วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วิถีชีวิตชุมชนวัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

The ways of life in Wat Pracharabuedham Community of Dusit District, Bangkok.

ภูสิทธ์ ขันติกุล
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสังคม
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มุ่งศึกษาลักษณะของชุมชนในบริบททางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ สำรวจ และสังเกตจากผู้นำชุมชนและประชาชนในชุมชนวัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พบผลการศึกษาดังนี้
สภาพทั่วไปและลักษณะของชุมชน พบว่า ชุมชนวัดประชาระบือธรรม แบ่งออก 4 ชุมชน ซึ่งในอดีตชุมชนวัดประชาระบือธรรม เป็นชุมชนเดียวกันโดยมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ทุ่งหญ้า และสวนผลไม้ มีลำคลองสายสำคัญในการดำรงชีวิต ชื่อว่า “คลองบางกระบือ” เป็นสายน้ำที่ประชาชนใช้ทั้งอุปโภคและบริโภค ซึ่งในขณะนั้นประชาชนประกอบอาชีพทำนา และทำการเกษตรกรรมเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงการทำสวนผลไม้ ประเภททุเรียน มะพร้าว กระท้อน เป็นต้นและยังมีการเลี้ยงสัตว์ จำพวกวัว และกระบือมากมาย จนทำให้ชุมชนนี้มีชื่อเสียงในเรื่องการเลี้ยงกระบือที่มีพันธุ์ดีและแข็งแรง ประชาชนทั่วไปจึงเรียกกันว่า “หมู่บ้านบางกระบือ” ครั้นต่อมาชาวบ้านได้ร่วมกันสร้าง “วัดประชาระบือธรรม” ขึ้น และมีโรงเรียนวัดประชาระบือธรรมตามมา จนในที่สุดประชาชนได้ประสานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ให้มีการดำเนินการจัดตั้งเป็นชุมชนขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “ชุมชนวัดประชาระบือธรรม” ตามชื่อของวัด และโรงเรียนที่มีอยู่เดิม เมื่อประชากรมากขึ้นพื้นที่ขยายเพิ่มขึ้นจนก่อให้เกิดการแบ่งชุมชนย่อยเพื่อสะดวกในการบริหารจัดการและสามารถดูแลกันได้อย่างทั่วถึง เป็น 4 ชุมชน โดยครั้งแรกแบ่งเป็น ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1-3 ก่อน และต่อมาจึงเกิดชุมชนวัดประชาระบือธรรม 4 ตามมา
ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 ตั้งอยู่บนพื้นที่ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นชุมชนที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความเจริญในด้านต่าง ๆ จากภายนอกไหลเข้าสู่ชุมชนอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นชุมชนเมือง ส่วนชุมชนวัดประชาระบือธรรม 2 และ 3 ทั้ง 2 ชุมชนตั้งอยู่บนพื้นที่อันเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน และพื้นที่ส่วนบุคคล มีสภาพทั่วไปของชุมชนเป็นลักษณะของชุมชนเมืองแต่มีบางพื้นที่ที่ประชาชนอยู่กันหนาแน่นมากจนกลายเป็นชุมชนแออัดด้วย และชุมชนวัดประชาระบือธรรม 4 เป็นพื้นที่ในกรรมสิทธิ์ของเอกชนมีบริษัทเอกชนเป็นเจ้าของและได้มีการปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ 120 คูหาขึ้น เพื่อขายให้กับประชาชน จึงทำให้มีการซื้อขายกันจากหลากหลายพื้นที่ คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้จึงเป็นทั้งคนในพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงในเขตดุสิต และคนต่างจังหวัดเข้ามาซื้อเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพในชุมชนด้วย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพจากสภาพเดิมไป นั่นก็คือปัจจัยการสร้างถนนหนทางสายสำคัญ คือ ถนนพระราม 5 ตัดผ่าน และการเป็นพื้นที่เปิดที่สามารถเข้าถึงชุมชนได้อย่างหลากหลายรูปแบบทั้งทางบกและทางน้ำ ปัจจุบันไม่มีการเดินทางด้วยเส้นทางน้ำแล้ว จะมีเฉพาะเส้นทางบกเท่านั้น ซึ่งสามารถเดินทางเข้าสู่ชุมชนได้ทั้งทางด้านถนนพระราม 5 และถนนสามเสน
บริบททางเศรษฐกิจและสังคม พบว่า จากชุมชนขนาดเล็กในอดีตกลายเป็นชุมชนมีขนาดใหญ่ ๆ ขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชากรในชุมชนเพิ่มมากขึ้นทิศทางในการประกอบอาชีพมีความหลากหลายมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งมีทั้งอาชีพเกิดขึ้นอยู่กับบ้าน เช่นอาชีพรับจ้าง ค้าขาย ธุรกิจส่วนตัวเล็ก ๆ และอาชีพที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านนอกชุมชน เช่นอาชีพรับราชการ พนักงานบริษัทเอกชน และหน่วยงานรัฐ ทั้งนี้การดูแลทุกข์สุขของประชาชนยังมีคณะกรรมการชุมชนเป็นตัวแทนของคนในชุมชน ดูแลบริหารจัดการภายในชุมชนได้เป็นอย่างดี
บริบททางวัฒนธรรม พบว่า วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อของประชาชนในชุมชน เป็นความเชื่อ ความศรัทธาที่ถือตามคติของพุทธศาสนาเป็นหลัก เป็นเพราะว่าประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา เหตุผลสำคัญคือประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้มาพร้อม ๆ กับการตั้งวัดประชาระบือธรรม ทุกคนจึงนับว่ามีวัดเป็นศูนย์กลางในการยึดเหนี่ยวจิตใจมาโดยตลอด ภายหลังได้มีประชาชนบางส่วนย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ก็มักจะนำวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อของตัวเองติดมาด้วย แต่ก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ไม่มีการขัดแย้งใด ๆ ในเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อส่วนบุคคล ส่วนวัฒนธรรมประเพณีที่ประชาชนในชุมชนยึดปฏิบัติกันมาตั้งแต่ตั้งชุมชน คือ การทำบุญในวันขึ้นปีใหม่ และประเพณีวันสงกรานต์
คำสำคัญ: วิถีชีวิต, ชุมชนวัดประชาระบือธรรม, เขตดุสิต

ABSTRACT
This research aims to study the community characteristics in term of social concept Economy and Culture, by using interview, survey and observation. The sample groups are the leaders and the people in Wat Pracharabuedham Community (Pracharabuadham Temple Community), Dusit, Bangkok. The research result is that: in former time, Wat Pracharabuedham community is a unity community. The location was a flat with grassland and fruit garden. “Klong Bangkrabue” was the main canal of the community life style. The people consumed water from this canal for rice farming which was their principal occupation at that time; for gardening, such as durian, coconut, santol etc; for animal farming, such as cow and buffalo. One of their reputation was they had good quality buffalo farming, so the community was named “krabue Village”. Afterward, Wat Pracharabuedham was established and shortly they opened a school named “Wat Pracharabuedham School”.
Furthermore, the community was approved to be an public community “Wat Pracharabuedham Community”, by the authority organization concerned. When the number of the people in the community was increased, the area was also increased. To make it simple for community management and supervision, they decided to break the community into 4 groups. First, there were only Wat Pracharabuedham Community 1-3, and then followed by Wat Pracharabuedham Community 4.
Wat Pracharabuedham Community 1 was situated on the land of Religion Department, Ministry of Education. It was a constant developed and city community as various outside progresses rapidly penetrated into.
Wat Pracharabuedham Community 2 and 3 were situated on the private land. The general community feature was city communities. Certain areas were very crowded so they became crowded community.
Wat Pracharabuedham Community 4 was situated on the land belonging to a private company. The commercial construction buildings with 120 units were sold to people in the community, some from Dusit District, a nearby community, and some from other provinces. They used the building as a living and working place.
The obvious factors which changed the old community were: the main road, Rama V Road, which was constructed through the community. It was an open and easily access by car or boat. But nowadays, the latter is not available, only car or other road transports are. They can access to the community by Rama V Road or Samsen Road.
The economic and social conception of the community is that the small community in the past became rapidly larger. As the number of the population in the community went up, various occupation path directions were also increased: working at home, such as services, commercial, small business, and also working in the office, such as government services, company employee in a private or public organizations. The community committees, as the representatives of the community, took responsibilities on the members’ living, and internal management.
The culture and traditional conception is that the people have a belief in accordance with their Buddhist faith, since most of the people are Buddhists and they involved in Wat Pracharabuedham establishment. The temple is always as everybody’s mind center.
