว และบทบาทหน้าที่ในชุมชน ปัจจัยสภาพแวดล้อมทางการเมือง ได้แก่ การรับรู้ข่าวสารทางการเมือง และการพัฒนาทางการเมือง ปัจจัยทางจิตวิทยาทางการเมือง ได้แก่ ความสนใจทางการเมือง พฤติกรรมทางการเมือง และการกล่อมเกลาทางการเมือง

            2.1 ปัจจัยด้านเพศ ผลการศึกษาปรากฏว่า ประชาชนที่มีเพศแตกต่างกันมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานครแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนรายด้าน พบว่าเพศชายมีส่วนร่วมทางการเมืองด้านการติดต่อกับนักการเมืองมากกว่าเพศหญิง ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ ฤทัยรัตน์ กากิ่ง (2543 : 116-117) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น : ศึกษาเฉพาะกรณี เทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ผลการศึกษาพบว่า ประชาชนเพศชายมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับท้องถิ่นมากกว่าเพศหญิงโดยเฉพาะการติดตามข่าวสารทางการเมือง

            2.2 ปัจจัยด้านอายุ ผลการศึกษาปรากฏว่า ประชาชนที่มีอายุแตกต่างกันมีส่วนร่วมทางการเมืองแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งประชาชนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าประชาชนที่มีอายุ 18-29 ปี ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ มนัสชัย บำรุงเขต (2550 : 65) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับท้องถิ่นของประชาชน ในองค์การบริหารส่วนตำบลบางซ้าย อำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยด้านอายุของประชาชนมีความสัมพันธ์ต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับท้องถิ่นตำบลบางซ้าย อำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 2.3 ปัจจัยด้านสถานภาพ ผลการศึกษาปรากฏว่า ประชาชนที่มีสถานภาพแตกต่างกันมีส่วนร่วมทางการเมืองแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยประชาชนที่มีสถานภาพสมรส และสถานภาพม่าย/หย่าร้างมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าประชาชนที่มีสถานภาพโสด ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ สุธาทิพย์ ฉั่วสกุล (2541 : 139) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้นำท้องถิ่น : ศึกษาเฉพาะกรณีอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยภูมิหลังด้านสถานภาพสมรส ของผู้นำท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมทางการเมืองด้านความสนใจทางการเมือง การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การดำรงตำแหน่งทางการเมือง การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองและการติดตามข่าวสารทางการเมืองมีความแตกต่างกัน

2.4 ปัจจัยด้านอาชีพ ผลการศึกษาปรากฏว่า ประชาชนที่มีอาชีพแตกต่างกันมีส่วนร่วมทางการเมืองแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยประชาชนที่มีอาชีพรับราชการและข้าราชการบำนาญ/เกษียณอายุราชการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าประชาชนที่มีอาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ และอาชีพนักศึกษา ทั้งในด้านการติดตามข่าวสารทางการเมือง ด้านการใช้สิทธิเลือกตั้ง ด้านการสนทนาเรื่องการเมือง ด้านการติดต่อกับนักการเมือง ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ เกรียงศักดิ์ เรืองสังข์ (2544 : 98) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ศึกษาเฉพาะกรณีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบล จังหวัดพัทลุง ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยด้านอาชีพ มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบล จังหวัดพัทลุง

2.5 ปัจจัยด้านการเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม ผลการศึกษาปรากฏว่า ประชาชนที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมแตกต่างกันมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานครแตกต่างกันทั้งภาพรวมและรายด้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และมีความสัมพันธ์เชิงปฏิฐาน(Positive Correlation) กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ สุพินดา เกิดมาลี (2547 : 58) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรีในเขตพื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยการเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมมีผลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรี ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขตอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และผลการวิจัยของสุรปรีชา ลาภบุญเรือง (2530 : บทคัดย่อ) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ศึกษาเฉพาะกรณีอำเภอ  กลมาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมมีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

2.6 ปัจจัยด้านบทบาทหน้าที่ในครอบครัว ผลการศึกษาปรากฏว่า ประชาชนที่มีบทบาทหน้าที่ในครอบครัวแตกต่างกันมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานครแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยประชาชนที่มีบทบาทหน้าที่ในครอบครัวในฐานะสมาชิกในครอบครัว/ผู้อาศัยมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยกว่าประชาชนที่มีบทบาทหน้าที่ในครอบครัวในฐานะพ่อ แม่ และปู่ย่า ตายาย ลุงป้าน้าอา ซึ่งสอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนวัดประชาระบือธรรม 4 ที่กล่าวว่า “กลุ่มที่มีบทบาททางการเมืองมากที่สุดคือ แม่บ้าน ผู้สูงอายุในชุมชน” (สมบูรณ์ แก้วอนุรักษ์, 2553 : สัมภาษณ์) เช่นเดียวกับผลการสัมภาษณ์กรรมการชุมชนราชพัสดุ ที่กล่าวว่า “แม่บ้าน และผู้สูงอายุมีบทบาทมากในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของชุมชน” (สามารถ อำพันหอม, 2553 : สัมภาษณ์) รวมถึงผลการสัมภาษณ์ประชาชนของชุมชนพิชัย ที่กล่าวว่า “กลุ่มที่มีบทบาทมากในการมีส่วนร่วมทางการเมือง คือเกือบทั้งหมดเป็นเด็ก วัยรุ่น คนทำงาน ผู้สูงอายุ” (สัญญา แสงทอง, 2553 : สัมภาษณ์)

