วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วิถีการดำเนินชีวิตของครอบครัวทหาร ชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร



เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

Military families’ way of living in Royal Guards Community

of Dusit District, Bangkok.

 

ภูสิทธ์  ขันติกุล

สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสังคม

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

 

บทคัดย่อ

 

การศึกษาวิถีการดำเนินชีวิตของครอบครัวทหาร ชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิถีการดำเนินชีวิตของครอบครัวทหารในชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานครและสภาพทั่วไป รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชน โดยใช้วิธีการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ กำหนดกลุ่มผู้ให้ข้อมูล(Key Informant) แบบไม่ใช้ความน่าจะเป็น (Non-Probability Sampling) คือ แบบเจาะจง (Purposive Sampling) สำหรับสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน และใช้แบบสโนว์บอล (Snowball Sampling) สำหรับสัมภาษณ์คณะกรรมการชุมชนและผู้อาวุโสที่เคารพของคนในชุมชนซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป จำนวน 15 คน หรือจนกว่าข้อมูลจะสมบูรณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เอกสาร เนื้อหาได้รับจากข้อมูลสัมภาษณ์ สังเกตบริบททางสังคมที่เกิดขึ้นจริงเป็นหลัก พบว่า ลักษณะทั่วไปของชุมชนยานเกราะ เป็นชุมชนจัดตั้งที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมตั้งอยู่ในค่ายทหาร การเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนขึ้นอยู่กับนโยบายของหน่วยงาน เพราะว่าชุมชนทหารมีลักษณะที่เด่นชัดคือการเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา ด้านสังคมและเศรษฐกิจ พบว่า ค่านิยมทางสังคมของผู้คนในชุมชนจะเป็นลักษณะการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย และพยายามยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และจะมีค่านิยมในการยึดถือเกียรติและศักดิ์ศรี เนื่องจากเป็นข้าราชการและครอบครัวทหาร ซึ่งจะถูกปลูกฝังในเรื่องนี้มาก คนในชุมชนจะไม่มีค่านิยมที่เป็นวัตถุนิยมและตามสมัยนิยมจนเกินไป ทางการศึกษานั้นจะนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนใกล้บ้าน ส่วนด้านเศรษฐกิจ พบว่า อาชีพของคนในชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการทหาร ส่วนแม่บ้านช่วยเหลือรายได้ของครอบครัวโดยการค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในชุมชน และมีการประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป แต่ประชาชนก็มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ก่อให้เกิดการกู้ยืมจากหน่วยงานบ้าง หรือกู้ยืมกันเองบ้าง จะมีลักษณะพึ่งพาอาศัยกันมากกว่า ส่วนด้านวัฒนธรรมความเชื่อนั้น พบว่า ชุมชนยานเกราะ มีความเชื่อตามหลักศาสนาพุทธเหมือนประชาชนในชุมชนเมืองทั่วไป มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ถือปฏิบัติตามประเพณีสากลโดยทั่วไป เช่น ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ ประเพณีสงกรานต์ เป็นหลัก ที่สำคัญของการดำเนินชีวิตของครอบครัวทหารจะมีความเชื่อมโยงกับการยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์อย่างมั่นคง

คำสำคัญ: วิถีการดำเนินชีวิต, ครอบครัวทหาร, ชุมชนยานเกราะ

 

ABSTRACT

 

This research aims to study way of living “Royal Guards Community” in Dusit District, Bangkok which concentrated on community way of living, generalization of community to find out the key factors which influenced the way of life of this community.  In order to complete the purposes, this research focused on qualitative methods. Research instruments used are interviewing key local informants by used Purposive Sampling technique, who lived in the community from 8 years, more and the Snowball Sampling technique for interviewing 15 scholars or more, until the information are completed. Inductive and content analysis is the main used to ascertain information of the “Royal Guards Community” way of living.

