วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

People in Dusit District’s community with political participation in the development of democracy


ประชาชนเขตดุสิตกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในการพัฒนาประชาธิปไตย

People in Dusit District’s community with political participation in the development of democracy

ภูสิทธ์ ขันติกุล

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

บทคัดย่อ

การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมทางการเมือง ความคิดเห็นทางการเมืองของผู้นำชุมชน และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างโดยอาศัยความน่าจะเป็น ด้วยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น และการสุ่มแบบง่าย ใช้แบบสอบถามเก็บข้อมูลจำนวน 400 คนเป็นผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปและใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างโดยไม่อาศัยความน่าจะเป็น ด้วยวิธีสุ่มแบบเจาะจง โดยการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน หรือประธานกรรมการชุมชน จำนวน 44 คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติเชิงอนุมานและวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลวิจัยคือ ประชาชนเขตมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ ผู้นำชุมชนส่วนใหญ่เห็นว่า กลุ่มที่มีบทบาททางการเมืองมากที่สุด คือ กลุ่มผู้สูงอายุ พ่อค้าแม่ค้า พ่อบ้านและแม่บ้าน และปัญหาที่ขัดขวางการมีส่วนร่วมทางการเมืองส่วนมากเป็นเรื่องความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองอย่างรุนแรง การแบ่งฝ่ายแบ่งสี ขาดความสามัคคีของคนในชุมชน ส่วนปัจจัยที่ทรงอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง พบว่า เพศ อายุ สถานภาพ อาชีพ การเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม บทบาทหน้าที่ในครอบครัว บทบาทหน้าที่ในชุมชน การรับรู้ข่าวสารทางการเมือง การพัฒนาทางการเมือง ความสนใจทางการเมือง การกล่อมเกลาทางการเมือง และพฤติกรรมทางการเมือง

คำสำคัญ: การมีส่วนร่วมทางการเมือง ปัจจัยทางเมือง ประชาชนเขตดุสิต

Abstract

The purpose of this research aims to study the political participation level; to study factors in political participation and Political opinions of community leaders. The research used the 400 questionnaires, a quantitative method. The research selected people at the age of 18 years old up, using simple sampling. The research assumption is verified by content analyses along with induction analyses; and used an interview for the qualitative method. The samples were selected from the 44 community leaders. The assumption is also verified by content analyses along with induction analyses. The findings of this research are that (1) the overall political participation of the people in Dusit District; has low level. (2) Most of Community leader’s Political opinions are Elderly persons, merchants and heads of a family; conflicts for political participation are Conflict of political opinions seriously and lack of unity in community. (3) There are factors that impacted on the political participation in Dusit District; including sex, age, marital status, career, social members, family and social roles, Political news Perception, Political development, Political interests Political socialization and political culture.

