วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ผลกระทบต่อพื้นที่ การดำรงชีวิตและความผูกพันของประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าก่อนการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร


ผลกระทบต่อพื้นที่ การดำรงชีวิตและความผูกพันของประชาชนในชุมชน
บ้านพักองค์การทอผ้าก่อนการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
The effecting of areas, way of living and community attachment of people in Baanpukongkarntorpa Community before the New Building, Thai Parliament of Dusit District, Bangkok Metropolitan.
 
ภูสิทธ์ ขันติกุล
Phusit Khantikul
สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสังคม ภาคสังคมศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
 
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบต่อพื้นที่ การดำรงชีวิต และความผูกพันต่อชุมชนของประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นการวิจัยแบบผสม(เชิงปริมาณ และคุณภาพ)  ด้วยการเก็บข้อมูลการศึกษาข้อมูลจากการวิจัยเอกสาร การวิจัยภาคสนาม โดยใช้การสัมภาษณ์ และแบบสอบถาม กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่  ค่ามัชฌิมเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่  Independent - Samples T test (T-test), One-Way ANOVA (F-test) และวิเคราะห์เชิงพรรณาตามโครงสร้างเนื้อหาตามแบบสัมภาษณ์ พบว่า ความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผูกพันในสถานที่ ประชาชนส่วนใหญ่มีความเป็นเพื่อนบ้านที่สนิทสนมคุ้นเคยกันภายในชุมชน การพบปะพูดคุย สนทนาปรึกษาและขอความช่วยเหลือกับเพื่อนบ้านที่สนิทสนมคุ้นเคยกันภายในชุมชน ส่วนการเปลี่ยนแปลงยังไม่พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางกายภาพ สังคม รวมถึงทางวัฒนธรรมแต่อย่างใด ๆ จะมีเพียงแต่บางชุมชนที่ได้เกิดความตระหนัก และมีการเตรียมการจากผลกระทบของการสร้างรัฐสภาใหม่ให้กับประชาชนในชุมชนแล้ว แต่ถึงอย่างไรผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีคือ ด้านจิตใจทำให้ประชาชนวิตกกังวลในการย้ายถิ่นฐานออกไปจากพื้นที่ที่ประชาชนจะมีความผูกพันกับสถานที่แห่งนี้สูงมาก โดยเฉพาะชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า เนื่องจากเกิดความล่าช้าในการก่อสร้างพื้นที่ใหม่ที่จะรองรับพื้นที่เดิมให้กับประชาชนของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่วนการแก้ไขชดเชยพื้นที่ผลกระทบในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หน่วยงานที่รับผิดชอบพยายามสร้างความเชื่อมั่นในการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชาชนนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน การดำรงชีพ และหน้าที่การงานนัก โดยได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับพื้นที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับประชาชนไว้แล้ว ทั้งนี้การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่จึงมิใช่เป็นการทำลายวิถีชีวิต สังคมและวัฒนธรรม แต่เป็นการย้ายสังคมและวัฒนธรรมไปสู่สังคมเมืองใหม่ ที่มีการจัดสรรทางกายภาพไว้ที่มีความสะดวกสบาย และมีความเจริญมากขึ้นตามแนวคิดของภาครัฐนั่นเอง
 
คำสำคัญ วิถีการดำรงชีวิต ความผูกพันต่อชุมชน การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า
 
Abstract
The objective of this research is to study the effecting of areas, way of living and community attachment of people in Baanpukongkarntorpa Community of Dusit District, Bangkok Metropolitan. Doing Quantitative Research, Qualitative Research, Documentary Research, and Field Research by interviewing and giving questionnaires to the people living in Baanpukongkarntorpa Community, Dusit District, Bangkok Metropolitan. The data was analyzed by using descriptive statistics, such as arithmetic mean and standard deviation, as well as by inferential statistics, such as Independent - Samples T test (T-test), One-Way ANOVA (F-test) and descriptive analysis of the interview content. Descriptive analysis according to the structure of the interview content was also used. The result of the research is that the attachment of the people to The Baanpukongkarntorpa Community in general and by each category is at a high level. The feeling that the community is their home rated the highest average. They feel close and familiar with, meeting and interacting with familiar neighbors in the community, and as well as the benefits they receive from the community. There are only a few communities that realize the impact from building the new Thai Parliament and have already made preparations for the community. However, the immediate impact was psychological anxiety of moving away from the area which they are attached to, especially The Baanpukongkarntorpa Community, due to delays of the responsible sector in the construction of new space to accommodate the people of the area. To remedy the people from the effects of the construction of the new Thai Parliament, responsible sectors try to build confidence that the movement of the people will not have major affect to their life, property, livelihoods and work. They have been preparing for a new residential area for the people. The construction of the new parliament is not intended to destruct the way of life, society or culture, but to move the society and culture to the cities with allocation of physical comfort which is more convenient and more modernized which is based on the concept of the government.
 
Key Word(s) Way of Living, Community Attachment, Social Changing, Baanpukongkarntorpa Community
 
