วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนกับการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

The Participation of Community Committee in Sub-community Development in Dusit District, Bangkok.

ภูสิทธ์ ขันติกุล
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

บทคัดย่อ
กรรมการชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุไม่เกิน 46 ปี สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา ม.6 หรือปวช. มีอาชีพรับจ้าง รายได้ต่อเดือน 3,000-6,000 บาท และไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมใด ๆ โดยกรรมการชุมชนเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ และอาศัยอยู่ในชุมชนตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
กรรมการชุมชนส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของกรรมการชุมชนอยู่ในระดับมาก ส่วนการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการพัฒนาชุมชนและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของกรรมการชุมชน เกือบทั้งหมดเคยได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน และได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารการพัฒนาชุมชนจากเจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบมากที่สุด และยังได้รับการพัฒนาชุมชนในลักษณะการจัดประชุมกรรมการชุมชน การศึกษาดูงาน และการฝึกอบรมตามลำดับ
การมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนโดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ทุกด้านอยู่ในระดับมาก ส่วนด้านที่มีระดับการมีส่วนร่วมมากที่สุด คือ ด้านการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหาในการพัฒนาชุมชน ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชน ได้แก่อายุ อาชีพ รายได้ต่อเดือน และการเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม

ABSTRACT
The majority of community committee members of Dusit District are male, less than 46 years of age, married, graduated at high-school or vocational level, and has a monthly income between 3,000 – 6,000 Baht and are only few of them belong to societal group. Almost all community committee members are Buddhist and the members have lived in the community for 10 years and above.
In terms of the acknowledgement of sub-community development news and understanding of roles and duties of community committee, almost all samples received information on sub-community development and sub-community development news from government officials as the main source. Less often, information was received from the radio and television. Moreover, the community committee also received sub-community development from state agencies and Dusit District Office in the form of community committee meetings, observations and community committee trainings. The majority of community committee has a high level of knowledge on the roles and duties of the community committee.
The overall level of participation of community committee in sub-community development is high. When considered individually, the level of participation is high in all aspects. The highest level of participation is found in searching problems in sub-community development and their causes, followed by the investment in sub-community development, development planning, and evaluation of sub-community development and Factors that contribute to the level of participation in sub-community development in Dusit District, Bangkok, consist of age, occupation, monthly income and membership in societal groups.

บทนำ (Introduction)
ประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยหลักการสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยคือการปกครองเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน เมื่ออำนาจตามหลักการการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นของประชาชนแล้วไซร้ ประเทศไทยย่อมมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยเช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นได้บ่งชี้ให้รัฐได้ตระหนักว่า การปกครองประเทศและการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต รัฐจะต้องส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ เสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของประเทศในการกำหนดชะตา และแนวทางการพัฒนาประเทศไปในทิศทางใดร่วมกันด้วย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ชี้สะท้อนแนวทางของการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการที่รัฐบาลได้พยายามให้มีการกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น โดยได้กำหนดไว้ในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนที่ 3 แนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 78 (3) ได้กำหนดไว้ว่า “กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น” (ราชกิจจานุเบกษา, 2550) ชี้ชัดว่าประชาชนได้เข้ามามีบทบาทเป็นผู้กำหนดทิศทางการปกครองท้องถิ่นของตัวเองให้มีอิสระเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ย่อมจะส่งผลให้เกิดองค์ความรู้ของชุมชนและเป็นการสร้างฐานรากของประเทศให้ยั่งยืนแก่การปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้มั่นคง
การวิจัยครั้งนี้ได้กำหนดพื้นที่ไว้ที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่เป็นจุดเริ่มต้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตดุสิตเป็นเขตที่มีสถาบันที่สำคัญของประเทศตั้งอยู่มากมาย เช่น รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล กระทรวง กรมกองต่าง ๆ นับเป็นเขตที่มีความเจริญอย่างมากทั้งการคมนาคม การค้า การศึกษา สุขภาพอนามัย จึงทำให้ประชาชนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยกันอย่างมากมายจนมีความหนาแน่นมากขึ้น จนในที่สุดก่อให้เกิดการรวมตัวกันเป็นชุมชนเพื่อร่วมกันเป็นกลไกหนึ่งทำการขับเคลื่อนต่อการพัฒนาชุมชนของเขตดุสิตให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันนี้เขตดุสิตมี 44 ชุมชน แต่ละชุมชนที่ตั้งขึ้นมีการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการชุมชนมาจากการเลือกตั้งของคนในชุมชน ตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยกรรมการชุมชน พ.ศ.2534 เมื่อนับรวมคณะกรรมการในเขตดุสิตแล้วย่อมไม่น้อยกว่า 308 คน ซึ่งแต่ละชุมชนมีจำนวนประชากร และสภาพทั่วไปของชุมชนแตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นฐานของแต่ละชุมชน บางชุมชนเป็นชุมชนแออัด และชุมชนเมือง ดังนั้นบทบาทในการพัฒนาชุมชนที่สำคัญจึงตกอยู่ที่กรรมการชุมชนทุกชุมชนจะต้องวางแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาชุมชน แต่กลับเป็นว่าสิ่งที่ปรากฏอย่างชัดเจนในหลายชุมชนเมื่อผู้วิจัยได้ลงสำรวจชุมชน นั่นก็คือปัญหาเกิดที่การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนที่จะพัฒนาชุมชนของตนเองนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องศึกษาให้รู้ถึงระดับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการ รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาชุมชน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