Afterward, there were some people moving in and brought in their own culture, tradition, and belief, however, it was similar to the old people. There was no conflict between them. The culture and tradition that the people respect since the establishment are New Year Celebration and Songkran Festival.
Keywords: Ways of life, Wat Pracharabuedham Community, Dusit District

บทนำ (Introduction)
ราวพุทธศักราช 2441 พื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานครในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ใช้เงินพระคลังข้างที่อันเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ได้ตัดสินพระทัยซื้อที่สวนต่อท้องนาสามเสนจากราษฎรตามราคาอันสมควร มีเนื้อที่ตั้งแต่คลองผดุงกรุงเกษมทางทิศใต้ไปจดคลองสามเสนทางทางทิศเหนือของพระนครด้านตะวันออกจดทางรถไฟ พระราชทานตำบลนี้ว่า “สวนดุสิต” หลังจากนั้นพระองค์ทรงเริ่มให้มีการขุดคลอง ทำสะพานสร้างพระอุทยาน ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล ไม้ดอก และสร้างพลับพลาไว้เป็นที่เสด็จประทับแรม โปรดเกล้าฯ ให้เรียกที่ประทับว่า “สวนดุสิต” ต่อจากนั้นได้สร้างถนนรอบสวนดุสิต มีถนนซางฮี้(ราชวิถี) โอบด้านหลัง ถนนดวงตะวัน (ศรีอยุธยา) โอบด้านหน้า ถนนลก (พระรามที่ 5) โอบด้านตะวันออก และมีถนนสามเสนตอนตั้งแต่คลองผดุงกรุงเกษม ขึ้นไปจนถึงคลองสมเสน ซึ่งสร้างต่อจกถนนสามเสนเดิม ทำจากคลองรอบกรุงขึ้นมาจนถึงคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่เมื่อกลางรัชกาล โอบด้านตะวันตกกับถนนเบญจมาศ จากสวนดุสิตไปจนถึงคลองผดุงกรุงเกษมแถบป้อมหักกำลังดัษกร (กนกวรรณ ชัยทัต, 2548 : 55-59) ครั้นถึงช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2447 ได้มีการแบ่งการปกครองมณฑลกรุงเทพมหานครออกเป็นอำเภอต่าง ๆ อำเภอดุสิต จึงเป็น 1 ใน 8 อำเภอชั้นใน ของการปกครองมณฑลกรุงเทพมหานคร (พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตดุสิต, 2546 : 6) ซึ่งใน 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระนคร อำเภอสามเพ็ง อำเภอบางรัก อำเภอประทุมวัน อำเภอดุสิต อำเภอบางกอกน้อย อำเภอบางลำภูล่าง อำเภอบางกอกใหญ่ ครั้นต่อมายุบเหลือ 7 อำเภอ โดยยกอำเภอประทุมวันไปขึ้นกับอำเภอดุสิต สำหรับอำเภอชั้นนอกมี 8 อำเภอ คือ อำเภอบางซื่อ อำเภอบางขุนเทียน อำเภอราษฎร์บูรณะ อำเภอตลิ่งชัน อำเภอภาษีเจริญ อำเภอหนองแขม อำเภอบางเขน อำเภอบางกะปิ ซึ่งอำเภอดุสิตนั้นมีอาณาเขต คือทิศเหนือต่ออำเภอบางซื่อ แต่ปากคลองรางเงินฝั่งตะวันตก ไปตามลำคลองสามเสนฝั่งใต้ถึงทางรถไฟสายเหนือด้านตะวันตก ทิศตะวันออกต่ออำเภอพญาไทและอำเภอประแจจีน แต่คลองสามเสนไปตามทางรถไฟสายเหนือ ด้านตะวันตกถึงคลองบางกะปิ (คลองมหานาค) ทิศใต้ต่ออำเภอปทุมวันและอำเภอนางเลิ้ง แต่ทางรถไฟสายเหนือไปตามลำคลองบางกะปิ (คลองมหานาค) ฝั่งใต้ถึงสี่แยกมหานาค เลี้ยวขึ้นตามลำคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งตะวันตกไปถึงปากคลองเม่งเส็ง ทิศตะวันตกต่ออำเภอสามเสน แต่คลองผดุงกรุงเกษมเข้าไปตามลำคลองเม่งเส็งฝั่งตะวันตกถึงถนนใบพร เลี้ยวไปตามถนนใบพร ด้านเหนือถึงมุมกำแพงพระราชวังสวนดุสิตริมถนนสามเสน เลี้ยวขึ้นริมกำแพงพระราชวังสวนดุสิตริมถนนสามเสน เลี้ยวขึ้นริมกำแพงพระราชวังสวนดุสิตด้านตะวันตกถึงถนนซางฮี้นอก เลี้ยวตามถนนซางฮี้นอก ด้านใต้ไปถึงลำคลองรางเงิน เลี้ยวตามลำคลองรางเงินฝั่งตะวันตกถึงคลองสามเสน ในเขตพื้นที่เหล่านี้จึงเป็นอำเภอดุสิต ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ให้จัดรูปการปกครองของ "นครหลวงกรุงเทพธนบุรี" เป็น "กรุงเทพมหานคร" มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ได้บัญญัติให้กรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นทบวงการเมือง เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนครหลวง แบ่งพื้นที่บริหารออกเป็นเขตและแขวงหลังจากนั้นได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันและได้บัญญัติให้กรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น แบ่งพื้นที่บริหารออกเป็นเขตและแขวง ซึ่งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวนั้น อำเภอดุสิตจึงเป็นเขตดุสิต ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และในขณะนั้นเขตดุสิตมีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 22.21 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย แขวงดุสิต แขวง สวนจิตรลดา แขวงวชิรพยาบาล แขวงสี่แยกมหานาค แขวงถนนนครไชยศรี และแขวงบางซื่อ รวมทั้งสิ้น 7 แขวง และสุดท้ายในปี พ.ศ. 2532 ทางกระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศกระทรวง ลง วันที่ 9 พฤศจิกายน 2532 แยกพื้นที่แขวงบางซื่อออกจากเขตดุสิต ตั้งเป็นเขตบางซื่ออีกเขตหนึ่ง เขตดุสิตในปัจจุบันจึงมีอาณาเขต ได้แก่ ทิศเหนือ ติดกับคลองบางซื่อและคลองเปรมประชา ทิศใต้ ติดต่อกับเขตพระนครและเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ทิศตะวันออก ติดกับทางรถไฟสายเหนือติดต่อเขตพญาไทกับเขตราชเทวี ทิศตะวันตก ติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งฝั่งตรงข้ามเป็นพื้นที่ของเขตบางพลัด โดยมีพื้นที่การปกครองครอบคลุม 5 แขวง ได้แก่ แขวงดุสิต แขวงวชิรพยาบาล แขวงสวนจิตรลดา แขวงสี่แยกมหานาค และแขวงถนนนครไชยศรี มีพื้นที่โดยรวมขนาด 10.66 ตารางกิโลเมตร มีชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตดุสิตทั้งสิ้น 44 ชุมชน ปี 2552 แบ่งได้เป็น 3 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 มี 16 ชุมชน โซนที่ 2 มี 17 ชุมชน และโซนที่ 3 มี 11 ชุมชน (ข้อมูลเขตดุสิต, 2552 : ออนไลน์)
อย่างไรก็ตามภายใต้การบริหารของเขตดุสิตกับพื้นที่ 44 ชุมชนในปัจจุบันนี้ได้สะท้อนวิถีชีวิตของชุมชนที่แตกต่างกันในหลากหลายด้าน ทั้งมิติด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม นับเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่อย่างไรก็ตามชุมชนก็มีความสัมพันธ์ทางสังคมร่วมกัน มีข้อตกลงร่วมกัน อยู่กันอย่างเป็นชุมชนที่พึ่งพากันได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับ เดวิส คิงสลีย์ (David Kingsly) ที่ได้ให้ความหมายของคำว่า “ชุมชน หมายถึง กลุ่มคน ที่อยู่ร่วมกันกันในอาณาบริเวณใดบริเวณหนึ่งที่แน่นอนและสามารถดำรงชีวิตทางสังคมร่วมกัน กล่าวคือ คนกลุ่มหนึ่งจะต้องมีอาณาเขตเป็นของตนและคนในอาณาเขตนั้นมีความสัมพันธ์ทางสังคมร่วมกัน เช่น มีภาษาพูดจารีตประเพณี และทัศนคติ เป็นแบบเดียวกัน” อนึ่ง ชยาภรณ์ ชื่นรุ่งโรจน์ ได้สรุปความหมายของคำว่า “ชุมชน หมายถึง ชุมชนนั้นหมายถึงการที่คนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมาอยู่ร่วมกันในระยะเวลาที่ยาวนาน ระยะเวลาหนึ่ง จนเกิดความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันเป็นส่วนของชุมชน มีอาณาเขตที่แน่นอน