บทนำ
การพัฒนาประเทศไทยทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีระบบนั้น เริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา ตราบจนปัจจุบันมีระยะเวลากว่า 51 ปี การพัฒนาประเทศยังเป็นแนวทางของการพัฒนาที่ยังไม่สมดุล ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เป็นจริงตามวัฒนธรรมไทย นั่นหมายความว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมหรือเศรษฐกิจทุนนิยมที่มุ่งพัฒนาเพื่อสร้างความมั่งคั่งและรายได้มาสู่ประเทศเป็นหลัก ด้วยหวังเพียงว่าการเพิ่มปริมาณสินค้าและบริการ การเพิ่มการจ้างงาน ที่เกิดขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากเกินไปนั้นย่อมสามารถกระจายไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่และจะทำให้ปัญหาความยากจนหมดไปได้ในที่สุด ซึ่งในสภาวะปัจจุบันสังคมไทยกำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงจากชนบทสู่เมืองอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การพัฒนาชนบทกับเมืองมีลักษณะแยกส่วนกันจนส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลของการพัฒนาชุมชนในชนบทมากขึ้นไปด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ดีในหลายชุมชนยังมีกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการพัฒนาและการจัดการความรู้เพิ่มขึ้น ได้ส่งผลให้ชุมชนมีการรวมตัว รวมกลุ่มและมีการเรียนรู้ร่วมกันทำให้สามารถจัดการกับปัญหาที่มากระทบกับชุมชนได้ในระดับหนึ่งด้วย เมื่อเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการสร้างงานสร้างอาชีพแก่ชุมชนในชนบทมากขึ่น แต่กลับทำให้วัฒนธรรม ค่านิยมที่ดีงามและภูมิปัญญาท้องถิ่นยังถูกละเลย การถ่ายทอดภูมิปัญญาที่ดีงามของท้องถิ่นตนเองสู่คนรุ่นใหม่มีน้อยมาก รวมทั้งระบบคุณค่าของสังคมไทยในเรื่องจิตสาธารณะ ความเอื้ออาทร และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเริ่มเสื่อมถอย พฤติกรรมการดำรงชีวิตและการปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนปรับเปลี่ยนไปจากอดีต โดยกระแสวัตถุนิยมที่เข้าสู่ชุมชนได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน ทำให้มีความสะดวกมากขึ้นแต่มีความสุขลดลง มีรายได้ไม่พอรายจ่าย มีหนี้สินเพิ่มขึ้น และความสัมพันธ์ของคนในชุมชนลดน้อยลงในลักษณะต่างคนต่างอยู่มากขึ้น (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2549: บ) นั้นหมายความว่าคนในสังคมยังดำรงชีวิตอย่างไม่สมดุล ยังมีคนยากจนกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย แนวคิดการสร้างพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังในในแผนพัฒนาเศราฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้นกลับถูกสร้างสรรค์โดยหน่วยงานรัฐที่ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจึงทำให้เกิดการสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้กับคนเพียงบางกลุ่มที่มีศักยภาพในการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐหรือมีอำนาจรัฐอยู่ในมือนั่นเอง จึงก่อให้เกิดลักษณะที่ว่า “คนรวยกระจุก คนจนกระจาย” การพัฒนาประเทศที่มุ่งการเน้นเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ และการพัฒนาภายใต้นโยบายของภาครัฐเท่าที่ผ่านมามักจะเห็นได้ว่าเป็นการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นหลักเช่น การสร้างถนนหนทาง รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน (อยู่ในเมืองเป็นหลัก) เป็นต้น ซึ่งการสร้างสิ่งเหล่านี้ในเมืองจะมีการเวนคืนที่ดินเป็นจำนวนมากประชาชนก็ย่อมได้รับผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในเขตดุสิต อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งประชาชนจะได้รับผลกระทบโดยตรงต่อทั้งการดำรงชีวิต ผูกพันของประชาชน ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่าง ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางพื้นที่ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเคลื่อนย้ายของประชาชนในชุมชน แนวคิดการสร้างอาคารรัฐสภาไทยแห่งใหม่มีแนวคิดเริ่มต้นอย่างชัดเจนที่สุดตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2544 โดยประธานรัฐสภา(นายอุทัย พิมพ์ใจชน) ได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาสถานที่ตั้งรัฐสภาแห่งใหม่ กระทั่งวันที่ 22 พฤษภาคม 2545 คณะกรรมการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ(กศร.) ที่มีรองนายกรัฐมนตรี(นายกร ทัพพะรังสี) เป็นประธานคณะกรรมการ มีมติเห็นชอบให้ใช้พื้นที่ราชพัสดุทหาร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ก่อสร้างศูนย์ราชการรัฐสภาแห่งใหม่ ตามแนวคิดของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เคยทำการศึกษาให้กับสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาเมื่อ ปี 2542 และจึงทำการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 คณะ ทำหน้ากำกับจัดทำผังเบื้องต้นศูนย์ราชการรัฐสภาแห่งใหม่นั่นเอง (คณะสถาปัตยกรรมสาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545: 1-2) โดยครั้งนั้นได้มีการเสนอให้มีผังเบื้องต้นของศูนย์ราชการรัฐสภาแห่งใหม่ คือพื้นที่ดินของราชพัสดุ ที่ตั้งอยู่ในแขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จำนวน 913 ไร่ 1 งาน 89 ตารางวา โดยมีอาณาเขต ดังนี้ ทิศเหนือ จดคลองบางซื่อ ทิศตะวันออก จดถนนพระรามที่ 5 ทิศใต้ จดถนนอำนวยสงคราม คลองวัดน้อยและคลองบางกระบือ ทิศตะวันตก จดแม่น้ำเจ้าพระยา (คณะสถาปัตยกรรมสาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  2545: 3) การศึกษาครั้งนี้เองที่ได้ทำให้ประชาชนตระหนักรู้เสมอว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนแถบนี้โดยจะมีอาคารรัฐสภาไทยแห่งใหม่เข้ามาแทนที่ของชุมชนและพื้นที่ราชการต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และความชัดเจนได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ซึ่งมีการประกาศผลแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ในขั้นตอนที่ 2 ปรากฏว่า แบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่ชื่อ “สัปปายะสภาสถาน” รหัส สงบ 1051 ประกอบด้วย นายธรีพล นิยม นายอเนก เจริญพิริยเวศ นายชาตรี ลดาลลิตสกุล และนายปิยเมศ ไกรฤกษ์ ได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะ (สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2552: ประกาศ) ซึ่งจะใช้พื้นที่การก่อสร้างที่จำกัดเพียง 119 ไร่ (มติชนรายวัน 2551, 15 สิงหาคม) โดยเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2553 นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา พร้อมด้วยประธานวุฒิสภา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานวุฒิสภา พร้อมนายรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ส.ส. ข้าราชการ ประชาชน เข้าร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารรัฐสภาหลังใหม่ ณ พื้นที่ราชพัสดุ ถนนทหารเกียกกาย เขตดุสิต อย่างพร้อมเพรียง (มติชนออนไลน์ 2553, 12 สิงหาคม)
เก็บข้อมูลการวิจัยปี 2553 ก่อนที่จะมีการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ขึ้นได้มีชุมชนอย่างเป็นทางการอยู่ 2 ชุมชน คือ ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า และชุมชนยานเกราะ ส่วนประชาชนในชุมชนตรอกตระกูลดิษฐ์(พื้นที่เอกชน)ได้รับเงินชดเชยทุกครอบครัวแล้วและได้ย้ายออกจากพื้นที่ชุมชนทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ได้มีสถานการณ์หลากหลายที่เริ่มส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้างพอสมควร โดยที่เห็นผ่านสื่อมวลชนที่ได้เสนอข่าวออกไป ส่วนหน่วยงานราชการที่อยู่ในพื้นที่เริ่มเคลื่อนไหวที่จะวางแนวทางการย้ายไปยังพื้นที่ใหม่ที่รัฐจัดสรรให้ ส่วนประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้ายังคงรอให้หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบดำเนินการชดเชยและกำหนดแนวทางการย้ายในพื้นที่ใหม่ด้วยใจจดจ่อเสมอ (พรรณี แววงามและปัทมา จิตมั่น, 2553, 10 ธันวาคม) ด้วยเหตุผลดังกล่าวถ้าหากไม่มีการศึกษาในชุมชนที่คงเหลือไว้จะทำให้องค์ความรู้ที่ร่วมกันอยู่มาร่วมกว่า 75 ปี (ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า) อาจสูญหายไปอย่างไร้คุณค่า อย่างในหลายชุมชนเมืองอื่นที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ ดังนั้นจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะสะท้อนผลลัพธ์บางประการให้หน่วยงานภาครัฐตระหนักอยู่เสมอว่าการสร้างสิ่งใด ๆ อันมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากมักจะมีทั้งเชิงลบและเชิงบวก ต้องศึกษาให้เข้าใจ เข้าถึงฐานชุมชนที่อยู่ดั้งเดิมเป็นสำคัญก่อนที่จะดำเนินนโยบายใด ๆ ต่อไปในอนาคต ผู้วิจัยจึงใคร่สนใจที่จะมุ่งประเด็นศึกษาเฉพาะผลกระทบที่จะทำให้การดำรงชีวิต ความพอใจในชุมชน ความผูกพันของประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรทั้งทางสังคมและวัฒนธรรมก่อนที่จะมีการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อศึกษาผลกระทบต่อพื้นที่ การดำรงชีวิต และความผูกพันต่อชุมชนของประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
 
