วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือน ของประชาชนในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร


การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือน

ของประชาชนในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

The Application of Sufficiency Economy Philosophy for individuals

and families Level of Residences in Dusit District, Bangkok.

 

ภูสิทธ์ ขันติกุล

Phusit Khantikul

สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสังคม ภาคสังคมศาสตร์

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

 

บทคัดย่อ

การวิจัยในครั้งนี้กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความรู้ความเข้าใจ ค้นหากิจกรรมที่ปฏิบัติในระดับบุคคล ครัวเรือน และวิเคราะห์การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยคำนวณเพื่อหากลุ่มตัวอย่างตามเทคนิคของทาโร ยามาเน่ และใช้เทคนิคการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบไม่อาศัยความน่าจะเป็น ด้วยวิธีการสุ่มแบบเจาะจง สำหรับแบบสอบถามโดยพิจารณากำหนดตามอายุของกลุ่มตัวอย่างตั้งแต่ อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 398 ตัวอย่างและการสัมภาษณ์กลุ่มประธานชุมชน/ผู้นำชุมชน หรือคณะกรรมการชุมชนที่ประชาชนเคารพนับถือจำนวน 30 คน พบผลการศึกษาว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการใช้จ่ายใด ๆ ก็ต้องคำนึงถึงความจำเป็นต่อการดำรงชีพและไม่สุรุ่ยสุร่าย การลงทุนก็ต้องค้นหาข้อมูลอย่างระเอียดถี่ถ้วนรู้จักวางแผน และต้องไม่ทำเกินตัวเกินความสามารถของตน ส่วนการปฏิบัติในกิจกรรมในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการใช้และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวกับการประหยัด เช่นการปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าเสมอเมื่อออกจากบ้านหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ ส่วนการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับเห็นด้วยกับคำว่า พอ ที่เป็นการพัฒนาตนเอง ไม่เบียดเบียนและพึงพอใจในชีวิตที่พอเพียง ซึ่งจะประยุกต์ใช้กับตนและสมาชิกในครอบครัวปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักธรรมทางศาสนาอยู่เสมอ ทั้งนี้ผู้นำชุมชนและประชาชนจะเน้นย้ำเกี่ยวกับเศรษฐกิจในคำว่า "ประหยัด” เป็นคำหลัก และส่วนใหญ่จะพอใจในสิ่งที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน เพียงดำรงตนอย่างไม่ฟุ่มเฟือย ใช้สิ่งของให้คุ้มค่า และใช้ชีวิตอย่างมีสติ สมาธิ ปัญญา เดินทางสายกลางเท่านี้ก็เพียงพอ

 

คำสำคัญ เศรษฐกิจพอเพียง การประยุกต์ ระดับบุคคลและครัวเรือน ชุมชนเมือง

 

Abstract

The purposes of this study were to investigate knowledge, to find activities practiced in levels of person and family, and to analyze application for sufficiency economy philosophy in levels of individuals and family of people in Dusit district, Bangkok. Taro Yamane’s technique and non-probability samples were utilized in this study. A total of 398 questionnaires were administered to potential respondents – over 18 years of age. The head of the community and 30 committees were interviewed in depth.

The findings showed that most people have knowledge about sufficiency economy philosophy in highest level. Particularly they are aware of the expenses not to be luxurious. The information is completely prepared and planed when they capitalized and arranged by themselves. The overall principle in the levels of person and family according to sufficiency economy philosophy is in high level. Particularly it is about the use and protection of natural resource and environment. The economy, the use of appliances is always turned off when they leave from their houses. About application for sufficiency economy philosophy, people agree with the word “sufficiency”, that is, it helps them for their own development. They satisfy with the way of sufficient lives. These are applied for oneself and their members in good path such as reducing evil and practicing according to religion. Both head of the community and people mainly focus on “economy”. Many people have happiness with the currently existing thing and the least luxuries. The consciousness, concentration, and wisdom are used in the way of their lives by emphasizing on the middle way and sufficiency.