มีความสนใจและปฏิบัติตนในวิถีชีวิตประจำวันที่คล้ายคลึงกัน และมีความสัมพันธ์กันภายข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน” (ชุมชนและการพัฒนาชุมชน, 2552 : ออนไลน์) จากความหมายเหล่านี้ทำให้ยืนยันได้ว่าการก่อกำเนิดชุมชนทุกชุมชนจะมีระยะเวลาที่ยาวนานพอที่จะสามารถสร้างแบบแผนหรือวิถีชีวิตที่สานความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนขึ้นมาให้เห็นได้อย่างเด่นชัด จนทำให้สามารถสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์โดยสังเขปได้นั่นเอง รวมทั้งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านจิตใจและสามารถสะท้อนภาพลักษณ์ให้กับสังคมในด้านครอบครัว การประกอบอาชีพ ความร่วมมือร่วมใจ ความกลมเกลียวเหนียวแน่น และความเข้มแข็งของชุมชนได้เช่นเดียวกัน ภาพของวิถีชีวิตประจำวันเหล่านี้มักจะเห็นได้อย่างเด่นชัดในทุกชุมชน ถึงอย่างไรก็ตามในชุมชนอีกจำนวนมากที่เป็นชุมชนเกิดใหม่โดยการอพยพเข้ามาอยู่ร่วมกันของประชาชน จนเกิดการสร้างลักษณะของชุมชนที่แตกต่างไปจากชุมชนอื่น ๆ ทำให้เกิดตัวบ่งชี้ของการเปลี่ยนแปลงชุมชนร่วมกันและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันที่แตกต่างกันออกไป ทั้งระหว่างคนในชุมชนและคนระหว่างชุมชน ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ การประกอบอาชีพ การศึกษา วัฒนธรรม ประเพณี ย่อมมีจุดร่วมของความเป็นแบบแผนของชีวิตที่ไม่แตกต่างกันมากนักเนื่องจากแต่ละชุมชนมีข้อตกลง หรือระเบียบข้อบังคับของชุมชนนั้น ๆ ร่วมกันนั่นเอง
ด้วยแนวคิด เหตุผลและปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นเพื่อให้มีคนรุ่นหลังได้ศึกษาในสิ่งที่ดีงามภายในชุมชน และสืบทอดสิ่งที่ดีงานเหล่านี้ให้คงอยู่ จึงทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะศึกษาวิถีชีวิตชุมชนวัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ซึ่งสาระสำคัญพอสังเขปของทั้ง 4 ชุมชน ไว้ดังนี้ (สำนักงานเขตดุสิต, 2551 : 88-98) ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 ตั้งอยู่ถนนพระราม 5 แขวงถนนนครไชยศรี เป็นชุมชนประเภทชุมชนเมือง ตั้งอยู่ในกรรมสิทธิ์ที่ดินของกรมการศาสนา มีเนื้อที่ชุมชนประมาณ 25 ไร่ 1 งาน 22 ตารางวา ทิศเหนือ ติดกรมทหารสื่อสาร สะพานแดงทิศใต้ ติดร.1 พัน รอ. และชุมชนพระยาประสิทธิ์ ทิศตะวันออก ติดถนนพระราม 5 และคลองเปรมประชากร และทิศตะวันตก ติดชุมชนวัดประชาระบือธรรม 3 และ 4 ส่วนชุมชนวัดประชาระบือธรรม 2 เป็นชุมชนที่แยกออกมาจากชุมชนวัดประชาระบือธรรม ตั้งอยู่ถนนพระราม 5 แขวงถนนนครไชยศรี เป็นชุมชนประเภทชุมชนเมือง ตั้งอยู่ในกรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชน และที่ส่วนบุคคล มีเนื้อที่ชุมชนประมาณ 22 ไร่ ทิศเหนือ ติดคลองบางกระบือ ทิศใต้ ติดชุมชนวัดประชาระบือธรรม 3 ทิศตะวันออก ติดคลองบางกระบือ และทิศตะวันตก ติดม.พัน 4 ส่วนชุมชนวัดประชาระบือธรรม 3 เป็นชุมชนที่แยกออกมาจากชุมชนวัดประชาระบือธรรม ตั้งอยู่ถนนพระราม 5 แขวงถนนนครไชยศรี เป็นชุมชนประเภทชุมชนเมือง ตั้งอยู่ในกรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชน และที่ส่วนบุคคล มีเนื้อที่ชุมชนประมาณ 25 ไร่ ทิศเหนือ ติดชุมชนวัดประชาระบือธรรม 2 ทิศใต้ ติดชุมชนวัดประชาระบือธรรม 4 ทิศตะวันออก ติดชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 และติดคลองบางกระบือ และม. พัน 4 และชุมชนวัดประชาระบือธรรม 4 ตั้งอยู่ถนนพระราม 5 แขวงถนนนครไชยศรี เป็นชุมชนประเภทชุมชนเมือง ตั้งอยู่ในกรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชน มีเนื้อที่ชุมชนประมาณ 8 ทิศเหนือ ติดชุมชนวัดประชาระบือธรรม 3 ทิศใต้ ติดหมู่บ้านสยามนิเวศน์ ทิศตะวันออก ติดคลองบางกระบือเชื่อมคลองวัดน้อยนพคุณ และทิศตะวันตก ติดชุมชนบางกระบือ 14

แนวคิด ทฤษฎี และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง (Literature)
วิถีชีวิตของประชาชนแต่ละชุมชนนั้นมีความเป็นเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์แตกต่างกันไป บ้างก็เหมือนกันบ้างก็ต่างกัน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของบุคคลในการแสดงออกมา และวิถีชีวิตต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ละยุคสมัยด้วย วิถีชีวิตชุมชนใดชุมชนหนึ่งจะถ่ายทอดให้มีความยั่งยืนนานย่อมต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจในการอนุรักษ์ห่วงแหนของผู้คนแต่ละยุคสมัยนั่นเอง วิถีชีวิตจึงหมายถึง การแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ เป็นประจำวันอย่างสม่ำเสมอ เป็นนิสัย ซึ่งจะสะท้อนทัศนคติ และวัฒนธรรมของบุคคล เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคลในเรื่องที่อยู่อาศัย ลักษณะครอบครัว ขนบธรรมเนียมประเพณี การดูแลสุขภาพ พฤติกรรมสุขภาพของบุคคลนั้น จะได้รับอิทธิพลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสิ่งแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ความแตกต่างของรายได้ การศึกษา อาชีพ ความเชื่อของบุคคล จะเป็นตัวกำหนดทำให้เกิดความแตกต่างของกิจกรรมในชีวิตประจำวัน (นันทพร ศรีสุทธะ, 2544 : 8) ทั้งนี้เมื่อวิถีชีวิตของคนถูกกำหนดให้แตกต่างกันด้วยวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ เช่นชาวเขาก็แตกต่างจากชาวเมือง คนไทยอิสลามก็แตกต่างจากคนไทยพุทธ ดังนั้นวิถีชีวิตของชาวไทยหรือต่างชาติก็ดี จะมีวิถีชีวิตที่เป็นลักษณะของตนเอง จึงไม่ถือว่าวัฒนธรรมของใครสูงหรือต่ำ ล้าหลัง ป่าเถื่อน กว่าอีกวัฒนธรรมหนึ่ง (สุพัตรา สุภาพ, 2541: 103) ด้วยเช่นกัน เมื่อทำการศึกษาชุมชนจึงต้องศึกษาทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม อันถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญของวิถีชีวิตชุมชนหนึ่ง ๆ เพื่อทำการสำรวจสืบค้น ตีความหมายของพฤติกรรมของคนในชุมชน อันสะท้อนความเป็นจริงของชุมชนในด้านการตั้งถิ่นฐาน เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชนให้ยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ยังใช้ทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่นิยม อธิบายสังคมในฐานะที่เป็นระบบ มีอาณาเขตแน่นอนเป็นสังคมที่วางระเบียบตนเอง ควบคุมตนเอง (Self-regulating) โดยมีแนวโน้มที่ส่วนประกอบต่างๆ พึ่งพาอาศัยกันและรักษาดุลยภาพไว้ได้ ทั้งนี้สังคมมีความต้องการจำเป็นจำนวนหนึ่ง (needs or requisites) ซึ่งเมื่อสนองได้แล้ว จะทำให้สังคมดำรงชีวิตอยู่ ส่วนต่างๆสามารถพึ่งพากันได้ (homeostasis) และสามารถรักษาสมดุลยภาพไว้ได้ มีการวิเคราะห์ระบบที่บำรุงรักษาตนเอง (สังคม) และมองว่าในระบบที่มีความต้องการ จำเป็นสังคมจึงต้องมีโครงสร้างแบบใดแบบหนึ่งขึ้นมาเป็นหลักประการให้มีการพึ่งพา (homeostasis) ดุลยภาพ (equilibium) และการมีชีวิต (survival) อาจกล่าวได้ว่า โครงสร้างหลายโครงสร้างสามารถสนองความต้องการจำเป็นอันเดียวก็ได้ แต่โครงสร้างจำนวนจำกัดเท่านั้น ที่สามารถสนองความต้องการจำเป็นใดๆหรือความต้องการจำเป็นหลายอย่างในขณะเดียวกัน (สัญญา สัญญาวิวัฒน์, 2543 : 25-51) ทั้งนี้ การวิจัยต้องอิงอาศัยทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมในเรื่องของวัฒนธรรมชุมชนด้วย ซึ่งจะสะท้อนวัฒนธรรมในเรื่อง วิถีการดำเนินชีวิต กระสวนแห่งพฤติกรรมและบรรดาผลงานทั้งมวลที่มนุษย์ไดสร้างสรรค์ขึ้น ตลอดจนความคิด ความเชื่อ และความรู้ เป็นต้น นอกจากนี้แล้ววัฒนธรรม ยังหมายถึง วิถีการดำเนินชีวิต (The way of life) ของคนในสังคม นับตั้งแต่วิธีกิน วิธีอยู่ วิธี แต่งกาย วิธีทำงาน วิธีพักผ่อน วิธีแสดงอารมณ์ วิธีสื่อความ วิธีจราจรและขนส่ง วิธีอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ วิธี แสดงความสุขทางใจ และหลักเกณฑ์การดำเนินชีวิต โดยแนวทางการแสดงออกถึงวิถีชีวิตนั้นอาจเริ่มมาจาก เอกชนหรือคณะบุคคลทำเป็นตัวแบบ แล้วต่อมาคนส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติสืบต่อกันมา วัฒนธรรมย่อมเปลี่ยนแปลง ไปตามเงื่อนไขและกาลเวลาเมื่อมีการประดิษฐ์หรือค้นพบสิ่งใหม่ วิธีใหม่ที่ใช้แก้ปัญหาและตอบสนองความ ต้องการของสังคมได้ดีกว่า ซึ่งอาจทำให้สมาชิกของสังคมเกิดความนิยม และในที่สุดอาจเลิกใช้วัฒนธรรมเดิม(อานนท์ อาภาภิรม, 2525 : 90) ทั้งนี้ผู้วิจัยได้ประยุกต์กรอบแนวคิดของฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ (2536 : 111 อ้างใน เทคเนควิธีการศึกษาชุมชน, 2552 : ออนไลน์) เพื่อมาใช้ในการศึกษาอีกด้วย ซึ่งมีรายละเอียดไว้ดังนี้ การเก็บข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับชุมชน ได้แก่ สภาพภูมิประเทศและการตั้งถิ่นฐานของชุมชน ลักษณะโครงสร้างของประชากร ลักษณะโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาและสาธารณูปโภคของชุมชน และประวัติและความเป็นมาของชุมชน ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ และการใช้ทรัพยากร: การผลิตการแลกเปลี่ยน และการบริโภค ได้แก่ การครอบครองทรัพยากรในการผลิต กระบวนการผลิตและผลผลิต การแลกเปลี่ยนและการบริโภค และรายได้/รายจ่ายและหนี้สิน ส่วน ข้อมูลเกี่ยวกับระบบสังคม และการเมืองในชุมชน ได้แก่ครอบครัวและเครือญาติ เช่น รูปแบบครอบครัว ความสัมพันธ์เครือญาติ เพื่อนบ้านและเพื่อน รวมถึงกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มอุปถัมภ์ กลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มอาชีพ กลุ่มการเมือง กลุ่มอื่นๆ ที่ทางการเข้ามาจัดตั้ง เป็นต้น ทั้งนี้การศึกษาสถาบันสำคัญๆ ของชุมชน การศึกษาลักษณะความสัมพันธ์ของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลในเชิงอำนาจ : ผู้นำ และความขัดแย้งในชุมชน รวมถึงงานวิจัยนี้อิงผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องไว้หลากหลายเช่น เสาวภา ไพทยวัฒน์ (2551 : บทคัดย่อ) ศึกษาเรื่องวิวัฒนาการและรูปแบบสังคมเมือง: กรณีศึกษาย่านเทเวศร์ กนกวรรณ ชัยทัต (2548 : 110-111)ศึกษาเรื่อง การสร้างความเป็นสมัยใหม่ด้วยมิติวัฒนธรรม : มุมมองเรื่องพื้นที่ศึกษาจากพระราชวังดุสิต วัดเบญจมบพิตร ถนนราชดำเนิน ในสมัยรัชกาลที่ 5 ธัญญ ชีวาภรณาวัฒน์ (2544 : บทคัดย่อ) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการตั้งถิ่นฐานย่านบางลำพู วีณา เอี่ยมประไพ (2550 : บทคัดย่อ) ได้ทำการวิจัยเรื่อง วิถีชีวิตชุมชนคลองบางกอกน้อย ชนินทร์ วิเศษสิทธิกุล (2547 : บทคัดย่อ) ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงชีวิตสังคมเมืองในเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร รวมถึงอมร บุญต่อ (2546 : บทคัดย่อ) ศึกษาเรื่องการศึกษาโครงสร้างอำนาจของชุมชนในกรุงเทพมหานคร : กรณีศึกษาชุมชนราชผาทับทิมรวมใจ เช่นกัน จากแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องผู้วิจัยได้กำหนดเป็นกรอบแนวคิดในการศึกษาไว้ดังนี้

กรอบแนวคิดในการวิจัย (Conceptual Framework)














แผนภูมิ: กรอบแนวคิดในการศึกษาวิถีชีวิตชุมชนวัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

วัตถุประสงค์ (Objective)
1. เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปของชุมชนบริบททางสังคมและเศรษฐกิจ ได้แก่ ด้านประวัติ ความเป็นมา ด้านที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพ ลักษณะบ้านเรือน สาธารณูปโภคพื้นฐานในชุมชน สิ่งอำนวยความสะดวกในชุมชน หน่วยงานในชุมชน รวมทั้งด้านการประกอบอาชีพ ด้านการบริโภค ด้านการคมนาคม ด้านการปกครอง ด้านการศึกษา ด้านการสาธารณสุข
2. เพื่อศึกษาวิถีชีวิตชุมชนตามบริบททางวัฒนธรรม 6 ด้าน ได้แก่ ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ด้านภาษาและวรรณกรรม ด้านศิลปกรรมและโบราณคดี ด้านการละเล่นดนตรีการพักผ่อนหย่อนใจ ด้านชีวิตความเป็นอยู่และวิทยาการ (ภูมิปัญญา) และด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจการจัดพิธีกรรม

ขอบเขตของงานวิจัย
1. ขอบเขตด้านพื้นที่ประชากร กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย คือ ประชาชนที่อยู่ในชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1-4 เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการเก็บข้อมูล ได้แก่ ประธานหรือผู้นำชุมชน คณะกรรมการชุมชน ผู้นำทางภูมิปัญญาหรือผู้สูงอายุที่ยอมรับนับถือของคนในชุมชน
2. ขอบเขตด้านเนื้อหา
2.1 สภาพทั่วไปของชุมชน ได้แก่ ด้านประวัติความเป็นมา ด้านที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพ ลักษณะบ้านเรือน สาธารณูปโภคพื้นฐานในชุมชน สิ่งอำนวยความสะดวกในชุมชนหน่วยงานในชุมชน
2.2 ด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน ได้แก่ การประกอบอาชีพ ด้านการบริโภค การคมนาคม การปกครอง การศึกษา การสาธารณสุข
2.3 ด้านวัฒนธรรม 6 ด้าน ได้แก่ ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ด้านภาษาและวรรณกรรม ด้านศิลปกรรมและโบราณคดี ด้านการละเล่นดนตรีการพักผ่อนหย่อนใจ ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจการจัดพิธีกรรม
3. ขอบเขตด้านระยะเวลา กำหนดการเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สังเคราะห์ผลระหว่างเดือน เมษายน – กันยายน 2552

วิธีการดำเนินการวิจัย (Methods)
ประชากรกลุ่มตัวอย่าง
ประชากรกลุ่มตัวอย่างที่ทำการสัมภาษณ์ประกอบด้วยประธานชุมชน เลขานุการ คณะกรรมการ ผู้นำทางภูมิปัญญาและผู้สูงอายุภายในชุมชน รวมถึงผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับชุมชน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
แบบสำรวจ สภาพข้อมูลทั่วไปของชุมชน
แบบสังเกต แบบแผนการกระทำที่เกิดในชีวิตประจำวัน
แบบสัมภาษณ์ เป็นแบบสัมภาษณ์ที่แบ่งคำถามออกเป็น 2 ตอน ดังนี้
- ตอนที่ 1 ข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับผู้ให้สัมภาษณ์ เช่น ชื่อ นามสกุล เพศ อายุ สถานภาพ ศาสนา อาชีพ การศึกษา และรายได้ต่อเดือน