It has been found that generalization of “Royal Guards Community” had diversified culture within community, this is community organization, course of community members’ background come from many provincial part of Thailand which have their own local culture. The change within community will rely on their Dienst policies. The outstanding characteristics of soldier community are respect and comply with their commander. In social and economic dimension had been found that theirs way of life are contentedly. On the contrary, they place a premium on the honor. These attitude are always been found in the soldier or government officer family. The parents prefer to send their descendant to study in the school near their community. Most of community members work as soldier which rather low salary, lead to their dept problem. Some family’s house wife open small grocer’s shops in front of their community, some work in private company purpose to increase their family income.

“Royal Guards Community” had belief and faith in Buddhism. The community still conserved their tradition which is Songkran and New Year Festival. Obviously, military families’ way of living had connected to the loyalty and give high respect to the Royal institution same as all Thai people.

Key words: Way of Living, Military families, Royal Guards Community,

 

บทนำ/Introduction

ราวปีพ.ศ. 2441 พื้นที่เขตดุสิต หรืออำเภอดุสิตในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งพระองค์ทรงใช้เงินพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นเงินส่วนพระองค์ซื้อที่ดินทางด้านเหนือของพระนครซึ่งเป็นส่วนที่ต่อกับที่นาระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมกับคลองสามเสน โปรดให้สร้างที่ประทับถาวรขึ้นพระราชทานนามว่า วังสวนดุสิต ต่อจากนั้นได้สร้างถนนรอบสวนดุสิต มีถนนซางฮี้(ราชวิถี) โอบด้านหลัง ถนนดวงตะวัน (ศรีอยุธยา) โอบด้านหน้า ถนนลก (พระรามที่ 5) โอบด้านตะวันออก และมีถนนสามเสนตอนตั้งแต่คลองผดุงกรุงเกษม ขึ้นไปจนถึงคลองสามเสน (กนกวรรณ ชัยทัต, 2548 : 55-59) การแบ่งพื้นที่ชัดเจนของเขตดุสิต เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 ทางกระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศกระทรวง ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2532 แยกพื้นที่แขวงบางซื่อออกจากเขตดุสิต ตั้งเป็นเขตบางซื่ออีกเขตหนึ่ง จึงทำให้เขตดุสิตมีพื้นที่โดยรวม 10.66 ตารางกิโลเมตร มี 5 แขวง คือ แขวงดุสิต แขวงวชิรพยาบาล แขวงสวนจิตรลดา แขวงสี่แยกมหานาค และแขวงถนนนครไชยศรี มีประชากร 115,529 คน (สถิติเดือนกันยายน พ.ศ. 2552) (สำนักงานเขตดุสิต, มปป. : 10) การเปิดพื้นที่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นความเปลี่ยนแปลงได้หลั่งไหลเข้าสู่เขตดุสิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ราชการทั้งสถานศึกษา พื้นที่ทหารพื้นที่วัด พื้นที่ราชการอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ดังนั้นการตั้งถิ่นฐานของประชาชนในเขตดุสิตจึงมีลักษณะที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามการใช้พื้นที่ของผู้ถือกรรมสิทธิ์ เช่น พื้นที่เช่าของวัด พื้นที่เช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พื้นที่ของทหาร พื้นที่ของเอกชน และพื้นที่ส่วนบุคคล ชุมชนที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะเป็นชุมชนแออัดบ้าง ชุมชนเมืองบ้างและเคหะชุมชนบ้าง เมื่อชุมชนตั้งอยู่ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ย่อมเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงของสังคมใดสังคมหนึ่งอาจเกิดขึ้นจากการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ แพร่กระจายไปยังแหล่งอื่น ๆ ทั้งความคิด และพฤติกรรม (ผลของความคิด) ที่ติดตัวบุคคล ซึ่งบุคคลนั้นไปถึงที่ใดวัฒนธรรมก็จะไปถึงที่นั้นด้วย (นิยพรรณ (พลวัฒนะ) วรรณศิริ, 2550 : 85) การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เองที่ส่งผลต่อวิถีในการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วย ซึ่งคำว่า “วิถีชีวิต” ดังกล่าวนั้นหมายความว่าการแสดงพฤติกรรม ต่าง ๆ เป็นประจำวันอย่างสม่ำเสมอ เป็นนิสัย ซึ่งจะสะท้อนทัศนคติ และวัฒนธรรมของบุคคล เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคลในเรื่องที่อยู่อาศัย ลักษณะครอบครัว ขนบธรรมเนียมประเพณี การดูแลสุขภาพ พฤติกรรมสุขภาพของบุคคลนั้น จะได้รับอิทธิพลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสิ่งแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ความแตกต่างของรายได้ การศึกษา อาชีพ ความเชื่อของบุคคล จะเป็นตัวกำหนดทำให้เกิดความแตกต่างของกิจกรรมในชีวิตประจำวัน (นันทพร ศรีสุทธะ, 2544 : 8) วิถีชีวิตของชุมชนหนึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเหมือนอีกชุมชนหนึ่งได้เพราะแต่ละชุมชนมักจะสะท้อนวัฒนธรรมองค์กรของตนเองไว้อย่างชัดเจน มีความเป็นเอกลักษณ์ไว้โดยเฉพาะของชุมชน เช่น ชุมชนที่อยู่ในเขตทหาร ชุมชนที่เป็นบ้านพักของทหารต่าง ๆ เป็นต้น และ 1 ใน 44 ชุมชนของเขตดุสิต ที่ผู้ศึกษาสนใจคือ ชุมชนยานเกราะ แขวงถนนนครไชยศรี มีลักษณะเป็นเคหะชุมชน เป็นชุมชนเก่าแก่ชุมชนหนึ่งโดยจัดเป็นชุมชนบ้านพักของนายทหารชั้นสัญญาบัตรและข้าราชการทหารชั้นประทวน ที่ประกอบด้วยหัวหน้าครอบครัวจะเป็นทหารในสังกัดกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน 4 รอ.) กระทรวงกลาโหม และครอบครัวของทหารเหล่านั้น โดยปัจจุบันมีจำนวน 290 ครัวเรือน