 

Key Word(s) Sufficiency Economy, Application, individuals and families Level, Urban Community

 

หลักการและเหตุผล (Reasonable)

การพัฒนาประเทศไทยสู่ความทันสมัยโดยมีแผนพัฒนาอย่างจริงจังเริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) จนกระทั่งปัจจุบันเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) และกำลังจะสิ้นสุดลง ตลอดระยะเวลา 50 ปี ประเทศไทยได้เรียนรู้และได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งภายใน และภายนอก (กระแสโลกาภิวัตน์) อย่างมากมายก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ยากที่จะจำแนกให้ละเอียดเพื่อค้นหาต้นเหตุได้ว่าเกิดจากอะไรเพราะการเปลี่ยนแปลงต่างเชื่อมโยงกันและกันไว้อย่างเป็นกระบวนการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมในเชิงลบมักจะตามมาเป็นเงาตามตัวด้วย เช่น การขยายตัวของรัฐเข้าไปในชนบทส่งผลให้ชนบทเกิดความอ่อนแอในหลายด้านทั้งการต้องพึ่งพิงตลาดและพ่อค้าคนกลางในการสั่งสินค้าทุน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ และการรวมกลุ่มกันตามประเพณี เพื่อการจัดการทรัพยากรที่เคยมีอยู่แต่เดิมแตกสลายลง ภูมิความรู้ที่เคยใช้แก้ปัญหาและสั่งสมปรับเปลี่ยนแปลนกันมาถูกลืมเลือนและเริ่มสูญหายไป สิ่งสำคัญคือ ความพอเพียงในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นเงื่อนไขพื้นฐานในการดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีศักดิ์ศรีภายใตอำนาจและความมีอิสระในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ได้ถูกพิสูจน์ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจจากปัญหาฟองสบู่และปัญหาความอ่อนแอของชนบท และปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น (มูลนิธิชัยพัฒนา, 2550: 2-3) ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ของประเทศที่มีผลกระทบต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้อยู่ในสายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอดซึ่งครั้งแรกที่ได้ย้ำเตือนและให้คำแนะนำต่อประชาชนเกี่ยวกับการดำรงชีวิตด้วยความพอเพียง เมื่อวันที่ เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 18 กรกฎาคม 2517 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดังมีใจความพระบรมราโชวาท ดังนี้ (ภูมิลพลอดุลยเดช, พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา, 2552: 125)

“...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไปหากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องกันด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลย์ในเรื่องต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยประเทศหลายประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้...”

          ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าแนวทางการพัฒนาประเทศเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียวอาจเกิดปัญหาได้ จึงทรงเน้นย้ำการพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่ในเบื้องต้นก่อน เมื่อมีความมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้วจึงสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น ทั้งนี้เมื่อประเทศไทยเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี พ.ศ. 2540 ประชาชนทั้งประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนักจนแทบจะไม่สามารถเอาตัวรอดพ้นจากวิกฤตครั้งนั้นได้ จนกระทั่งวันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2540 ได้ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยเน้นเตือนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไว้อย่างชัดเจน ดังนี้ (วรเดช จันทรศร, 2554: 7)

       “...การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง...กระทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ทรงมีพระบรมราโชวาทพระราชทานผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา ที่สะท้อนความสำคัญถึงเศรษฐกิจพอเพียงต่อประเทศชาติ ไว้ว่า (ภูมิลพลอดุลยเดช, พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา, 2552: 4)

“...เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป...”

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ชาวไทยได้รับรู้คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” อย่างต่อเนื่องในหลากหลายช่องทางของสื่อต่าง ๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต และสื่ออื่น ๆ จนสามารถนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายระดับทั้งบุคคล ครอบครัว ชุมชน ประเทศ หลายกลุ่มอาชีพ หลายหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ซึ่งโดยสรุปสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2551: 7) ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนจากผลการประมวลและกลั่นกรองจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระราชทานในวโรกาสต่าง ๆ รวมทั้งพระราชดำรัสอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป ใจความว่า