2.7 ปัจจัยด้านบทบาทหน้าที่ในชุมชน ผลการศึกษาปรากฏว่า ประชาชนที่มีบทบาทในชุมชนแตกต่างกันมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานครแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยกลุ่มผู้นำและกรรมการชุมชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่ากลุ่มที่เป็นสมาชิกของชุมชนหรือลูกบ้าน ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ ภาวิณี โพธิ์มั่น (2543 : 104) ศึกษาเรื่อง รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในองค์การบริหารส่วนตำบล : ศึกษาเฉพาะกรณีตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ผลการศึกษาพบว่า การดำรงตำแหน่งที่สำคัญหรือการเป็นคณะกรรมการหมู่บ้าน การเข้าเป็นสมาชิกในองค์กรหรือกลุ่มจัดตั้งในชุมชน มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และสอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์ของคณะกรรมการชุมชนที่กล่าวว่า “กลุ่มที่มีบทบาททางเมืองมากที่สุดในชุมชน คือ กลุ่มผู้นำชุมชน” (ละออ เมืองเกษม, 2553 : สัมภาษณ์)

2.8 ปัจจัยด้านการรับรู้ข่าวสารทางการเมือง และการพัฒนาทางการเมือง ความสนใจทางการเมือง พฤติกรรมทางการเมือง และการกล่อมเกลาทางการเมือง  ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ ถวิลวดี บุรีกุลและคณะ (2546 : 6-7) ศึกษาเรื่อง โครงการการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนและความคิดเห็นต่อการทำงานของรัฐบาลและองค์กรอิสระ ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้แก่ ข่าวสารและความสนใจทางการเมือง โดยที่การได้รับข่าวสารและความสนใจทางการเมืองมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง และผลการวิจัยของวิทยา บุณยะเวชชีวิน (2543 : 87-88) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนต่อการปกครองท้องถิ่น : ศึกษาเฉพาะกรณี เทศบาลตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่อการปกครองท้องถิ่นในเขตเทศบาลตำบลบางปู คือ การผ่านสังคมประกิตทางการเมือง การผ่านการบ่มเพาะทางการเมือง การมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย และการเข้าถึงข่าวสารทางการเมือง รวมถึงผลการวิจัยของวัชรี ด่านกุล (2541 : 87-89) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนอายุ 18-20 ปี : ศึกษากรณี อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยด้านความสนใจข่าวสารทางการเมืองที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน

 

ข้อเสนอแนะ (Research Recommendations)

1. ภาครัฐทุกหน่วยงาน และพรรคการเมืองควรจัดกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคการเมืองและกลุ่มทางการเมืองต่าง ๆ รัฐ หรือพรรคการเมือง ผู้นำชุมชน ควรตระหนักถึงกิจกรรมต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญที่สุดเนื่องจากมีระดับการมีส่วนร่วมต่ำที่สุด ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงกิจกรรมที่จะให้กับประชาชนว่ามีความต่อเนื่องและเข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ชุมชนด้วย

2. ภาครัฐ ผู้นำชุมชน ควรมุ่งส่งเสริมไปยังกลุ่มเยาวชน นักศึกษา วัยทำงาน ที่มีอายุ 18-29 ปี เนื่องจากมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยที่สุด โดยต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองของชุมชนให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ได้มีโอกาสแสดงบทบาทของตนเองเพิ่มมากขึ้น

            3. นักการเมืองท้องถิ่น หรือผู้นำชุมชนควรตระหนักในการเข้ารับฟังปัญหาของประชาชนอย่างทั่วถึงและนำไปปฏิบัติจริง มิใช่รับแล้วไม่ปฏิบัติให้บรรลุผล ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายการเมืองเพิ่มขึ้น เนื่องจากการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนและประชาชน ได้พบว่า นักการเมืองจะมาก็ต่อเมื่อมาหาเสียงเท่านั้น ไมเคยมารับฟังปัญหาของชาวบ้านจริง ๆ และไม่เคยทำให้สำเร็จได้เลย จึงส่งผลต่อการไม่อยากมีส่วนร่วมทางการเมืองและทำให้เสียเวลาด้วย

4. หน่วยงานของรัฐ หรือผู้นำชุมชนควรตระหนักเสมอว่า การจัดกิจกรรมใด ๆ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกอาชีพ ทุกตำแหน่งทางสังคมมีความเสมอภาค ยุติธรรม และไม่ควรปฏิบัติต่อประชาชนเป็น 2 มาตรฐาน เนื่องจากประชาชนในหลายชุมชนได้สะท้อนออกให้เห็นว่า ยินดีไปชุมนุมประท้วงทันทีเมื่อภาครัฐและหน่วยงานของรัฐแสดงถึงความไม่เป็นธรรม

 

-----------------------------------------------------

 

บรรณานุกรม (Bibliography)

กิจฎิภันส์ ยศปัญญา. 2547. การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ศึกษาเฉพาะกรณี ประชาชนในหมู่บ้านสินธนา 1 เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐประศาสนศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารทั่วไป มหาวิทยาลัยบูรพา.

