วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความสำเร็จของอาชีพผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร


ความสำเร็จของอาชีพผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

Women Executive Careers’ Success in The Office of Bangkok Education.

 

นิพนธ์ ศศิธรเสาวภา

ภูสิทธ์ ขันติกุล

1Nipon Sasithornsaovapa

2Phusit Khantikul

1สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น

2สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสังคม

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

 

บทคัดย่อ

การวิจัยในครั้งนี้กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความสำเร็จของอาชีพผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และวิเคราะห์ปัจจัยด้านทุนมนุษย์กับที่มีผลต่อความสำเร็จของอาชีพผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างสำหรับผู้บริหารสตรี ร้อยละ 25 ของประชากร 271 คน ได้จำนวน 67.75 กลุ่มตัวอย่าง หรือ 68 คนเพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ประหยัดเวลาและงบประมาณ ทั้งนี้โดยใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างโดยไม่อาศัยความน่าจะเป็น (Non-Probability sampling) ด้วยวิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยพิจารณาตามขนาดของโรงเรียนที่ผู้บริหารสตรีทำงานอยู่ จำนวน 15 คน แล้วนำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่ามัชฌิมเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่  Independent - Samples T test (T-test), One-Way ANOVA (F-test), Crosstabs (Chi-square) และวิเคราะห์เชิงพรรณาตามโครงสร้างเนื้อหา พบว่า ผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครมีเงินเดือนโดยส่วนใหญ่ไม่เกิน 40,000 บาท คิดเป็นร้อยละ  44.12 สัดส่วนใกล้เคียงกับมีเงินเดือนตั้งแต่ 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 38.24 ทั้งนี้ความสำเร็จของอาชีพในด้านจิตวิสัย แบ่งเป็น 2 ประการ ได้แก่ความพึงพอใจในอาชีพ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.61) ซึ่งความพึงพอใจในอาชีพที่ทำให้มีโอกาสพัฒนาตนเอง มีระดับความพึงพอใจมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.81) ส่วนความพึงพอใจในงาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.34) ซึ่งความพึงพอใจในงานที่ที่ได้ทำงานตรงตามความรู้ความสามารถมีระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.68) นอกจากนี้ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของอาชีพของผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ปัจจัยคุณลักษณะส่วนบุคคล ได้แก่ ประสบการณ์ในการทำงาน อายุ และขนาดของโรงเรียน มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในอาชีพด้านวัตถุวิสัยด้านเงินเดือน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 และสถานภาพของผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครแตกต่างกันมีความพึงพอใจในงานแตกต่างกันโดยผู้บริหารสตรีที่มีสถานภาพโสดจะมีความพึงพอใจในงานมากกว่าสถานภาพสมรสแล้ว ส่วนการบริหารจัดการขององค์กรนั้น พบว่าผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มีลักษณะการทำงานที่เน้นทั้งงานและคนควบคู่ไปทั้งสองอย่างเป็นการสร้างความสมดุลของการอยู่ร่วมกันภายในองค์กรอย่างมีความสุขด้วย

 

คำสำคัญ ความสำเร็จในอาชีพ ผู้บริหารสตรี โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

 

Abstract

The aim of this research is to study the success of women executives in the office of the Bangkok education and to identify the role of human-capital factors in career success of women executives in the office of the Bangkok education.  The data were collected through questionnaires and interviews. The random sample of 68 women executives were selected from 271 persons, equal to 25 percent of the population, for questionnaires. Another random sample of 15 women executives were selected for in-depth interviews by purposive sampling method considering the sizes of their work place. The data were analysed using descriptive statistics, which include mean value and standard deviation (SD), and inferential statistics, which include independent-samples T-test (T-test), one-way ANOVA (F-test) and Crosstabs (Chi-square) and Descriptive analysis according to the structure of the interview content was also used. The study showed that the majority of the women executives in the office of Bangkok education (44.12 percent) earn less than 40,000 baht per month. The predictors representing the subjective career success are career satisfaction and job satisfaction. The data demonstrated the high levels of overall career satisfaction and overall job satisfaction, with the means of 4.61 and 4.34 respectively.  Among the career satisfaction aspects, creating-opportunities for self-improvement and among the job satisfaction aspects, creating opportunities to use their skills and abilities are at the highest level with the means of 4.81 and 4.68 respectively. Moreover, the study showed personal factors, which include work experience, age and school size, as determinants of career success of the women executives in the office of Bangkok significantly affecting the objective career success at the p < .05 level. Marital status of the women executives in the office of Bangkok education also has impact on job satisfaction, since single women executives tend to be more satisfied with their jobs than the married ones. For styles of organizational management, this research found that the women executives in the office of Bangkok education tend to strike a balance between a task-oriented style and a people-oriented style to obtain the benefit of both styles of leadership.

