วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

The ways of life in Urban Community: A Case of Wat Pracharabuedham Community


วิถีชีวิตชุมชนเมือง กรณีศึกษาชุมชนวัดประชาระบือธรรม

The ways of life in Urban Community:

A Case of Wat Pracharabuedham Community

 

ภูสิทธ์  ขันติกุล

Phusit Khantikul

 

สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสังคม

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

 

บทคัดย่อ

 

การวิจัยครั้งนี้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ 3 ประการ คือ (1) เพื่อสืบค้นวิถีชีวิตชุมชนวัดประชาระบือธรรมในบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ชุมชนวัดประชาระบือธรรม (3) เพื่อศึกษาวิถีชีวิตชุมชนเมืองในปัจจุบันของชุมชนวัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสำรวจสภาพข้อมูลทั่วไปของชุมชน แบบสังเกต และแบบสัมภาษณ์ โดยมีเทคนิคเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบไม่ใช้ความน่าจะเป็น(Non-Probability Sampling) คือ แบบเจาะจง (Purposive Sampling) สำหรับการคัดเลือกชุมชน โดยศึกษา 4 ชุมชน คือ ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 – 4  และแบบสโนว์บอล (Snowball Sampling) สำหรับสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน และปราชญ์ชาวบ้าน จำนวน 23 คน แล้วนำมาวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงตรรกะเหตุผล โดยการตีความสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (inductive) และวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content analysis) เป็นหลัก ผลการศึกษาดังนี้ (1) สภาพทางสังคมเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ชุมชนวัดประชาระบือธรรมในอดีตเป็นชุมชนเล็ก ๆ มีประชาชนอาศัยอยู่กันอย่างเบาบาง เพราะโดยสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ทุ่งหญ้า และสวนผลไม้ มีลำคลองสายสำคัญในการดำรงชีวิต ชื่อว่า คลองบางกระบือ เป็นสายน้ำที่ประชาชนใช้ทั้งอุปโภคและบริโภค ประชาชนประกอบอาชีพทำนา และทำการเกษตรกรรมเป็นหลักทั้งการทำสวนผลไม้ ประเภททุเรียน มะพร้าว กระท้อน วิถีชีวิตจึงเป็นลักษณะเดียวกันคือวิถีชีวิตแบบชาวนาชาวสวน นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ จำพวกวัว และกระบือมากมาย จนทำให้ชุมชนนี้มีชื่อเสียงในเรื่องการเลี้ยงกระบือที่มีพันธุ์ดีและแข็งแรง ประชาชนทั่วไปจึงเรียกกันว่า หมู่บ้านบางกระบือลักษณะการตั้งบ้านเรือนอยู่ไม่ห่างไกลกันนัก และส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยายมีปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก ความผูกพันในครอบครัวกลมเกลียวเหนียวแน่นกันเป็นอย่างดี และคนในชุมชนจะรู้จักกันเป็นอย่างดีด้วย บ้านเรือนมีลักษณะบ้านไม้ใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วมด้วย วัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ นั้นประชาชนยึดมั่นตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนาเป็นสำคัญ โดยมีวัดประชาระบือธรรมเป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน  (2)  ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของชุมชน นั่นก็คือปัจจัยการสร้างถนนเข้าสู่ชุมชน ซึ่งเริ่มที่ถนนพระราม 5 เป็นถนนสายสำคัญที่ตัดผ่าน และการสร้างสะพานตัดถนนวัดประชาระบือธรรมเข้าสู่ชุมชน อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การเป็นพื้นที่เปิดทำให้สามารถเข้าถึงชุมชนได้ทั้งทางบกและทางน้ำ สุดท้ายคือปัจจัยเชิงนโยบายการพัฒนาพื้นที่ชุมชนของภาครัฐที่ไหลบ่าเข้าสู่ชุมชนทั้งด้านอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ (3) สภาพวิถีชีวิตชุมชนวัดประชาระบือธรรมในปัจจุบันมีลักษณะเป็นวิถีชีวิตชุมชนเมืองและประชาชนได้ถูกความเป็นวิถีชีวิตแบบคนเมืองกลืนความเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมไปจากชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้ จนสภาพชุมชนกลายเป็นชุมชนใหญ่ที่อยู่กันอย่างหนาแน่นแออัด ประชากรของชุมชนเพิ่มมากขึ้นพื้นที่ขยายเพิ่มขึ้นด้วย จนกระทั่งชุมชนได้ถูกแบ่งย่อย ๆ เป็น 4 ชุมชน เพื่อสะดวกในการบริหารจัดการและสามารถดูแลกันได้อย่างทั่วถึง โดยครั้งแรกแบ่งเป็น ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1-3 และต่อมาจึงเกิดชุมชนวัดประชาระบือธรรม 4 ตามมา ลักษณะบ้านเรือนมีความเป็นปัจเจกบุคคล รั้วรอบขอบชิดอย่างชัดเจน บางส่วนของชุมชนตึกแถว ห้องเช่า อพาร์ตเม้น และชุมชนแออัด บ้านเรือนมีรูปแบบที่หลากหลายตามจุดประสงค์ของเจ้าของ ทิศทางในการประกอบอาชีพมีความหลากหลายมากขึ้นมีทั้งอาชีพเกิดขึ้นอยู่กับบ้าน เช่นอาชีพรับจ้าง ค้าขาย ธุรกิจส่วนตัวเล็ก ๆ และอาชีพที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านนอกชุมชน เช่นอาชีพรับราชการ พนักงานบริษัทเอกชน และหน่วยงานรัฐ การดำรงชีวิตอยู่ในสภาพของความเร่งรีบตลอดเวลา ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อ แม่ ลูก ประชาชนในชุมชนไม่ค่อยรู้จักกันนัก คนอยู่อาศัยในชุมชนมาจากหลากหลายพื้นที่ วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อของประชาชนในชุมชน เป็นความเชื่อ ความศรัทธาที่ถือตามคติของพุทธศาสนาเป็นหลัก แต่ที่สำคัญ,uวัฒนธรรมประเพณีที่ประชาชนในชุมชนยึดปฏิบัติกันมาตั้งแต่ตั้งชุมชน คือ การทำบุญในวันขึ้นปีใหม่ และประเพณีวันสงกรานต์