- ตอนที่ 2 ข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชุมชน ได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาและวรรณกรรม ศิลปกรรมและโบราณคดี การละเล่นดนตรีและการพักผ่อนหย่อนใจ ชีวิตความเป็นอยู่และวิทยาการ(ภูมิปัญญา) การท่องเที่ยวและธุรกิจการจัดพิธีกรรม
การวิเคราะห์ข้อมูล
- วิเคราะห์เชิงตรรกะเหตุผลเป็นหลัก และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการตีความสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (inductive) ซึ่งได้จากการสังเกตและการสัมภาษณ์ที่ได้จดบันทึกไว้จากสิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือปรากฏการณ์ที่มองเห็นในเชิงคุณภาพและในเชิงปริมาณจากเอกสาร และภาคสนามที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของชุมชน ทั้ง 6 ด้านและส่วนด้านสังคมที่เป็นสภาพทั่วไปของชุมชน ได้แก่ ที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพ ประวัติความเป็นมา ลักษณะบ้านเรือน สาธารณูปโภคพื้นฐานในชุมชน สิ่งอำนวยความสะดวกในชุมชน หน่วยงานในชุมชน การประกอบอาชีพ การคมนาคม การปกครอง การศึกษา และการสาธารณสุข รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ซึ่งได้จากการศึกษาเอกสาร (Document Research) ในการวิเคราะห์เอกสารผู้วิจัยต้องคำนึงถึงบริบท (Context) หรือสภาพแวดล้อมของข้อมูลเอกสาร
- การเขียนรายงานเป็นการเขียนเชิงเล่าเรื่อง (Narrative) โดยนำเสนอผลการศึกษาในลักษณะการบรรยายในเชิงพรรณนา ที่เน้นเนื้อหาบริบทของสังคมและบริบทของวัฒนธรรม
ผลการวิจัย (Result)
ผลการศึกษา เรื่อง การศึกษาวิถีชีวิตชุมชนวัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พบผลการศึกษาในประเด็นที่น่าสนใจตามลำดับดังนี้
เล่าอดีต(ในภาพรวม)
ในอดีตชุมชนวัดประชาระบือธรรม เป็นที่ราบลุ่มและเป็นทุ่งหญ้า มีลำคลอง 1 ลำคลองเรียกว่า “คลองบางกระบือ” และมีหมู่บ้านเล็ก ๆ อีก 1 หมู่บ้าน มีอาชีพทำการเกษตร เช่น ทำนา ทำสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน มะพร้าว และเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วัว และกระบือ สัตว์เลี้ยงประเภทวัวและกระบือมีพันธุ์ดีและแข็งแรง มีชื่อเสียงมาก จึงได้ชื่อว่า “หมู่บ้านบางกระบือ” ต่อมาชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2440 โดยมีชื่อว่า “วัดบางกระบือ” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดประชาระบือธรรม” วัดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนใน 4 ชุมชน มาร่วมกว่า 112 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2475 โดยขุนสำราญราษฎร์บริรักษ์ นายอำเภอเขตดุสิต และนายบรรณกิจ ท้าวสั้น ได้ขออนุญาตต่อเจ้าอาวาสวัดประชาระบือธรรม เพื่อจัดตั้งโรงเรียนในเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 12 ตารางวา ใช้ชื่อโรงเรียนประชาบาล ถนนนครไชยศรี ปี พ.ศ. 2480 ได้โอนให้แก่เทศบาลนครกรุงเทพ ได้ชื่อว่า โรงเรียนเทศบาล ปี พ.ศ. 2496 เทศบาลนครกรุงเทพได้โอนโรงเรียนให้กับกรมสามัญศึกษา มีสภาพเป็นโรงเรียนประชาบาล และได้เปลี่ยนชื่อว่า โรงเรียนวัดประชาระบือธรรม และชื่อชุมชนจึงเรียกตามชื่อของวัดและโรงเรียนนับแต่นั้นเป็ต้นมา
การเกิดชุมชนอย่างเป็นทางการ
เมื่อ พ.ศ. 2538 จึงเกิดเป็นชุมชนอย่างเป็นทางการขึ้น โดยเริ่มแรกแบ่งออกเป็น 3 ชุมชนก่อน ได้แก่ ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 -3 และต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ก็เกิดขึ้นอีก 1 ชุมชนคือ ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 4 ซึ่งชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 เป็นชุมชนฐานเดิมของทุกชุมชน เหตุผลที่สำคัญในการแบ่งเป็นชุมชนย่อย เนื่องมาจากชุมชนวัดประชาระบือธรรม เป็นชุมชนที่มีประชาชนเริ่มทยอยเข้ามาเพื่อปลูกบ้านพักอาศัย พื้นที่จึงมีการขยายเพิ่มมากตามจำนวนประชาชนที่เข้ามา ทำให้ชุมชนใหญ่ขึ้นและเริ่มมีปัญหาด้านการบริหาร การปกครอง การพัฒนาไม่ทั่วถึง และกรรมการก็มากเกินกว่าระเบียบกรุงเทพมหานครกำหนด โดยอาศัยระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยกรรมการชุมชน พ.ศ.2534 จึงทำให้เกิดการแบ่งชุมชนให้มีความเหมาะสมและมีกรรมการที่ดูแลได้อย่างทั่วถึงนั่นเอง จนกระทั่งปัจจุบันจากชุมชนเล็ก ๆ ไม่ค่อยได้รับการดูแลจากทางราชการนัก ปัจจุบันกลายเป็นชุมชนที่มีการพัฒนาให้มีความเจริญหลากหลายด้าน ทั้งการคมนาคม การสาธารณูปการ สาธารณูปโภค โดยเฉพาะคนภายนอกหรือหน่วยงานภายนอกสามารถเข้าถึงชุมชนวัดประชาระบือธรรม ได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วกว่าในอดีตมาก สาเหตุหนึ่งก็เพราะตั้งอยู่ติดกับถนนพระราม 5 อันเป็นถนนสายสำคัญของเขตดุสิตตัดผ่านนั่นเอง
ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 ตั้งอยู่ในพื้นที่ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ มีซอยหลักทั้งหมด 6 ซอย อาณาเขตติดกับกรมทหารและที่พักทหารเป็นส่วนใหญ่ ประชาชนนับถือพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เมื่อเข้าสู่ชุมชนจะพบว่าบ้านเรือนของประชาชนจะสร้างติดกันซึ่งมีลักษณะเป็นทั้งอาคารพานิชย์ (พักและค้าขาย) และเป็นบ้านเรือนไม้ 2 ชั้น (ที่พักอย่างเดียว) รวมถึงเป็นที่พักอาศัยชั่วคราว (ที่พักอย่างเดียว) มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายนับเป็นชุมชนที่มีความเจริญมากอีกชุมชนหนึ่งในเขตดุสิต เช่น โทรศัพท์สาธารณะ ตู้ไปรษณีย์ในชุมชน ระบบไฟฟ้าในชุมชน ระบบน้ำประปาที่ใช้ในชุมชน ร้านของชำ, ร้านอาหารตามสั่ง, ร้านซ่อมและร้านซักรีด มีศูนย์สุขภาพประจำชุมชนและศูนย์สุขภาพผู้สูงอายุ มีร้านเสริมสวย/ความงาม มีร้านคาราโอเกะหรือสถานบันเทิง รวมถึงตลาดนัดตั้งอยู่ในวัดประชาระบือธรรมอีกด้วย การประกอบอาชีพหลัก ๆ ของชาวชุมชนได้แก่ รับจ้าง ค้าขาย รับราชการ ลูกจ้างหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานรัฐ ส่วนการปกครองมีคณะกรรมการคอยดูแลทำหน้าที่ในการวางแผนพัฒนาชุมชน รับนโยบาย ประสานงาน รวมถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในชุมชนมีกินดีอยู่ดีมีความสุขอย่างทั่วถึง เมื่อถึงคราวเจ็บป่วยของประชาชนในชุมชนก็มีศูนย์สุขภาพชุมชน มีเวรประจำศูนย์สุขภาพชุมชนวันละ 2 คน เปิดบริการตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ ส่วนประเพณีและวัฒนธรรมที่ชุมชนได้ดำรงมั่นคงไว้เป็นหลักให้กับประชาชนในชุมชนได้มีส่วนร่วมกันทำบุญกันอย่างยิ่งใหญ่และยังคงยึดถือตราบจนทุกวันนี้ ได้แก่ ประเพณีวันสงกรานต์ และประเพณีทำบุญตักบาตรวันปีใหม่ และที่สำคัญสิ่งที่สามารถสะท้อนภาพในอดีตของชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 ได้ก็คือวัดประชาระบือธรรม เนื่องจากตั้งมาแล้วไม่น้อย 100 ปี และเป็นวัดที่มีมาก่อนการตั้งชุมชนประชาระบือธรรม 1 หลายทศวรรษนัก ส่วนงานศิลป์ งานปั้นหรืองานแกะสลักในชุมชนที่สืบทอดกันมาแต่อดีต มีอยู่ 2 ประการ ได้แก่ การทำดอกไม้ประดิษฐ์จากสบู่ และการร่อนทอง ซึ่งการร่อนทองได้ไม่มีการสืบทอด ที่เหลือก็คงเป็นการทำดอกไม้ประดิษฐ์จากสบู่ นั่นเอง