Key word: Political Participation, Political factors, People in Dusit’s District

E-mail address: phu_sit@hotmail.com

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

                การมีส่วนร่วม” (Participation) เป็นคำสากลที่สะท้อนถึงความเสมอภาคในการแสดงพฤติกรรมออกมาในรูปแบบอย่างหนึ่งอย่างใดต่อสังคมหรือต่อส่วนรวม ซึ่งมีลักษณะสำคัญตามแนวคิดของ Cohen & Uphoff (1980 : 213) ไว้ว่า การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (Decision Making) การมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน (Implementation) การมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์  (Benefits) และการมีส่วนร่วมในการประเมินผล (Evaluation) โดยชี้ให้เห็นว่าบุคคลที่เข้ามามีส่วนร่วมนั้นย่อมเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจกรรมเหล่านั้น ๆ จะมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับบทบาทที่ได้รับด้วย ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นที่จะกล่าวถึงในงานวิจัย คือ “การมีส่วนร่วมทางการเมือง” (Political Participation) โดยหมายเอาเฉพาะการมีส่วนร่วมทางการเมือง ของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานครเท่านั้น เป้าหมายที่สำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมืองคือตัวชี้วัดหนึ่งของการพัฒนาระบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย หากประเทศใดที่ประชาชนมีระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองสูงย่อมแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยสูง แต่ประเทศใดที่ประชาชนมีระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่ำย่อมแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยต่ำไปด้วย ทุกคนไม่สามารถปฏิเสธผลกระทบทางการเมืองต่อวิถีชีวิตประจำวันของทุกคนได้จนบางครั้งมีความรู้สึกประหนึ่งว่า “การเมืองเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องรับผิดชอบร่วมกัน การใช้อำนาจทางการเมืองล้วนมีผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนทั้งสิ้น” (สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, 2549 : 562-563) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้ให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมืองไว้เช่นเดียวกัน ดังเช่นในมาตรา 87 (2) ว่า “ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมือง...” (4)ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมือง...” (5) ส่งเสริมและให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการพัฒนาการเมืองและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม” (ราชกิจจานุเบกษา, 2550 : 28) นอกจากนี้ยังระบุถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงในมาตรา 163 ว่า “...มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ...” หรือมาตรา164 ว่า มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติ...ให้ถอดถอนบุคคลตามมาตรา 270 ออกจากตำแหน่งได้...” และมาตรา 165 ว่า “...มีสิทธิออกเสียงประชามติ...” (ราชกิจจานุเบกษา, 2550 : 61) ประเด็นเหล่านี้คือหลักการที่สำคัญของคำว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” แต่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติการแสดงบทบาทการมีส่วนร่วมทางเมืองของประชาชนยังมีไม่มากนัก เพียงเฉพาะเรื่องการมีส่วนร่วมในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ไม่ต้องลงทุนหรือเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น แต่กลับพบว่าประชาชนแสดงบทบาทการมีส่วนร่วมนี้น้อยมาก ยกตัวอย่างเช่น การไปใช้สิทธิการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552 สถิติของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต พบว่าเขตที่มีผู้มาใช้สิทธิน้อยที่สุด(คิดเป็นร้อยละ 45.94) คือ เขตดุสิต  (หนังสือพิมพ์มติชน, 2552 : ออนไลน์)นี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้วิจัยเลือกศึกษาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดถึงความจำเป็นต้องศึกษาเขตดุสิตเนื่องจากว่าประชาชนและชุมชนในเขตดุสิตมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและที่มา เป็นทั้งชุมชนดั้งเดิม ชุมชนจัดตั้ง ชุมชนทหาร ชุมชนรอบวัด ชุมชนรอบวัง รวมถึงประชาชนเจ้าของถิ่นเดิม ประชาชนแฝง เป็นต้น นอกจากนี้พื้นที่เขตดุสิตยังเป็นที่ตั้งของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางในการบริหารประเทศ รวมถึงการออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศด้วย เมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองใด ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การชุมนุมประท้วง การชุมนุมขับไล่ การชุมชนเรียกร้องของประชาชน หรือกลุ่มคนต่าง ๆ เป้าหมายสุดท้ายนั่นก็คือการมายังรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น ประชาชนเขตดุสิตจะได้รับผลกระทบโดยตรงไปพร้อมกันด้วย เหตุผลสำคัญเหล่านี้จึงทำให้ผู้วิจัยทำการศึกษาเพื่อวัดระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนและความคิดเห็นทางการเมืองของผู้นำชุมชน รวมถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประชาชนและผู้นำชุมชนเขตดุสิตเพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาและส่งเสริมการมีส่วมร่วมของประชาชนในการพัฒนาประชาธิปไตยต่อไป

วัตถุประสงค์การวิจัย

การวิจัยครั้งนี้เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมทางการเมือง ความคิดเห็นทางการเมืองของผู้นำชุมชน และวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

นิยามศัพท์ที่ใช้ในการวิจัย

                การมีส่วนร่วมทางการเมือง  หมายถึง กิจกรรมที่ประชาชนเข้าไปมีบทบาทในการกระทำที่เกี่ยวกับการเมืองนั้นทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เช่น การติดตามข่าวสารทางการเมือง การใช้สิทธิเลือกตั้งและการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง การสนทนาเรื่องการเมือง การเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคการเมืองและกลุ่มทางการเมืองต่าง ๆ การติดต่อกับนักการเมือง รวมถึงการชุมนุมทางการเมือง