คำสำคัญ: วิถีชีวิตชุมชนเมือง, การศึกษาชุมชน, ชุมชนวัดประชาระบือธรรม, เขตดุสิต

 

ABSTRACT

 

The purposes of this research were to search for the way of life of Wat Pracharabuedham community in the context of society, economy and culture, the factor of effects on exchanging the state of the area of community, and the way of life of a currently urban community at Dusit District in Bangkok.  The samples of non-possibility including Purposive Sampling for select 4 community and Snowball Sampling for indepth-interview to leader and expert information 23 man were used in this study. The instruments for this study consisted of the survey questionnaires, the observations, and the interviews. The data analysis such as the logical, inductive, and content analysis was utilized in this research. The findings showed that: (1)  The state of its society, economy, and culture in past was a small community. There were a few people living there because the area was plain with grassland, and fruit garden. There was the canal named “Klong Bangkrabue”. The people consumed water from this main canal. Their principal occupation was the growth of rice, an orchard such as durian, coconut, and wood apple. The animal farming was reputed to be the best quality cows and buffaloes as well as it was called “Krabue Village”. The aspects of a home and house were closely constructed each other. The house had a highly basement for preventing it from flood.  Most families included grandfather, grandmother, parents and offspring. The culture and tradition which people held on a belief in Buddhism were the most important thing. The temple, Wat Pracharabuedham, is always everybody’s mind center. (2) The important factor of effects on exchanging in the state of community was that Rama VI Road, main road was built through the community. The bridge was also constructed by passing the community to be the place of the temple. Another factor was an opened area which enabled transportation to reach in both cars and waterways. The final factor was the policy of state in developing the community with a flowing infrastructure. (3) The way of life of the community are currently the urban area while it was a small community in past. The way of old life lost when it was changed as the big community. The state of the areas became slum. The community had a population increasingly. In order to manage the community, it was subdivided into 4 groups.  The first was the community 1-3, and then the last was the community 4 respectively. The aspects of a living place were the private land. Home was surrounded with a fence. There were the several styles of houses. Some were townhouse, house for rent, apartment, and slum. Their occupations were to work at home such as services, commercials, and  small businesses; and to go for an office in both the private and public sectors. Most families were the single with father, mother, a son and daughter. People in the community rarely knew each other because they came from the different places and cultures. The belief of people in the community was that they mainly believe in Buddhism. The currently succeeding culture and tradition are New Year Celebration and Songkran Festival.

Keywords: Ways of life in Urban Community, Study to the Community, Wat Pracharabuedham Community, Dusit District

 

หลักการและเหตุผล (Reasonable)

ชุมชนวัดประชาระบือธรรม เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุราว 112 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 5 ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือการทำนา ทำสวนผลไม้ เป็นหลัก ผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างกันมีวิถีชีวิตแบบชาวนาชาวสวน ดำรงชีวิตทุกอย่างอิงอยู่กับธรรมชาติ การเดินทางสัญจรต่าง ๆ ของประชาชนยังใช้เรือเป็นหลัก ถนนยังไม่มี ส่วนทางบกประชาชนจะใช้การเดินเท้าสัญจรไปตามคูในสวนผลไม้ต่าง ๆ ซึ่งนับว่าวิถีชีวิตมีความยากลำบากจนกระทั่ง ราวพุทธศักราช 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ใช้เงินพระคลังข้างที่อันเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ตัดสินพระทัยซื้อพื้นที่สวนต่อท้องนาสามเสนจากราษฎรตามราคาอันสมควร หลังจากนั้นพระองค์ทรงเริ่มให้มีการขุดคลอง ทำสะพานสร้างพระอุทยาน ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล ไม้ดอก และสร้างพลับพลาไว้เป็นที่เสด็จประทับแรม โปรดเกล้าฯ ให้เรียกที่ประทับว่า “สวนดุสิต” (กนกวรรณ ชัยทัต, 2548 : 55-59) เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ประชาชนให้ความสำคัญกับความเจริญทางด้านวัตถุมากขึ้น การเปิดรับข้อมูลข่าวสาร และวัฒนธรรมจากภายนอกชุมชนเพิ่มมากขึ้น ความเจริญเหล่านั้นได้หลั่งไหลเข้าสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อการสนองความต้องการของตัวเองเป็นสำคัญ จึงทำให้ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเชิงกายภาพ สังคมและวัฒนธรรม ที่แตกต่างกันไปในหลากหลายมิติ จนประชาชนติดยึดกับการบริโภคนิยมตามกระแส  การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างได้ผูกโยงให้เกิดปัญหาในชุมชนมากมายทั้งยาเสพติด อาชญากรรม ทะเลาะวิวาทของวัยรุ่นในชุมชน ความกลมเกลียวเหนี่ยวแน่นภายในชุมชนเริ่มน้อยลงความผูกพันในครอบครัวในชุมชนเริ่มจางหายไปจากวิถีชีวิตดั้งเดิม แม้ในภาวะปัจจุบันประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ภายในชุมชนเองมุ่งกับการพัฒนาทางด้านวัตถุเพียงอย่างเดียว จนประชาชนได้หลงลืมความเป็นอดีตที่ดีงาม  ทิ้งไว้ เฉพาะร่องรอยอดีตที่จวนเจียนจะหายไปจากชุมชน และในปัจจุบันยังไม่พบว่ามีงานวิจัย หรือวรรณกรรมใด ที่ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนวัดประชาระบือธรรมไว้เลย

ดังนั้นด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะการศึกษาร่องรอยของวิถีชีวิตที่หลงเหลืออยู่เป็นอย่างไร ปัจจัยที่ส่งผลถึงความเปลี่ยนแปลงไปของสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของประชาชน และปัจจุบันวิถีชีวิตของประชาชนบนฐานชุมชนเมืองเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพื่อชี้ให้ผู้นำชุมชน ประชาชนในชุมชนได้ตระหนักถึงผลของการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อวิถีชีวิตดั้งเดิม และกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์รักษาร่องรอยในอดีตของชุมชนอันเป็นรากเหง้าที่ดีงามของชุมชนไว้ให้อยู่อย่างยั่งยืน

 

วัตถุประสงค์ (Objectives)

1. เพื่อสืบค้นวิถีชีวิตชุมชนวัดประชาระบือธรรมในบริบททางสังคมเศรษฐกิจ และบริบททางวัฒนธรรม

2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ชุมชนวัดประชาระบือธรรม

3. เพื่อศึกษาวิถีชีวิตชุมชนเมืองในสภาพปัจจุบันของชุมชนวัดประชาระบือธรรม

 

ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (Literature)

การศึกษาในครั้งนี้ได้อาศัยแนวคิด ทฤษฎีหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่มีการศึกษามาแล้วเป็นแนวทาง โดยมีแนวคิดจากนักวิชาการหลายท่านที่ได้ให้แนวคิดไว้ว่า วิถีชีวิตของคนถูกกำหนดให้แตกต่างกันด้วยวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ ดังนั้นวิถีชีวิตของชาวไทยหรือต่างชาติก็ดี จะมีวิถีชีวิตที่เป็นลักษณะของตนเอง จึงไม่ถือว่าวัฒนธรรมของใครสูงหรือต่ำ ล้าหลัง ป่าเถื่อน กว่าอีกวัฒนธรรมหนึ่ง (สุพัตรา สุภาพ, 2541: 103) เนื่องจากว่าวัฒนธรรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และสามารถแพร่กระจายจากวัฒนธธรรมในสังคมหนึ่งสู่อีกสังคมหนึ่งได้ ดังนั้นการอธิบายแนวคิดนี้อาศัยทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม รวมถึงการใช้ทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ในการอธิบายบทบาทขององคาพยพต่าง ๆ ในสังคมนั้นว่าแต่ละส่วนมีการทำหน้าที่สมบูรณ์หรือบกพร่อง (สัญญา  สัญญาวิวัฒน์, 2543 : 25-51) จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชุมชนในทางสังคม เศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ดังนั้นการศึกษาวิถีชีวิตชุมชนจำเป็นต้องเข้าใจวัฒนธรรม การดำรงชีวิตของแต่ละชุมชนให้เข้าใจก่อนเพื่อการปรับตัวให้สอดคล้องกับชุมชนเหล่านั้นด้วย จึงจะสามารถลงพื้นที่การเก็บข้อมูลชุมชน ทั้งในด้านสภาพภูมิประเทศและการตั้งถิ่นฐานของชุมชน ลักษณะโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาและสาธารณูปโภคของชุมชน และประวัติและความเป็นมาของชุมชน ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ และการใช้ทรัพยากร ข้อมูลเกี่ยวกับระบบสังคม และการเมืองในชุมชน ได้แก่ครอบครัวและเครือญาติ รวมถึงกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มอุปถัมภ์ กลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มอาชีพ กลุ่มการเมือง กลุ่มอื่นๆ ที่ทางการเข้ามาจัดตั้ง เป็นต้น(เทคเนควิธีการศึกษาชุมชน, 2552 : ออนไลน์)ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้มีผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องที่สำคัญในการอ้างอิง ดังเช่น  เสาวภา ไพทยวัฒน์ (2551 : บทคัดย่อ) ศึกษาเรื่องวิวัฒนาการและรูปแบบสังคมเมือง: กรณีศึกษาย่านเทเวศร์ พบว่า พื้นที่เทเวศร์มีการเปลี่ยนแปลงไปโดยนโยบายของรัฐและโดยตัวชุมชนเอง ส่วนวีณา เอี่ยมประไพ (2550 : บทคัดย่อ) ได้ทำการวิจัยเรื่อง วิถีชีวิตชุมชนคลองบางกอกน้อย ผลการวิจัยพบว่า ชุมชนคลองบางกอกน้อยมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับ ลำน้ำทั้งการประกอบอาชีพ การอุปโภค จวบจนรัฐพัฒนาบ้านเมืองด้วยการสร้างเส้นทางถนนเข้าสู่ชุมชนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่ทางสังคม ซึ่งจะพบว่าถนนเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งของสาเหตุที่ ทำให้พื้นที่แตกต่างไปจากเดิม รวมถึงชนินทร์ วิเศษสิทธิกุล (2547: บทคัดย่อ) ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงชีวิตสังคมเมืองในเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร พบว่าการเปลี่ยนแปลงชีวิตสังคมเมือง ซึ่งมิได้สอดคล้องกันระหว่างแนวทางพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์กับการใช้พื้นที่ของคนในพื้นที่ เป็นต้น ด้วยแนวคิดเหล่านี้เป็นแนวทางในการศึกษาวิถีชีวิตชุมชนเมือง กรณีศึกษาชุมชนวัดประชาระบือธรรม เป็นหลักสำคัญ

