วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร


แนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

The Guideline of Political Participation Support for People

in Dusit District, Bangkok.

 

ภูสิทธ์ ขันติกุล

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

Phusit Khantikul

Faculty of Humanities and Social Science

Corresponding author. E-mail : phu_sit@hotmail.com

 

บทคัดย่อ

 

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง และแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างแบบอาศัยความน่าจะเป็น ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นและแบบง่าย ได้กลุ่มตัวอย่างเป็น ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 400 คน และใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงกับผู้นำชุมชน 44 คน ด้วยแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การแจกแจงแบบที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) และวิเคราะห์เชิงเนื้อหา พบผลการศึกษาดังนี้ การมีส่วนร่วมทางการเมืองภาพรวมอยู่ในระดับต่ำ ปัจจัยที่มีอิทธิพลได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส อาชีพ การเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม บทบาทหน้าที่ในครอบครัวและบทบาทในชุมชน ปัจจัยสภาพแวดล้อมทางการเมือง และปัจจัยทางจิตวิทยาทางการเมืองมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง ส่วนแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่สำคัญที่สุด คือ ภาครัฐควรมุ่งเน้นพัฒนาหรือส่งเสริมบทบาททางเมืองของชุมชนให้สูงขึ้นเฉพาะกลุ่มที่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน และการจัดกิจกรรมต้องเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกตำแหน่งฐานะทางสังคม ในชุมชนเข้าถึงกิจกรรมได้อย่างเท่าเทียม

คำสำคัญ แนวทางการส่งเสริม  การมีส่วนร่วมทางการเมือง  ประชาชนในเขตดุสิต

 

Abstract

 

          The purpose of this research aims to find a guideline of political participation support for Dusit District, Bangkok. There are three objectives: (1) to study the political participation level; (2) to study factors in political participation and (3) to find a guideline of political participation support. The research used the 400 questionnaires, a quantitative method. The research selected people at the age of 18 years old up, using Stratified random sampling and simple sampling. And used an interview for the qualitative method. The samples were selected from the 44 community leaders. The assumption is also verified by content analyses along with induction analyses. The findings of this research are that (1) the overall political participation of the people; has low level. (2) There are factors that impacted on the political participation; including sex, age, marital status, career, social members, family and social roles; political environment factors has positive correlation to political participation. (3) The guideline of political participation support for Dusit District is: to encourage the adolescences and worker to pay more roles on community politic; and to arrange political activities for the target to realize how important the politic means to them.

Keywords Guideline for the Support, Political Participation, People in Dusit District

 

บทนำ

ประเทศไทยนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ถือเป็นปฐมฤกษ์ในการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของประเทศตัวเองทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดระยะเวลา 77 ปี อำนาจอธิปไตยที่กล่าวว่า “เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” ในความเป็นจริงยังมีน้อยอยู่มาก การตื่นตัวทางการเมืองน้อย และประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้รับมากกว่าผู้กระทำ ดังนั้นอำนาจส่วนใหญ่ในการปกครองประเทศจึงไปตกอยู่กับชนชั้นนำของประเทศ ที่เรียกกันว่า “อมาตยาธิปไตย” จำพวกเจ้าขุนมูลนาย ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ รวมถึงนักธุรกิจ พ่อค้า เป็นต้น ผลพวงของการปกรองระบอบประชาธิปไตยนั่นก็คือการมีรัฐธรรมนูญไว้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองเทศ ซึ่งประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมาแล้วจนถึงปัจจุบันจำนวน 18 ฉบับ กระทั่งช่วงทศวรรษ(2540-2553)ที่ผ่านมา ประชาชนทั่วประเทศให้ความสนใจและเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการเลือกตั้ง การเรียกร้องสิทธิของตน การชุมชนประท้วงต่าง ๆ ทำให้กระแสของประชาธิปไตย กระแสการเมืองได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของประชาชนที่ทุกคนต้องติดตามเพราะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ประหนึ่งว่า “การเมืองเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องรับผิดชอบร่วมกัน การใช้อำนาจทางการเมืองล้วนมีผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนทั้งสิ้น” (สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, 2549) นอกจากนี้ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนมากขึ้น ยังมีด้านความรู้ความเข้าใจทางการเมือง ข่าวสารและความสนใจทางการเมือง ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม การอาศัยอยู่ในเขตเมือง-ชนบท และความพอใจต่อการทำงานของรัฐบาลของประชาชนด้วย (บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และถวิลวดี บุรีกุล, 2548)