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบครอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนนั้นมิใช่เฉพาะในหมู่คนจนหรือเกษตรกรเท่านั้น แต่สามารถใช้ได้กับทุกคน ทุกอาชีพ ทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น ทั้งชนชั้นรากหญ้า ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง โดยจะต้องเกิดจิตสำนึก มีความศรัทธาเชื่อมั่น เห็นคุณค่า และนำไปปฏิบัติด้วยตนเอง แล้วจึงขยายไปสู่ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติต่อไป ที่เรียกว่า “ระเบิดจากข้างใน” ซึ่งความพอเพียงระดับบุคคและครอบครัวมุ่งเน้นให้บุคคลและครอบอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทั้งทางกายและทางใจ พึ่งพาตนเองอย่างเต็มความสามารถไม่ทำอะไรเกินตัว ดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น รวมทั้งไฝ่รู้และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงในอนาคต และเป็นที่พึ่งให้ผู้อื่นได้ในที่สุด เช่น หาปัจจัยสี่มาเลี้ยงตนเองและครอบครัวจากากรประกอบสัมมาชีพ รู้ข้อมูลรายรับ-รายจ่าย ประหยัดแต่ไม่ใช่ตระหนี่ ลด-ละ-เลิก อบายมุข สอนให้เด็กรู้จักคุณค่า รู้จักใช้ และรู้จักออมเงินและสิ่งของเครื่องใช้ ดูแลรักษาสุขภาพ มีการแบ่งปันภายในครอบครัว ชุมชนและสังคมรอบข้าง รวมถึงการรักษาวัฒนธรรม ประเพณี และการอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม  (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2550: 18-19) ประชาชนในเขตดุสิตกรุงเทพมหานครมีหลากหลายระดับฐานะการเงิน หลายสถานภาพทางสังคม หลากหลายภูมิหลังและหลายกลุ่มอาชีพ ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง ที่มีลักษณะการประกอบอาชีพเป็นสองปีก คือปีกนักธุรกิจ-วิชาชีพ กับปีกนักปฏิรูปสังคม ได้แก่ 1) ปีกนักธุรกิจ-วิชาชีพ ได้แก่ นักบริหาร ผู้จัดการ ผู้ชำนาญการในบริษัท โรงงาน ธนาคาร และธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ หรือแพทย์ พยาบาล ทนายความ สถาปนิก วิศวกร เป็นต้น และ2) ปีกนักปฏิรูปสังคม ได้แก่ บรรดานักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการหัวก้าวหน้า และนักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งหลาย (เอนก เหล่าธรรมทัศน์, 2550: 10) นอกจากนี้ยังมีประชาชนที่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เป็นแม่บ้านพ่อบ้าน เกษียณอายุราชการ ไม่มีงานทำงและไม่มีอาชีพอีกจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตดุสิตจำนวนมากมากยทั้งอยู่ในชุมชน 43 ชุมชน และอยู่นอกชุมชน(ที่ไม่นับเป็นเขตชุมชนอย่างเป็นทางการ) ภายใต้ขอบเขต 10.66 ตารางกิโลเมตรอีกจำนวนมาก ซึ่งเขตดุสิตมีประชกรทั้งสิ้น 109,195 คน เพศชาย 57,704 คน เพศหญิง 51,491 คน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 85,080 คน จำนวนประชากรเดือนพฤศจิกายน 2554 โดยมีสถานศึกษา จำนวน 63 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง หน่วยงานทหาร 20 แห่งเป็นต้น (สำนักงานเขตดุสิต, 2554: ออนไลน์) นอกจากนี้ลักษณะทั่วไปของประชาชนส่วนหนึ่งจากผลการวิจัยของภูสิทธ์ ขันติกุล (2553: 159-161) ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานของบุคคลจาก 43 ชุมชน เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 381 ชุดพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 21.78 มีระดับการศึกษา ม.6 หรือปวช. ร้อยละ 24.67 มีรายได้ต่อเดือนระหว่าง 3,000-6,000 บาท ร้อยละ 22.83 รองลงมา รายได้ต่อเดือนอยู่ระหว่าง 6,001-9,000 บาท ร้อยละ 19.42 รองลงมาประชาชนมีระดับการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป ร้อยละ 25.2 และมีรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 9,000 บาทขึ้นคิดเป็นร้อยละ 38.32 ถัวเฉลี่ยรายได้วันละ 300 บาท ส่วนผู้มีระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี มีเพียงร้อยละ 2.89 และมีรายได้อยู่ระหว่าง 15,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 11.55 ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีส่วนน้อยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ชี้ให้เห็นว่าประชาชนเขตดุสิตมีทั้งกลุ่มประชาชนที่เป็นชนชั้นรากหญ้าที่มีฐานะครอบครัวยากจน และเป็นคนชั้นกลางไปถึงสูงมีฐานะครอบครัวที่ร่ำรวย ซึ่งกลุ่มหลังมักจะไม่ได้อาศัยอยู่ในชุมชน แต่จะมีบ้านพักอาศัยรวมกับกิจการร้านค้าหรือบริษัทอยู่ริมถนนสายหลักของเขตนั่นเอง