ความเป็นชุมชนในค่ายทหารนี้เองที่ทำให้ผู้ศึกษาเกิดคำถามที่ว่า ชุมชนที่อยู่ในค่ายทหารมักเป็นชุมชนที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก มีเอกลักษณ์เฉพาะ มีวิถีการดำเนินชีวิตของครอบครัวทหารในรอบวันเป็นอย่างไร มีปัจจัยใดที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชน ซึ่งถ้าหากไม่ได้ทำการศึกษาไว้จะทำให้คนภายนอกชุมชนไม่สามารถรับรู้วิถีชีวิตของครอบครัวทหาร สภาพทั่วไปของชุมชนที่อยู่ในค่ายทหารแตกต่างกับชุมชนภายนอกเขตทหารอย่างไร นอกจากนี้การศึกษาครั้งนี้จะทำให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักและรับรู้ในวิถีของคนในชุมชนของทหาร ซึ่งสิ่งที่ดีงามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนจะเป็นแบบอย่างในนำไปปฏิบัติของชุมชนอื่น ๆ ได้

 

วัตถุประสงคของการวิจัย/AIMS

เพื่อศึกษาวิถีการดำเนินชีวิตของครอบครัวทหารและสภาพทั่วไป รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชนยานเกราะ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

 