การแสดงออกซึ่งการมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นแต่ละสังคมมีการกระทำทางการเมืองแตกต่างกันออกไป ตามบริบทของสังคมนั้น ๆ เช่นว่า ในสังคมหนึ่งถือว่าการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นการกระทำที่เกิดจากความสมัครใจไม่ว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ก็ตาม หรืออาจเกิดขึ้นเพียงบางครั้งคราวหรือต่อเนื่อง อาจถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงเป็นทั้งการต่อต้าน เช่น การเดินประท้วง การก่อจลาจล และทั้งที่เป็นการสนับสนุน เช่น การให้ความร่วมมือกับทางการในการเสียภาษี การเกณฑ์ทหาร เป็นต้น (Milbrath & Goal, 1977) แต่สิ่งที่น่าสนใจในปัจจุบันคือการอยู่อาศัยในเขตเมืองหรือชนบท ไม่สามารถชี้ชัดว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มคนใดมากกว่ากันได้ จากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา สถิติของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต พบว่าเขตที่มีผู้มาใช้สิทธิน้อยที่สุด คือ เขตดุสิต มีผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น 38,869 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิ 84,610 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 45.94 (หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์, 2552)

เกิดคำถามวิจัยว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนว่าอยู่ในระดับใด ปัจจัยอะไรที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และมีแนวทางที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างไร เนื่องจากผู้วิจัยตระหนักว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนสะท้อนการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศนั้น ๆ ด้วย และมักจะเป็นตัวชี้วัดถึงระบอบการปกครองได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อค้นหาระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และเสนอแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประชาธิปไตยต่อไป

 

อุปกรณ์และวิธีการ

ประชากรในการวิจัยครั้งนี้ คือ ประชาชนทั้งชายและหญิง อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปที่มีบัญชีรายชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในชุมชน 44 ชุมชน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 84,869 คน โดยมีหน่วยวิเคราะห์ 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างแบบอาศัยความน่าจะเป็น (Probability sampling) ด้วยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified random sampling) เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างได้อย่างครอบคลุมทุกแขวง และวิธีการสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling) เพื่อสุ่มตัวอย่างจากประชากรตามขนาดแต่ละแขวง ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน โดยใช้แบบสอบถาม

กลุ่มที่ 2 ผู้นำชุมชน ใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างแบบไม่อาศัยความน่าจะเป็น (Non-Probability sampling) ด้วยวิธีสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยกำหนดสัมภาษณ์ทุกชุมชน เฉพาะผู้นำชุมชน หรือประธานกรรมการชุมชน จำนวน 44 คน โดยใช้แบบสัมภาษณ์

นำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) โดยใช้สถิติ ได้แก่ สถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิต และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่อบรรยายข้อมูลทั่วไปของกลุ่มประชากรที่ศึกษา สถิติอนุมาน (Inductive Statistics) เพื่อทำการเปรียบเทียบและทดสอบข้อมูล ได้แก่ Independent - Samples T test (T-test) One-Way ANOVA (F-test) ส่วนการวิเคราะห์แบบสัมภาษณ์ใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ซึ่งมีเกณฑ์ในการวัดระดับการมีส่วนร่วม คือ ค่าเฉลี่ยระหว่าง 3.01 – 4.00 หมายถึง การมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับสูง ค่าเฉลี่ยระหว่าง 2.01 – 3.00 หมายถึง การมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับปานกลาง และค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.00 – 2.00 หมายถึง การมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับต่ำ

 