 

Key Word(s) Career Success, Women Executive, The Office of Bangkok Education

 

หลักการและเหตุผล (Reasonable)

ความสำเร็จในชีวิตเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และเป็นลำดับความต้องการสูงสุดของมนุษย์ (Maslow, 1954) ความสำเร็จนี้รวมไปถึงอาชีพ สถานะทางสังคม การมีส่วนร่วม ความสำเร็จวัดได้หลายทาง ความสำเร็จเป็นความรู้สึกต่อสิ่งที่สำเร็จ ความสมดุลของงานและครอบครัว การช่วยเหลือสังคมและการช่วยเหลือผู้ร่วมงาน Mitroff and Denton (1999) การที่บุคคลรับรู้ถึงความสำเร็จจึงเป็นแรงเสริมหรือแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรับรู้ถึงความสำเร็จจึงเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานและการดำเนินชีวิตก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ มีความสมดุลในชีวิตประเทศไทยมีประชากรที่เป็นหญิงมากกว่าชาย  จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2554 จากจำนวนประชากรทั้งหมด 63,891,000 คน เป็นชาย 31,445,000 คน เป็นหญิง 32,446,000 คน (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2554) และมีรายงานว่าหญิงไทยมีอัตราส่วนของการออกไปทำงานนอกบ้านอยู่ในอันดับต้น ๆ ของผู้หญิงทั่วโลกที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน (สังศิต พิริยะรังสรรค์, 2541: 20) แต่ก็ยังพบว่าสตรีเหล่านี้ต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการ เช่น การเลือกปฏิบัติในการเลื่อนตำแหน่งระหว่างบุรุษและสตรี ตลอดจนการกีดกันไม่ให้สตรีได้รับการแต่งตั้งในบางตำแหน่ง  ทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัยในภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน เป็นต้น (คณะกรรมการเฉพาะด้านจัดทำแผนหลักงานสตรี, 2538: 15-16) ปัญหาดังกล่าวมีข้อมูลจากรายงานของกำลังคนภาครัฐ 2548  ข้าราชการพลเรือนสามัญ สำนักงาน ก.พ. ที่แสดงว่าในปี พ.ศ. 2548 จากจำนวนผู้บริหารระดับสูง (ระดับ 9-11) ของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ในประเทศไทยจำแนกตามเพศ พบว่าในจำนวนผู้บริหารทั้งหมด 508 คน เป็นชาย 397 คน เป็นหญิง 111 คน นอกจากนี้ยังได้มีการสำรวจข้อมูลของผู้หญิงที่ทำงานภาคธุรกิจเอกชน จากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่ารายชื่อผู้บริหารที่อยู่ในตำแหน่งประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการอิสระ และผู้บริหารสาขาต่าง ๆ ประมาณ 163 บริษัท มีสตรีน้อยกว่านักบริหารชายเช่นเดียวกัน จากข้อมูลพบว่ามีสตรีอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารเพียงร้อยละ 21.65 ในขณะที่นักบริหารชายมีมากถึงร้อยละ 78.35 ในส่วนของการเมืองระดับชาติ สตรีกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการบริหารเป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาสตรีลงสมัครรับเลือกตั้งมากขึ้น แต่ก็ยังได้รับการเลือกตั้งน้อยกว่าผู้ชายหลายเท่า นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2475 และให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้ชายและผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกัน แต่ผู้หญิงเพิ่งได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่รัฐสภาเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2492 โดยเป็นผลมาจากการเลือกตั้งซ่อมจนถึงปัจจุบันผู้หญิงได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เพิ่มมากขึ้นแต่ก็ยังเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับผู้ชาย จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 ผู้หญิงได้รับการเลือกตั้งทั้งแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ มีจำนวน 46 คน หรือร้อยละ 9.2 เพิ่มจากการเลือกตั้งในปี 2539 ซึ่งมี สส.หญิง 22 คน คิดเป็นร้อยละ 5.6  การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ผู้หญิงได้รับการเลือกตั้งรวม 53 คน คิดเป็นร้อยละ 10.6 และการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดจำนวน 485 คน มีผู้หญิงได้รับเลือกจำนวน 55 คน คิดเป็นร้อยละ 11.34 โดยแยกเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดจำนวน 99 คน เป็นผู้ชาย 91 คน คิดเป็นร้อยละ 91.92  ผู้หญิงจำนวน 8 คน คิดเป็นร้อยละ 8.08 จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดจำนวน 386 คน เป็นผู้ชาย 339 คน คิดเป็นร้อยละ 87.82 ผู้หญิงจำนวน 47 คน คิดเป็นร้อยละ 12.18 ส่วนจำนวนรัฐมนตรีหญิงจำแนกตามนายกรัฐมนตรีแต่ละสมัย นายชวน หลีกภัย (สมัย 1) จำนวนกระทรวง 19  กระทรวง มีรัฐมนตรีหญิง 3 คน นายบรรหาร ศิลปะอาชา จำนวนกระทรวง 19 กระทรวง มีรัฐมนตรีหญิง 3 คน พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จำนวนกระทรวง 19 กระทรวง มีรัฐมนตรีหญิง 1 คน  นายชวน หลีกภัย (สมัยที่ 2) จำนวนกระทรวง 19 กระทรวง มีรัฐมนตรีหญิง 3 คน พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร (2 สมัย) จำนวนกระทรวง 20 กระทรวง มีรัฐมนตรีหญิง 4 คน จึงเห็นได้ว่าสัดส่วนของการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการบริหารของสตรีในการเมืองระดับชาติมีเพิ่มมากขึ้นแต่ไม่มากนัก  เพราะยังต่ำกว่าเป้าหมายที่นานาชาติรวมทั้งกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กำหนดที่จะผลักดันให้ผู้หญิงมีโอกาสเข้าร่วมทางการเมืองไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 (รายงานสถานการณ์สตรีไทย, 2550) ดังนั้นข้อมูลเกี่ยวกับสตรีจึงมีความสำคัญยิ่งในฐานะที่เป็นองค์ความรู้ที่จะนำไปวิเคราะห์สภาพปัญหาเพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการในการแก้ปัญหาความไม่สมดุลของสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างชายและหญิงต่อไป ผู้วิจัยเห็นว่าประเด็นในเรื่องของอาชีพทางการบริหารของสตรีนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะอาชีพนั้นเกี่ยวพันกับการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจ เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความพึงพอใจในตนเอง (อรอนงค์ ธัญศะวิน, 2539: 1) หากบุคคลประสบความสำเร็จในอาชีพของตนเองก็ย่อมทำให้บุคคลนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในทางตรงกันข้ามหากบุคคลไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพก็ย่อมทำให้บุคคลนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีตามไปด้วย ดังนั้นหากได้มีการศึกษาถึงองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จในอาชีพของสตรีเพิ่มขึ้นก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวมต่อไป แต่เนื่องจากอาชีพในประเทศไทยมีการจัดกลุ่มอาชีพไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความชัดเจน จึงควรที่จะกำหนดขอบข่ายของอาชีพที่ศึกษาด้วยและอาชีพที่ผู้วิจัยให้ความสนใจคือผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยมีจำนวนสถานศึกษาอยู่ทั้งสิ้น 436 แห่ง และมีจำนวนผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้งหมด จำนวน 271 คน จากจำนวนผู้บริหารทั้งหมด 436 คน คิดเป็นร้อยละ 62.16 ถือว่ามีจำนวนสตรีอยู่ค่อนข้างสูง (กองการเจ้าหน้าที่ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร, 2553)