อุปกรณและวิธีดำเนินการวิจัย/Materials and methods

                วิธีการศึกษาเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ กำหนดกลุ่มผู้ให้ข้อมูล(Key Informant) แบบไม่ใช้ความน่าจะเป็น (Non-Probability Sampling) คือ แบบเจาะจง (Purposive Sampling) สำหรับสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน และใช้แบบ สโนว์บอล (Snowball Sampling) สำหรับสัมภาษณ์คณะกรรมการชุมชนและผู้อาวุโสที่เคารพของคนในชุมชนซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป จำนวน 15 คน หรือจนกว่าข้อมูลจะสมบูรณ์ โดยแบบสัมภาษณ์ ที่มีโครงสร้างโดยสัมภาษณ์เกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิตของครอบทหาร สภาพทั่วไปและปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชน และใช้วิธีการสังเกตการดำเนินชีวิตที่เกิดขึ้นเชิงประจักษ์ของผู้วิจัยแล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เชิงตรรกะเหตุผลเป็นหลัก และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการตีความสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (inductive) รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหาซึ่งได้จากการศึกษาเอกสาร (Document Research) ในการวิเคราะห์เอกสารผู้ศึกษาต้องคำนึงถึงบริบท (Context) หรือสภาพแวดล้อมของข้อมูลเอกสาร และการเขียนรายงานเป็นการเขียนเชิงเล่าเรื่อง (Narrative) โดยนำเสนอผลการศึกษาในลักษณะการบรรยายในเชิงพรรณนา

 