ผลการวิจัยและอภิปรายผลการวิจัย

ผลการวิจัยพบว่า

ประเด็นที่ 1 ระดับการมีส่วนร่วมทางเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับต่ำ เมื่อพิจารณาจากรายด้าน 6 ด้าน มีเพียง 2 ระดับเท่านั้น คือระดับปานกลางและระดับต่ำ ซึ่งด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ด้านการใช้สิทธิเลือกตั้ง (Mean = 2.72, S.D. = 0.74) ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของการไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งระดับชาติ(ส.ส.) และ(ส.ว.) รวมถึงการไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น(กรรมการชุมชนสมาชิกสภาเขตดุสิต(ส.ข.) สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) นั่นเป็นเพราะว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีโอกาสแสดงบทบาทหน้าที่ทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นการแสดงบทบาททางการเมืองที่ง่าย นับว่าเป็นทางการที่สุดและใช้เวลาน้อย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน มีอาชีพรับจ้าง ค้าขาย รับราชการเป็นหลัก จึงไม่ค่อยมีเวลาให้กับกิจกรรมการเมืองอื่น ๆ ซึ่งตรงกับระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ชี้ให้เห็นว่าการเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคการเมืองและกลุ่มทางการเมืองต่าง ๆ การสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การเขียนเรื่องร้องทุกข์ เสนอปัญหาไปยังนักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำทางการเมืองและหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ รวมถึงการชุมนุมทางการเมือง การฟังปราศรัยหาเสียง และการติดต่อกับนักการเมืองนั้นมีระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับต่ำทุกข้อ และอีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะว่าประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องการเมืองน้อยกว่าการประกอบอาชีพ หรือเรื่องปากท้อง และคิดว่าเรื่องการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องของตนเองที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะว่าตนเองเป็นเพียงลูกบ้านชาวบ้านทั่วไปในชุมชนเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนราชพัสดุ ที่ว่า “ประชาชนมีความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อสถานการณ์ทางการเมือง จึงทำให้ประชาชนลดระดับความสนใจทางการเมืองลงมาก” (สามารถ อำพันหอม, 2553) และความเบื่อหน่ายตัวนักการเมืองเองด้วย สอดคล้องกับแนวคิดของพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (2541) กล่าวว่าการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นการแสดงออกในลักษณะของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ที่แทบไม่ต้องลงทุน ด้านแรงงานหรือกำลังทรัพย์แต่การที่คนไม่ออกไปใช้สิทธินั้นอาจเกิดจากความเบื่อหน่ายต่อสถานการณ์บ้านเมือง ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แย่งชิงผลประโยชน์และแตกแยกกันเองของนักการเมือง จึงไม่อยากเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง จากคำถามวิจัยสู่ผลการวิจัยทำให้ผู้วิจัยยอมรับว่าในปัจจุบันประชาชนเขตดุสิตมีส่วนร่วมทางการเมืองอยู่ในระดับต่ำซึ่งตรงกันกับสถิติของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552 ที่ว่า ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต เขตดุสิตมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยที่สุด และการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 กรุงเทพมหานครเขตดุสิตมีผู้มาใช้สิทธิ์น้อยที่สุด นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับผลการวิจัยของกิจฎิภันส์ ยศปัญญา (2547) ที่ได้ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในหมู่บ้านสินธนา1เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร พบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่ในระดับต่ำ และมนัสชัย บำรุงเขต (2550) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับท้องถิ่นของประชาชน ในองค์การบริหารส่วนตำบลบางซ้าย อำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยภาพรวมระดับน้อยเช่นเดียวกัน

ประเด็นที่ 2 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร คือ ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ และสถานภาพ ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ ได้แก่ อาชีพ การเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม บทบาทหน้าที่ในครอบครัว และบทบาทหน้าที่ในชุมชน ปัจจัยสภาพแวดล้อมทางการเมือง ได้แก่ การรับรู้ข่าวสารทางการเมือง และการพัฒนาทางการเมือง ปัจจัยทางจิตวิทยาทางการเมือง ได้แก่ ความสนใจทางการเมือง พฤติกรรมทางการเมือง และการกล่อมเกลาทางการเมือง รวมถึงปัจจัยที่สามารถพยากรณ์การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนมีจำนวน 4 ตัว เรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ ความสนใจทางการเมือง การรับรู้ข่าวสารทางการเมือง ค่านิยมพื้นฐานทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และสภาพแวดล้อมทางการเมือง แต่ปัจจัยที่ทรงอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ปัจจัยที่น่าสนใจที่สุด ได้แก่ ปัจจัยด้านการรับรู้ข่าวสารทางการเมือง การพัฒนาทางการเมือง ความสนใจทางการเมือง พฤติกรรมทางการเมือง และการกล่อมเกลาทางการเมือง  ซึ่งปัจจัยเหล่ามีผลอย่างมากต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง กล่าวคือ เมื่อปัจจัยเหล่านี้มีระดับที่สูงจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองสูงตามไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ ถวิลวดี บุรีกุลและคณะ (2546) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนและความคิดเห็นต่อการทำงานของรัฐบาลและองค์กรอิสระ พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้แก่ ข่าวสารและความสนใจทางการเมือง โดยที่การได้รับข่าวสารและความสนใจทางการเมืองมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง และผลการวิจัยของวิทยา บุณยะเวชชีวิน (2543) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนต่อการปกครองท้องถิ่น เทศบาลตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ พบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่อการปกครองท้องถิ่นในเขตเทศบาลตำบลบางปู คือ การผ่านสังคมประกิตทางการเมือง การผ่านการบ่มเพาะทางการเมือง การมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย และการเข้าถึงข่าวสารทางการเมือง รวมถึงผลการวิจัยของวัชรี ด่านกุล (2541) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนอายุ 18-20 ปี : ศึกษากรณี อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยด้านความสนใจข่าวสารทางการเมืองที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน

ประเด็นที่ 3 แนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย (1) ควรมุ่งเน้นการพัฒนาหรือส่งเสริมบทบาททางเมืองของชุมชนให้สูงขึ้นเฉพาะกลุ่มที่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน ที่มีอายุ 18-29 ปี เนื่องจากมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยที่สุด โดยต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองของชุมชนให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ได้มีโอกาสแสดงบทบาทของตนเองเพิ่มมากขึ้น (2) หน่วยงานภาครัฐ และผู้นำชุมชนควรเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารทางการเมืองของประชาชนให้มีความหลากหลายทันสมัยและสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง เนื่องจากช่องทาง สื่อต่าง ๆ ไม่เหมาะสมกับบางอายุหรือบางกลุ่มอาชีพ (3) ภาครัฐควรจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมทางการเมือง ต้องเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกตำแหน่งฐานะทางสังคม โดยที่ภาครัฐต้องไม่แสดงถึงความไม่เป็นธรรมหรือสองมาตรฐานในกิจกรรมทางการเมืองที่จัดให้กับประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และ (4) นักการเมืองท้องถิ่น หรือผู้นำชุมชนควรตระหนักในการเข้ารับฟังปัญหาของประชาชนอย่างทั่วถึงและนำไปปฏิบัติจริง มิใช่รับแล้วไม่ปฏิบัติให้บรรลุผล ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายการเมืองเพิ่มขึ้น เนื่องจากการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนและประชาชน ได้พบว่า นักการเมืองจะมาก็ต่อเมื่อมาหาเสียงเท่านั้น ไม่เคยลงมารับฟังปัญหาของชาวบ้านจริง ๆ และไม่เคยทำให้สำเร็จได้เลย จึงส่งผลต่อการไม่อยากมีส่วนร่วมทางการเมืองและทำให้เสียเวลาด้วย

การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์

          ผู้วิจัยได้นำผลการวิจัยไปใช้ในการบริการวิชาการแก่ชุมชน โดยวิธีการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้นำชุมชนและประชาชน เพื่อนำเสนอแนวทางของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนให้ผู้นำและประชาชนทั้ง 44 ชุมชน ได้นำไปขยายผลแก่ประชาชนในชุมชนต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

กิจฎิภันส์ ยศปัญญา. (2547). การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ศึกษาเฉพาะกรณี ประชาชนในหมู่บ้านสินธนา 1 เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐประศาสนศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารทั่วไป มหาวิทยาลัยบูรพา.

ถวิลวดี บุรีกุลและคณะ. (2546). โครงการการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนและความคิดเห็นต่อการทำงานของรัฐบาลและองค์กรอิสระ. ชุดโครงการวิจัยเรื่อง การติดตามและประเมินผลบังคับใช้รัฐธรรมนูญ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และถวิลวดี บุรีกุล. (2548). ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม. สถาบันพระปกเกล้า. กรุงเทพมหานคร.

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต. (2541). ชนชั้นกับการเลือกตั้ง. สำนักพิมพ์วิภาษา. กรุงเทพมหานคร.

มนัสชัย บำรุงเขต. (2550). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมการเมืองระดับท้องถิ่นของประชาชนในองค์การบริหารส่วนตำบลบางซ้าย อำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. การศึกษาอิสระปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

วัชรี ด่านกุล. (2541). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนอายุ 18-20 ปี : ศึกษากรณี อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา. ภาคนิพนธ์พัฒนศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. 87-89.

วิทยา บุญยะเวชชีวิน. (2543). การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนต่อการปกครองท้องถิ่น : ศึกษาเฉพาะกรณี เทศบาลตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ. การศึกษาตามหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยบูรพา.

สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์. (2549). การเมืองไทย. เสมาธรรม. กรุงเทพมหานคร. 562-563.

สามารถ อำพันหอม, (2553, 30 มีนาคม). เลขานุการชุมชนราชพัสดุ. สัมภาษณ์.

หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์. (2552). สรุปคนกรุงใช้สิทธิเลือกผู้ว่าฯกทม.51.10% (ทวีวัฒนามากสุด-ดุสิตน้อยสุด) วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1231677594&grpid=03&catid=01 (8 October 2009).

 

 

หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์. (2554). เปิด 10 ที่สุดของการเลือกตั้ง กทม. วันที่ 3 กรกฎาคม 2554. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1310181846&grpid=03&catid=&subcatid= (9 July 2011).

Lester W. Milbrath and M. L. Goal. (1977). Political Participation : How and Why Do People Get Involved in Politics. Chicago : Rand McNally College Publishing Company.

 

กิตติกรรมประกาศ

ผู้วิจัยขอขอบคุณสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่ให้การสนับสนุนการวิจัย และขอขอบพระคุณคณาจารย์ นักศึกษาของสาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น