ขอบเขตการวิจัย
ผู้วิจัยกำหนดขอบเขตของการวิจัยในครั้งนี้ ประกอบด้วย ด้านเนื้อหา แนวคิดเกี่ยวกับวิถีการดำรงชีวิต ความผูกพันกับชุมชน การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ด้านพื้นที่ กำหนดพื้นที่ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต เป็นพื้นที่เขตเมืองชั้นใน (Inner City) ของกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ทั้งสิ้น 5.272 ตารางกิโลเมตร ที่ครอบคลุมพื้นที่การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จำนวนเนื้อที่ 119 ไร่ (ภาพที่ 1)
 
 
 
 
 
 
 
 
ภาพที่ 1 พื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เนื้อที่ 119 ไร่
ที่มา: รัฐสภา, โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (2554: ออนไลน์)
 
ด้านผลลัพธ์การสังเคราะห์ผลการวิจัย เป็นการรวบรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นภายใต้ผลการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงทางพื้นที่ สังคมและวัฒนธรรม และความผูกพันของประชาชนชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า ด้านระยะเวลา กำหนดเสร็จและรายงานผลการวิจัยในระยะเวลา 1 ปี (พ.ศ. 2554-2555)
 
การทบทวนวรรณกรรม
พื้นที่เป้าหมายที่รัฐสภากำหนดให้มีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ตั้งอยู่บนแขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จำนวนเนื้อที่ 119 ไร่ ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากหนึ่งในนั้นคือประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าที่ได้อาศัยอยู่ร่วมกันมามากกว่า 75 ปี จนกิจกรรมที่กระทำร่วมกันกลายเป็นวิถีชีวิตเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคำว่าวิถีชีวิตในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525  หมายถึง ความเป็นไปในการดำรงชีวิต(ราชบัณฑิตยสถาน, 2539: 495) ซึ่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้นย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย อันเนื่องมาจากวัฒนธรรมในระดับสากล และวัฒนธรรมย่อยในระดับท้องถิ่น การเรียนรู้และการปรับตัวให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมใหม่ ๆ จึงเป็นไปเพื่อการอยู่รอดในสังคม วิถีชีวิตอยู่ควบคู่กับวัฒนธรรม คือ วิถีชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปต่าง ๆ ในสังคมมนุษย์ ซึ่งได้มีข้อสมมติที่แตกต่างกันไป ทำให้การเปลี่ยนแปลงมีความหมายแตกต่างกันไปด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงในเรื่องธรรมชาติ มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นต้น (บุญสนอง บุณโยทยาน, 2515: 4) ทั้งนี้วิถีชีวิตของคนถูกกำหนดให้แตกต่างกันด้วยวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ เช่นชาวเขาก็แตกต่างจากชาวเมือง คนไทยอิสลามก็แตกต่างจากคนไทยพุทธ ดังนั้นวิถีชีวิตของชาวไทยหรือต่างชาติก็ดี จะมีวิถีชีวิตที่เป็นลักษณะของตนเอง จึงไม่ถือว่าวัฒนธรรมของใครสูงหรือต่ำ ล้าหลัง ป่าเถื่อน กว่าอีกวัฒนธรรมหนึ่ง (สุพัตรา สุภาพ, 2541: 103) และวิถีชีวิตของคนในสังคมนั้นย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละสังคม จำเป็นที่ต้องเรียนรู้ปรับตัวให้สอดคล้องกับสิ่งใหม่ ๆ เพื่อการอยู่รอด แต่สิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตคือ คติธรรมเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งปัจจัยสี่ จึงทำให้มนุษย์จำเป็นต้องการแลกเปลี่ยนการผลิตซึ่งกันและกันในชุมชน (สุขศิริ บุญเรือง, 2546: 10) การเปลี่ยนแปลงของประชาชนในชุมชนเมืองก็มักจะสะท้อนถึงความพอใจต่อชุมชน ทั้งในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในสาธารณูปโภค สาธารณูปการพื้นฐาน เช่น การบริการน้ำประปาภายในชุมชน การบริการโทรศัพท์ การบริการไฟฟ้าการบริการด้านสุขภาพอนามัยรวมถึงการป้องกันและระบบรักษาความปลอดภัยภายในชุมชนสมบูรณ์ด้วย ส่วนความผูกพันต่อชุมชนนั้นทอดโดริ และ ลูลอฟ (G. L. Theodori and A. E. Luloff, 2000: 408) ได้แบ่งความผูกพันต่อสังคมออกเป็น 3 ประการ ได้แก่ ความรู้สึกว่าเป็นบ้าน (feeling at home) การออกจากความเศร้าโศก (sorrow leaving) ความเกี่ยวข้องกับชุมชน (interest in community) วาสเซอร์แมน (Wasserman 1982: 423) ได้แบ่งความผูกพันต่อชุมชนออกเป็น 2 มิติ คือ ความเป็นปึกแผ่นของชุมชน (community solidarity) และความพึงพอใจต่อชุมชน(community satisfaction) ความเป็นปึกแผ่นของชุมชน (community solidarity) หมายถึง ทัศนคติและความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยที่มีต่อคนแต่ละคนในชุมชนทั้งหมด นอกจากนี้ ความผูกพันกับชุมชนยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 มิติ ได้แก่ ครอส (Jennifer E. Cross, 2004) 1) ความผูกพันด้านสถานที่ 2) ความรู้สึกรักชุมชน 3) ความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน 4) ความผูกพันด้านการทำหน้าที่ และ5) ความสัมพันธ์ทางสังคม ทั้งนี้ผลการวิจัยของนัยน์ปพร สุภากรณ์ (2550: 129-130) เรื่อง ความผูกพันกับชุมชนของประชาชนในชุมชนแขวงวัดกัลป์ยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ยังได้นำแนวคิดของครอส ไปศึกษากับความผูกพันกับชุมชนของชุมชนแขวงวัดกัลป์ยาณ์ ได้พบว่า ประชาชนมีระดับความผูกพันกับชุมชนรวมทุกด้านอยู่ในระดับสูง และมีความผูกพันกับชุมชนด้านความรู้สึกรักชุมชนในระดับที่สูงที่สุด รองลงมาคือ ความสัมพันธ์ทางสังคม ร้อยละ 81.2 ความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ร้อยละ 84.8 ความผูกพันกับสถานที่ ร้อยละ 58.3 และความผูกพันด้านการหน้าที่ ตามลำดับ ส่วนปัจจัยต่างๆ ซึ่งไดแก่ อายุ ศาสนา ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ต่อปี ระยะเวลา ที่อยู่อาศัยในชุมชน การเป็นสมาชิกกลุ่มในชุมชน การเป็นเจ้าของบ้าน และชุมชนที่อาศัย มีความผูกพันกับชุมชนของกลุ่มตัวย่างในชุมชนแขวงวัดกัลยาณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้ได้วิเคราะห์วรรณกรรมต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการศึกษาผลกระทบที่เป็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ การดำรงชีวิตและความผูกพันประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าก่อนการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
 