ผลการวิจัย/Results

สภาพทั่วไปของชุมชนยานเกราะจากอดีตสู่ปัจจุบัน ก่อนการตั้งชุมชนอย่างเป็นทางการ พ.ศ. 2546 มีลักษณะเป็นที่พักของทหารชุมชนหนึ่งซึ่งตั้งรกรากอยู่ไม่ไกลนักจากริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำลำคลองที่ไหลผ่านชุมชนและมีการค้าขายทางผ่านชุมชนมาตลอด ลักษณะที่พักอาศัยจะเป็นบ้านไม้ มีรั้วรอบขอบชิด โดยตั้งอยู่ที่ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี ซึ่งต่อมาในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นแฟลต และ บ้านพักซึ่งมีลักษณะเป็นทาวน์เฮ้าส์สองชั้น ยังคงมีความเป็นอดีตเช่นเดิม นอกจากนี้ยังมีสนามเด็กเล่น และสวนสุขภาพให้ประชาชนได้พักผ่อนหย่อนใจหรือออกกำลังกายด้วย การเป็นชุมชนจัดตั้งโดยทหารจึงมีสิ่งอำนวยความสะดวก และสาธารณูปโภคค่อนข้างสมบูรณ์ครบครัน ทั้งโทรศัพท์สาธารณะ ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา สนามกีฬา ร้านค้าต่าง ๆ รวมถึงความปลอดภัยในชุมชน ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยในระดับที่ดี เนื่องจากเป็นชุมชนตั้งอยู่ในเขตทหาร จึงมีการตรวจตราการเข้าออกของบุคคลภายนอก ถึงอย่างไรยังมีปัญหาการลักเล็กขโมยอยู่แต่จะน้อยมากซึ่งทางหัวหน้าชุมชนก็จะใช้ระเบียบข้อบังคับของชุมชน เข้ามาแก้ปัญหา นอกจากนี้บริบทที่มีความสำคัญสามารถบ่งชี้ถึงที่ตั้งของชุมชนนั่นคือ อาณาเขตของชุมชน โดยมีเนื้อที่ของชุมชนโดยรวมประมาณ 178 ไร่ 99 ตารางวา ทิศเหนือ ติดกับโรงเรียนโยธินบูรณะ ทิศใต้ ติดกับบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ทิศตะวันออกติดกับกองบัญชาการกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ ทิศตะวันตก ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีลักษณะของอาคารบ้านเรือนแบ่งเป็นที่พักของนายทหารชั้นสัญญาบัตรหรือที่เรียกว่า อาคารนายทหาร มี 1 อาคารโดยมีพื้นที่ใช้สอยภายในตัวเรือนมากกว่าของข้าราชการชั้นประทวน คือ ภายในจะประกอบด้วยห้อง 2 ห้อง โดยอาคารนายทหารจะมีความกว้างกว่า แฟลตเล็กน้อย และมีบ้านทาวน์เฮาส์ 2 อาคาร ซึ่งเป็นที่พักของ จ่าอาวุโส ส่วนสภาพทางสังคมและวัฒนธรรมโดยภาพรวมของประชาชนในชุมชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด โดยย้ายตามหัวหน้าครอบครัวมาพักอาศัยที่บ้านพักของทางหน่วยงานทหารจัดไว้ให้จึงทำให้เกิดการผสมผสานวัฒนธรรมของตนเองเข้ากับวัฒนธรรมคนเมืองหลวง ดังจะเห็นได้จากเยาวชนในชุมชนจะมีการใช้ชีวิตตามแบบ วิถีชีวิตคนเมือง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีโอกาสได้หยุดพักนาน ๆ หัวหน้าครอบครัวจะนิยมพาครอบครัวเป็นคนต่างจังหวัดและยังพาลูกหลานกลับไปเยี่ยมบ้านที่ต่างจังหวัดเสมอ ในด้านงานประเพณี เช่น ประเพณีปีใหม่ สงกรานต์ ทางหน่วยงานทหารก็จะจัดให้มีงานเป็นประจำทุกปี และประชาชนจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมของทางหน่วยงานอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบการห้ามของชุมชน เช่น การห้ามนำสุนัขเข้ามาเลี้ยงในชุมชน ทุกวันพุธให้ร่วมกันทำความสะอาดของชุมชน ส่วนการทำบุญตักบาตร ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ครอบครัวทหารให้ความสำคัญอย่างมากและกระทำอย่างเป็นปกติ ทั้งในช่วงวันธรรมดา วันพระ หรือ วันหยุดเสาร์อาทิตย์ มักจะนิยมไปทำบุญ ฟังพระสวดเทศนา ที่วัดใกล้บ้าน เช่น วัดแก้วฟ้าจุฬามณี  วัดจันทร์สโมสร วัดประชาระบือธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ความโดดเด่นทางวัฒนธรรมองค์กรของชุมชนทหาร คือการมีวัฒนธรรมของข้าราชการทหารที่ให้ความเคารพผู้บังคับบัญชาทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ รวมถึงคนในชุมชนก็จะให้ความเคารพตามลำดับอาวุโส นอกจากนั้นยังมีการเข้าค่ายฝึกอบรมเรื่อง การเคารพผู้ใหญ่และความมีระเบียบวินัย จากการสังเกตพบว่า เมื่อมีการเดินผ่าน หรือ พบกัน ผู้น้อยก็จะไหว้ทำความเคารพผู้ใหญ่ ซึ่งก็เป็นวัฒนธรรมการแสดงความเคารพของทหาร นอกจากนี้มีการปลูกฝังให้เยาวชนรุ่นใหม่ มีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติ รวมถึงการห่างไกลยาเสพติด จนได้รับรางวัลชุมชนเข็มแข็ง ของ กอ.รมน. ภาค 1 และ รางวัล ชุมชนเข็มแข็งของศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด นับเป็นแบบอย่างและต้นแบบที่ดีสำหรับชุมชนอื่น ๆ ในด้านความเสียสละเพื่อส่วนรวม และ ความจงรักภักดี ต่อชาติ ศาสตร์ กษัตริย์ รวมถึงสร้างความสามัคคีกลมเกลียงของคนในชุมชนและพื้นที่โดยรอบชุมชนได้อย่างดี ส่วนสภาพทางการประกอบอาชีพของชุมชน พบว่า สมาชิกที่เป็นหัวหน้าชุมชนส่วนใหญ่จะรับราชการทหาร ซึ่งจะทำงานในสำนักงานกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน 4 รอ.) ส่วนแม่บ้านหรือภรรยาของนายทหารบางครอบครัวจะประกอบอาชีพเสริม โดยการเปิดร้านค้าขายเล็ก ๆ บริเวณหน้าทางเข้าชุมชน (เป็นรายขายของชำทั่วไป) หรือในชุมชนเองด้วย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแม่บ้านไม่ได้ประกอบอาชีพเสริมใด ๆ บางส่วนจะได้รับการส่งไปอบรมกับทางกรุงเทพมหานคร เพื่อมาทำสินค้าที่ระลึกของชุมชน ซึ่งสามารถทำรายได้เสริมให้แก่แม่บ้าน โดยที่สินค้าที่ทำ มีราคาเริ่มต้นที่ 300 1,000 บาท ดังนั้นโดยภาพรวมของการดำรงชีพของประชาชนในชุมชนมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน มีความใกล้ชิดสนิมสนมกันทั้งชุมชน เมื่อมีงานของชุมชน สมาชิกในชุมชนก็จะให้ความร่วมมือเข้าร่วมกิจกรรม หรือ ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ หัวหน้าชุมชนเป็นบุคคลที่มีความเข้มแข็งและเสียสละเป็นอย่างมาก โดยสังเกตจากโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนนั่นเอง