 

ระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology)

                การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสำรวจสภาพข้อมูลทั่วไปของชุมชน แบบสังเกต และแบบสัมภาษณ์ โดยมีเทคนิคเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบไม่ใช้ความน่าจะเป็น(Non-Probability Sampling) คือ แบบเจาะจง (Purposive Sampling) สำหรับการคัดเลือกชุมชน โดยศึกษา 4 ชุมชน คือ ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 – 4  และแบบสโนว์บอล (Snowball Sampling) สำหรับสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน และปราชญ์ชาวบ้าน จำนวน 23 คน แล้วนำมาวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงตรรกะเหตุผล โดยการตีความสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (inductive) และวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content analysis) เป็นหลัก เมื่อสรุปผลการวิจัยแล้วมีการยืนยัน(Data Verify) ผลการวิจัยให้กับชุมชนรับรองด้วย

 

ผลการวิจัย (Result)

                สืบค้นวิถีชีวิตวัดประชาระบือธรรม

บริบททางสังคม พบว่า ลักษณะทางสังคม สภาพพื้นที่ในอดีตชุมชนวัดประชาระบือธรรม เป็นที่ราบลุ่มและเป็นทุ่งหญ้า มีลำคลอง 1 ลำคลองเรียกว่า คลองบางกระบือ และมีหมู่บ้านเล็ก ๆ อีก 1 หมู่บ้าน แบบแผนชีวิตของประชาชนนั้นยึดแบบแผนวิถีชีวิตแบบชาวนาชาวสวนอิงอาศัยธรรมชาติในการดำรงชีวิต เป็นสำคัญ บ้านเรือนตั้งอยู่ห่างกันเนื่องจากประชาชนยังอาศัยอยู่กันอย่างเบาบาง บ้านเรือนจะปลูกกันอยู่ในสวนผลไม้ของตนเองและปลูกใกล้กับลำคลองบางกระบือ ซึ่งจะมีลักษณะบ้านไม้ใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม ประชาชนมีความผูกพันกันอย่างเหนี่ยวแน่น อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่มีพ่อแม่ ลูก หลาน ปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติอื่นๆ  ซึ่งคนส่วนใหญ่ในชุมชนจะรู้จักกันเป็นอย่างดี อยู่กันแบบเรียบง่ายและถ้อยทีถ้อยอาศัยคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

บริบททางเศรษฐกิจ พบว่า ลักษณะของการประกอบอาชีพนั้นประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพคล้ายคลึงกัน เป็นสังคมทางการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งอาชีพทำการเกษตร เช่น ทำนา ทำสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน มะพร้าว และเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วัว และกระบือ สัตว์เลี้ยงประเภทวัวและกระบือมีพันธุ์ดีและแข็งแรง มีชื่อเสียงมาก จึงได้ชื่อว่า หมู่บ้านบางกระบือ และอีกอาชีพหนึ่งที่สำคัญคือการรับราชการ ซึ่งประชาชนนิยมให้ลูกหลานทำงานรับราชการ ถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติทางสังคมด้วย

บริบททางวัฒนธรรม พบว่า ประชาชนยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นแก่นในการดำรงชีวิตตลอดมา ประเพณีพิธีกรรมใด ๆ ที่ปฏิบัติถูกต้องตามหลักคติความเชื่อของพุทธศาสนาแล้วประชาชนชุมชนวัดประชาระบือธรรมจะพร้อมใจกันประกอบขึ้น เช่น การทำบุญวันธรรมสวนะ ทำบุญตักบาตรไหว้พระตามประเพณีสำคัญ ๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ มาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา เข้าพรรษา ออกพรรษา ซึ่งสิ่งที่สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ ขนบธรรมเนียมประเพณีให้กับลูกหลาน จะเป็นลักษณะชวนลูกหลานไปทำบุญร่วมกันด้วย ซึ่งคติความเชื่อใด ๆ จะมีวัดเป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมทางศาสนาขึ้น ซึ่งวัดที่อยู่คู่กับชุมชนเป็นที่พึ่งทางใจให้กับประชาชน ได้ถูกสร้างเมื่อ พ.ศ. 2440 มีชื่อว่า วัดบางกระบือ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น วัดประชาระบือธรรม นั่นเอง