ดังนั้นประชาชนในเขตดุสิต ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่มีความเจริญก้าวหน้าทางกายภาพ ทั้งการคมนาคม ขนส่ง สาธารณูปโภค สาธารณูปการ อาคารบ้านเรือน เทคโนโลยีการสื่อสารต่าง ๆ ที่ทันสมัยมากมาย เป็นต้น นอกจากพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานภาครัฐจำนวนมาก ด้วยปัจจัยพื้นฐานนี้ทำให้ประชาชนในเขตดสุติจะมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารและการรับรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงมากกว่า ง่ายกว่า สะดวกกว่าประชาชนในต่างจังหวัดหรือในชนบทที่ห่างไกลจากเมืองหลวงออกไป รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงการจัดกิจกรรมด้านเศรษฐกิจพอเพียงของหน่วยงานราชการ หน่วยงานการศึกษา ทั้งโรงเรียน และมหาวิทยาลัย หน่วยงานทหาร มูลนิธิ สมาคม ต่าง ๆ และรวมถึงเป็นพื้นที่ในการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศหลายครั้งในรอบปี ถึงการมีโอกาสเข้าถึงความรู้ ข่าวสารมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ แต่ยังไม่ปรากฎชัดเจนว่าประชาชนในเขตดุสิตมีรูปแบบการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร ที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน มีความรู้ความเข้าใจแท้จริงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพียงใด ถ้าหากประยุกต์ใช้จริงอยู่ในระดับใด มีกิจกรรมอะไรที่ประยุกต์ใช้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตประจำวัน ด้วยคำถามวิจัยดังกล่าวจึงจำเป็นต้องศึกษา วิเคราะห์ วิจัยให้เข้าใจในองค์ความรู้ใหม่นี้เพื่อเป็นแนวทางชี้นำให้กับประชาชนได้สามารถพัฒนาการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป

 

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย (Objectives)

1. เพื่อสำรวจความรู้ความเข้าใจตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

2. เพื่อค้นหากิจกรรมที่ปฏิบัติในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

3. เพื่อวิเคราะห์การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

 

ระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology)

          ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จำนวน 85,080 คน ได้กลุ่มตัวอย่างตามสูตรของ ท่าโร ยามาเน่ (Taro Yamane, 1973: 125) จำนวน 398 กลุ่มตัวอย่าง ใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างโดยไม่อาศัยความน่าจะเป็น (Non-Probability sampling) ด้วยวิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยพิจารณากำหนดตามอายุของกลุ่มตัวอย่างตั้งแต่ อายุ 18 ปีขึ้นไป ถือเป็นวัยผู้ใหญ่ตอนต้นเนื่องจากบุคคลในช่วงอายุดังกล่าวมีวุฒิภาวะในการตัดสินใจ หรือมีวิจารณาญาณเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ชัดเจนขึ้น เพื่อเก็บข้อมูลแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 398 คน และวิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) สำหรับสัมภาษณ์กับกลุ่มประธานชุมชน/ผู้นำชุมชน หรือคณะกรรมการชุมชนที่ประชาชนเคารพนับถือ ชุมชนละ 1 คนโดยการสัมภาษณ์ตั้งเกณฑ์ตามความเหมาะสมตามระยะเวลา ความสะดวกของผู้นำในการให้ข้อมูลและงบประมาณ ซึ่งไม่ต่ำกว่าจำนวน 30 คน/ชุมชน จาก 43 ชุมชนอย่างเป็นทางการ (เป็นการกำหนดตั้งแต่ร้อยละ 70 ของประธานชุมชนทั้ง 43 ชุมชน) แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) โดยใช้สถิติพรรณา(Descriptive Statistics) ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และใช้สถิติอ้างอิง (Inferential Statistics) เพื่อทำการเปรียบเทียบและทดสอบข้อมูล ได้แก่ Independent - Samples T test (T-test), One-Way ANOVA (F-test) ส่วนการวิเคราะห์แบบสัมภาษณ์ใช้วิธีวิเคราะห์เชิงพรรณา (Descriptive Analysis)

 

ผล/ สรุปผลการวิจัย (Result)