การดำเนินชีวิตของครอบครัวทหารในรอบวัน จะพบว่า ในรอบ 1 วันของการดำเนินชีวิตของทหารและครอบทหารที่มีบ้านพักอยู่ในค่ายทหารจะมีลักษณะบางอย่างจะเหมือนการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปแต่จะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันบางประการตามผลของการสัมภาษณ์สามารถสรุปได้ดังตารางต่อไปนี้

เวลา
กิจกรรม/กิจวัตรของทหารและสมาชิกครอบครัวทหาร
05.30 น.
ประชาชนส่วนใหญ่จะตื่นนอนเพื่อเตรียมอาหารตักบาตรร่วมกันในชุมชน
06.00 น.
ร่วมกันตักบาตร
07.30 น.
รับประทานอาหารร่วมกัน
-          ทหาร(พ่อบ้าน)จะเตรียมตัวไปทำงานโดยจะทำงานในกรมที่สำนักงานกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน 4 รอ.)
-          ส่วนลูก ๆ จะเตรียมตัวไปโรงเรียนโดยภรรยาทหาร(แม่บ้าน)ไปส่งที่โรงเรียนใกล้บ้าน
-          ส่วนแม่บ้านที่มีร้านค้าเสริมช่วยพ่อบ้านจะเตรียมตัวเปิดร้านค้าขาย
-          ส่วนวัยทำงานที่อาศัยอยู่ในชุมชนจะออกจากชุมชนเพื่อไปทำงานในหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนทั่วไป
08.00 – 08.30 น.
เคารพธงชาติ และผู้บังคับบัญชาจะทำการอบรมชี้แจงภาระงาน หน้าที่ในแต่ละวัน รวมถึงจ่ายงานที่เร่งด่วนให้กับทุกคนได้รับผิดชอบ (ซึ่งทหารต้องปฏิบัติตามเวลานี้ทุกวัน)
08.30 – 11.00 น.
ช่วงเวลาทำงานภาคเช้าตามที่ได้ชี้แจงจากผู้บังคับชัญชา
11.00 – 13.00 น.
ทหาร(พ่อบ้าน)จะกลับที่พักไปรับประทานอาหารร่วมกับแม่บ้าน
13.00 – 16.30 น.
ช่วงเวลาทำงานภาคบ่าย
16.30 น.
มีการรวมพล ผู้บังคับบัญชาชี้แจงและทบทวนภาระหน้าที่ที่ปฏิบัติในแต่ละวัน((ซึ่งทหารต้องปฏิบัติตามเวลานี้ทุกวัน)
17.00 – 18.00 น.
ประชาชนในชุมชนจะออกกำลังกายร่วมกัน เด็ก ๆ จะเล่นที่สนามเด็กเล่นหน้าที่อาคารที่พัก
18.0019.00 น.
รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน ซึ่งเป็นช่วงที่มีความสำคัญมากต่อการสร้างความกลมเกลียวเหนี่ยวแน่นภายในครอบครัว
-          ทหาร(พ่อบ้าน)จะทำการอบรมสมาชิกในครอบครัวเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา
-          การยึดมั่นในสถาบันการปกครอง สถาบันพระมหากษัตริย์
-          สนทนาเกี่ยวกับเรื่องกฎระเบียบ ข้อบังคับอื่น ๆ ที่หน่วยงานกำหนดมา
-          การแสดงความเคารพต่อผู้บังคับบัญชา
21.00 น.
อาคารจะปิดไฟให้หมดของชุมชน แต่จะมีไฟฟ้าที่เสี่ยงในชุมชน และทุกคนเข้าใจตรงกันว่าถึงเวลาที่จะต้องการพักผ่อน(เข้านอน)