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชนวัดประชาระบือธรรม

                การศึกษาครั้งนี้ได้พบปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชน ดังนี้ (1)  ปัจจัยการสร้างถนนเข้าสู่ชุมชน ซึ่งเริ่มที่ถนนพระราม 5 เป็นถนนสายสำคัญที่ตัดผ่าน และการสร้างสะพานตัดถนนวัดประชาระบือธรรมเข้าสู่ชุมชน (2) ปัจจัยเชิงพื้นที่ ซึ่งชุมชนวัดประชาระบือธรรมมีลักษณะของพื้นที่เป็นพื้นที่เปิดทำให้สามารถเข้าถึงชุมชนได้ทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งทางบก คือถนนวัดประชาระบือธรรมตัดผ่านชุมชนตามตรอกซอกซอยมีการทำทางเดินอย่างสะดวกสบาย ส่วนทางน้ำ คือก่อนที่จะมีการสร้างถนนทับคลองประชาชนยังใช้เรือในการสัญจรเข้าสู่ชุมชนด้วยเพราะนอกจากคลองบางกระบือที่เป็นสายสำคัญแล้ว ยังมีคลองวัดน้อยนพคุณ เป็นคลองเล็ก ๆ ในการสัญจรด้วย (3) ปัจจัยเชิงนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาเพื่อให้ชุมชนเกิดความสะดวกสบาย ซึ่งโดยความเป็นชุมชนตั้งอยู่ในเขตเมืองหลวงแล้วการพัฒนาจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ความเจริญทางวัตถุต่าง ๆ ไหลบ่าเข้าสู่ชุมชนอย่างมากมายทั้งด้านอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต (4) ปัจจัยภายในชุมชน องคาพยพของชุมชนทั้ง ครอบครัว กลุ่มประชาชน กลุ่มผู้นำชุมชนมีความอ่อนแอลงขาดความรักความสามัคคี ผู้คนดั้งเดิมไหลออกจากชุมชน คนต่างถิ่นย้ายเข้าอยู่แทน การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจากฐานชุมชน วัฒนธรรมดั้งเดิมเบาบางลง เกิดความคิดที่แตกต่างกัน วิถีการดำรงชีพแตกต่างกัน ส่งผลต่อการขับเคลื่อนองคาพยพในชุมชนอ่อนแอลงไป การเปลี่ยนแปลงของชุมชนจึงขาดทิศทางในการพัฒนาชุมชนไปอย่างสิ้นเชิง

 

                 วิถีชีวิตชุมชนเมืองในสภาพปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงของชุมชนจึงขาดทิศทางในการพัฒนาชุมชน การเป็นพื้นที่เปิดทำให้ชุมชนเล็ก ๆ กลายเป็นเป็นชุมชนที่มีประชาชนเริ่มทยอยเข้ามาเพื่อปลูกบ้านพักอาศัยเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ชุมชนจึงขยายเพิ่มตามจำนวนประชาชนด้วย เมื่อชุมชนใหญ่ขึ้น ปัญหาเริ่มก่อตัวขึ้นอย่าเป็นรูปธรรม ทั้งด้าน ยาเสพติด การพนัน สิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ การทะเลาะวิวาท ปัญหาครอบครัวแตกแยก และการบริหารการปกครอง การพัฒนาไม่ทั่วถึง ทำให้กรรมการก็มากเกินกว่าระเบียบกรุงเทพมหานครกำหนดไว้ด้วย ดังนั้นเมื่อ พ.ศ. 2538 จึงเกิดเป็นชุมชนอย่างเป็นทางการขึ้น โดยเริ่มแรกแบ่งออกเป็น 3 ชุมชนก่อน ได้แก่ ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1-3 และต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ก็เกิดขึ้นอีก 1 ชุมชน คือ ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 4 ซึ่งชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 เป็นชุมชนฐานเดิมของทุกชุมชน ด้วยเหตุเหล่านี้ชุมชนที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเหล่านี้ จึงเป็นชุมชนเมืองตามการจัดกลุ่มของสำนักงานเขตดุสิต ทำให้วิถีชีวิตของประชาชนกลายเป็นวิถีชีวิตชุมชนเมืองไปตามด้วย

วิถีชีวิตชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 พบว่า ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ มีซอยหลักทั้งหมด 6 ซอย อาณาเขตติดกับกรมทหารและที่พักทหารเป็นส่วนใหญ่ ประชาชนนับถือพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เมื่อเข้าสู่ชุมชนจะพบว่าบ้านเรือนของประชาชนจะสร้างติดกันซึ่งมีลักษณะเป็นทั้งอาคารพานิชย์ (พักและค้าขาย) และเป็นบ้านเรือนไม้ 2 ชั้น (ที่พักอย่างเดียว) รวมถึงเป็นที่พักอาศัยชั่วคราว (ที่พักอย่างเดียว) มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายทั้งโทรศัพท์สาธารณะ ตู้ไปรษณีย์ในชุมชน ระบบไฟฟ้าในชุมชน ระบบน้ำประปาที่ใช้ในชุมชน ร้านของชำ ร้านอาหารตามสั่ง เป็นต้น การประกอบอาชีพหลัก ๆ ของชาวชุมชนได้แก่ รับจ้าง ค้าขาย รับราชการ ลูกจ้างหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานรัฐ ทำให้วิถีชีวิตอยู่กับการต้องออกไปทำงานนอกชุมชน ความผูกพันในครอบครัวมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว ชีวิตอยู่กับการเร่งรีบ นิยมรับประทานอาหารจานเดียว ส่วนวัฒนธรรมในชุมชนนั้นเหลือเพียง ประเพณีวันสงกรานต์ และประเพณีทำบุญตักบาตรวันปีใหม่ ร่องรอยที่สามารถสะท้อนภาพในอดีตของชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 ได้ก็คือวัดประชาระบือธรรม เนื่องจากตั้งมาแล้วไม่น้อย 100 ปี เป็นวัดที่มีมาก่อนการตั้งชุมชนประชาระบือธรรม