อนึ่งข้อมูลที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้จะเป็นแนวทางในการพัฒนาสตรีให้ประสบความสำเร็จในอาชีพ ตลอดจนเป็นแนวทางแก่สตรีที่ทำงานในอาชีพอื่นต่อไปในอนาคต ทำให้สตรีมีแรงบันดาลใจมุ่งสู่ความสัมฤทธิผลและความก้าวหน้าในอาชีพ ในการอธิบายถึงความสำเร็จของอาชีพผู้บริหารสตรีนั้น มีตัวแปรที่ส่งผลต่อความสำเร็จของอาชีพผู้บริหารสตรีที่หลากหลายในด้านคุณลักษณะทุนมนุษย์ เช่น 1) คุณลักษณะส่วนบุคคล ซึ่งประกอบด้วย 1.1 การศึกษา 1.2 ประสบการณ์ทำงาน 1.3 สถานภาพสมรส 2) บุคลิกภาพส่วนบุคคล  ประกอบด้วย 2.1 แรงดึงดูดทางกายภาพ 2.2 แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ 3) สถานภาพครอบครัว ประกอบด้วย 3.1 ความทุ่มเทต่อครอบครัว 3.2 แรงสนับสนุนจากครอบครัว เป็นต้น จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าการที่จะอธิบายถึงความสำเร็จของอาชีพผู้บริหารสตรีซึ่งมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อความสำเร็จเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางสำหรับการศึกษาวิจัยและพัฒนาศักยภาพในการบริหารงานของสตรีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตามนโยบายของแผนพัฒนาสตรีฉบับปัจจุบัน (ฉบับที่ 10) ยังมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ด้านการพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญา ซึ่งได้บรรจุเรื่องการส่งเสริมความเสมอภาคของบทบาทหญิงและชาย โดยเฉพาะบทบาทผู้หญิงในการบริหารและการปกครองทุกระดับ (สำนักงานกิจการสตรีและครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2550)

