วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แนวทางการเสริมสร้างขวัญกำลังใจของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร


แนวทางการเสริมสร้างขวัญกำลังใจของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรม

แผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร

Guideline of Work Morale Support for Teachers of Buddhist Scripture School,

General Education Division in Bangkok Area.

 

ภูสิทธ์  ขันติกุล

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสังคม

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

 

บทคัดย่อ

 

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับขวัญกำลังใจและปัจจัยที่มีผลต่อขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน และแนวทางการเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร การวิจัยครั้งนี้ได้การรวบรวมข้อมูลจากครูในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร การสุ่มตัวอย่างโดยไม่ใช้ความน่าจะเป็น(Nonprobability Sampling) ด้วยวิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ผู้วิจัยคัดเลือกเฉพาะครูที่ปฏิบัติหน้าที่มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ใน 12 โรงเรียนได้จำนวน 202 รูป/คน และใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล ใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test,  F-test พบว่า ครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานอยู่ในระดับดี โดยด้านที่มีระดับขวัญกำลังใจดีที่สุด คือด้านความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาต่อพุทธศาสนา รองลงมา ได้แก่ด้านความรู้สึกผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ด้านความสามัคคีรักใคร่ในเพื่อนครู ด้านความตั้งใจและอุทิศตนในการพัฒนาการทำงาน ด้านความรู้สึกมั่นคงและราบรื่นในอาชีพ ด้านความรู้สึกเชื่อมั่นในอาชีพและการยอมรับนับถือ และด้านความยุติธรรมในการปฏิบัติงาน ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ จำนวนรายวิชาที่สอน ภาระหน้าที่ในครอบครัว และความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน ส่วนแนวทางการเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาที่สำคัญที่สุด คือ กระจายอำนาจและความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเท่าเทียมกัน

คำสำคัญ: ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน, ครู, โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา

 

 

ABSTRACT

 

This study has 3 objectives: 1) to examine the level of work morale and satisfaction of teachers of Ecclesiastical School, General Education Division, in Bangkok area; 2) to investigate factors effecting word morale of this population. 3) Guideline of Work Morale Support for Teachers of Buddhist Scripture School, General Education Division in Bangkok Area. The sample of non-probability including Purposive Sampling for includes 202 teachers from 12 Ecclesiastical School under General Education Division, in Bangkok area. Questionnaires are used as research instrument, and statistical analysis are frequency, percentage, means, standard deviation, t-test and F-test. Results suggest that: (1) The teachers of Ecclesiastical School have the high level of work morale: the most are their faith in Buddhism, followed by their attachment as part of school, unity among peers, intention and devotion to work improvement, sense of secured and smooth work, sense of professional confidence and respect, whereas the least is work fairness and (2) Factors effecting their work morale include family burden, number of teaching subjects, and work satisfaction. (3) The most important guideline in operating Buddhist Scripture School is distributing responsibilities and power to subordinators equlilbriumly.

Keywords: Work Morale, teachers, Buddhist Scripture School under General Education Division

 