ปัจจัยทางการเมือง หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งจนกลายเป็นความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม หรือพฤติกรรมที่แสดงออกในลักษณะเป็นการส่งเสริมหรือพัฒนาความเป็นประชาธิปไตย เช่น การกล่อมเกลาทางการเมือง วัฒนธรรมทางการเมือง ความสนใจทางการเมือง การมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ค่านิยมพื้นฐานทางการเมืองแบบประชาธิปไตย

กรอบแนวคิดในการวิจัยและวรรณกรรมสนับสนุนกรอบแนวคิด

                การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นแนวคิดหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบใหญ่ ๆ ในสังคมให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งอาจใช้กลไกทางการเมืองในรูปแบบใด ๆ ก็ได้ เช่นว่าการเลือกตั้ง เป็นหัวใจของระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ เพราะเป็นกลไกสำคัญสำหรับพลเมืองที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมมองโดยตรง และเป็นเครื่องมือในการถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยของประชาชนไปให้ตัวแทนทำหน้าที่ใช้แทนประชาชน(ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์, 2554 : 6) ในการวิจัยได้อาศัยกรอบแนวคิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของAlmond and Powell (1976 : 145-146) ที่กล่าวถึงรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เป็นได้ทั้งในรูปแบบตามธรรมเนียมปฏิบัติ (Conventional Forms) เช่น การออกเสียงเลือกตั้ง การสนทนาเรื่องการเมือง การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง การจัดตั้งและการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มต่าง ๆ การติดต่อส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่การเมือง และรูปแบบที่ไม่เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติ (Unconventional Forms) เช่น การยื่นข้อเรียกร้อง การเดินขบวน การเข้าประจันหน้ากัน การละเมิดกฎหมายของสังคม การใช้ความรุนแรงทางการเมือง สงครามแบบกองโจรและการปฏิวัติรัฐประหาร  นอกจากนี้ผู้วิจัยอาศัยแนวคิดของ Lester W. Milbrath (1965 : 18) ได้จัดระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองไว้อย่างน่าสนใจเรียงจากน้อยไปมาก คือ การที่บุคคลตอบสนองสิ่งเร้าทางการเมือง เช่น การติดตามข่าวสารทางการเมือง การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การอภิปรายถกเถียงปัญหาทางการเมือง การพยายามพูดจาชักชวนผู้อื่นเพื่อไปออกเสียงเลือกตั้ง การคิดเครื่องหมายหรือแผ่นป้ายโฆษณาหาเสียง การติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้นำทางการเมือง การช่วยเหลือทางการเงินแก่พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง การเข้าร่วมประชุมทางการเมือง การสละเวลาเพื่อช่วยหาเสียงเลือกตั้ง  การเป็นสมาชิกผู้กระตือรือร้นของพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง การเข้าร่วมประชุมในคณะกรรมการกลางของพรรคการเมือง การช่วยหาทุนให้พรรคการเมือง การสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง การได้รับเลือกเข้าดำรงตำแหน่งของรัฐบาลและพรรคการเมือง รวมถึงอาศัยแนวคิดของจันทนา สุทธิจารี (2544 : 412-414) ที่กล่าวถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) การมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบเป็นทางการ มีลักษณะที่กฎหมายรองรับให้กระทำได้หรือต้องกระทำ เช่น การเลือกตั้ง การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การจัดตั้งและเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และการมีส่วนร่วมโดยการรวมตัวเป็นกลุ่มผลประโยชน์ 2) การมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบไม่เป็นทางการ เช่น การเดินขบวนหรือชุมนุมประท้วง และการก่อความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ทำให้ผู้วิจัยสังเคราะห์เป็นกรอบแนวคิดด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เหมาะสมกับประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ได้แก่ การมีส่วนร่วมทางการเมืองในด้านการติดตามข่าวสารทางการเมือง ด้านการใช้สิทธิเลือกตั้งและการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ด้านการสนทนาเรื่องการเมือง ด้านการเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคการเมืองและกลุ่มทางการเมืองต่าง ๆ ด้านการติดต่อกับนักการเมือง และด้านการชุมนุมทางการเมือง แนวคิดเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เป็นแนวทางสำคัญที่จะศึกษาวิจัยพฤติกรรมทางการเมืองในเชิงประชาธิปไตยที่ประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานครมีโอกาสแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกมาอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย

วิธีการดำเนินการวิจัย

                ประชากรในการวิจัยครั้งนี้ คือ ประชาชนทั้งชายและหญิง อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปที่มีบัญชีรายชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในชุมชน 44 ชุมชน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 84,869 คน ใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างโดยอาศัยความน่าจะเป็น (Probability sampling) ด้วยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified random sampling) เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างได้อย่างครอบคลุมทุกแขวง และวิธีการสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling) เพื่อเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน ด้วยแบบสอบถาม ส่วนกลุ่มผู้นำชุมชน ใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างโดยไม่อาศัยความน่าจะเป็น (Non-Probability sampling ) ด้วยวิธีสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ซึ่งสัมภาษณ์ทุกชุมชน เฉพาะผู้นำชุมชน หรือประธานกรรมการชุมชน หรือตัวแทน จำนวน 44 คน ด้วยแบบสัมภาษณ์ นำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) โดยใช้สถิติ ได้แก่ สถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ ค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) เพื่อบรรยายข้อมูลทั่วไปของกลุ่มประชากรที่ศึกษา สถิติอนุมาน (Inductive Statistics) เพื่อทำการเปรียบเทียบและทดสอบข้อมูล ได้แก่ Independent - Samples T test (T-test) One-Way ANOVA (F-test) ส่วนการวิเคราะห์แบบสัมภาษณ์ใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ส่วนเกณฑ์ในการวัดระดับการมีส่วนร่วม คือ ค่าเฉลี่ยระหว่าง 3.01 – 4.00 หมายถึง การมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับสูง ค่าเฉลี่ยระหว่าง 2.01 – 3.00 หมายถึง การมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับปานกลาง และค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.00 – 2.00 หมายถึง การมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับต่ำ

 

ผลการวิจัย

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พบว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ (ค่าเฉลี่ย 1.99) เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเพียง 2 ระดับเท่านั้นได้แก่ ระดับปานกลาง และต่ำ ได้แก่ รายด้านที่ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอยู่ระดับปานกลาง คือ ด้านการใช้สิทธิเลือกตั้ง (ค่าเฉลี่ย 2.72) ด้านการติดตามข่าวสารทางการเมือง (ค่าเฉลี่ย 2.44) และด้านการสนทนาเรื่องการเมือง (ค่าเฉลี่ย 2.32) ทั้งนี้รายด้านที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองอยู่ระดับต่ำ ได้แก่ ด้านการชุมนุมทางการเมือง (ค่าเฉลี่ย 1.57) ด้านการติดต่อกับนักการเมือง (ค่าเฉลี่ย 1.56) และด้านการเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคการเมืองและกลุ่มทางการเมืองต่าง ๆ มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด (ค่าเฉลี่ย 1.36) ในส่วนของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พบว่า เพศ อายุ สถานภาพ อาชีพ การเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม บทบาทหน้าที่ในครอบครัว บทบาทหน้าที่ในชุมชน การรับรู้ข่าวสารทางการเมือง การพัฒนาทางการเมือง ความสนใจทางการเมือง การกล่อมเกลาทางการเมืองและพฤติกรรมทางการเมือง นอกจากนี้ทัศนะของประชาชนที่เกี่ยวกับปัจจัยทางการเมืองซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พบว่า ปัจจัยด้านการกล่อมเกลาทางการเมืองโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 2.77) เมื่อพิจารณาตามรายข้อ พบว่า ประชาชนที่มีการกล่อมเกลาทางการเมืองอยู่ในระดับสูง ได้แก่ เมื่อบิดา มารดา หรือเพื่อน ๆ ของท่านได้แสดงความคิดเห็นขัดแย้ง ท่านมักจะแสดงความไม่พอใจ (ค่าเฉลี่ย 3.10) ปัจจัยด้านวัฒนธรรมทางการเมืองโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง(ค่าเฉลี่ย 2.94) ค่อนไปทางระดับสูง เมื่อพิจารณาตามรายข้อ พบว่า ประชาชนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองระดับสูง ได้แก่ การมีความเชื่อมั่น และชื่นชมในระบอบการปกครองที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันสูงสุดที่จะสามารถแก้ปัญหาของชาติให้มั่นคงยั่งยืน และมีความเหมาะสมต่อการปกครองในประเทศไทย (ค่าเฉลี่ย 3.48) ปัจจัยด้านความสนใจทางการเมืองโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 2.64) เมื่อพิจารณาตามรายข้อ พบว่า ประชาชนที่มีความสนใจทางการเมืองระดับสูง ได้แก่ เหตุการณ์ทางการเมืองไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อการดำรงชีวิตประจำวัน (ค่าเฉลี่ย 3.05) ส่วนประชาชนที่มีความสนใจทางการเมืองอยู่ในระดับต่ำ คือ มีการติดตามรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" เป็นประจำทุกสัปดาห์ (ค่าเฉลี่ย 1.91) ปัจจัยด้านการมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยโดยรวมอยู่ในระดับสูง (ค่าเฉลี่ย 3.09) เมื่อพิจารณาตามรายข้อ พบว่า ประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยอยู่ในระดับสูง คือ การที่รัฐบาลมีการบริหารประเทศที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นสิ่งสำคัญในระบอบประชาธิปไตย (ค่าเฉลี่ย 3.47) ปัจจัยด้านค่านิยมพื้นฐานทางการเมืองแบบประชาธิปไตยโดยรวมอยู่ในระดับสูง (ค่าเฉลี่ย 3.09) เมื่อพิจารณาตามรายข้อ พบว่า ประชาชนที่มีค่านิยมพื้นฐานทางการเมืองแบบประชาธิปไตยอยู่ในระดับสูง คือ การเคารพสิทธิและเสรีภาพของตนเองและผู้อื่นนับเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง (ค่าเฉลี่ย 3.44)