ทั้งนี้การศึกษาเกี่ยวกับความสำเร็จของอาชีพผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จะเป็นการเพิ่มพูนข้อมูลเชิงคุณภาพเกี่ยวกับการทำงานของสตรีไทยให้มากขึ้นและเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่จะสามารถชี้แนะแนวทางให้สตรีทั่วไปสามารถที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จในหน้าที่การทำงานได้เช่นเดียวกัน ผู้วิจัยเล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางนี้ จึงกำหนดเกิดคำถามการวิจัยและกำหนดให้เป็นกรอบในการศึกษาถึงความสำเร็จผู้บริหารสตรีในด้านคุณลักษณะทุนมนุษย์ ได้แก่ คุณลักษณะส่วนบุคคล บุคลิกภาพ และสถานภาพครอบครัว มีระดับความสำเร็จเพียงใดจากทัศนของผู้บริหารเอง และตัวแปรใดที่ส่งผลต่อความสำเร็จของอาชีพผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดสำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานคร

 

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย (Objectives)

1. เพื่อศึกษาระดับความสำเร็จของอาชีพผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

2. เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยด้านทุนมนุษย์กับที่มีผลต่อความสำเร็จของอาชีพผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

 

ระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology)

          การศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยกำหนดหน่วยในการวิเคราะห์ คือ ผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มีจำนวนผู้บริหารที่เป็นสตรีจำนวน 271 คน ผู้วิจัยกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างสำหรับผู้บริหารสตรีในการศึกษาครั้งนี้ไว้ ร้อยละ 25 ได้จำนวน 67.75 กลุ่มตัวอย่าง หรือ 68 คน โดยอาศัยแนวคิดการกำหนดเกณฑ์ของธีรวุฒิ เอกะกุล (2543) ที่กำหนดเกณฑ์ไว้ว่า “ถ้าขนาดประชากรเป็นหลักร้อย ควรใช้กลุ่มตัวอย่างอย่างน้อย 25%” สำหรับเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบวัดผลเพียงครั้งเดียว (One-shot Case Study) ทั้งนี้ผู้วิจัยได้กำหนดวิธีการเลือกตัวอย่างในการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างโดยไม่อาศัยความน่าจะเป็น (Non-Probability Sampling) ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างตามความสะดวก (Convenience Sampling) หรือเรียกอีกอย่างว่าการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) โดยเก็บข้อมูลในโรงเรียนที่สามารถเดินทางไปได้ตามสะดวก สามารถนัดวันเวลาและสถานที่ได้อย่างแน่นอน จำนวน 68 คน/โรงเรียน ส่วนการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบสัมภาษณ์ (Interview) กับกลุ่มผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 15 คน โดยใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างโดยไม่อาศัยความน่าจะเป็น (Non-Probability sampling) ด้วยวิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยพิจารณาตามขนาดของโรงเรียนที่ผู้บริหารสตรีทำงานอยู่ โดยแบ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 5 คน/โรงเรียน โรงเรียนขนาดกลาง จำนวน 5 คน/โรงเรียน และโรงเรียนขนาดใหญ่ จำนวน 5 คน/โรงเรียน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา (Descriptive Statistic) ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนสถิติอ้างอิง (Inferential Statistic) ได้แก่ Independent - Samples T test (T-test) One-Way ANOVA (F-test) Crosstabs (Chi-square) และการวิเคราะห์แบบสัมภาษณ์ใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เชิงพรรณา (Descriptive Analysis) ทั้งนี้เกณฑ์วัดความสำเร็จมี 3 ระดับ ได้แก่ 3.68 - 5.00 (มาก) 2.34 - 3.67 (ปานกลาง) และ 1.00 - 2.33 (น้อย)

 

ผล/ สรุปผลการวิจัย (Result)

          ผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร พบว่าโดยส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาโท ร้อยละ 98.53 มีประสบการณ์ในการทำงานตั้งแต่ 31 ปีขึ้นไป ร้อยละ 52.94 มีอายุอยู่ในระหว่าง 51-55 ปี ร้อยละ 38.24 และส่วนใหญ่มีสถานภาพการสมรสและอยู่ด้วยกัน ร้อยละ 54.41 รองลงมามีสถานภาพโสด ร้อยละ 38.24 นอกจากนี้ผู้บริหารสตรีส่วนใหญ่ยังเป็นผู้บริหารโรงเรียนขนาดใหญ่ จัดเป็นขนาดที่ 5 (นักเรียน 500-1,499 คน) ร้อยละ 58.82 และมีระดับที่ทำการเปิดสอนส่วนใหญ่เป็น 2 ระดับได้แก่ ระดับอนุบาลและประถมศึกษา ร้อยละ 82.35 ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความคิดเห็นของผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครต่อบุคลิกภาพพิจารณาจากแรงดึงดูดทางกายภาพ และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ พบว่า แรงดึงดูดทางกายภาพในภาพรวมของผู้บริหารสตรีมีแรงดึงดูดทางกายภาพอยู่ในระดับสูง (ค่าเฉลี่ย 4.29) เมื่อแยกพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าด้านที่มีแรงดึงดูดมากที่สุด คือ ความสุขุมรอบคอบ ไม่มีความก้าวร้าว (ค่าเฉลี่ย 4.50) ส่วนระดับแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ข้อค้นพบจากการวิจัยในครั้งนี้พบว่า ผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร  มีระดับแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์อยู่ในระดับสูง (ค่าเฉลี่ย  4.13)  เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าด้านที่มีแรงจูงใจมากที่สุด คือ ท่านเชื่อว่างานทุกอย่างจะสำเร็จลุล่วงลงได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งก็คือความรับผิดชอบ (ค่าเฉลี่ย 4.90) รวมถึงในประเด็นที่เกี่ยวกับความทุ่มเทต่อครอบครัวในภาพรวมอยู่ในระดับสูง (ค่าเฉลี่ย 4.15) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าด้านที่มีความทุ่มเทมากที่สุด คือ การได้แสดงบทบาทในการเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวแล้ว (ค่าเฉลี่ย 4.54) ในส่วนความสำเร็จของอาชีพในด้านวัตถุวิสัย พบว่าตำแหน่งงานของผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นผู้อำนวยการ คิดเป็นร้อยละ 88.24 มีเงินเดือนของผู้บริหารสตรี ไม่เกิน 40,000 บาท คิดเป็นร้อยละ  44.12 และมีเงินเดือนตั้งแต่ 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 38.24 และจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ ไม่เกิน 50 ชั่วโมง ร้อยละ 50.00 นอกจากนี้ระดับความสำเร็จของอาชีพในด้านจิตวิสัยของผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครประกอบด้วย ความพึงพอใจในอาชีพและความพึงพอใจในงาน โดยความพึงพอใจในอาชีพ พบว่า ผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ระดับความพึงพอใจในอาชีพภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.61) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าข้อที่มีความพึงพอใจมากที่สุด คือ ความพึงพอใจในอาชีพที่ทำให้มีโอกาสพัฒนาตนเอง  (ค่าเฉลี่ย 4.81) ดังตารางที่ 1 ต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงระดับความพึงพอใจในอาชีพของผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดย

             ภาพรวมและรายข้อ

ข้อ
ความพึงพอใจในอาชีพ
Mean
S.D.
ระดับความพึงพอใจ
1
ความพึงพอใจในความก้าวหน้าในอาชีพที่ได้รับ
4.62
0.55
มาก
2
ความพึงพอใจในเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนจากการทำงานในอาชีพ
4.35
0.62
มาก
3
ความพึงพอใจในตำแหน่งงานที่ได้รับในอาชีพ
4.68
0.47
มาก
4
ความพึงพอใจในหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย
4.66
0.48
มาก
5
ความพึงพอใจในลาภยศที่ได้รับในอาชีพ
4.31
0.85
มาก
6
ความพึงพอใจในฐานะที่ได้จากการประกอบอาชีพ
4.74
0.44
มาก
7
ความพึงพอใจที่ได้เลือกอาชีพนี้ด้วยตนเอง
4.72
0.51
มาก
8
ความพึงพอใจในอาชีพที่ทำให้ท่านมีโอกาสพัฒนาตนเอง
4.81
0.40
มาก
ผลรวม
4.61
0.37
มาก

 

          ส่วนความพึงพอใจในงาน พบว่า ผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ระดับความพึงพอใจในงานภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.34) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าข้อที่มีความพึงพอใจมากที่สุด คือ ความพึงพอใจในงานที่ที่ได้ทำงานตรงตามความรู้ความสามารถ (ค่าเฉลี่ย 4.68) ดังตารางที่ 2 ต่อไปนี้