บทนำ หรือ Introduction

การศึกษาของสังคมไทยตั้งแต่ในอดีตเป็นต้นมาได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ ทักษะความชำนาญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ถ่ายทอดความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมของคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ถ่ายทอด จารีตประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบทอดกัน รวมถึงถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นอันล้ำค่าและดีงามของบรรพชนสู่เยาวชนเพื่อให้เยาวชนเกิดความหวงแหน และรักษาภูมิปัญญา วัฒนธรรมอันดีงามอันเป็นรากเหง้าของความเป็นไทยให้คงไว้สืบทอดต่อไป แต่ในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนได้เปลี่ยนแปลงไป เกิดค่านิยมของการมีงานทำและมีเงินเดือนที่สูง ๆ จะต้องมีระดับการศึกษาที่สูง ๆ ด้วย จึงทำให้ผู้ปกครองพยายามขนขวายให้บุตรหลานของตัวเองได้มีโอกาสเข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงและผลักดันให้มีการศึกษาที่สูง ๆ เพื่อมีโอกาสในการทำงาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ได้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษาจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ปัจจัยมีผลต่อโอกาสการทางการศึกษาของเยาวชนทั่วประเทศ คือ ความยากจน เพราะเยาวชนในวัยเรียนจำนวนมากที่ต้องหางานทำเพื่อช่วยเหลือทางบ้าน และอีกหลายครอบครัวที่อยากให้บุตรหลานได้เรียนจึงส่งไปบวชเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ซึ่งจะได้ศึกษาในระบบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีจุดมุ่งหมาย มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข และมีความเป็นไทย มีศักยภาพในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2544: 4) เป็นโรงเรียนที่สอนเฉพาะพระภิกษุ สามเณรเท่านั้น ซึ่งในเขตกรุงเทพมหานครมีจำนวน 12 โรงเรียน และในปัจจุบันมีนโยบายของรัฐบาลเรียนฟรี 15 ปี ทำให้นักเรียนสามารถเรียนต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ที่จะบวชเรียนน้อยลงไป ปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อครูต้องถูกเลิกจ้างตามไปด้วย แต่ยังคงมีครูอีกจำนวนมากที่ยังทำหน้าที่ต่อไปซึ่งครูที่สอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษานั้นไม่ใช่ข้าราชการ เป็นเพียงลูกจ้างของวัดและโรงเรียนเท่านั้น สวัสดิการที่ได้รับ คือประกันสังคมเพียงอย่างเดียว แต่ครูทุกคนต้องทำหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ในทางทั้งทางโลกทางธรรมอบรมขัดเกลาพระภิกษุ สามเณร ให้เป็นพุทธศาสนทายาทที่ดีงามสืบต่อไป ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานให้กับครูมากขึ้น เพื่อผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น ดังที่ Yoder, D. (1959: 445) ได้กล่าวไว้ว่า กำลังใจในการปฏิบัติงานว่าขวัญกำลังใจเป็นองค์ประกอบที่ประกอบด้วยพฤติกรรมของผู้ปฏิบัติงานและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น นักบริหารส่วนใหญ่ทุกวันนี้ ให้ความคำนึงถึงขวัญกำลังใจของคนทำงานเป็นสำคัญ คนทำงานขวัญกำลังใจสูง (High Morale) จะเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน และเขาทำงานอย่างมีความสุข และตั้งใจทำงานอย่างดี ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้ที่มีขวัญกำลังใจต่ำ (Low Morale) จะเป็นผู้ที่ไม่ค่อยสนใจทำงาน ขาดความตั้งใจในการทำงาน ดังนั้น คุณภาพและผลผลิตของงานน่าจะมีความสัมพันธ์ในเชิงปฏิฐาน (Positive Relation) เช่นเดียวกับสุนันทา เลาหนันทน์ (2531: 11) กล่าวไว้ว่าขวัญกำลังใจของพนักงานเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการบริหารงาน กล่าวคือ ถ้าพนักงานมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานดี จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตและผลผลิตสูงขึ้นดังนั้นผู้วิจัยในฐานะเป็นครูที่เคยสอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา สังกัดกองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงสนใจที่จะศึกษาสภาพของขวัญกำลังใจและปัจจัยที่มีผลต่อการทำให้เกิดขวัญกำลังใจ รวมถึงการค้นหาแนวทางในการพัฒนาขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อเสนอต่อสถานศึกษา และต้นสังกัดหันกลับมาพัฒนาครูในสังกัดของตนเองอย่างจริงจังและตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของครูทุกคนให้มีขวัญกำลังใจในการทำงานเพื่อพุทธศาสนาต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย หรือ Research objective

1. เพื่อศึกษาระดับขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร

2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร

                3. เพื่อนำเสนอแนวทางการเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร

 

วิธีดำเนินการวิจัย หรือ Research methodology

                ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากรในการวิจัยครั้งนี้ คือ ครูในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 226 รูป/คน จาก 12 โรงเรียน กำหนดการสุ่มตัวอย่างโดยไม่ใช้ความน่าจะเป็น (Nonprobability Sampling) ด้วยวิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ผู้วิจัยคัดเลือกเฉพาะครูที่ปฏิบัติหน้าที่มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือนเท่านั้น จำนวนทั้งสิ้น 202 รูป/คน ดังตารางดังต่อไปนี้

โรงเรียน
ประชากรเป้าหมาย
กลุ่มตัวอย่าง
ที่รวบรวมข้อมูล
1. วชิรมกุฏ
20
20
2. บาลีสาธิตศึกษา มจร.
17
17
3. วัดศรีบุญเรือง
21
21
4. บาลีเตรียมอุดมศึกษา
28
27
5. พุทธศาสตร์วิทยา
21
21
6. วัดกาญจนสิงหาสน์วิทยา
14
13
7. พระปริยัติธรรมวัดพรหมรังษี
10
9
8. พระปริยัติธรรมวัดธรรมมงคล
40
32
9. พระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาวัดเวตะวันธรรมาวาส
16
10
10. พระปริยัติธรรมวัดผ่องพลอยวิริยาราม
10
9
11. มังกรกมลาวาสวิทยาลัย
12
10
12. กุศลสมาครวิทยาลัย
17
13
รวม
226
202