วิธีดำเนินการวิจัย
          หน่วยและพื้นที่ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า ซึ่งผู้วิจัยใช้ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ซึ่งในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า มีประชากรจำนวน 350 คน กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างตามสูตรของ ท่าโร ยามาเน่ (Taro Yamane, 1973: 125) ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 122 คน สำหรับเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม และการสัมภาษณ์ จำนวน 30 คน ใช้วิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยพิจารณาจากระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้ามาแล้วไม่น้อยกว่า 20 ปี แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงปริมาณ โดยใช้สถิติพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้สถิติอ้างอิง เพื่อทำการเปรียบเทียบและทดสอบข้อมูล ได้แก่ Independent - Samples T test (T-test), One-Way ANOVA (F-test) ส่วนการวิเคราะห์แบบสัมภาษณ์ใช้วิธีวิเคราะห์เชิงพรรณา (Descriptive Analysis) ส่วนเกณฑ์ในการวัดระดับความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า คือ ค่าเฉลี่ยระหว่าง 3.68 - 5.00 (สูง) ค่าเฉลี่ยระหว่าง 2.34 - 3.67 (ปานกลาง) และค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.00 - 2.33 (ต่ำ)
 
ผลการวิจัย
          ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าแห่งนี้ในอดีตสร้างขึ้นเพื่อเป็นบ้านพักของคนงานในโรงงานองค์การทอผ้า  กระทรวงกลาโหมทั้งหมด ซึ่งเป็นฝ่ายผลิตผ้าที่ใช้ในการตัดชุดของทหารทุกกรม และทุกกองพัน โดยโรงงานองค์การทอผ้าตั้งอยู่สี่แยกเกียกกาย ตรงข้ามกับชุมชน ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่สร้างสวนสาธารณะของเขตดุสิต มีเฉพาะอาคารส่วนเครื่องจักรได้ถูกย้ายออกไปตั้งแต่ปิดกิจการลงเมื่อ พ.ศ. 2541 แล้ว การปิดกิจการเป็นการยุบโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกายุบเลิกองค์การทอผ้า พ.ศ. 2541" สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้พนักงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานองค์การทอผ้าของกระทรวงกลาโหมพ้นจากการเป็นพนักงานหรือลูกจ้างทันที แต่ถึงอย่างไรทุกคนก็ยังได้รับสิทธิในบ้านพักขององค์การทอผ้า สามารถอยู่ในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าเช่นเดิมตราบจนกระทั่งปัจจุบัน (พ.ศ. 2555) รวมระยะเวลา 14 ปี โดยในชุมชนแบ่งเรือนพักออกเป็น 3 ประเภท คือ เรือนพักนายพัน เรือนพักนายร้อย เรือนแถว 8 แถว โดยในขณะนั้นประชาชนได้ทำการบริหารจัดการชุมชนขึ้นอย่างไม่เป็นทางการแต่เป็นที่รับรู้และรับรองของชาวบ้าน มีลักษณะที่เป็นชุมชนอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2526 กระทั่งปี พ.ศ. 2537 ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าได้ดำเนินการขอจดทะเบียนเป็นชุมชนที่ถูกต้องตามระเบียบของกรุงเทพมหานคร  ซึ่งนายอุบล ม่วงทิม เป็นประธานชุมชน ส่วนอาณาเขตของชุมชนบ้านพักองค์กรทอผ้า เป็นกรรมสิทธิ์ของกรมธนารักษ์ มีพื้นที่ทั้งหมด 8 ไร่ โดยมีพื้นที่ติดต่อกับสถานที่ใกล้เคียงคือ ทิศเหนือติดต่อกับ ถนนทหาร ทิศใต้ติดต่อกับ ชุมชนตรอกตระกูลดิษฐ์ (ยุบเลิกแล้ว) และกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ ทิศตะวันออก ติดต่อกับ โรงเรียนโยธินบูรณะ และทิศตะวักตก ติดต่อกับกรมการขนส่งทหารบก
 