วิถีชีวิตชุมชนวัดประชาระบือธรรม 2 เป็นชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนบนพื้นที่ของเอกชนส่วนหนึ่ง และเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลส่วนหนึ่ง ซึ่งอดีตบริเวณนี้เป็นสวนผลไม้ จำพวกสวนทุเรียน มะพร้าว หมาก และสวนผักต่าง ๆ เนื่องจากเกิดมีน้ำท่วมบ่อยครั้ง ส่งผลต่อลักษณะการปลูกสร้างบ้านเรือนของประชาชนจะมีลักษณะใต้ถุนสูง ซึ่งปัจจุบันยังคงเห็นร่องรอยในอดีตอยู่เพียงหลังเดียวเท่านั้น คือบ้านของคุณป้าพัชนีย์ กุลสูตร อายุ 71 ปี ซึ่งบ้านหลังนี้มีอายุร่วม 100 ปี เป็นการสืบทอดมาตั้งแต่ทวดของคุณป้าประมาณ 3 รุ่น คือ รุ่นทวด ปู่ย่า พ่อแม่ และปัจจุบันนี้เป็นรุ่นลูก ๆ นอกจากตัวบ้านแล้วยังคงเห็นล่องน้ำในสวนที่สามารถนึกภาพของความเป็นสวนในอดีตได้อย่างชัดเจน ภายในชุมชนปัจจุบันนี้สภาพทั่วไปเป็นชุมชนเมือง การดำรงชีวิตจึงเป็นไปตามวิถีคนเมืองเกือบหมดสิ้น การประกอบอาชีพไม่แตกต่างจากชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 มีอาชีพหลากหลาย เช่น ค้าขาย รับจ้าง รับราชการ ลูกจ้างหน่วยงานต่าง ๆ อาชีพที่ยังคงสืบทอดกันมาแต่อดีต คือ การตีทอง ส่วนใหญ่จะออกไปทำงานนอกบ้าน ชีวิตอยู่กับเวลาที่เร่งรีบ นิยมอาหารจานเดียวและกินข้าวนอกบ้าน ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อ แม่ ลูก ความผูกพันในครอบครัวและในชุมชนของแต่ละครอบครัวมีน้อย เนื่องจากวิถีชีวิตผูกติดกับหน้าทีการงานเวลาที่จะอยู่พร้อมกันในครอบครัวมีน้อยลงไป ส่วนวัฒนธรรมในชุมชนนั้นเป็นเช่นเดียวกับชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 ร่องรอยที่สามารถสะท้อนภาพในอดีตของชุมชนวัดประชาระบือธรรม 2 ได้ก็คือบ้านที่มีอายุร่วม 100 ปีของคุณป้าพัชนีย์ กุลสูตร และอาชีพการตีทอง

วิถีชีวิตชุมชนวัดประชาระบือธรรม 3 เป็นชุมชนเมืองที่อยู่บนพื้นที่ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และพื้นที่เอกชนบางส่วน ลักษณะบ้านเรือนมี 3 ลักษณะใหญ่ ๆ ได้แก่ ลักษณะเป็นบ้านเรือนไม้ 2 ชั้น ลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้นทันสมัยและอพาร์ตเม้นท์ และลักษณะที่เป็นพักอาศัยทั่วไป ส่วนวิถีการประกอบอาชีพและประเพณีวัฒนธรรมของประชาชนในชุมชนไม่แตกต่างกันกับชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 ความกลมเกลียวเหนี่ยวแน่นในครอบครัวมีไม่มากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่จะใช้เวลากับการประกอบอาชีพนอกชุมชนเป็นส่วนใหญ่ วิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้เป็นแบบวิถีชีวิตแบบคนเมือง ร่องรอยที่ชุมชนยังคงหลงเหลือให้เห็นร่องรอยในอดีตคือ บ้านคุณลุงโกเมนทร์ อิ่มสุวรรณ และบ้านป้าสอน พลยุง ซึ่งมีอายุไม่น้อยกว่า 50 ปี ลักษณะของบ้านเรือนทั้งสองเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง แต่มีการซ่อมแซมไปโดยส่วนใหญ่แล้ว