          ประชาชนส่วนใหญ่มีระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 16 ข้อ โดยเฉพาะมีความรู้ความเข้าใจตั้งแต่ร้อยละ 90 ขึ้นไปมีถึงจำนวน 13 ประเด็น ได้แก่ 1) การใช้จ่ายใด ๆ ต้องคำนึงถึงความจำเป็นต่อการดำรงชีพและไม่สุรุ่ยสุร่าย (ร้อยละ 96.73) 2) การกระทำกิจการลงทุนใด ๆ ต้องค้นหาข้อมูลอย่างระเอียดถี่ถ้วนและรู้จักวางแผน (ร้อยละ 96.23) 3) การลงทุนในกิจการงานใด ๆ ต้องไม่ทำเกินตัวเกินความสามารถของตน (ร้อยละ 95.98) 4) การประพฤติปฏิบัติตนให้มีความซื่อสัตย์สุจริตในชีวิตเสมอเป็นเงื่อนไขด้านคุณธรรม (ร้อยละ 95.23) 5) การรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและชุมชน (ร้อยละ 94.97) 6) การกระทำกิจกรรมร่วมในชุมชนหรือสังคมไม่ควรเอาเปรียบผู้อื่นและเพื่อนร่วมงาน (ร้อยละ 94.72) 7) การรู้จักคิด วางแผน วิเคราะห์ สังเคราะห์ว่าควรทำหรือไม่ควรนั้นแสดงถึงการมีเหตุผล (ร้อยละ 93.22) 8) การรู้จักแสวงหาความรู้จากหลากหลายแหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารเป็นการสร้างรอบรู้ และรอบคอบก่อนการตัดสินใจในการกระทำการใด ๆ เป็นเงื่อนไขด้านความรู้ (ร้อยละ 92.71) 9) การรู้จักประหยัด มัธยัสถ์เป็นหลักพื้นฐานสำคัญของความพอประมาณ (ร้อยละ 92.46) 10) การกระตุ้นตนเองให้เป็นคนรู้จักศึกษา หาความรู้ใส่ตัวทั้งการดำรงชีพ และในอาชีพเสมอ (ร้อยละ 91.21) 11) การรู้จักเคารพกฎกติกาของครอบครัว ชุมชน สังคม หรือองค์การที่ตนเองเกี่ยวข้องด้วย (ร้อยละ 91.21) 12) การรู้จักวางแผนระบบการใช้จ่ายเงินแต่ละเดือน วางแผนอนาคตให้กับคนในครอบครัวรู้จักการเก็บออมเพื่ออนาคต (ร้อยละ 91.21) และ13) การประกอบอาชีพด้วยความขยันอดทนในหน้าที่การงานเป็นเงื่อนไขด้านคุณธรรม (ร้อยละ 90.45) ทั้งนี้การได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ทั้ง 6 ช่องทาง มีอยู่ 2 ระดับ ได้แก่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกือบทุกวัน ในช่องทาง 3 ช่องทาง ได้แก่ การได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงจากการดูโทรทัศน์ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.12) รองลงมา การได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงจากการอ่านหนังสือพิมพ์ (ค่าเฉลี่ย 3.71) และการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงจากการพูดคุยสนทนากับครอบครัวและเพื่อน (ค่าเฉลี่ย 3.49)

          ส่วนการปฏิบัติในกิจกรรมในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนจำแนกโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.77) เมื่อพิจารณาตามรายด้านพบว่า ทุกด้านมีการปฏิบัติในกิจกรรมในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับมาก ได้แก่     1) ด้านการใช้และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ค่าเฉลี่ย 3.96) 2) ด้านการเอื้ออาทร เกื้อกูลต่อกัน (ค่าเฉลี่ย 3.94) 3) ด้านการดำรงชีวิต (ค่าเฉลี่ย 3.93) 4) ด้านการออม (ค่าเฉลี่ย 3.69) 5) ด้านการลดรายจ่าย (ค่าเฉลี่ย 3.64) 6) ด้านการเพิ่มรายได้ (ค่าเฉลี่ย 3.60) ทั้งนี้รายข้อที่น่าสนใจและมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ การปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าเสมอเมื่อออกจากบ้านหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ (ค่าเฉลี่ย 4.33) รองลงมา ได้แก่ การยึดมั่นและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของศาสนา (ค่าเฉลี่ย 4.16) และการประกอบอาชีพของตนและสมาชิกในครอบครัวเป็นอาชีพที่สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น รู้จักพอประมาณและไม่ลงทุนเกินตัว (ค่าเฉลี่ย 4.13) การร่วมทำบุญในวันสำคัญของศาสนา และบริจาคทุนทรัพย์ (เงิน)ให้แก่ผู้ยากไร้ (ทำทาน) (ค่าเฉลี่ย 4.07) การวางแผนก่อนเดินทางไปทำงานหรือทำกิจธุระ (ค่าเฉลี่ย 3.99) และมีการลดการใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือสินค้าฟุ่มเฟือย (ค่าเฉลี่ย 3.88) มีการวางแผนในการใช้จ่ายเงินของตนเองและครอบครัว (ค่าเฉลี่ย 3.86)และมีการวางแผนเพื่อที่จะลงทุนทำกิจการ หรือสร้างอาชีพให้กับตนเองและครอบครัว (ค่าเฉลี่ย 3.82)

การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับเห็นด้วยกับการประยุกต์ใช้แต่ละประเด็น ได้แก่ 1) ด้าน พอ พัฒนาตนเอง ไม่เบียดเบียนและพึงพอใจในชีวิตที่พอเพียง (ค่าเฉลี่ย 4.13)        2) ด้านจิตใจ และด้านสังคม (ค่าเฉลี่ย 4.05) 3) ด้านทรัพยากรธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อม (ค่าเฉลี่ย 3.95) 4) ด้านเศรษฐกิจ (ค่าเฉลี่ย 3.90) และ5) ด้านเทคโนโลยี (ค่าเฉลี่ย 3.49) ส่วนรายข้อในแต่ละรายได้ที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ตนและสมาชิกในครอบครัวปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักธรรมทางศาสนาอยู่เสมอ (ค่าเฉลี่ย 4.22) การมีความยินดีเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ท่านชุมชนจัดขึ้น เช่น กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา กิจกรรมวันพ่อ แม่ วันเด็ก เป็นต้น (ค่าเฉลี่ย 4.21) ตนและสมาชิกในครอบครัวจะยึดมั่นในการประกอบอาชีพที่สุจริตเสมอ ถึงแม้ว่าครอบครัวจะตกอยู่ในภาวะลำบากและขาดแคลนก็ตาม (ค่าเฉลี่ย 4.18) นิยมเลือกใช้วัสดุสิ่งของที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและช่วยลดภาวะโลกร้อน (ค่าเฉลี่ย 4.04) การมีทุนทรัพย์(เงิน)ที่เพียงพอในการใช้จ่ายสำหรับตนเองในแต่ละวัน (ค่าเฉลี่ย 4.00) และการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมาะสมกับความต้องการใช้และฐานะทางการเงินเท่านั้น (ค่าเฉลี่ย 3.75)

          ปัจจัยที่มีผลต่อการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ได้แก่

- ตำแหน่งหน้าที่ที่รับผิดชอบ โดยผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบสูงจะมีการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนได้มากกว่าผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบทั่วไป

- การได้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง โดยผู้ที่เคยเข้ารับการอบรมจะสามารถประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยเข้ารับการอบรมเลย

- การเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม โดยผู้ที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมจะสามารถประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนได้มากกว่าผู้ที่ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม

- ทัศนคติเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlations Coefficient) เท่ากับ .495 มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (มีสัมพันธ์เชิงบวกอยู่ระดับระดับปานกลาง (r = .495**))

- แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในการปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlations Coefficient) เท่ากับ .486 มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (มีสัมพันธ์เชิงบวกอยู่ระดับระดับปานกลาง (r = .486**))

- การได้รับข้อมูลข่าวสารทางโทรทัศน์ต่อการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนมีความสัมพันธ์เชิงบวกระดับต่ำ (r = .275**) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

- การได้รับข้อมูลข่าวสารทางวิทยุกระจายเสียงต่อการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนมีความสัมพันธ์เชิงบวกระดับต่ำ (r = .283**) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

- การได้รับข้อมูลข่าวสารทางหนังสือพิมพ์ต่อการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนมีความสัมพันธ์เชิงบวกระดับต่ำ (r = .279**) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

- การได้รับข้อมูลข่าวสารทางหนังสือ วารสาร นิตยสาร สิ่งพิมพ์อื่น ๆต่อการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนมีความสัมพันธ์เชิงบวกระดับปานกลาง (r = .318**) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