ภาพที่ 2 ลักษณะบ้านพักนายพัน                     ภาพที่ 3 ลักษณะบ้านพักนายร้อย (เล็กกว่า)
                      ภาพที่ 4 บ้านเรือนแถว บ้านพักพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ประชาชนได้ทราบข่าวว่าพื้นที่ชุมชนที่ตนอาศัยอยู่มาตั้งแต่เกิดจะถูกรื้อถอนไปสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ทำให้เกิดภาวะผลกระทบเชิงลบต่อจิตใจของชาวชุมชนเป็นอย่างมาก ทำให้ประชาชนต่างกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เพราะมีความหวาดผวากับอนาคตของตัวเองและครอบครัว ที่ไร้ทิศทางที่จะดำรงชีวิตต่อไป เพราะชุมชนเหมือนบ้านหลังเดียวที่มีอยู่ในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากที่ผ่านมาก็ไม่มีหน่วยงานไหนที่ให้ความชัดเจนกับความเป็นไปในอนาคตของคนและชุมชนเลย รวมถึงรัฐสภายังให้การชดเชยที่ไม่เท่าเทียมกับชุมชนอื่น ๆ ตามทัศนของชาวบ้านว่า “เหลื่อมล้ำ” (อุบล ม่วงทิม, 2554: สัมภาษณ์, 23 พฤษภาคม) การชี้แจงและการทำความเข้าใจให้กับประชาชนไม่ชัดเจนรัฐยังมองประโยชน์ของรัฐเป็นสำคัญกว่าประโยชน์ของประชาชน แต่ถึงอย่างไรถ้าหากมีการใช้พื้นที่จริงที่รัฐกำหนดไว้แล้ว ทางชุมชนแม้ไม่อยากให้เกิดขึ้นก็ตาม แต่ก็ไม่อาจขัดขวางความเจริญของบ้านเมืองได้ ดังนั้นก็ไม่อยากให้รัฐทอดทิ้งประชาชน อย่างน้อยก็หาที่อยู่ใหม่ในที่เหมาะสมให้กับพวกราต่อไป แต่ในขณะนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนและพื้นที่ของประชาชนพบว่า ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าแบ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับการชดเชยที่พักอาศัย จำนวน 79 ครอบครัว และผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนความเสียหายทางจิตใจ และค่าขนย้าย จำนวน 19 ครอบครัว ๆ ละ 60,00 บาท (คณะทำงานกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบจากการปฏิบัติตามพันธกิจที่ 5 เสริมสร้างและพัฒนางานด้านการบริหารจัดการด้านวิชาการ และด้านบริการ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ม.ป.ป)ส่วนพื้นที่และครัวเรือนมีบางหน่วยงานได้สร้างกำแพงทะลุกลางบ้านเรือนของชาวบ้าน ขณะที่บางครัวเรือนได้ย้ายออกไปแล้วดังภาพที่ 5-6
 
 
 
 
 
 
ภาพที่ 5 กำแพงทะลุบ้านเรือนของชาวบ้าน       ภาพที่ 5 สภาพครัวเรือนที่ย้ายออกไปแล้ว
 
การดำรงชีวิตของประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า พบว่า ตั้งแต่อดีตความเป็นอยู่ของประชาชน จะมีความรักสามัคคีกันอย่างมากเนื่องจากว่ามีกฎข้อบังคับที่เป็นกฎของโรงงานทอผ้า พอโรงงานทอผ้ายุบเลิกไปกฏก็ไม่มีแล้ว และต้องพยายามมีชีวิตอยู่ในลักษณะใช้ชีวิตอยู่แบบพอมีพอกิน มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ไม่มีการทะเลาะเบาะกัน อยู่ดีมีสุข ความสัมพันธ์ในครอบครัวอบอุ่น และสิ่งที่เปลี่ยนไปคือลักษณะการใช้ชีวิตของประชาชนจะมีลักษณะทำงานนอกชุมชนมากขึ้น ใช้ชีวิตแบบคนเมืองเช้าไปทำงาน ตอนเย็นกลับบ้าน บางคนอยู่บ้านเฉยๆ วันหยุดวันหยุดก็ไปเที่ยวกับครอบครัวบ้าง ซึ่งทุกคนให้ความคิดเห็นตรงกันว่า ชีวิตประชาชนเป็นแบบวิถีคนเมืองเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของสมชาติ ศิริพิศ (2554: สัมภาษณ์, 23 พฤษภาคม) การประกอบอาชีพของประชาชนหลังจากโรงงานทอผ้ายุบเลิกไปประชาชนส่วนใหญ่ต้องดิ้นรนออกไปหาอาชีพนอกชุมชน เกิดเป็นการประกอบอาชีพที่หลากหลายตามความถนัดของตนเอง เช่น รับราชการ รับจ้าง ค้าขาย ลูกจ้าง เย็บผ้า ลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างหน่วยงานภาครัฐ กทม. บางคนก็ประกอบอาชีพในชุมชน และอีกหลายคนที่ออกไปทำงานนอกชุมชน ซึ่งคำสัมภาษณ์ของราตรี หวานชะเอม อายุ 54 ปี อาศัยอยู่ในชุมชนมาแล้ว 54 ปี (ตั้งแต่เกิด) (2554: สัมภาษณ์, 23 พฤษภาคม) ได้กล่าวว่า “อาชีพที่ชาวบ้านทำอยู่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะไปรับราชการ ค้าขาย ลูกจ้างบริษัทเอกชน เย็บผ้าโหล (รับมาทำที่บ้าน) ทำอาหารส่งกองถ่ายละคร ลูกจ้างกทม. รับจ้าง เป็นต้น” และปัจจุบันยังคงหลงเหลืออาชีพดั้งเดิมที่เป็นตามความสามารถของบุคคลจะมี 1 หลังคาเรือนนั่นคืออาชีพเย็บผ้า จะเป็นลักษณะอาชีพในครัวเรือนที่ไม่เป็นแบบทางการหรือเป็นธุรกิจที่มีรูปแบบชัดเจน แต่เป็นการประกอบอาชีพที่พอเลี้ยงตนเองได้ ส่วนการแหล่งกู้ยืมเพื่อการดำรงชีพของประชาชนจะเป็นแหล่งกู้เงินภายในชุมชน ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์เคหสถาน กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน เป็นกลุ่มที่ผู้มีรายได้น้อย เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ชำระคืนทุกเดือน เพื่อให้ทุนหมุนเวียน โดยจะมีลักษณะกู้ยืมของกลุ่มออมทรัพย์และสหกรณ์ ซึ่งวงเงินไม่เกินสถานะของครอบครัว กู้เพื่อใช้จ่ายในครอบครัว ผ่อนคืนเป็นรายเดือนกู้  10,000 ส่งเดือนละ1,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อเดือน ทั้งนี้ต้องมีคนค้ำประกันและต้องเป็นสมาชิกอย่างน้อย 6 เดือน วงเงินกู้ไม่เกิน 20,000 บาท เฉพาะลูกบ้าน คณะกรรมการ วงเงิน40,000 บาท ในการกู้แต่ละครั้งจะต้องมีการต่อคิวกันเป็นรอบ ๆ ซึ่งรอบหนึ่งประมาณ 5 – 6 คน ใช้หนี้เดือนละ 1,800 ดอกเบี้ยร้อยละบาท ซึ่งจะเป็นการกู้ไปใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งคำสัมภาษณ์ของสมชาติ ศิริพิศ (2554: สัมภาษณ์, 23 พฤษภาคม) กรรมการชุมชน อายุ 57 ปี อาศัยอยู่ในชุมชนมาแล้ว 57 ปี (ตั้งแต่เกิด) ได้กล่าวว่า “กู้เงินในระบบออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์  ต้องมีคนค้ำประกันและต้องเป็นสมาชิกอย่างน้อย 6 เดือน วงเงินกู้ไม่เกิน 20,000 บาท เฉพาะลูกบ้าน คณะกรรมการ วงเงิน 40,000 บาท ในการกู้นั้นต้องมีการต่อคิว รอบหนึ่งประมาณ 5-6 คน ใช้หนี้เดือนละ 1,800 ดอกเบี้ยร้อยละบาท กู้ไปใช้จ่ายในครอบครัว นอกจากนี้ความสัมพันธ์ทางสังคมของประชาชนในชุมชนทั้งที่เป็นความสัมพันธ์ในครอบครัว เครือญาติ ชุมชน และนอกชุมชน พบว่า ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมีความอบอุ่น คอยให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่วนภายนอกชุมชนก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งผู้นำชุมชนเขตดุสิตมีการแบ่งโซนและประชุมเดือนละ 2 ครั้ง แล้วนำข้อมูลมาบอกกล่าวกับประชาชนในชุมชน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำชุมชน คณะกรรมการกับชาวบ้าน พบว่า มีความสัมพันธ์แบบพี่น้อง เหมือนลูกหลาน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่ตลอดเมื่อมีการร้องทุกข์ ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกันโดยเฉพาะในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น กิจกรรมในวันเด็ก วันขึ้นปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงความสัมพันธ์กับหน่วยงานภายนอกทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานราชการโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารรัฐสภาไทยแห่งใหม่ พบว่า จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่โดยจะมีการประชุมเพื่อพิจารณา คัดเลือก เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยให้ชุมชน รวมถึงผลกระทบต่อชุมชน
          ถึงอย่างไรก็ตามประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าก็ยังคงมีความผูกพันโดยภาพรวมอยู่ระดับสูง (ค่าเฉลี่ย 3.86) เมื่อพิจารณาตามรายด้านก็ยังพบว่าทุกด้านอยู่ในระดับสูง ได้แก่ ด้านความผูกพันในสถานที่ (ค่าเฉลี่ย 3.97) ด้านความรู้สึกว่าเป็นบ้าน (ค่าเฉลี่ย 3.89) ด้านความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน (ค่าเฉลี่ย 3.87) ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม และความผูกพันด้านการทำหน้าที่ (ค่าเฉลี่ย 3.82) และด้านความรู้สึกรักชุมชน (ค่าเฉลี่ย 3.80) ดังตารางที่ 1
ลำดับ
ความผูกพันต่อชุมชนของประชาชน
Mean
S.D.
ระดับ
1
ความผูกพันในสถานที่
3.97
0.83
สูง
2
ด้านความรู้สึกรักชุมชน
3.80
0.80
สูง
3
ด้านความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน
3.87
0.85
สูง
4
ด้านความผูกพันการทำหน้าที่ในชุมชน
3.82
0.76
สูง
5
ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม
3.82
0.81
สูง
6
ด้านความรู้สึกว่าเป็นบ้าน
3.89
0.83
สูง
รวม
3.86
0.73
สูง
 
ตารางที่ 1 แสดงระดับความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าโดยภาพรวม
 