ทัศนะทางการเมืองของผู้นำชุมชนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางเมืองของประชาชนในชุมชน พบว่า ผู้นำชุมชนจะมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุด จากการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน พบว่า กลุ่มที่มีบทบาททางการเมืองมากที่สุด คือ กลุ่มผู้สูงอายุ พ่อค้า แม่ค้า พ่อบ้าน และแม่บ้าน ชี้ให้เห็นว่า “การเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ อาชีพค้าขายอยู่บ้าน หรือในชุมชน ยิ่งอายุมากขึ้นการมีส่วนร่วมยิ่งสูงขึ้น” ซึ่งสอดคล้องและขัดแย้งกับแนวคิดของมิลบาร์ท และ โกเอล (Milbrath และ Goel, 1977) พบว่า ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับสูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุระหว่าง 40-50 ปี แต่มีส่วนร่วมทางการเมืองที่ลดลงเมื่ออายุเกือบ 60 ปี “โดยคนหนุ่มสาวจะให้ความสนใจทางเมืองน้อย” สอดคล้องกับผลการวิจัยของศุภวัธ มีบุญธรรม (2547 : 73) พบว่า ระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ในระดับต่ำ ส่วนพฤติกรรมการเมืองในลักษณะของประชาชน คือ การไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนท้องถิ่น หรือ ส.ส. หรือ ส.ว.เป็นอันดับแรก พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง การรับฟังข่าวสารทางการเมือง ชี้ให้เห็นว่า “ประชาชนจะตัดสินใจเลือกกิจกรรมที่เป็นไปตามกฎหมายก่อน เหตุผลรองลงมาคืออาศัยความยากง่ายและความสนใจของกิจกรรมทางการเมืองนั้น ๆ  รวมถึงการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมนั้น ๆ จะต้องไม่มีผลเชิงลบต่อชีวิต และทรัพย์สินมากนัก” ส่วนปัญหาอุปสรรคการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามทัศนะของผู้นำทุกชุมชนในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เห็นตรงกันว่า “การขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองอย่างรุนแรง แบ่งฝ่ายแบ่งสี ขาดความสามัคคีของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการแสดงออกในการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ของประชาชนและผู้นำด้วย

 