วิถีชีวิตชุมชนวัดประชาระบือธรรม 4 เป็นพื้นที่ของเอกชน เมื่อครั้งอดีตพื้นที่แห่งนี้ก่อนจะมีการก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์เคยเป็นทุ่งหญ้ากว้าง มีไว้สำหรับการเลี้ยงโค ที่ถูกต้อนมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นกระบือพันธุ์ดี แข็งแรง มีชื่อเสียงมากสมัยนั้น และภายในพื้นที่แห่งนี้หลายครั้งได้มีคนเข้ามาลักลอบปลูกเป็นเพิงอาศัยอยู่เป็นประจำ จนกลายเป็นสลัม มีน้ำสกปรก ในคูคลองผักตบชวาขึ้นเต็มพื้นที่ไปหมด แถมยังมีป่าหญ้าคาจำนวนมากอีกด้วย ไม่มีน้ำประปา และไฟฟ้า ต่อมา พ.ศ. 2518 บริษัทอาคารพัฒนาจำกัด ได้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ในเนื้อที่ 8 ไร่ จำนวน 120 คูหา ทำให้ประชาชนจากหลายพื้นที่ต่างเข้ามาจับจองเป็นที่อยู่อาศัยกันอย่างมากมาย ชุมชนแห่งนี้จะเห็นภาพของการดำรงชีวิตที่ต่างคนต่างอยู่อย่างชัดเจน ประชาชนในชุมชนไม่ค่อยรู้จักกันนัก ความกลมเกลียวเหนี่ยวแน่นในชุมชนมีน้อย แต่ละครอบครัวมีอาชีพที่แตกต่างกันไป บ้างทำงานที่บ้านที่ดัดแปลงทำธุรกิจด้วย ที่พักอาศัยด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะออกไปทำงานนอกชุมชน

จนสามารถยืนยันได้ว่าการดำรงชีวิตของประชาชนในชุมชนวัดประชาระบือธรรม ในปัจจุบันเป็น วิถีชีวิตคนเมือง อย่างสิ้นเชิง

                แสดงภาพรวมของวิถีชีวิตชุมชนเมืองวัดประชาระบือธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน ต่อไปนี้

 


 

ภาพที่ 1 พัฒนาการวิถีชีวิตชุมชนวัดประชาระบือธรรม

 


 

ภาพที่ 2 แสดงวิถีชีวิตชุมชนเมืองของชุมชนวัดประชาระบือธรรม

และร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ร่วมกันทั้ง 4 ชุมชน

 

อภิปรายผล (Discussion of Research)

วิถีชีวิตชุมชนเมือง กรณีศึกษาชุมชนวัดประชาระบือธรรม ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ถนน พระราม 5 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร สภาพของชุมชนทั่วไป มีลักษณะเป็นชุมชนเมือง เป็นต้นว่าบางพื้นที่อาคารพาณิชย์ บางพื้นที่เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นปูน ชั้น 2 เป็นไม้ บางพื้นที่บ้านมีลักษณะเพิงที่พักอาศัยชุมชนแออัด บางส่วนเป็นบ้านไม้ 2 ชั้นใต้ถุนสูง บางพื้นที่เป็นทาวเฮ้าว์ให้เช่า เป็นต้น มีตรอก ซอยที่สามารถทะลุถึงกันได้ตลอดชุมชน จึงจัดเป็นชุมชนเปิด มีการพัฒนาพื้นที่ของชุมชนได้พัฒนาเต็มศักยภาพ และไม่สามารถขยายฐานความเจริญทางพื้นที่ในอนาคตได้อีกต่อไป การประกอบอาชีพประชาชนมีหลากหลายตามความถนัดของตนเอง ส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพที่ทำงานนอกชุมชน ทั้งอาชีพรับจ้าง ค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว รับราชการ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์ของผู้นำชุมชน ที่ว่า “ตอนนี้ประชาชนส่วนใหญ่ของชุมชนมีความหลากหลายในการประกอบอาชีพ ไม่เหมือนในอดีตแล้ว และโดยทั่วไปจะออกไปทำงานนอกชุมชน ทั้งเป็นลูกจ้างและรับราชการ” (มนัส  สุวรรณพานิช, 2552: สัมภาษณ์)

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือสภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ความเจริญทางวัตถุได้หลั่งไหลเข้าสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มีการสร้างถนนวัดประชาระบือธรรมเข้าสู่ชุมชนแทนการใช้การคมนาคมทางน้ำอย่างเช่นในอดีต ดังนั้นการสร้างถนนจึงส่งผลทางตรงต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สอดคล้องกับผลการวิจัยของสุกัญญา สุจฉายา และนันทิยา สว่างวุฒิธรรม (2546: บทคัดย่อ)  ศึกษาเรื่องอัตลักษณ์ของชาวคลองภูมิ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พบว่า พื้นที่คลองภูมิเป็นพื้นที่สวนผลไม้ที่มีความร่มรื่นและชาวสวนยังคงรักษาความเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างโดยการตัดถนนย่านพระราม 3 ก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงจากสภาพภายนอกได้ส่งผลในด้านการดำรงชีวิต รวมถึงผลการวิจัยของวีณา เอี่ยมประไพ (2550: บทคัดย่อ) ได้ทำการวิจัยเรื่อง วิถีชีวิตชุมชนคลองบางกอกน้อย ผลการวิจัยพบว่า การสร้างเส้นทางถนนเข้าสู่ชุมชนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่ทางสังคม ซึ่งถนนเป็นปัจจัยหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้พื้นที่แตกต่างไปจากเดิมเช่นกัน