ตารางที่ 1 แสดงจำนวนประชากรเป้าหมายและกลุ่มตัวอย่าง

 

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ผู้วิจัยสร้างแบบสอบถามขึ้นมาจากการศึกษากรอบแนวคิด แนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานและอาศัยแนวทางจากงานวิจัยที่ผ่านมาแล้ว ในการสร้างเครื่องมือในการวิจัยในครั้งนี้ได้แบ่งเนื้อหาและโครงสร้างของแบบสอบถามออกเป็น 4 ตอน ได้แก่ตอนที่ 1  ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอนที่ 2 มาตรวัดความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของครู โดยมาตรวัดที่สร้างขึ้นตามเทคนิคการสร้างมาตรประเมินค่า (Rating scale) โดยมีคำตอบให้เลือก 5 ระดับ คือ มากที่สุด, มาก, ปานกลาง, น้อย และน้อยที่สุด ตอนที่ 3 มาตรวัดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร ลักษณะของมาตรวัดขวัญกำลังใจ เป็นแบบวัดที่สร้างขึ้นประกอบด้วยคำถามทั้งเชิงบวกและเชิงลบ โดยการสร้างเครื่องมือวัดมีลักษณะเป็นมาตรวัดแบบ Likert (Likert Scale) ซึ่งมีให้เลือกตอบ 5 ระดับ คือ เห็นด้วยอย่างยิ่ง, เห็นด้วย, เฉย ๆ, ไม่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ส่วนตอนที่ 4  แบบสอบถามปลายเปิด ให้ผู้ตอบแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรค ของการทำงานในปัจจุบัน ตลอดจนข้อเสนอแนะแนวทางเพิ่มเติมในสิ่งที่จะทำให้ครูมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น

เกณฑ์การแปลผลระดับความพึงพอใจมีดังต่อไปนี้

ค่าเฉลี่ย   1.00  -  2.33      หมายถึงระดับ      น้อย

ค่าเฉลี่ย   2.34  -  3.67      หมายถึงระดับ      ปานกลาง

ค่าเฉลี่ย   3.68  -  5.00      หมายถึงระดับ      มาก

เกณฑ์การแปลผลระดับขวัญกำลังใจมีดังต่อไปนี้

ค่าเฉลี่ย   1.00  -  2.33      หมายถึงระดับ      ไม่ดี

ค่าเฉลี่ย   2.34  -  3.67      หมายถึงระดับ      ปานกลาง

ค่าเฉลี่ย   3.68  -  5.00      หมายถึงระดับ      ดี

ข้อมูลภูมิหลังของครู ประกอบด้วย
อายุ, สถานภาพสมรส, สถานภาพทางธรรม, ตำแหน่ง, จำนวนปีที่ทำงาน, รายได้ต่อเดือน, ภูมิลำเนาเดิม, ระยะทางจากบ้านพักถึงโรงเรียน, จำนวนคาบที่สอนต่อสัปดาห์, จำนวนรายวิชาที่สอน, ความถนัดในวิชาที่สอน, ภาระหน้าที่ในครอบครัว, ภาระงานที่ได้รับผิดชอบอื่น ๆ

 
กำลังขวัญในการปฏิบัติงาน
1. ด้านความตั้งใจและอุทิศตนในการพัฒนาการทำงาน
2. ด้านความสามัคคีรักใคร่ในเพื่อนครู
3. ด้านความรู้สึกมั่นคงและราบรื่นในอาชีพ
4. ด้านความรู้สึกเชื่อมั่นในอาชีพและการยอมรับนับถือ
5. ด้านความยุติธรรมในการปฏิบัติงาน
6. ด้านความรู้สึกผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน
7. ด้านความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาต่อพุทธศาสนา

ความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย
1. ด้านผู้บริหารโรงเรียน 2. ด้านโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ 3. ด้านบรรยากาศและสภาพแวดล้อมการทำงาน 4. ด้านนโยบายและวัตถุประสงค์ของโรงเรียน 5. ด้านความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงาน
6. ด้านรายได้และสวัสดิการ และ 7. ด้านการสนับสนุนของหน่วยงานต้นสังกัด
 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