ตารางที่ 2 แสดงระดับความพึงพอใจในงานของผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดย

            ภาพรวมและรายข้อ

ข้อ
ความพึงพอใจในงาน
Mean
S.D.
ระดับความพึงพอใจ
1
ความพึงพอใจที่ได้ทำงานตรงตามความรู้ความสามารถ
4.68
0.47
มาก
2
ความพึงพอใจในชั่วโมงการทำงานในแต่ละวันที่ยาวนาน
4.32
0.72
มาก
3
ความพึงพอใจในสถานที่ทำงานที่มีอัตราการจ้างงานสูง
4.15
0.72
มาก
4
ความพึงพอใจในสถานที่ทำงานที่มีพื้นที่กว้างขวางสวยงาม
4.19
0.67
มาก
5
ความพึงพอใจในสถานที่ทำงานที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป
4.22
0.64
มาก
6
ความพึงพอใจในสถานที่ทำงานที่มีความเจริญเติบโตหรือมีความก้าวหน้า
4.44
0.56
มาก
7
ความพึงพอใจในงานที่เปิดโอกาสให้ท่านแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อเสนอแนะ
4.41
0.55
มาก
ผลรวม
4.34
0.40
มาก

 

          ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของอาชีพของผู้บริหารสตรี พบว่า ปัจจัยคุณลักษณะส่วนบุคคล ได้แก่ ประสบการณ์ในการทำงาน อายุ และขนาดของโรงเรียน มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในอาชีพด้านวัตถุวิสัยด้านเงินเดือน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 รวมถึงปัจจัยด้านสถานภาพที่แสดงถึงผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครที่มีสถานภาพสมรสแตกต่างกันมีความพึงพอใจในงานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 โดยสถานภาพโสดจะมีความพึงพอใจในงานมากกว่าสมรสแล้ว

          ทั้งนี้จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ในประเด็นต่าง ๆ แยกเป็นรายข้อดังนี้

1) เอกลักษณ์โดดเด่นในทางสร้างสรรค์ พบว่าผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มีเอกลักษณ์โดดเด่นในทางสร้างสรรค์ส่วนใหญ่เป็นการบริหารงานที่เน้นการมีส่วนร่วม คือ บุคลากรทุกคนต้องมีส่วนร่วม คิด ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบงานในทุก ๆ ด้าน ร่วมรับผิดชอบความสำเร็จของงาน ทำงานด้วยความรวดเร็ว ทันใจ ว่องไว สร้างความเป็นกันเองแบบครอบครัว ทำงานเป็นทีม การปฏิบัติงานเป็นทีมใช้การระดมสมอง หาความคิดเห็นของส่วนรวมมากกว่าความคิดเห็นของส่วนตัวมีเหตุผลรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีมนุษยสัมพันธ์และความเป็นกัลยาณมิตรที่ดี และที่สำคัญการมีประชาธิปไตย รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

          2) ความสำเร็จกับผลการงาน และบุคลากรในสถานที่ทำงาน พบว่า ผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มีลักษณะการทำงานส่วนใหญ่เน้นทั้งงานและคน 50:50 โดยจะควบคู่ไปทั้งสองอย่าง มีเป้าหมายหรือทิศทางเป็นหลักถ้าเรากำหนดไปที่ตัวนักเรียนต้องเป็นคนดีก็ต้องควบคู่ไปกับตัวบุคลากรด้วย คือถ้าจะสำเร็จก็ต้องเน้นทั้งงานแลควบคู่ไปกับตัวบุคคลด้วย

          3) ความสำเร็จที่ท่านคาดหวังในการทำงานในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของโรงเรียน พบว่า ผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่คาดหวังและความต้องการที่จะให้นักเรียนทุกคนเรียนรู้อยู่ในโรงเรียนอย่างมีความสุข และไปศึกษาต่อในระดับสูงได้ สิ่งสำคัญทำอย่างไรก็ได้ให้นักเรียนพัฒนาตามศักยภาพ รวมถึงส่วนตัวคาดหวังว่าจะมีความก้าวหน้าวิชาชีพ  มีวิทยะฐานะที่สูงขึ้น การได้รับรางวัลต่างๆ สามารถพัฒนางานทุกด้านในสถานที่ทำงานสู่ความสำเร็จสูงสุด รวมถึงทำงานให้ดีที่สุดและทำหน้าที่บริหารให้ดีที่สุดทำให้มีการเกิดปัญหาน้อยน้อยที่สุดภายในองค์กรของเรา