- การได้รับข้อมูลข่าวสารทางการพูดคุยสนทนากับครอบครัวและเพื่อนต่อการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนมีความสัมพันธ์เชิงบวกระดับปานกลาง (r = .437**) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

- การได้รับข้อมูลข่าวสาร Internet (อินเทอร์เน็ต,Online ต่าง ๆ) ต่อการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนมีความสัมพันธ์เชิงบวกระดับปานกลาง (r = .328**) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

อภิปรายผล (Discussion of Research)

การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พบว่า โดยภาพรวมประชาชนเห็นด้วยกับการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งด้าน คำว่า พอ พัฒนาตนเอง ไม่เบียดเบียนและพึงพอใจในชีวิตที่พอเพียง (ค่าเฉลี่ย 4.13) มีค่าเฉลี่ยสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ประชาชนและสมาชิกในครอบครัวปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักธรรมทางศาสนาอยู่เสมอ (ค่าเฉลี่ย 4.22) และการมีความสุข ยินดีกับการดำรงชีวิตตามอัตภาพและฐานะของตนเองในสภาวการณ์ปัจจุบัน(ค่าเฉลี่ย 4.19) โดยความเป็นจริงประชาชนในชุมชนเขตดุสิตมีการปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว แต่เพียงไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ปฏิบัติเป็นความพอเพียงหรือไม่ อย่างไรเท่านั้นเอง และที่สำคัญประชาชนไม่ได้มีความทุกข์ยากลำบากจนไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ แต่กลับพบว่าประชาชนมักจะรู้และเข้าใจว่าตนเองมีศักยภาพเพียงใด จะดำรงชีพอยู่อย่างไรกับชีวิตในชุมชนเมือง จะเอาตัวอย่างไรในสภาวะเศรษฐกิจข้าวของแพง จะปฏิบัติตามตามหลักธรรมของพุทธศาสนาอย่างไรจึงจะทำให้ตนเองมีความสุขตามอัตภาพซึ่งสิ่งเหล่าประชาชนสามารถปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่ จึงทำให้ประชาชนมีความเห็นด้วยว่า ตนเองมีความพอใจ มีความสุข ยินดีกับชีวิตตามอัตภาพของตนเองที่เป็นอยู่แล้วในขณะนี้ นี้คือความพอเพียง ตามความคิดเห็นของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งผลการวิจัยของนฤมล นิราทร, อรศรี งามวิทยาพงศ์ และชไมพร รุ่งฤกษ์ฤทธิ์ (2550: 111) ผู้ที่ประกอบอาชีพตามเศรษฐกิจนอกภาคทางการในเขตเมือง กรณีศึกษาในเขตดินแดง ซึ่งมีความเป็นไปได้ หรืออาจกล่าวว่า ณ เวลาปัจจุบันมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว หากแต่ไม่ปรากฏชัดเจนในรูปของกลุ่ม หรือขบวนการที่มีชื่อหรือวัตถุประสงค์ชัดเจน เมื่อศึกษาเจาะลึกพบว่า ผู้ดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญานี้ มีความสุขในชีวิตได้ตามอัตภาพของฐานะตนเอง

แต่เมื่อพิจารณารายด้านที่อยู่ในระดับค่าเฉลี่ยที่ต่ำ คือด้านเทคโนโลยี (ค่าเฉลี่ย 3.49) โดยเฉพาะการที่สมาชิกในครอบครัวมักใช้เทคโนโลยีไม่เหมาะสมกับการใช้งานและฐานะของครอบครัว (ค่าเฉลี่ย 3.32) ซึ่งเป็นสาเหตุมาจากการอาศัยอยู่ท่ามกลางกระแสความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง สังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีสมัยใหม่มีความแตกต่างน่าสนใจมากขึ้นจนเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนทั้งวัยรุ่น วัยทำงานมีพฤติกรรมบริโภคนิยม ต้องการก้าวทันยุคสมัยของเทคโนโลยี (ไม่ตกรุ่น) และยังสามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ได้อย่างง่ายได้ไม่ว่าอยู่ ณ จุดใดของเมืองนั่นเอง จึงทำให้สมาชิกในครอบครัวส่วนหนึ่ง(ลูกหลาน) มักใช้เทคโนโลยีไม่เหมาะสมกับการใช้งานและฐานะของครอบครัว