แผนภูมิที่ 1 กรอบแนวคิดในการวิจัยขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร

 

 

การวิเคราะห์ข้อมูล การวิจัยในครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) โดยใช้สถิติ ได้แก่ 1) สถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) เพื่อบรรยายข้อมูลทั่วไปของกลุ่มประชากรที่ศึกษา 2) สถิติอนุมาน (Inductive Statistics) หรือ สถิติอ้างอิง (Inferential Statistics) ได้แก่ Independent - Samples T test (T-test), One- way ANOVA (F-test)

 

ผลการวิจัย หรือ Result

                ข้อมูลทั่วไปของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็น เพศชาย (ร้อยละ 79.7) มีอายุ อยู่ในช่วงไม่เกิน 30 ปี (ร้อยละ 33.7) จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (ร้อยละ 87.1) มีสถานภาพโสด (ร้อยละ 67.3) เป็นคฤหัสถ์(ร้อยละ 67.3) เป็นครูประจำ (ร้อยละ 58.9) ทำงานมาแล้วไม่เกิน 3 ปี (ร้อยละ 55.1) มีรายได้ต่อเดือนอยู่ระหว่าง 5,000-10,000 บาท (ร้อยละ 80.2) มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ต่างจังหวัด (ร้อยละ 64.1)มีระยะทางจากบ้านพักถึงโรงเรียนน้อยกว่า 10 กิโลเมตร (ร้อยละ 52.1) ใช้เวลาในการเดินทาง 1 ชั่วโมง (ร้อยละ 49.4) มีจำนวนคาบที่สอนต่อสัปดาห์ตั้งแต่ 14 คาบขึ้นไป (ร้อยละ 51.0) สอนจำนวน 2 วิชาขึ้นไป (ร้อยละ 52.5) มีความถนัดมากในวิชาที่สอน (ร้อยละ 52.8) มีภาระหน้าที่ในครอบครัวน้อย (ร้อยละ 55.7) และมีภาระงานที่ได้รับผิดชอบอื่น ๆ 1 หน้าที่ (ร้อยละ 60.0)

                ระดับความพึงพอใจในการการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยภาพรวมพบว่า ความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร อยู่ในระดับปานกลาง ( =3.34, S.D. = 0.68) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยระดับปานกลางเรียงตามลำดับ ได้แก่ ด้านผู้บริหารโรงเรียน ( = 3.64, S.D. = 0.88) ด้านความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงาน (  3.61, S.D. 0.66) ด้านบรรยากาศและสภาพแวดล้อมการทำงาน ( = 3.44, S.D. = 0.70) ด้านโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ ( = 3.43, S.D. = 0.87) ด้านนโยบายและวัตถุประสงค์ของโรงเรียน ( = 3.39, S.D. = 0.83) ด้านการสนับสนุนของหน่วยงานต้นสังกัด ( = 3.06, S.D. = 0.98) และด้านรายได้และสวัสดิการ ( = 2.82, S.D. =10.1) ดังตารางที่ 2 ต่อไปนี้

ความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน
S.D.
ระดับ
1. ด้านผู้บริหารโรงเรียน
3.64
0.88
ปานกลาง
2. ด้านโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ
3.43
0.87
ปานกลาง
3. ด้านบรรยากาศและสภาพแวดล้อมการทำงาน
3.44
0.70
ปานกลาง
4. ด้านนโยบายและวัตถุประสงค์ของโรงเรียน
3.39
0.83
ปานกลาง
5. ด้านความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงาน
3.61
0.66
ปานกลาง

 

 

ความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน
S.D.
ระดับ
6. ด้านรายได้และสวัสดิการ
2.82
1.01
ปานกลาง
7. ด้านการสนับสนุนของหน่วยงานต้นสังกัด
3.06
0.98
ปานกลาง
รวม
3.34
0.68
ปานกลาง

ตาราง 2 แสดงค่าเฉลี่ยและระดับความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร

 

ระดับขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยภาพรวมอยู่ในระดับดี ( = 3.76, S.D. = 0.40) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีระดับขวัญกำลังใจดีที่สุด คือด้านความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาต่อพุทธศาสนา ( = 4.21, S.D. = 0.56) รองลงมา ด้านความรู้สึกผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ( = 4.01, S.D. = 0.62) ด้านความสามัคคีรักใคร่ในเพื่อนครู ( = 3.83, S.D. = 0.54) และด้านความตั้งใจและอุทิศตนในการพัฒนาการทำงาน ( = 3.72, S.D. = 0.58) ส่วนด้านที่มีระดับขวัญกำลังใจปานกลาง คือ ความรู้สึกมั่นคงและราบรื่นในอาชีพ ( = 3.57, S.D. = 0.55) ด้านความรู้สึกเชื่อมั่นในอาชีพและการยอมรับนับถือ ( = 3.51, S.D. = 0.57) และด้านความยุติธรรมในการปฏิบัติงาน ( = 3.41, S.D. = 0.66) ดังตาราง 3 ดังต่อไปนี้

ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน
S.D.
ระดับ
1. ด้านความตั้งใจและอุทิศตนในการพัฒนาการทำงาน
3.72
0.58
ดี
2. ด้านความสามัคคีรักใคร่ในเพื่อนครู
3.83
0.54
ดี
3. ด้านความรู้สึกมั่นคงและราบรื่นในอาชีพ
3.57
0.55
ปานกลาง
4. ด้านความรู้สึกเชื่อมั่นในอาชีพและการยอมรับนับถือ
3.51
0.57
ปานกลาง
5. ด้านความยุติธรรมในการปฏิบัติงาน
3.41
0.66
ปานกลาง
6. ด้านความรู้สึกผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน
4.01
0.62
ดี
7. ด้านความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาต่อพุทธศาสนา
4.21
0.56
ดี
รวม
3.76
0.40
ดี

ตาราง 3 แสดงค่าเฉลี่ยและระดับขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร

 

 

 

                ปัจจัยที่มีผลต่อขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ จำนวนรายวิชาที่สอน ภาระหน้าที่ในครอบครัว และความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน โดยมีรายละเอียดของการวิเคราะห์ดังนี้

                ผู้วิจัยจำแนกตามจำนวนรายวิชาที่สอน 2 กลุ่ม ได้แก่ ครูที่มีจำนวนรายวิชาที่สอน 2 วิชาขึ้นไป ( = 3.83, S.D. = 0.42) และครูที่มีจำนวนรายวิชาที่สอน 1 วิชา ( = 3.68, S.D. = 0.36) ทดสอบโดยใช้สถิติ t-test พบว่า ครูที่มีจำนวนรายวิชาที่สอนแตกต่างกันมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 หมายความว่าครูที่มีจำนวนรายวิชาที่สอน 2 วิชาขึ้นไป มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานมากกว่าครูที่มีจำนวนรายวิชาที่สอน 1 วิชา นั่นเอง ส่วนภาระหน้าที่ในครอบครัวนั้นผู้วิจัยจำแนกตามภาระหน้าที่ในครอบครัว 2 กลุ่ม ได้แก่ ครูที่มีภาระหน้าที่ในครอบครัวมาก ( = 3.86, S.D. = 0.37) และครูที่มีภาระหน้าที่ในครอบครัวน้อย ( = 3.66, S.D. = 0.41) ทดสอบโดยใช้สถิติ t-test พบว่า ครูที่มีภาระหน้าที่ในครอบครัวแตกต่างกันมีขวัญกำลังในการปฏิบัติงานแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 หมายความว่าครูที่มีภาระหน้าที่ในครอบครัวมาก มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานมากกว่าครูที่มีภาระหน้าที่ในครอบครัวน้อย และผู้วิจัยทำการเปรียบเทียบระดับความพึงพอใจกับขวัญกำลังใจ โดยจำแนกออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับความพึงพอใจในการปฏิบัติงานมาก ( = 3.96, S.D. = 0.36) และระดับความพึงพอใจในการปฏิบัติงานน้อยและปานกลาง ( = 3.64, S.D. = 0.38) ทดสอบโดยใช้สถิติ t-test พบว่า ครูที่มีระดับความพึงพอใจในการปฏิบัติงานแตกต่างกันมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 หมายความว่าครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาที่มีระดับความพึงพอใจในการปฏิบัติงานมาก จะมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานมากกว่าครูที่มีระดับความพึงพอใจในการปฏิบัติงานน้อยและปานกลาง

                แนวทางการเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร มีดังนี้

1. ผู้บริหารต้องกระจายอำนาจและความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเท่าเทียมกัน และควรมีความยุติธรรมในการพิจารณาผลงานของครู เพื่อให้เกิดการบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลให้เกิดความรู้สึกมีความเสมอภาคในการทำงานอีกด้วย เพราะว่าปัจจัยด้านความยุติธรรมในการปฏิบัติงานเป็นการทั้งสร้างความพึงพอใจและขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูให้เพิ่มขึ้นด้วย