          4) การให้เวลา ความรับผิดชอบ และความสำคัญกับครอบครัวเมื่ออยู่ในตำแหน่งผู้บริหาร พบว่า ผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่มีความรับผิดชอบและให้ความสำคัญกับครอบครัวโดยการให้เวลาเท่ากัน ซึ่งจะเน้นการทำงานเต็มที่ในวันทำการ แต่เมื่อวันหยุดจะให้ครอบครัวเต็มที่ การทำงานจริงจังและตั้งใจ หมายความว่าให้เวลาและความสำคัญเท่ากัน ครอบครัวและการทำงานต้องให้ควบคู่กันไป แต่ถึงอย่างไรบางท่านให้ความสำคัญในเรื่องงานมากกว่า

          5) ทุกคนในครอบครัวมีความรู้สึก ความคิดเห็นอย่างไรกับการทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร พบว่า ผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ครอบครัวจะให้กำลังใจและให้การสนับสนุน รวมถึงให้การสนับสนุนคำปรึกษาและมีความภาคภูมิใจเป็นหลัก หลายท่านจะได้รับความคิดเห็นในลักษณะเดียวกันว่า คนในครอบครัวมีความเชื่อมั่นว่าเป็นผู้นำได้ จะคอยช่วยคิด ให้คำปรึกษา ให้แนวคิด  ให้กำลังใจกันในครอบครัว บางครั้งจะช่วยกันวางระบบ การควบคุมได้

          6) การให้ความสำคัญกับชั่วโมงการทำงาน พบว่า ผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ “เต็มที่” หรือให้ความสำคัญกับการทำงานมากโดยไม่คำนึงว่าเป็นวันหยุด มุ่งมั่นบริหารงาน บริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จ ถ้ามีงานก็เอากลับมาทำที่บ้าน และผู้บริหารมีความเชื่อว่า “ทุกชั่วโมงมีค่าต่อการทำงานมาก ทุกเวลามีคุณค่าทั้งหมด” หลายครั้งที่ทำงาน เต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์ และเต็ม 7 วัน

          7) การมีความสุข ความพึงพอใจกับการได้ทำงานในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด พบว่า ผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่มีความสุขและพึงพอใจ มีความสุขในการทำงานสิ่งที่เรารักและชอบ อยู่กับครูและเด็ก มีความสุขที่เห็นเด็กนักเรียนมีความก้าวหน้า บางท่านใช้หลักการบริหารแบบ 4 M ให้ประสบความสำเร็จ และหลายท่านที่มีความสุข มีความพึงพอใจอย่างยิ่งและถือเป็นนความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างสูงสุด

8) อุปสรรคใดที่มีผลต่อความสำคัญในหน้าที่การงาน พบว่า ผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ จะพบว่าอุปสรรคหลายประการ เช่น งบประมาณ บุคลากรไม่เพียงพอ ศักยภาพของบุคลากรที่ปรับยาก ระบบราชการมันตีกรอบเกินไป ระบบราชการมีขั้นตอนมาก ไม่มีการกระจายอำนาจที่ชัดเจน แต่ที่สำคัญหลายท่านมองตรงกันว่า อุปสรรคอยู่ที่บุคลากร

 

อภิปรายผล (Discussion of Research)

ผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่มีระดับความสำเร็จในด้านวัตถุวิสัยอยู่ในระดับที่สูงมากอยู่แล้วเช่น การเป็นผู้บริหารสูงสุดในโรงเรียน การมีเงินเดือน 40,000 บาทขึ้นไป ส่วนระดับความสำเร็จของอาชีพในด้านจิตวิสัย ทั้งความพึงพอใจในอาชีพ ซึ่งโดยภาพรวมและรายข้อ อยู่ในระดับมาก ส่วนความพึงพอใจในงานที่ปฏิบัติอยู่ในระดับมากทั้งภาพรวมและรายข้อเช่นเดียวกัน ถึงแม้จะมีบางข้อที่อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด เช่น ความพึงพอใจในสถานที่ทำงานที่มีอัตราการจ้างงานสูง (ค่าเฉลี่ย 4.15) แต่ก็อยู่ในระดับมากด้วยเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของนิพนธ์  ศศิธรเสาวภา (2552: 99) ที่ได้ทำการศึกษา เรื่อง ความสำเร็จของอาชีพผู้บริหารสตรีสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ผู้บริหารสตรีสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีระดับความพึงพอใจในอาชีพภาพรวมอยู่ในระดับสูง (ค่าเฉลี่ย 4.35) และตัวชี้วัดความพึงพอใจในอาชีพ 8 ข้ออยู่ในระดับสูงทุกข้อ ส่วนความพึงพอใจในงานภาพรวมอยู่ในระดับสูง (ค่าเฉลี่ย 4.17) และมีตัวชี้วัดความพึงพอใจในงาน 7 ข้ออยู่ในระดับสูงทุกข้อเช่นกัน ชี้ให้เห็นว่า การดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดที่เป็นสุภาพสตรีในวงการศึกษาของไทย ทั้งในสังกัดกรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะมีความรู้สึกพึงพอใจกับบทบาทหน้าที่การทำงานของตนเองอย่างมาก ถึงแม้ว่าบางครั้งผลตอบแทนไม่ค่อยคุ้มกับการทำงานหน้าที่ เช่น มีความพึงพอใจในอาชีพระดับน้อยที่สุดในด้านลาภยศที่ได้รับในอาชีพ (ค่าเฉลี่ย 4.31) นอกจากนี้ยังมีเหตุผลที่น่าสนใจว่า การที่ผู้บริหารมีความพึงพอใจในอาชีพและงานที่ตนทำเนื่องจาก คนในครอบมีความภาคภูมิใจกับตำแหน่งด้วย กล่าวถึงแรงสนับสนุนจากครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการทำงานในตำแหน่งผู้บริหารนั่นเอง เพราะผลการวิจัยพบว่า แรงสนับสนุนจากครอบครัวที่มีระดับสูงสุด คือ สมาชิกในครอบครัวให้การยอมรับและภาคภูมิใจตัวของท่าน (ค่าเฉลี่ย 4.79) สอดคล้องกับผลการวิจัยของนิพนธ์ ศศิธรเสาวภา (2552: 96) ที่ได้ทำการศึกษา เรื่อง ความสำเร็จของอาชีพผู้บริหารสตรีสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า แรงสนับสนุนมากที่สุด คือ ในครอบครัวให้การยอมรับและภาคภูมิใจตัวของท่าน (ค่าเฉลี่ย 4.55)

ข้อเสนอแนะ (Research Recommendations)

          ข้อเสนอแนะจากการวิจัยมีประเด็นน่าสนใจคือ ผู้บริหารสตรีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครต้องปรับแนวคิดในเชิงบวกเกี่ยวกับแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ที่มีความเชื่อว่า งานคืออำนาจ ยิ่งทำมาก ย่อมส่งผลต่อชื่อเสียง เกียรติยศของตัวเอง และเชื่อว่า ความมุ่งมั่นกับการทำงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์และรายได้ อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งเมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนพบว่า ในความเป็นจริงการมีอำนาจโดยใช้การทำงาน หรือผลงานเป็นหลัก ยิ่งทำมากยิ่งควรต้องมีชื่อเสียง รายได้ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นการถูกต้องแล้ว เพราะการทำงานเป็นศักยภาพส่วนบุคคลไม่ได้ไปเอาเปรียบบุคคลอื่น แต่เป็นความมุ่งมุ่นทำงานเฉพาะตนเอง ในหน้าที่ของตนเองจะเป็นการดีกว่าที่ไปเอาเปรียบหรือละลานคนอื่นให้เดือดร้อน ทั้งนี้ยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงคุณค่าของตนเองเพิ่มขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน” นั่นเอง

 

การอ้างอิง (References)

กองการเจ้าหน้าที่ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร. (2553). รายชื่อผู้บริหารสตรีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร. (เอกสารอัดสำเนา).
คณะอนุกรรมการเฉพาะด้านจัดทำแผนหลักงานสตรี. (2538). นโยบายและแผนงานหลักสตรีระยะยาว (พ.ศ.2535-2554). กรุงเทพฯ: สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี.
 
ธีรวุฒิ เอกะกุล. (2543). ระเบียบวิธีวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์. อุบลราชธานี : สถาบันราชภัฎอุบลราชธานี.
นิพนธ์  ศศิธรเสาวภา. (2552). ความสำเร็จของอาชีพผู้บริหารสตรีสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. ดุษฎีนิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา.
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (2554). ประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2554. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม, 16, 2554, จาก
สังศิต  พิริยะรังสรรค์.  (2541).  สถานการณ์สตรีปี 41 ยังกะอัก.  มติชนรายวัน, (1 มกราคม): 20.
สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว.  (2550).  แผนพัฒนาสตรีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจ
          และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554). กรุงเทพฯ : สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.
อรอนงค์  ธัญศะวิน. (2539). การแนะแนวอาชีพ. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
Maslow, A. (1954). Motivation and personality. New York: Harper & Row.
Mitroff, I. I. a., Denton, E. A. (1999). A study of spirituality in the workplace. Sloan Management Review, 40(4), 83-92.

 

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น