ทั้งนี้จากการสัมภาษณ์ประชาชนที่เป็นอดีตพนักงานโรงงานทอผ้า พบว่า ความผูกพันของประชาชนต่อชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ 1) ด้านความรู้สึกผูกพันกับสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชนนั้นรู้สึกผูกพันอย่างมาก เพราะอาศัยอยู่กันมายาวนานมาก ๆ หลายคนอาศัยอยู่มาตั้งแต่เด็ก หลายคนที่อยู่มาตั้งแต่ทำงานในโรงงานทอผ้า ของกระทรวงกลาโหม และหลายครอบครัวบ้านพักในชุมชนถือเป็นบ้านหลังแรกในกรุงเทพมหานครที่เก่าแก่มากตั้งแต่ยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้นเมื่อโรงงานทอผ้ายุบก็เป็นชุมชนอาศัยมาจนถึงปัจจุบันนี้ 2) ด้านความรู้สึกรักชุมชน ประชาชนจะมีความรู้สึกรักโดยมักแสดงออกในการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ช่วยกันทำความสะอาดชุมชน และคอยช่วยเหลือคนในชุมชน และมีการสร้างอาชีพทำมาหากินในชุมชน และเป็นรู้สึกเป็นบ้านที่ดี 3) ด้านความรู้สึกว่าความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนนั้น ซึ่งชุมชนแห่งนี้เคยเป็นชุมชนที่พักของพนักงานโรงงานทอผ้ามาก่อน และประชาชนที่เป็นเจ้าบ้านจึงเป็นผู้ที่เคยประกอบอาชีพในโรงงานองค์การทอผ้าด้วยเช่นกัน 4) ด้านความรู้สึกผูกพันต่อหน้าที่ของประชาชนหลายคนจะอยู่ในกลุ่มที่เป็นผู้นำในชุมชน และมีบทบาทในการทำงานเพราะใจรักในฐานะเป็นกรรมการชุมชน เป็นอาสาสมัครศูนย์สุขภาพ โดยปัจจุบันคณะกรรมการชุมชนและผู้นำในชุมชนได้ทำหน้าที่ดูแลลูกบ้านเป็นอย่างดี มีความรับผิดชอบ ซึ่งการเป็นกรรมการชุมชนถือว่าเป็นจิตอาสาที่จะเสียสละเพื่อสังคมไม่มีผลตอบแทน ใด ๆ จากภาครัฐหรือชุมชน การทำงานให้กับชุมชนจึงทำให้ประชาชนมีความผูกพันกับบทบาทหน้าที่ของกรรมการชุมชนที่แสดงออกมา ซึ่งคนทำงานให้กับชุมชนต้องเป็นผู้ที่มีใจรัก 5) ด้านความสัมพันธ์ทางสังคมนั้น ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกผูกพันกันเหมือนญาติพี่น้อง มีความรักใคร่ห่วงใย ช่วยเหลือกันในทุกๆ เรื่อง เช่น เจ็บป่วย โดยบางวันก็ไปทานข้าวกับเพื่อนบ้าน และปรึกษาหารือร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน รักใคร่กันดี ซึ่งประชาชนในชุมชนจะคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันเสมอ มีสิ่งใดก็เอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน 6) ด้านความรู้สึกเป็นบ้าน ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกต่อชุมชนว่าเป็นบ้านหลังที่สองที่อยู่แล้วมีความสุข รู้สึกสบายใจ มีญาติพี่น้องที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่เด็ก มีมีความรักมีความสามัคคีกันภายในชุมชน มีเพื่อนบ้านที่ดี อบอุ่นสบายใจมาก และที่สำคัญทุกคนมีความรู้สึกที่ตรงกันว่า “ชุมชนนี้อยู่แล้วมีความสุข” ซึ่งคำสัมภาษณ์ของรัชนีวรรณ ปรีทรัพย์ (2554: สัมภาษณ์, 18 พฤษภาคม) กรรมการชุมชน อายุ 58 ปี อาศัยอยู่ในชุมชนมาแล้ว 58 ปี (ตั้งแต่เกิด) ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “ชุมชนแห่งนี้อยู่แล้วมีความสุข รู้สึกสบายใจ มีญาติพี่น้องที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน”
 
อภิปรายผลการวิจัย
นโยบายของรัฐที่ดำเนินการก่อสร้างใด ๆ ก็ตามอันมีผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่ดินและมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนที่มีการอยู่อาศัยกันมาหลายรุ่นจนกลายเป็นวิถีของพื้นที่นั้นไปแล้วย่อมเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อชีวิตจิตใจของผู้ที่อยู่อาศัยหากมีการไล่ รื้อ ถอน ออกจากที่ที่เป็นเสมือนบ้าน การที่รัฐจะต้องตระหนักให้เข้าใจให้อย่างถี่ถ้วนมิใช่ใช้แต่เพียงกฎระเบียบใด ๆ เข้าไปดำเนินการ จะต้องเข้าถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง และต้องมีมาตรการ แนวทางเยียวยา หรือชดเชยที่เหมาะสมที่สุด และต้องลดความเหลื่อมล้ำ หรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วย รวมถึงการเตรียมพร้อมของรัฐที่จะหาพื้นที่ใหม่ในการรองรับการเคลื่อนย้ายของประชาชนหรือชุมชนนั้นด้วย เช่นเดียวกันกับนโยบายของรัฐต่อการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่ประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งต่อพื้นที่ที่อยู่อาศัย การดำรงชีวิตรวมถึงความผูกพันทางจิตใจของประชาชน ซึ่งผลกระทบต่อพื้นที่นั้นมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เช่น การพังบ้านเรือนเพื่อสร้างกำแพงเป็นเขตกั้นหน่วยงานของรัฐ การย้ายออกไปของบางครัวเรือน(ครอบครัวที่สอง) ที่ได้รับการชดเชยแล้ว แต่ครอบครัวหลักที่เป็นอดีตพนักงานโรงงานองค์การทอผ้ายังปักหลักอาศัยอยู่ในชุมชนต่อไปจนกว่าจะได้รับการชดเชยพื้นที่อาศัยใหม่หรือได้รับการชดเชยที่เป็นธรรมให้กับครัวเรือนอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนผลกระทบต่อการดำรงชีพนั้นประชาชนหลายคนต้องเตรียมสำรองอาชีพรองไว้เป็นการเตรียมเพื่อรองรับการที่จะเคลื่อนย้ายไปในแหล่งที่ไม่คุ้นเคย แต่โดยภาพรวมยังคงดำรงชีพกันอย่างปกติ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือการใช้เวลาแต่ละวันให้มีค่าที่สุด หลายคนเริ่มกลับมาทานข้าวร่วมกันในครอบครัว เวลาว่างได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวและในชุมชนมากขึ้น ทำให้ประชาชนในชุมชนมีความรู้สึกผูกพันต่อสมาชิก(เพื่อนบ้าน)ในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้ามากขึ้น ,uความรู้สึกผูกพันในสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน มีความรู้สึกว่าเป็นบ้านหลังใหญ่ที่อยู่ร่วมกัน และชุมชนมีความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนอย่างชัดเจน เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าจำนวนมากอาศัยมากกว่า 20 ปีขึ้นไป และจะเห็นว่าผู้ที่เป็นอดีตพนักงานโรงงานทอผ้ายังอาศัยอยู่ในชุมชนจำนวนมากหลายคนที่อยู่มาตั้งแต่เกิด ทำให้ประชาชนจำนวนมากหรือเกือบทุกคนเป็นเพื่อนบ้านที่สนิทสนมคุ้นเคยกันภายในชุมชน มีการพบปะ พูดคุยสนทนาปรึกษาและขอความช่วยเหลือระหว่างกันแทบทุก ๆ วัน การมีความอบอุ่นใจที่ได้รับมิตรภาพที่ดี ๆ จากเพื่อนบ้าน และสิ่งสำคัญที่สุดทุกคนมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า รู้สึกผูกพันกับสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน และชุมชนนี้เป็นเสมือนบ้านหลังใหญ่เป็นบ้านหลังที่สองที่ต้องคอยดูแลปกป้อง ดังคำสัมภาษณ์ของรัชนีวรรณ ปรีทรัพย์ (2554: สัมภาษณ์, 18 พฤษภาคม)กรรมการชุมชน อายุ 58 ปี อาศัยอยู่ในชุมชนมาแล้ว 58 ปี (ตั้งแต่เกิด) ที่กล่าวว่า “...ชุมชนแห่งนี้อยู่แล้วมีความสุข รู้สึกสบายใจ มีญาติพี่น้องที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน...” จึงทำให้ประชาชนในชุมชนมีความผูกพันกับชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าในระดับสูงนั่นเอง
 