2.  ผู้บริหารควรจัดสรรจำนวนวิชาที่สอนให้กับครูในโรงเรียนอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อเป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับครูว่าครูทุกคนได้รับความไว้วางใจในการทำงานอย่างเท่าเทียมกัน อันเนื่องมาจากปัจจัยด้านจำนวนรายวิชาที่สอนมีส่วนสำคัญต่อครูสอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษามาก เพราะสามารถสะท้อนถึงความมั่นคงด้านอาชีพและการมีบทบาทที่สำคัญต่อโรงเรียนด้วย

3.  ผู้บริหารควรสนับสนุนครูที่มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบหลักในครอบครัวให้มีบทบาทในการทำงานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากว่าครูที่มีภาระหน้าที่ในครอบครัวมากจะทำงานด้วยความอุตสาหพยายาม และทุ่มเท มีขวัญกำลังใจเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการรับรองถึงความมั่นคงในอาชีพการเป็นครูด้วย

4.  ผู้บริหารควรสร้างความพึงพอใจในการปฏิบัติงานทุกด้านให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มากขึ้น เนื่องจากถ้าครูมีความพึงพอใจมากเท่าใดยิ่งส่งผลให้มีขวัญกำลังใจในการทำงานมากขึ้นเท่านั้น

5.  ผู้บริหารควรพิจารณาปัจจัยด้านรายได้และสวัสดิการในการปฏิบัติงานของครูให้เพิ่มขึ้นและมีความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง เพราะว่ารายได้ของครูมีผลโดยตรงทั้งต่อความพึงพอใจและขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน

6.  ผู้บริหารต้องสร้างความรู้สึกเชื่อมั่นในอาชีพและการยอมรับนับถือจากประชาชน ชุมชน และสังคม รวมถึงสร้างความรู้สึกมั่นคงและราบรื่นในอาชีพ เพื่อสร้างความสุขในการทำงานของครูมีผลต่อการพัฒนาผลงานวิชาการและการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง

7.  ต้นสังกัด(สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) ต้องมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนในสังกัดอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่อง การพัฒนาวิชาการ ค่าตอบแทน การปฏิรูปการศึกษา การเรียนการสอน การประกันคุณภาพการศึกษา รวมถึงสร้างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนในสังกัดโดยกระบวนการมีส่วนร่วมและมีทิศทางเดียวกัน

 

อภิปรายผลการวิจัย หรือ Discussion

ผู้วิจัยได้อภิปรายผลการศึกษาไว้ดังนี้

1. ระดับขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า อยู่ในระดับดี ซึ่งพบว่าขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร อยู่ในระดับดี มี 4 ด้าน คือ ด้านความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาต่อพุทธศาสนา ด้านความรู้สึกผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ด้านความตั้งใจและอุทิศตนในการพัฒนาการทำงาน และด้านความสามัคคีรักใคร่ในเพื่อนครู อันเนื่องมาจากครูส่วนใหญ่ที่สอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร ตระหนักถึงความสำคัญของโรงเรียนแห่งนี้ว่าเป็นโรงเรียนที่ทำการสอนให้แก่พระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา อันเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้มั่นคงด้วย ทำให้การได้มาสอนที่โรงเรียนแห่งนี้จะทำให้ได้มีโอกาสในการสร้างบุญกุศลซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวพุทธศาสนิกชนทุกคนปรารถนานั่นเอง และรวมถึงการเชิดชูพระพุทธศาสนาให้ยาวนานด้วยการถวายความรู้ต่อผู้เป็นพุทธศาสนทายาทตลอดไปได้ จึงทำให้ครูที่สอนอุทิศเวลาในการถวายความรู้ให้กับพระภิกษุสามเณรอย่างเต็มกำลังความสามารถ รวมถึงการที่มีความเลื่อมใสศรัทธาต่อเจ้าอาวาส มีความศรัทธาต่อพระภิกษุสามเณรในโรงเรียนแห่งนั้น ๆ จึงทำให้ครูที่เข้ามาสอนเกิดความรักความสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูล เต็มใจที่จะทำงานแทนเพื่อนร่วมงาน เมื่อเพื่อนร่วมงานมีความจำเป็นต้องลาหรือจำเป็นต้องฝากงานไว้ เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลให้ครูรู้สึกว่าตนเองมีความผูกพันอันดีต่อโรงเรียน นักเรียน เพื่อนร่วมงานและชุมชนที่ปฏิบัติงานอยู่ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้โรงเรียนมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมพบว่าขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานที่ระดับดี ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ สิริพร ทองจินดา (2545: บทคัดย่อ) ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของข้าราชการครู: ศึกษาเฉพาะกรณี ข้าราชการครูสายผู้สอน สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมือง นราธิวาส ผลการศึกษาพบว่า โดยรวม มีขวัญกำลังใจอยู่ในระดับมาก