ส่วนชุมชนวัดประชาระบือธรรม 2 เป็นชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่บนพื้นที่อันเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน และเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ในอดีตบริเวณนี้เป็นสวนผลไม้ จำพวกสวนทุเรียน มะพร้าว หมาก และสวนผักต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีน้ำท่วมบ่อยครั้ง จึงทำให้บ้านเรือนมีลักษณะใต้ถุนสูง ซึ่งปัจจุบันยังคงเห็นร่องรอยในอดีตอยู่เพียงหลังเดียวเท่านั้น คือบ้านของคุณป้าพัชนีย์ กุลสูตร อายุ 71 ปี ซึ่งบ้านหลังนี้มีอายุมากว่า 80 ปีหรือร่วม 100 ปีก็เป็นได้ เนื่องจากได้มีการสืบทอดมาตั้งแต่ทวดของคุณป้าแล้วประมาณ 3 รุ่น คือ รุ่นทวด ปู่ย่า พ่อแม่ และปัจจุบันนี้เป็นรุ่นลูก ๆ นอกจากตัวบ้านแล้วยังคงเห็นล่องน้ำในสวนที่สามารถนึกภาพของความเป็นสวนในอดีตได้อย่างชัดเจน ในส่วนสภาพทั่วไปของชุมชนปัจจุบันชุมชนเป็นวิถีคนเมืองเกือบทั้งหมดจนแทบจะกลายเป็นชุมชนแออัดไปด้วยซ้ำ ส่วนด้านอาชีพ การสาธารณสุข การศึกษาการปกครองและขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของประชาชนไม่แตกต่างกันกับชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 เลย ส่วนด้านศิลปกรรมประเภทประติมากรรม งานปั้นหรืองานแกะสลักภายในชุมชนยังคงสืบทอดกันมาแต่อดีต อยู่ 2 ประการ ได้แก่ การตีทอง และการแกะสลักสบู่
ส่วนชุมชนวัดประชาระบือธรรม 3 เป็นชุมชนที่อยู่บนพื้นที่ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และพื้นที่เอกชนบางส่วน ลักษณะบ้านเรือนมี 3 ลักษณะใหญ่ ๆ ได้แก่ ลักษณะเป็นบ้านเรือนไม้ 2 ชั้น ลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้นทันสมัยและอพาร์ตเม้นท์ และลักษณะที่เป็นพักอาศัยทั่วไป ส่วนอาชีพ การสาธารณสุข การศึกษาการปกครองและขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของประชาชนในชุมชนไม่แตกต่างกันกับชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1 นัก อนึ่งสิ่งที่ชุมชนยังคงหลงเหลือให้เห็นร่องรอยในอดีตคือ บ้านของคุณบ้านลุงโกเมนทร์ อิ่มสุวรรณ และบ้านป้าสอน พลยุง นั่นเองที่มีอายุไม่น้อยกว่า 50 ปี ซึ่งลักษณะบ้านเรือนของทั้งสองท่านมีลักษณะความคล้ายคลึงสภาพของบ้านคุณป้าพัชนีย์ กุลสูตร ในชุมชนวัดประชาระบือธรรม 2 นั่นเอง
สุดท้ายชุมชนวัดประชาระบือธรรม 4 ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่กว้างสำหรับการเลี้ยงโค ที่ถูกต้อนมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกบ้าง ส่วนใหญ่เป็นกระบือพันธุ์ดี แข็งแรง มีชื่อเสียงมากสมัยนั้น และภายในพื้นที่แห่งนี้หลายครั้งได้มีคนเข้ามาลักลอบปลูกเป็นเพิงอาศัยอยู่เป็นประจำ จนกลายเป็นสลัม มีน้ำสกปรก ในคูคลองผักตบชวาขึ้นเต็มพื้นที่ไปหมด แถมยังมีป่าหญ้าคาจำนวนมากอีกด้วย ไม่มีน้ำประปา และไฟฟ้า จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2518 บริษัทอาคารพัฒนาจำกัด ได้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ในเนื้อที่ 8 ไร่ จำนวน 120 คูหา ทำให้ประชาชนจากหลายพื้นที่ต่างเข้ามาจับจองเป็นที่อยู่อาศัยกันอย่างมากมาย กระทั่ง พ.ศ. 2540 ได้ตั้งเป็นชุมชนวัดประชาระบือธรรม 4 ขึ้นอย่างเป็นทางการมีคณะกรรมการบริหารจัดการชุมชนเช่นเดียวกับชุมชนอื่น ๆ ด้วยความเป็นชุมชนภายใต้อาคารบ้านพักของบริษัทที่กำหนดไว้แล้วอย่างชัดเจนจึงทำให้ไม่มีการสะท้อนให้เห็นความเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมเลย แต่มักจะพบว่าประชาชนในชุมชนได้ถูกความเป็นวิถีชีวิตคนเมืองกลืนหายไปกับกระแสโลกาภิวัฒน์ยากที่หลีกเลี่ยง

สรุปผลการวิจัยและอภิปรายผล
ผลการศึกษาวิถีชีวิตชุมชนวัดประชาระบือธรรม ถนนพระราม 5 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ผู้วิจัยข้อสังเกตดังนี้
1. สภาพของชุมชน มีลักษณะคับแคบ บางพื้นที่ถูกกำหนดโดยแบบของผู้สร้างอาคารพาณิชย์อยู่ก่อนแล้วซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกัน มีซอยจำนวนมากที่สามารถทะลุถึงกันได้ จึงจัดเป็นชุมชนเปิด การพัฒนาพื้นที่ของชุมชนได้พัฒนาเต็มศักยภาพแล้วจึงไม่สามารถที่จะขยายฐานความเจริญทางพื้นที่ในอนาคตได้อีกต่อไป ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของชุมชน ที่สามารถสังเกตพบว่า ที่มาของประชาชนเอง บทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชน ถนนหนทาง สาธารณสุข การประกอบอาชีพ เนื่องจากว่า ที่มาของคนในชุมชนเป็นคนพื้นเพเดิมมาจากต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ โดยมีเป้าหมายเพื่อประกอบอาชีพหารายได้ของตัวเองและครอบครัว ทั้งอาชีพรับจ้าง ค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว รับราชการ ดังนั้นบทบาทที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ที่เป็นการพัฒนาชุมชนจึงมีน้อยมาก ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของปิยะ ประทีปรักมณี (2546 : 98) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร พบว่า ระดับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของประชาชนอยู่ในระดับต่ำ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาชุมชน คือ สถานภาพทางสังคม การเป็นสมาชิกกลุ่ม และการคาดหวังผลประโยชน์ และงานวิจัยของ ศรีสุดา เตียวโป้ (2545 : 120-124) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบองค์การบริหารส่วนตำบล : ศึกษาเฉพาะกรณีองค์กรบริหารส่วนตำบลดอนชนพู อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ผลการศึกษา พบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบองค์การบริหารส่วนตำบล ในภาพรวมอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เช่นเดียวกัน อนึ่งงานการพัฒนาชุมชนส่วนใหญ่ต้องตกไปอยู่กับกลุ่มบุคคลที่สูงอายุ มีทั้งอาชีพเกษียณอายุราชการ เป็นพ่อบ้าน แม่บ้านเท่านั้นที่ผู้คนเหล่านี้มีเวลาให้กับชุมชนอย่างแท้จริง และกลุ่มคนเหล่านี้จะมีตำแหน่งเป็นกรรมการชุมชนด้วยจึงมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาชุมชนอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ภูสิทธ์ ขันติกุล (2552 : บทคัดย่อ) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พบว่า การมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ทุกด้านอยู่ในระดับมาก ส่วนด้านที่มีระดับการมีส่วนร่วมมากที่สุด คือ ด้านการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหาในการพัฒนาชุมชน และกรรมการส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 58 ปีขึ้นไปซึ่งจะเป็นพ่อบ้าน แม่บ้านที่เกษียณอายุแล้ว ส่วนใหญ่จะมีตำแหน่งเป็นกรรมการชุมชนและมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยด้านอายุของกรรมการชุมชนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยกรรมการชุมชนที่มีอายุตั้งแต่ 58 ปีขึ้นไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่ากรรมการที่มีอายุไม่เกิน 46 ปี