ข้อเสนอแนะ (Research Recommendations)

1) ประชาชนต้องเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้าใจในหลักคิด หลักวิชา และหลักปฏิบัติให้สอดคล้องกับศักยภาพของตนเองและบริบททางสังคมเมืองที่เป็นอยู่ โดยไม่ควรคำนึงถึงพฤติกรรมในการดำรงชีวิตที่คุ้นชินกับวิถีชีวิตคนเมือง เช่นการผูกติดกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเจริญทางวัตถุ การแข่งขันกันสูงในอาชีพการงาน ความเอารัดเอาเปรียบกัน ความโลก บริโภคนิยม ความทันสมัยของเทคโนโลยี ปัญหาสังคมอีกจำนวนมากมาย มุ่งประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนร่วม เป็นต้น ลดการพบปะสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ให้น้อยลง ส่วนการตัดสินใจใด ๆ ในครอบครัวหรือที่ทำงานไม่ยึดเหตุผลของตนเองเป็นสำคัญ และมุ่งมันประกอบอาชีพอย่างหนึ่งอย่างใดที่ตนเองถนัดให้ดีมีคุณภาพ

2. ผู้นำครอบครัวควรให้คำแนะนำ ปรึกษาหารือกับสมาชิกในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสถานะภาพ การเงินของตนเอง และครอบครัว ไม่ควรใช้เทคโนโลยีตามความเจริญก้าวหน้า แต่ควรใช้เทคโนโลยีตามความเหมาะสม คุ้มค่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากเทคโนโลยีนั้น ๆ เป็นสำคัญ เพราะโดยปกติครัวเรือนในเมืองจะมีอุปกรณ์เทคโนโลยีที่หลากหลายกับการใช้งานในครัวเรือนอยู่แล้ว แต่ที่พบว่ามีปัญหาคือ สมาชิกในครอบครัวมักใช้เทคโนโลยีไม่เหมาะสมกับการใช้งานและฐานะของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการใช้โทรศัพท์ราคาแพงหรือ การใช้คอมพิวเตอร์ที่ราคาสูง ที่ไม่เหมาะกับนักเรียนหรือครอบครัวที่ฐานะไม่ค่อยดีนัก เป็นต้น

3. หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น เขตดุสิต จะต้องปรับวิธีการทำงานโดยการลงพื้นที่สำรวจความต้องการ ความถนัด ภูมิปัญญาของชุมชน เพื่อพัฒนาอาชีพให้สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีพของประชาชน เพื่อเป็นการสร้างการมีรายได้เพิ่มขึ้นของประชาชนที่ว่างงาน หรือทำงานในชุมชน และพยายามสร้างพลังชุมชนให้กับประชาชนแต่ละชุมชนเกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างอาชีพเสริมให้ตนเองและเข้าร่วมกลุ่มกับชุมชนในกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพของชุมชน หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่จัดขึ้น เนื่องจากกิจกรรมในระดับบุคคลและครัวเรือนด้านการเพิ่มรายได้อยู่ในระดับค่าเฉลี่ยต่ำสุด

 

การอ้างอิง (References)

นฤมล นิราทร, อรศรี งามวิทยาพงศ์, ชไมพร รุ่งฤกษ์ฤทธิ์. (2550). เศรษฐกิจนอกภาคทางการในเขตเมืองเพื่อการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
ภูมิลพลอดุลยเดช,พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา. (2552). คำพ่อสอน: ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง/มูลนิธิพระดาบส. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ.
ภูสิทธ์ ขันติกุล. (2553). รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร. งานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
มูลนิธิชัยพัฒนา. (2550). เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
วรเดช จันทรศร. (2554). การจัดการภาครัฐตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
สำนักงานเขตดุสิต. (2554). ข้อมูลและสถิติทั่วไป. [Online] ค้นวันที่ 16 กันยายน 2554 จาก    http://www.bangkok.go.th/dusit/
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2550). ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ: ๒๑ เซ็นจูรี่.
 
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2551). จากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง...สู่การปฏิบัติ. กรุงเทพฯ: เพชรรุ่งการพิมพ์.
เอนก เหล่าธรรมทัศน์. (2550). สองนคราประชาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: คบไฟ.
Yamane, Taro. 1973. Statistics: An Introductory Analysis (3 rd ed.). Tokyo: Harper.
 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น