2.  ปัจจัยที่มีผลต่อขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูประกอบด้วย จำนวนรายวิชาที่สอน ภาระหน้าที่ในครอบครัว และความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน

                2.1  ปัจจัยด้านจำนวนรายวิชาที่สอน ผลการศึกษาปรากฏว่าครูที่มีจำนวนรายวิชาที่สอนมากมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานดีกว่าครูที่มีจำนวนรายวิชาที่สอนน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูที่มีจำนวนรายวิชาที่สอน 2 วิชาขึ้นไป มีขวัญกำลังใจดีกว่าครูที่สอน 1 วิชา จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า แนวทางการศึกษาที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าครูที่มีจำนวนรายวิชาที่สอนมากน้อยแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม ไม่ทำให้ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติของครูแตกต่างกัน แต่ในการศึกษาครั้งนี้กลับพบว่า ครูที่มีจำนวนรายวิชาที่สอนมากมีขวัญกำลังใจมากกว่าครูที่มีจำนวนรายวิชาที่สอนน้อยกว่า อภิปรายได้ว่า ครูที่มีจำนวนรายวิชาที่สอนมาก เป็นครูที่สอนให้กับทางโรงเรียนมานานและส่วนใหญ่เป็นครูประจำ มีทั้งพระภิกษุและคฤหัสถ์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อีกประการหนึ่งคือครูที่เป็นคฤหัสถ์นั้นเคยเป็นพระภิกษุมาแล้วได้ลาสิกขาออกมาและยังคงทำงานเป็นครูสอนต่อไปได้ โดยไม่ต้องลาออกก่อนดังนั้นครูที่มีจำนวนรายวิชาที่สอนมากจะมีความผูกพันกับโรงเรียนที่ตนทำงานอยู่มากเช่นกัน เมื่อมีความผูกพันกับองค์กรมาก ก็จะเกิดความรักและอยากจะทุ่มเทปฏิบัติงานให้กับองค์กรอย่างเต็มกำลังความสามารถรวมถึงการที่มีประสบการณ์ในการสอนที่สั่งสมมากเป็นเวลานานจึงมีความรอบรู้ในวิชาที่สอน มีเรื่องที่อยากจะถ่ายทอดมากมายจึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานมาก จุดนี้น่าจะเป็นเหตุผลที่สามารถอธิบายผลการศึกษาที่พบได้

2.2  ปัจจัยด้านภาระหน้าที่ในครอบครัว ผลการศึกษาปรากฏว่าภาระหน้าที่ในครอบครัวมีความเกี่ยวเนื่องกับขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครู โดยครูที่มีภาระหน้าที่ในครอบครัวมากมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานที่มากกว่าครูที่มีภาระหน้าที่ในครอบครัวน้อย อภิปรายได้ว่า ครูที่มีภาระหน้าที่ในครอบครัวมากย่อมเป็นผู้ที่แบกภาระรับผิดชอบในการเลี้ยงดูคนในครอบครัวมาก และเกิดการเรียนรู้ถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับเฉกเช่นการรับผิดชอบต่อครอบครัวเช่นกันทำให้เมื่อทำงานในโรงเรียนจึงเกิดความมุ่งมั่น ตั้งใจ อุทิศเวลาให้กับการเรียนการสอนมาก รวมถึงความศรัทธา ภาคภูมิใจและต้องการที่จะทุ่มเทในการถวายความรู้ให้กับพระภิกษุสามเณร และทำงานเพื่อโรงเรียนอย่างเต็มกำลังความสามารถ และยังพบอีกว่าครูที่มีภาระหน้าที่ในครอบครัวมากมีระยะเวลาการทำงานที่โรงเรียนมากกว่าครูที่มีภาระหน้าที่ในครอบครัวน้อย ดังนั้นด้วยปัจจัยหลายประการที่กล่าวมาข้างต้นจึงน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ครูมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานที่ดี