ตารางที่ 1 แสดงการดำเนินชีวิตของครอบครัวทหารในรอบวัน

การแสดงความเคารพของผู้ใต้บังคับชาและผู้บังคับบัญชา ผู้ที่มียศน้อยกว่าจะแสดงความเคารพผู้มียศมากกว่าทั้งในเวลาช่วงทำงานและนอกเวลาทำงาน ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

 

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชนพบว่า ปัจจัยที่ทำให้ชุมชนเปลี่ยนแปลงไป เกิดจากปัจจัยภายในชุมชนที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัดกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน 4 รอ.) ซึ่งสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของคณะกรรมการชุมชนพบว่า “ชุมชนจะเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของผู้บังคับบัญชาหน่วยงานต้นสังกัด และนโยบายของรัฐบาลที่มีผลต่อการพัฒนาชุมชน”

 

สรุปและอภิปรายผล/Conclusions and Discussion

สภาพของชุมชนโดยทั่วไป ค่อนข้างมีระเบียบเนื่องจากเป็นชุมชนทหาร จึงมีกฎระเบียบข้อบังคับของชุมชนที่ชัดเจน ระบบสาธารณูปโภค และ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ค่อนข้างสมบูรณ์ ครบครัน สมาชิกในชุมชนมีความรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี สังเกตได้จากการสอบถามข้อมูล ทุกครอบครัวจะตอบว่า รู้จักกันหมด เนื่องจากทำงานในหน่วยงานเดียวกัน และอยู่ในชุมชนมาเป็นเวลายาวนาน และมีการทำความเคารพกันเมื่อพบกัน แสดงถึงวัฒนธรรมของทหารซึ่งเคารพผู้บังคับบัญชา แม้ว่าผู้บังคับบัญชาจะมีอายุน้อยกว่าก็ตาม สมาชิกในชุมชนมีความเป็นมิตร เต็มใจที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีวิถีชีวิตที่ยึดมั่นในหลักเศรษฐกิจพอเพียงอยู่กันแบบเรียบง่ายแบบพี่น้อง ถึงแม้จะมาจากหลากหลายภูมิลำเนาก็ตาม ซึ่งสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของหัวหน้าชุมชนยานเกราะ ที่ว่า สมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่จะมาจากต่างจังหวัด ร้อยละ 70 ทุกคนก็อยู่กันแบบพี่ ๆ น้อง ๆ พึ่งพาอาศัยกันในชุมชน เวลาขอความร่วมมือก็มักจะมาร่วมกิจกรรมกันทั้งครอบครัว ในการประกอบอาชีพนั้นทุกครอบครัวมีหัวหน้าครอบครัวเป็นทหาร ส่วนแม่บ้านบางคนมีการประกอบอาชีพค้าขายบ้างโดยมีการประยุกต์ที่พักอาศัยให้เป็นร้านขายของชำเล็ก ๆ ภายในชุมชน ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกันทุกชุมชน

นอกจากนี้ประชาชนในชุมชุนส่วนใหญ่ ร้อยละ 99 เป็นชาวพุทธ ซึ่งยังคงสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีการทำบุญตักบาตรไหว้พระ ในวันสำคัญทางพุธศาสนา การไปวัด ฟังเทศน์ ฟังธรรม ในวัดใกล้ชุมชน และยังรักษาการจัดประเพณีวันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันเด็ก เป็นประจำทุกปี สอดคล้องกับผลการวิจัยของ วิวัฒนชัย บุญญานุพงศ์ (2544 : บทคัดย่อ) ได้ทำการวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชน : ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนมอญบ้านเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ผลการวิจัยพบว่า ประชาชนมี    ส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชนในกิจกรรมการทำบุญในวันสงกรานต์เป็นประจำสูงกว่ากิจกรรมอื่น ๆ เพราะเป็นประเพณีที่แสดงออกได้ถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และขอพรผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของชาวมอญเกาะเกร็ด และงานวิจัยของ สุกัญญา บูรณเดชาชัย (2549 : 47-67) ได้ทำการวิจัยเรื่อง วิถีชีวิตและกระบวนการทำประมง : กรณีศึกษาหมู่บ้านหาดวอนนภา หมู่ที่ 14 ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ผลการวิจัย พบว่า ด้านประเพณีและพิธีกรรม ประชาชนจะมีการจัดทำบุญตามประเพณีตลอดทั้งปี ซึ่งเดือนมกราคม จัดทำบุญในวันปีใหม่ ส่วนเดือนเมษายน จัดทำบุญวันสงกรานต์ตามประเพณีและปฏิบัติสืบทอดกันมาโดยตลอด

ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนทหารทำให้สามารถสังเกตเห็นได้จากปรากฏการณ์เชิงประจักษ์ที่เป็นจริง โดยเฉพาะการแสดงความเคารพของผู้ใต้บังคับบัญชาต่อผู้บังคับบัญชา นอกจากนี้ก็ยังมีความเชื่อใน    สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เห็นอย่างชัดเจน คือ การเคารพต่อศาลหลวงปู่ดำ อันเป็นที่เคารพบูชา ของข้าราชการทหารในหน่วยยานเกราะ ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าชุมชน ซึ่งก่อนที่จะออกปฏิบัติราชการ จะมากราบไหว้ขอพรให้หลวงปู่ดำคุ้มครองให้ปลอดภัยจากการปฏิบัติภารกิจ

 

กิตติกรรมประกาศ/Acknowledgements

ผู้ศึกษาขอขอบพระคุณสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รองศาสตราจารย์   เสาวภา ไพทยวัฒน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะกรรมการชุมชนยานเกราะ และประชาชนชุมชนยานเกราะทุกท่าน ที่อนุเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยชุมชนเป็นอย่างดี

 

เอกสารอางอิง/References

กนกวรรณ ชัยทัต. 2548. การสร้างความเป็นสมัยใหม่ด้วยมิติวัฒนธรรม : มุมมองเรื่องพื้นที่ ศึกษาจากพระราชวังดุสิต-วัดเบญจมาบพิตร-ถนนราชดำเนิน ในสมัยรัชกาลที่ 5. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

นันทพร ศรีสุทธะ. 2544. วิถีชีวิตชุมชนกับการเกิดโรคเบาหวาน กรณีศึกษาชุมชนบ้านจัว ตำบลสมัย อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการส่งเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

นิยพรรณ (ผลวัฒนะ) วรรณศิริ. 2550. มานุษยวิทยา สังคมและวัฒนธรรม. กรุงเทพมหานคร : ธนาเพรส.

วิวัฒนชัย บุญญานุพงศ์. 2544. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชน : ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนมอญบ้านเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. ปริญญาศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

สุกัญญา บูรณเดชาชัย. 2549. วิถีชีวิตและกระบวนการทำประมง : กรณีศึกษาหมู่บ้านประมงหาดวอนนภา ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี. วารสารวิชาการ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 20 มหาวิทยาลัยบูรพา.

สุกัญญา สุจฉายา และนันทิยา สว่างวุฒิธรรม. 2546. อัตลักษณ์ของชาวสวนคลองภูมิ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร. ทุนวิจัยจากคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ.

สำนักงานเขตดุสิต. มปป. ดุสิตดารดาษ. กรุงเทพมหานคร : สไตล์ครีเอทีฟเฮ้าส์.

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น