ข้อเสนอแนะ
1. หน่วยงานภาครัฐที่มีความรับผิดชอบในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ต้องมีการประชาสัมพันธ์ด้วยข้อมูลที่เป็นจริง (นำเสนออย่างเป็นทางการ) และส่งผ่านถึงประชาชนในพื้นที่โดยตรง เพื่อเป็นข่าวที่น่าเชื่อถือและเป็นเพียงกระแสเดียวที่ชาวบ้านจะลดความวิตกกังวลลงได้ในการดำรงชีวิตอยู่พื้นที่เขตการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
2. หน่วยงานภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนทุกด้านเพื่อสร้างขวัญกำลังใจในตนเอง และสร้างความเข้มแข็งให้เกิดในครอบครัว ตลอดจนเตรียมการด้านอาชีพหน้าที่การงานที่จะไม่ให้มีผลกระทบ หรือมีผลกระทบน้อยที่สุด ที่สำคัญควรมีการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษากับประชาชนในพื้นที่เพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชนด้วย
 
การอ้างอิง (References)
คณะทำงานกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบจากการปฏิบัติตามพันธกิจที่ 5 เสริมสร้างและพัฒนางานด้านการบริหารจัดการด้านวิชาการ และด้านบริการ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (ม.ป.ป.) เอกสารเผยแผ่ มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง “โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่”.
คณะสถาปัตยกรรมสาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2545). โครงการจัดทำผังเบื้องต้นศูนย์ราชการรัฐสภาแห่งใหม่. รายงานฉบับสมบุรณ์เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
นัยน์ปพร สุภากรณ์. (2550). ความผูกพันกับชุมชนของประชาชนในชุมชนแขวงวัดกัลป์ยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สังคมวิทยาประยุกต์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
บุญสนอง บุณโยทยาน. (2515). มนุษย์กับสังคม. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พรรณี แววงามและปัทมา จิตมั่น, (2553, 10 ธันวาคม). อาสาสมัครสาธารณสุขศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า.  สัมภาษณ์.
รัชนีวรรณ ปรีทรัพย์, (2554, 18 พฤษภาคม). เลขานุการประธานชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า. สัมภาษณ์.
รัฐสภา, โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่. (2554, 16 ธันวาคม). คลังภาพ การเตรียมพื้นที่. จากhttp://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_news.php?nid=17336&filename=index  สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2554.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2539). พจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตยสถาน พ..2525. กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสถาน.
ราตรี หวานชะเอม, (2554, 23 พฤษภาคม). อาสาสมัครสาธารณสุขศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า. สัมภาษณ์.
สมชาติ ศิริพิศ, (2554, 23 พฤษภาคม). ประชาชนในชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า. สัมภาษณ์.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2549). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่สิบ (พ.ศ. 2550-2554). กรุงเทพฯ: สำนักนายกรัฐมนตรี.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2552). ประกาศคณะกรรมการตัดสิน เรื่อง การประกวดการออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ขั้นตอนที่ 2. ประกาศ ณ วันที่ 2 เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2552, โดยนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา, ประธานกรรมการ.
 
สุขศิริ บุญเรือง. (2546). การปลูกไม้ดอกไม้ประดับกับวิถีชีวิตของชุมชน : กรณีศึกษาบ้านศิลา ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปะศาสตร มหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษาเพื่อการพัฒนา สถาบันราชภัฏเลย.
สุพัตรา สุภาพ. (2541). สังคมและวัฒนธรรมไทย ค่านิยม : ศาสนา : ประเพณี. พิมพ์ครั้งที่ 9.กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. (2551). รัฐสภาแห่งใหม่ บนน้ำตาชาว “เกียกกาย” ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม 2551 ฉบับที่ 11115.
หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์. (2553, 12 กรกฎาคม). รัฐสภาจ่ายเงินชดเชยสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ให้แก่ 56 ครอบครัว. จาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1278909589&grpid=03&catid=00 สืบค้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554.
หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์. (2553, 12 สิงหาคม). พระบรมฯ”ทรงเป็นองค์ประธานวางศิลาฤกษ์”รัฐสภา”แห่งใหม่. จาก http://www.matichon.co.th/ สืบค้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2554.
อุบล ม่วงทิม, (2554, 23 พฤษภาคม). ประธานชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า. สัมภาษณ์.
Jennifer E. Cross. (2004). “Improving Measure of Community Attachment” Prepared For the annual Meeting of the Rural Sociology Society. August 12-15.
Theodori, G. L. and A. E. Luloff. (2000). Urbanization and Community Attachment in Rural Areas in Society & Natural Resources, Taylor & Francis, 13 : 399-420.
Wasserman, Ira M. (1982). “Size of place in relation to community attachment and satisfaction with community services” in Social Indicators Research. 11.
Yamane, Taro. (1973). Statistics : An Introductory Analysis (3 rd ed.). Tokyo : Harper.
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น