อีกประเด็นหนึ่งคือ คนที่มีจิตสาธารณะพร้อมที่จะช่วยเหลือชุมชนอย่างแท้จริงมีน้อยมาก ทำให้งานพัฒนาของชุมชนขึ้นอยู่กับเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้น ส่วนเยาวชนที่จะสานต่อเจตนารมณ์ของชุมชนแทบไม่มีเลย และปัจจัยด้านถนนหนทาง พบว่าจากพื้นที่ที่เคยเป็นสวนผลไม้ ทุ่งนา และทุ่งเลี้ยงสัตว์ มีทางเดินและถนนในชุมชนเล็ก ๆ ส่วนใหญ่ใช้คลองบางกระบือเป็นที่คมนาคมทางน้ำ จนได้มีการสร้างถนนหนทางเข้าสู่ชุมชนแทนการใช้การคมนาคมทางน้ำในอดีตทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่และสภาพสังคมอย่างเห็นได้ชัด โดยถนนทางเข้าชุมชนช่วงแรกเป็นทาง 2 เลน แต่พอเข้ามาภายในชุมชน เป็นถนน 1 เลน เนื่องจากประชาชนบางคนได้มีการปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำเข้ามาชิดติดถนนมากจนทำให้ไม่สามารถก่อสร้างทางเดินได้ และหรือจะทำการขยายถนนก็เป็นเรื่องที่ยาก หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย ด้วยในชุมชนมีการปลูกสร้างบ้านเรือนลักษณะติด ๆ กันจนกลายเป็นชุมชนแออัดไปโดยปริยาย จึงสามารถสรุปได้ว่าการเข้ามาของถนนหนทางจึงส่งผลทางตรงต่อการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพพื้นที่ของชุมชนทั้งทางกายภาพและสังคมวัฒนธรรมสอดคล้องกับแนวคิดของ สุกัญญา สุจฉายา และนันทิยา สว่างวุฒิธรรม (2546 : บทคัดย่อ) ศึกษาเรื่องอัตลักษณ์ของชาวคลองภูมิ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พบว่า พื้นที่คลองภูมิเป็นพื้นที่สวนผลไม้ที่มีความร่มรื่นและชาวสวนยังคงรักษาความเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างโดยการตัดถนนย่านพระราม 3 ก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงจากสภาพภายนอกได้ส่งผลในด้านการดำรงชีวิต ราคาที่ดินที่สูงขึ้น และงานวิจัยของวีณา เอี่ยมประไพ (2550 : บทคัดย่อ) ได้ทำการวิจัยเรื่อง วิถีชีวิตชุมชนคลองบางกอกน้อย ผลการวิจัยพบว่า รัฐได้พัฒนาบ้านเมืองด้วยการสร้างเส้นทางถนนเข้าสู่ชุมชนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่ทางสังคม ซึ่งถนนเป็นปัจจัยหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้พื้นที่แตกต่างไปจากเดิม รวมถึงงานวิจัยของวันวิสา อุ่นขจร (2549 : บทคัดย่อ) ได้ทำการศึกษาเรื่อง อัตลักษณ์ชองในภาคตะวันออก : กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธ์ชองที่ตำบลคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี ผลการวิจัยพบว่า นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจการสร้างความทันสมัยในด้านต่าง ๆ ตามนโยบายการพัฒนา เช่นการตัดถนนเข้าสู่หมู่บ้าน การนำไฟฟ้าเข้ามาในชุมชน และนำเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เข้ามาในชุมชน ทำให้การดำเนินชีวิตวัฒนธรรม และประเพณีบางส่วนของชาวชองที่คลองพลูเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ทั้งนี้ภายในชุมชนมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย เช่น อาชีพรับจ้าง ค้าขาย มีร้านขายของชำ ร้านอาหารตามสั่ง ตลาดนัดซื้อขายภายในชุมชน อาชีพที่เกิดขึ้นเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นอาชีพที่ประชาชนสามารถดำเนินการได้ภายในชุมชนทุกแห่งอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นอาชีพที่ใช้เงินลงทุนไม่มากและมีความเหมาะกับชุมชนขนาดเล็กด้วย ซึ่งอาชีพที่เกิดขึ้นในชุมชนสอดคล้องกับประเภทของอาชีพบางประการในงานวิจัยของ สุมาลี หวังพุฒิ (2546 : 251) ได้ทำการวิจัยเรื่อง ศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้านตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ผลการวิจัยพบว่า ด้านเศรษฐกิจ มีอาชีพของชาวบ้านตำบลนาทับ คือ อาชีพรับจ้าง การจำหน่าย มีร้านชำ ตลาดนัด ซื้อขาย ณ แหล่งผลิต และขายนอกชุมชน
2. ประชาชนในชุมชนประชาระบือธรรม ส่วนใหญ่เป็นคนนับถือพุทธศาสนา เป็นคนไทยที่มาจากต่างจังหวัด มีคติความเชื่อตามแนวทางพุทธศาสนาโดยทั่วไป ซึ่งวัดประชาระบือธรรมเป็นศูนย์กลาง พิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนมักจะเป็นพิธีกรรมที่สอดคล้องกับความเชื่อตามแนวพุทธ เช่น การทำบุญวันธรรมสวนะ ทำบุญวันเกิด ทำบุญตักบาตรไหว้พระตามประเพณีสำคัญ ๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ มาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา เข้าพรรษา ออกพรรษา และลอยกระทง ซึ่งประเพณีต่าง ๆ เป็นการทำบุญตามฤดูกาล การถ่ายทอดความรู้ทางวัฒนธรรมมีลักษณะการให้ลูกหลานได้เข้าไปมีส่วนร่วมปฏิบัติด้วยกัน โดยเฉพาะประชาชนในชุมชนได้ให้ความสำคัญกับการทำบุญในวันปีใหม่และวันสงกรานต์มาก ซึ่งได้สอดคล้องกับงานวิจัยของ วิวัฒนชัย บุญญานุพงศ์ (2544 : บทคัดย่อ) ได้ทำการวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชน : ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนมอญบ้านเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ผลการวิจัยพบว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชนในกิจกรรมการทำบุญในวันสงกรานต์เป็นประจำสูงกว่ากิจกรรมอื่น ๆ เพราะเป็นประเพณีที่แสดงออกได้ถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และขอพรผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของชาวมอญเกาะเกร็ด และงานวิจัยของ สุกัญญา บูรณเดชาชัย (2549 : 47-67) ได้ทำการวิจัยเรื่อง วิถีชีวิตและกระบวนการทำประมง : กรณีศึกษาหมู่บ้านหาดวอนนภา หมู่ที่ 14 ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ผลการวิจัย พบว่า ด้านประเพณีและพิธีกรรม ประชาชนจะมีการจัดทำบุญตามประเพณีตลอดทั้งปี ซึ่งเดือนมกราคม จัดทำบุญในวันปีใหม่ ส่วนเดือนเมษายน จัดทำบุญวันสงกรานต์ตามประเพณีและปฏิบัติสืบทอดกันมาโดยตลอด รวมถึงงานวิจัยของ สุกัญญา สุจฉายา และนันทิยา สว่างวุฒิธรรม (2546 : บทคัดย่อ) ศึกษาเรื่องอัตลักษณ์ของชาวคลองภูมิ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พบว่า ความเป็นอัตลักษณ์ของชาวคลองภูมิในด้านสังคมและวัฒนธรรมยังคงมีความมั่นคงโดยรากฐานของชุมชนดั้งเดิมที่มีการรวมกลุ่มกัน ดังนั้น การทำบุญประเพณีของชุมชนซึ่งเคยปฏิบัติในบรรพชนยังคงถือปฏิบัติในชุมชนอย่างไม่ขาดสายโดยเฉพาะการจัดประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามแม้จะมีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานการดำเนินชีวิต แต่สิ่งที่สังเกตกลับพบว่า ประชาชน พ่อแม่ ผู้ปกครองในชุมชนไม่ใคร่สนใจที่จะนำหลักคำสอนพุทธศาสนาไปสั่งสอนบุตรหลานในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม อย่างต่อเนื่องเท่าไรนัก แต่มีการสั่งสอนเป็นเพียงบางครั้งบางคราวเท่านั้นที่จะสั่งสอน เนื่องจากว่ามักจะให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้อง การกินดีอยู่ดีของตนเองและครอบครัวเป็นหลัก ซึ่งสภาวะปัจจุบันที่ต้องดิ้นรนทำมาหากินกันมากขึ้นเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้พ่อแม่ก็ไม่มีเวลาที่จะสั่งสอนบุตรหลานจึงทำให้วันธรรมดา(วันจันทร์-วันศุกร์) เวลาส่วนใหญ่บุตรหลานมักจะอยู่ที่โรงเรียน ส่วนวันหยุด(วันเสาร์-วันอาทิตย์) มักจะไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าหรือร้านเกมส์ เป็นต้น จึงทำให้วัฒนธรรมประเพณีที่ดี ๆ แต่ปู่ย่าตายายเริ่มจืดจางหายไปจากวิถีชีวิตของคนและชุมชน อย่างต่อเนื่อง ถ้าหากชุมชนไม่ได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งที่ดี ๆ เหล่านั้นไว้ อาจเกิดการสูญสิ้นวัฒนธรรมจากชุมชนโดยสิ้นเชิง

ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย
1. ผู้นำชุมชนควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนเองในทุก ๆ ด้าน และคณะกรรมการชุมชนต้องเข้าถึงประชาชนในชุมชนของตนเองทุกหลังคาเรือน รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมภายในชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความสามัคคี โดยการประชาสัมพันธ์ข่าวสารข้อมูลให้ถึงประชาชนทุกคนทุกครัวเรือน
2. ชุมชนต้องร่วมมือร่วมใจในการดูแลชุมชนของตัวเองให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข ความสะอาดของชุมชน ถังขยะ ถนนหนทาง ตลอดจนลำคลองที่ไหลผ่านชุมชน เนื่องจากประชาชนต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ไปตลอดและสัมผัสอยู่เสมอจึงควรให้ความสำคัญในการบริหารจัดการร่วมกัน

ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
1. ควรมีการวิจัยวิถีชีวิตเป็นรายด้านอย่างลุ่มลึก เช่น การตั้งถิ่นฐานของชุมชน ด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านการเมือง เป็นต้น
2. ควรวิจัยประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน เช่น การมีส่วนร่วมของประชาชน หรือประชาชนในวัยแรงงานของชุมชน คุณภาพชีวิตของคนในชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการศึกษาของชุมชน การจัดการขยะ สิ่งแวดล้อมของชุมชน หรือศึกษาความต้องการของชุมชน เป็นต้น
-----------------------------------------------------

หนังสืออ้างอิง (References)
กนกวรรณ ชัยทัต. 2548. การสร้างความเป็นสมัยใหม่ด้วยมิติวัฒนธรรม : มุมมองเรื่องพื้นที่ ศึกษาจากพระราชวังดุสิต-วัดเบญจมาบพิตร-ถนนราชดำเนิน ในสมัยรัชกาลที่ 5. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตดุสิต. 2546. คู่มือท่องเที่ยวพิพิธพันธ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตดุสิต. กรุงเทพมหานคร : กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว.
สำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร. ข้อมูลเขตดุสิต [Online]. Accessed 20 April 2552. Available from http://www.dusit.ac.th/department/president_old/homenew/dusit.htm
ชยาภรณ์ ชื่นรุ่งโรจน์. ชุมชนและการพัฒนาชุมชน [Online]. Accessed 30 March 2552.
Available from http://cddweb.cdd.go.th/cdregion04/cdworker/comcd.pdf
สำนักงานเขตดุสิต. 2551. ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1-4. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานเขตดุสิต, หน้า 88-98. (อัดสำเนา)
นันทพร ศรีสุทธะ. 2544. วิถีชีวิตชุมชนกับการเกิดโรคเบาหวาน กรณีศึกษาชุมชนบ้านจัว ตำบลสมัย อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการส่งเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สุพัตรา สุภาพ. 2541. สังคมและวัฒนธรรมไทย ค่านิยม : ศาสนา : ประเพณี. พิมพ์ครั้งที่ 9.กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช,.
เทคนิควิธีการศึกษาชุมชน [Online]. Accessed 5 April 2552. Available from http://computer.pcru.ac.th/emoodledata/23/lesson_doc/lesson_4.doc
สัญญา สัญญาวิวัฒน์. 2543. ทฤษฎีสังคมวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อานนท์ อาภาภิรม. 2525. สังคม วัฒนธรรม และประเพณีไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : โอเดียนสโตร์.
เสาวภา ไพทยวัฒน์. 2551. วิวัฒนาการและรูปแบบสังคมเมือง: กรณีศึกษาย่านเทเวศร์. งานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
วีณา เอี่ยมประไพ. 2550. วิถีชีวิตชุมชนคลองบางกอกน้อย. งานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
ธัญญ ชีวาภรณาวัฒน์. 2544. ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการตั้งถิ่นฐานย่านบางลำพู. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ชนินทร์ วิเศษสิทธิกุล. 2547. การเปลี่ยนแปลงชีวิตสังคมเมืองในเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์การวางแผนและเมืองมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อมร บุญต่อ. 2546. การศึกษาโครงสร้างอำนาจของชุมชนในกรุงเทพฯ : กรณีศึกษา ชุมชนราชผาทับทิมร่วมใจ. ปริญญาการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวางแผนชุมชนเมืองและสภาพแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง.
ปิยะ ประทีปรักมณี. 2546. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร. ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาประยุกต์ ภาควิชาสังคมและมานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
ภูสิทธ์ ขันติกุล. 2552. การมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร. งานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
ศรีสุดา เตียวโป้. 2545. ปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบองค์การบริหารส่วนตำบล : ศึกษากรณี องค์การบริหารส่วนตำบลดอนชมพูด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา. กรุงเทพมหานคร : สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
สุกัญญา สุจฉายา และนันทิยา สว่างวุฒิธรรม. 2546. อัตลักษณ์ของชาวสวนคลองภูมิ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร. ทุนวิจัยจากคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ.
วันวิสา อุ่นขจร. 2549. อัตลักษณ์ชองในภาคตะวันออก : กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธ์ชองที่ตำบลคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี. ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา.
วิวัฒนชัย บุญญานุพงศ์. 2544. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชน : ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนมอญบ้านเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. ปริญญาศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
สุกัญญา บูรณเดชาชัย. 2549. วิถีชีวิตและกระบวนการทำประมง : กรณีศึกษาหมู่บ้านประมงหาดวอนนภา ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี. วารสารวิชาการ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 20 มหาวิทยาลัยบูรพา.
สุมาลี หวังพุฒิ. 2546. ศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้านตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา. ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น