เกรียงศักดิ์ เรืองสังข์. 2544. การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ศึกษาเฉพาะกรณีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบล จังหวัดพัทลุง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลป ศาสตรมหาบัณฑิต(รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

จักษ์ พันธ์ชูเพชร. 2549. การเมืองการปกครองไทย "จากยุคสุโขทัยสู่สมัยทักษิณ". พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร : พั้นช์ กรุฟ(Punch Group).

ถวิลวดี บุรีกุลและคณะ. 2546. โครงการการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนและความคิดเห็นต่อการทำงานของรัฐบาลและองค์กรอิสระ. ชุดโครงการวิจัยเรื่อง การติดตามและประเมินผลบังคับใช้รัฐธรรมนูญ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

ทินพันธ์ นาคะตะ. 2543. ประชาธิปไตยไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

เทิดศักดิ์ ฤทธิชัย. 2543. การศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม : ศึกษาเฉพาะกรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยราคำแหง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคณะ. 2548. ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม. กรุงเทพมหานคร : สถาบันพระปกเกล้า.

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต. 2541. ชนชั้นกับการเลือกตั้ง. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วิภาษา.

ภาวิณี โพธิ์มั่น. 2543. รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในองค์การบริหารส่วนตำบล : ศึกษาเฉพาะกรณีตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

มนัสชัย บำรุงเขต. 2550. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมการเมืองระดับท้องถิ่นของประชาชนในองค์การบริหารส่วนตำบลบางซ้าย อำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. การศึกษาอิสระปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ราชกิจจานุเบกษา. 2550. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. [Online] accessed 8 October 2009. Available from http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2550/A/047/1.PDF

ฤทัยรัตน์ กากิ่ง. 2543. การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น : ศึกษาเฉพาะกรณี เทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ละออ  เมืองเกษม. (2553, 29 มีนาคม). คณะกรรมการชุมชนริมทางรถไฟสายแปดริ้ว. สัมภาษณ์.

วัชรี ด่านกุล. 2541. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนอายุ 18-20 ปี : ศึกษากรณี อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา. ภาคนิพนธ์พัฒนศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

วารุณี ล้อมลิ้ม. 2540. ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนภายหลังการปฏิรูปการเมือง พ.ศ.2540 : ศึกษาเฉพาะพื้นที่เขตการปกครองของกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต แขนงวิชาการเมืองการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

วิทยา บุญยะเวชชีวิน. 2543. การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนต่อการปกครองท้องถิ่น : ศึกษาเฉพาะกรณี เทศบาลตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ. ปัญหาพิเศษของการศึกษาตามหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยบูรพา.

ศุภวัธ มีบุญธรรม. 2547. การรับรู้ข่าวสารทางการเมืองกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนิสิตนักศึกษา : ศึกษาเฉพาะกรณีนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) สาขารัฐศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์. 2549. การเมืองไทย. กรุงเทพมหานคร : เสมาธรรม.

สมบูรณ์ แก้วอนุรักษ์. (2553, 29 มีนาคม). หัวหน้าชุมชนวัดประชาระบือธรรม 4. สัมภาษณ์.

สัญญา แสงทอง. (2553, 1 เมษายน). ประชาชนชุมชนพิชัย. สัมภาษณ์.

สามารถ อำพันหอม. (2553, 30 มีนาคม). เลขานุการชุมชนราชพัสดุ. สัมภาษณ์.

สิทธิพันธ์ พุทธหุน. 2541. ทฤษฎีพัฒนาการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

สุธาทิพย์ ฉั่วสกุล. 2541. การมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้นำท้องถิ่น : ศึกษาเฉพาะกรณีอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

สุพินดา เกิดมาลี. 2547. การมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรีในเขตพื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปะศาสตร มหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.

สุรปรีชา ลาภบุญเรือง. 2530. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศ ศึกษาเฉพาะกรณีกมลาสัย จังหวัดกาฬสินธุ์. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์. 2552. สรุปคนกรุงใช้สิทธิเลือกผู้ว่าฯกทม.51.10% (ทวีวัฒนามากสุด-ดุสิตน้อยสุด) วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552. [Online] accessed 8 October 2009. Available from http://www.matichon.co.th

อมร รักษาสัตย์ และคณะ. 2543. ประชาธิปไตย อุดมการณ์ หลักการและแบบอย่างการปกครองหลายประเทศ. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Lester W. Milbrath and M. L. Goal. 1977. Political Participation : How and Why Do People Get Involved in Politics. Chicago : Rand McNally College Publishing Company.

Myron Wiener. 1971. “Political Participation : Crisis of the  Political Process” in Crisis on Sequences in Political Development. Princeton: Princeton University Press.

 

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น