การอภิปรายผล

                การมีส่วนร่วมทางเมืองของประชาชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะด้านการใช้สิทธิเลือกตั้ง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ  2.72 มากกว่าด้านอื่น ๆ นั้นเป็นเพราะว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีโอกาสแสดงบทบาทหน้าที่ทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นการแสดงบทบาททางการเมืองที่ง่าย นับว่าเป็นทางการที่สุดและใช้เวลาน้อย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน มีอาชีพรับจ้าง ค้าขาย รับราชการเป็นหลัก จึงไม่ค่อยมีเวลาให้กับกิจกรรมการเมืองอื่น ๆ ทั้งในเรื่องของการเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคการเมืองและกลุ่มทางการเมืองต่าง ๆ การสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การเขียนเรื่องร้องทุกข์ เสนอปัญหาไปยังนักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำทางการเมืองและหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ รวมถึงการชุมนุมทางการเมือง การฟังปราศรัยหาเสียง และการติดต่อกับนักการเมือง ทำให้การแสดงพฤติกรรมทางการเมืองในการพัฒนาประชาธิปไตยมีระดับต่ำทุกข้อ ซึ่งส่วนสำคัญประการหนึ่ง คือประชาชนในเขตดุสิตให้ความสำคัญกับเรื่องการเมืองน้อยกว่าการประกอบอาชีพ หรือเรื่องปากท้อง และคิดว่าเรื่องการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องของลูกบ้านหรือชาวบ้านทั่วไปที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องและเป็นเรื่องน่าเบื่อ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน ที่ว่า “ประชาชนมีความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อสถานการณ์ทางการเมือง จึงทำให้ประชาชนลดระดับความสนใจทางการเมืองลงมาก” (สามารถ อำพันหอม, 2553 : สัมภาษณ์)

ข้อเสนอแนะการใช้ประโยชน์/ข้อสังเกต

                - ผลการวิจัยครั้งนี้ได้นำไปต่อยอดในการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้นำชุมชน ประชาชนในการจัดทำบริการวิชาการมีส่วนร่วมของประชาชนกับการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องทุกปีนับเป็นภารกิจร่วมกันอย่างแท้จริง

- อย่างไรก็ตามผลการวิจัยเกิดจากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ตามทัศนะทางการเมืองตามข้อคำถามของแบบสอบถามและการสัมภาษณ์ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น อาจมิใช่ผลของการปฏิบัติจริงก็ได้ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านระยะเวลาที่ไม่เกิน 4 เดือนขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่การเมืองกำลังรุนแรง (มีนาคม-มิถุนายน 2553)

บรรณานุกรม

จันทนา สุทธิจารี. 2544. การเมืองการปกครองไทยตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ วี.เจ พริ้นติ้ง.

ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์. 2554. โหวตโน...แล้วได้อะไร?. ในหนังสือพิมพ์มติชน ปีที่ 34 ฉบับที่ 12162, 28 มิถุนายน. หน้า 6.

ราชกิจจานุเบกษา. 2550. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. [Online] accessed 8 October 2009. Available from http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2550/A/047/1.PDF

ศุภวัธ มีบุญธรรม. 2547. การรับรู้ข่าวสารทางการเมืองกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนิสิตนักศึกษา: ศึกษาเฉพาะกรณีนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) สาขารัฐศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

สามารถ อำพันหอม, (2553, 30 มีนาคม). เลขานุการชุมชนราชพัสดุ. สัมภาษณ์.

สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์. 2549. การเมืองไทย. กรุงเทพมหานคร : เสมาธรรม.

หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์. 2552. สรุปคนกรุงใช้สิทธิเลือกผู้ว่าฯกทม.51.10% (ทวีวัฒนามากสุด-ดุสิตน้อยสุด) วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552. [Online] accessed 8 October 2009. Available from http://www.matichon.co.th

Almond, Gabriel A. and Jr. B.G. Powell. 1976. Comparative Political Today. Boston : Little Brown and Company.

Cohen John M. and Uphoff, NormanT. 1980. Participation’s Place in Rural Development, Seeking Clarity Through Specificity” World Development. Vol. 8.

Lester W. Milbrath. 1965. Political participation; how and why do people get involved in politics?, Chicago : Rand McNally political science series.

Lester W. Milbrath and M. L. Goal. 1977. Political Participation : How and Why Do People Get Involved in Politics. Chicago : Rand McNally College Publishing Company.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น