2.3  ปัจจัยด้านความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน ผลการศึกษาปรากฏว่าความพึงพอใจในการปฏิบัติงานมีอิทธิพลต่อขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครู โดยครูที่มีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานมากมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานดีกว่าครูที่มีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานน้อยและปานกลาง ดังนั้นการอธิบายเหตุที่ส่งผลต่อระดับขวัญกำลังใจ ผู้วิจัยได้พิจารณาโดยภาพรวมพบว่าความพึงพอใจของครูอยู่ในระดับปานกลาง อันเนื่องมาจากบริบทของโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ทั้งในด้านผู้บริหาร โอกาสก้าวหน้าในอาชีพ บรรยากาศและสภาพแวดล้อมการทำงาน นโยบายและวัตถุประสงค์ของโรงเรียน ความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงาน รายได้และสวัสดิการ และการสนับสนุนของหน่วยงานต้นสังกัด นั้นมีลักษณะที่โดดเด่นน้อย รวมถึงเป็นโรงเรียนที่บริหารจัดการโดยพระภิกษุสงฆ์ของแต่ละวัด จึงทำให้การบริหารงานแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้บริหารและครูทำงานแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน จึงทำให้แต่ละด้านไม่โดดเด่นมากนัก ภาพรวมจึงอยู่ระดับปานกลาง และเมื่อพิจารณาแต่ละด้าน พบว่าด้านที่มีความพึงพอใจมากที่สุด คือ ด้านผู้บริหารโรงเรียนอยู่ในระดับปานกลาง พบว่าครูที่มีความพึงพอใจมากจะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ระเบียบ กฎข้อบังคับต่าง ๆ ของทางโรงเรียน และผู้บริหารได้มีการส่งเสริมให้เกิดความสามัคคี มีการติดต่อสื่อสาร และการประสานงานภายในโรงเรียน รวมถึงผู้บริหารยึดหลักการมีส่วนร่วมของบุคลากร สนับสนุนให้ครูได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ทำให้ครูรู้สึกมีความพึงพอใจ รองลงมาคือด้านความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงานอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งพบว่าครูที่เป็นเพื่อนร่วมงานกันมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีความเป็นมิตรต่อกัน ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานของตนเอง ทุ่มเทในการทำงานเพื่อให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ส่วนด้านที่มีระดับความพึงพอใกล้เคียงกัน มี 5 ด้าน ซึ่งทุกด้านมีความพึงพอใจระดับปานกลาง แต่เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมทุก ๆ ด้านย่อมส่งผลอันดีให้ครูมีความพึงพอใจที่ดีต่อโรงเรียนทั้งหมด ดังได้กล่าวมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงสภาพโดยรวมของการจัดการศึกษาของโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะการบริหารงานที่ส่งผลต่อขวัญกำลังใจอันดีของครู และปัจจัยที่สามารถบั่นทอนขวัญกำลังใจของครูอันเกิดจากสภาพปัญหาต่าง ๆ ที่ยังคงมีอยู่ในโรงเรียนด้วย แม้ในภาพรวมจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีก็ตามและยังมีหลายแง่มุมที่ผู้บริหารหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญในการปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อเสริมสร้างให้ขวัญกำลังใจของครูดีขึ้น จึงสรุปได้ว่าความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของครูมากย่อมส่งผลต่อขวัญกำลังใจของครูในการปฏิบัติงานดีด้วยเช่นกันสอดคล้องกับงานวิจัยของ บุญยง จินตนะกุล (2544: บทคัดย่อ) ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง  การเปรียบเทียบขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของพนักงานครูเทศบาลและข้าราชการครูในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ จังหวัดอุบลราชธานี ผลการศึกษาพบว่า ครูที่มีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานสูง มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานสูงทั้งในครูสังกัด สปช.และเทศบาล

 

 

เอกสารอ้างอิง หรือ References

กระทรวงศึกษาธิการ. (2544). หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544.  กรุงเทพมหานคร: กระทรวงศึกษาธิการ.

บุญยง จินตนะกุล. (2544). การศึกษาเปรียบเทียบขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของพนักงานครูเทศบาล และข้าราชการครูในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ จังหวัดอุบลราชธานี. ภาคนิพนธ์คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

สิริพร ทองจินดา. (2545). ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของข้าราชการครู: ศึกษาเฉพาะกรณี ข้าราชการครูสายผู้สอน สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมืองนราธิวาส. ภาคนิพนธ์คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

สุนันทา เลาหนันทน์. (2531). การพัฒนาองค์การ(Organization Development). กรุงเทพมหานคร:         โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา.

Yoder, D. (1959). Personnel Principles and Policies. Maruzen Company, Ltd.

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น