วัฒนธรรมประเพณีของประชาชนส่วนใหญ่ถือคติความเชื่อตามหลักของพุทธศาสนา ซึ่งชุมชนแห่งนี้จะมีวัดประชาระบือธรรมเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความคติความเชื่อของตน ดังเช่น การทำบุญวันธรรมสวนะ ทำบุญวันเกิด ทำบุญตักบาตรไหว้พระตามประเพณีสำคัญ ๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ มาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา เข้าพรรษา ออกพรรษา และลอยกระทง ซึ่งประเพณีต่าง ๆ เป็นการทำบุญตามฤดูกาล การถ่ายทอดความรู้ทางวัฒนธรรมมีลักษณะการให้ลูกหลานได้เข้าไปมีส่วนร่วมปฏิบัติด้วยกัน โดยเฉพาะประชาชนในชุมชนได้ให้ความสำคัญกับการทำบุญในวันปีใหม่และวันสงกรานต์มาก ซึ่งได้สอดคล้องกับผลการวิจัยของ วิวัฒนชัย บุญญานุพงศ์ (2544 : บทคัดย่อ) ได้ทำการวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชน: ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนมอญบ้านเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ผลการวิจัยพบว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชนในกิจกรรมการทำบุญในวันสงกรานต์เป็นประจำสูงกว่ากิจกรรมอื่น ๆ เพราะเป็นประเพณีที่แสดงออกได้ถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และขอพรผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของชาวมอญเกาะเกร็ด

อย่างไรก็ตามความเป็นวิถีชีวิตคนเมือง ได้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ การกินอยู่(เรื่องปากท้อง) ของตนเองและครอบครัวเป็นหลัก โดยเฉพาะสภาวะปัจจุบันประชาชนต้องดิ้นรนทำมาหากินกันมากขึ้น เพราะค่าครองชีพในแต่ละวันสูงขึ้น จึงส่งผลต่อการทำบทบาทหน้าที่ของประชาชนทั้งภายในครอบครัวและชุมชนน้อยลงไป อย่างเห็นได้ชัด เช่น บทบาทการสั่งสอนบุตรหลานของพ่อแม่ เริ่มไม่มีเวลาให้กับสิ่งเหล่านี้แล้ว แต่บทบาทเหล่านี้ไปตกอยู่กับสถาบันการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นลูกจะมีเวลาอยู่กับพ่อแม่ ในแต่ละวันไม่มากเท่ากับอยู่กับครู เพื่อนที่โรงเรียน ด้วยเหตุนี้ส่งผลต่อความผูกพันระหว่างพ่อแม่ ลูก ที่เคยอบอุ่น ใกล้ชิดกันอย่างเช่นวิถีชีวิตในอดีตนั้นได้เริ่มจืดจางหายไป สอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์ของผู้นำชุมชนที่ว่า “ประชาชนให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพของตนเองมากกว่าการดูแลครอบครัว ตื่นขึ้นก็ต่างกันต่างไปทำงาน ลูกก็ไปโรงเรียน พอตอนเย็นก็ค่อยเจอได้มีโอกาสเจอกัน บางวันก็ไม่ได้เจอกันเลย ความอบอุ่นอย่างเช่นอดีตไม่มีอีกแล้ว” (จิรฐา นุชพ่วง, 2552: สัมภาษณ์)

                 

ข้อเสนอแนะ (Research Recommendations)

ผู้นำชุมชน ประชาชนควรจัดกิจกรรมภายในชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความสามัคคี   ความผูกพันของครอบครัวเพิ่มมากขึ้น และกระตุ้นคนในชุมชนเกิดความตระหนักในการอนุรักษ์ร่องรอยในอดีตเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เป็นตัวตนวิถีชีวิตของปู่ย่า ตายายให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

 

บรรณานุกรม (Bibliography)

กนกวรรณ ชัยทัต. 2548. การสร้างความเป็นสมัยใหม่ด้วยมิติวัฒนธรรม : มุมมองเรื่องพื้นที่ ศึกษาจากพระราชวังดุสิต-วัดเบญจมาบพิตร-ถนนราชดำเนิน ในสมัยรัชกาลที่ 5. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

จิรฐา นุชพ่วง. (2552, 5 เมษายน). ประธานชุมชนวัดประชาระบือธรรม 3. สัมภาษณ์

ชนินทร์  วิเศษสิทธิกุล. 2547. การเปลี่ยนแปลงชีวิตสังคมเมืองในเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์การวางแผนและเมืองมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เทคนิควิธีการศึกษาชุมชน [Online]. Available: http://computer.pcru.ac.th/emoodledata/23/lesson_doc/lesson_4.doc. 2552. 

มนัส  สุวรรณพานิช. (2552, 5 เมษายน). ที่ปรึกษาคณะกรรมการชุมชนชุมชนวัดประชาระบือธรรม 2. สัมภาษณ์

วิวัฒนชัย บุญญานุพงศ์. 2544. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชน : ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนมอญบ้านเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. ปริญญาศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

วีณา เอี่ยมประไพ. 2550. วิถีชีวิตชุมชนคลองบางกอกน้อย. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

สัญญา สัญญาวิวัฒน์. 2543. ทฤษฎีสังคมวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุพัตรา สุภาพ. 2541. สังคมและวัฒนธรรมไทย ค่านิยม : ศาสนา : ประเพณี. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพมหานคร: ไทยวัฒนาพานิช.

สุกัญญา สุจฉายา และนันทิยา  สว่างวุฒิธรรม. 2546. อัตลักษณ์ของชาวสวนคลองภูมิ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร. ทุนวิจัยจากคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ.

เสาวภา  ไพทยวัฒน์. 2551. วิวัฒนาการและรูปแบบสังคมเมือง: กรณีศึกษาย่านเทเวศร์. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น