แนวคิด ทฤษฎี และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง (Literature)
การมีส่วนร่วม (Participation) เป็นคำที่มีความหมายในเชิงของความเป็นประชาธิปไตยอย่างสูงซึ่งตรงกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ราชกิจจานุเบกษา, 2550) ได้ตราไว้อย่างชัดเจนโดยกำหนดเป็นแนวนโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชน ในมาตราที่ 87 ไว้ 5 ประการ ได้แก่ 1) ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น 2) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะ 3) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ในรูปแบบองค์กรทางวิชาชีพหรือตามสาขาอาชีพที่หลากหลาย หรือรูปแบบอื่น 4) ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมือง และจัดให้มีกฎหมายจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองเพื่อช่วยเหลือการดำเนินกิจกรรมสาธารณะของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการของกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายทุกรูปแบบให้สามารถแสดงความคิดเห็นและเสนอความต้องการของชุมชนในพื้นที่ 5) ส่งเสริมและให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการพัฒนาการเมืองและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการหลายท่านได้แสดงแนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมไว้อย่างมากมาย ได้แก่ Erwin William (1976) ได้แสดงแนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมไว้ว่า การมีส่วนร่วมเป็นกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานพัฒนา ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ แก้ปัญหาของตัวเอง เน้นการมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแข็งขันกับประชาชน ใช้ความคิดสร้างสรรค์และความชำนาญของประชาชนแก้ไขร่วมกับการใช้วิทยาการที่เหมาะสมและสนับสนุน ติดตามการปฏิบัติงานขององค์การและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับแนวคิดของ ยุวัฒน์ วุฒิเมธี (2536) ได้ให้ความหมายของการมีส่วนร่วมว่า การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการคิดริเริ่ม การพิจารณาตัดสินใจ การร่วมปฏิบัติและร่วมรับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ อันมีผลกระทบทั้งตัวประชาชนเอง และยังมี ดิเรก ฤกษ์หร่าย (2524) ได้ให้ความหมายของการมีส่วนร่วมในท้องถิ่นว่า กระบวนการที่สมาชิกของชุมชนที่กระทำการออกมาในลักษณะของการทำงานร่วมกันที่จะแสดงให้เห็นถึงความต้องการร่วม ความสนใจร่วมมีความต้องการที่จะบรรลุถึงเป้าหมายร่วมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง หรือดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้เกิดอิทธิพลต่อรองอำนาจมติชน ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม หรือการดำเนินงานกันเพื่อให้เกิดอิทธิพลต่อรองอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ การปรับปรุงสถานภาพทางสังคมในกลุ่มชุมชน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้ประยุกต์แนวคิดของ Cohen & Uphoff (1980) ที่ได้เสนอรูปแบบการมีส่วนร่วมออกเป็น 4 แบบ ได้แก่ 1) การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (Decision Making) 2) การมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน (Implementation) 3) การมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์ (Benefits) 4) การมีส่วนร่วมในการประเมินผล (Evaluation) และแนวคิดของ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง (2527) ได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาไว้ 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหา และสาเหตุของปัญหา 2) การมีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินกิจการ 3) การมีส่วนร่วมในการลงทุน และปฏิบัติงาน 4) การมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผล มาใช้เป็นกรอบแนวคิด (Conceptual Framework) ในการวิจัยในครั้งนี้ด้วย และสิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดนั่นก็คือการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ซึ่งผู้วิจัยให้ความสำคัญกับตัวผู้นำชุมชนมาเป็นอันดับแรก เนื่องจากเมื่อผู้นำชุมชนมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมที่มากย่อมส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนที่ดีไปด้วยนั่นเอง เมื่อกล่าวถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมีอยู่หลายลักษณะตามแนวคิดของ ปาริชาติ วลัยเสถียร และคณะ (2543) ได้กล่าวถึงลักษณะที่เป็นกระบวนการในการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการพัฒนา ได้แก่ 1) การมีส่วนร่วมในการศึกษาชุมชน จะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนได้ร่วมกันเรียนรู้สภาพของชุมชน การดำเนินชีวิต ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการทำงาน และร่วมกันค้นหาปัญหา สาเหตุของปัญหา ตลอดจนจัดลำดับความสำคัญของปัญหา 2) การมีส่วนร่วมในการวางแผน โดยจะมีการรวมกลุ่มอภิปรายและแสดงความคิดเห็นเพื่อกำหนดนโยบาย วัตถุประสงค์ วิธีการ แนวทางการดำเนินงาน และทรัพยากรที่ต้องใช้ 3) การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานพัฒนา โดยสนับสนุนด้านวัสดุ อุปกรณ์ แรงงาน เงินทุน หรือเข้าร่วมบริหารงาน การใช้ทรัพยากร การประสานงานและดำเนินการขอความช่วยเหลือจากภายนอก 4) การมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์จากการพัฒนา เป็นการนำเอากิจกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านวัตถุ และจิตใจ โดยอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันของบุคคลและสังคม 5) การมีส่วนร่วมในการติดตาม และประเมินผลการพัฒนา เพื่อที่จะแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ทันที
นอกจากแนวคิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนแล้วยังมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการชุมชนด้วย เช่น ฉวีวรรณ สุมงคล (2550) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการชุมชน ศึกษากรณี : ชุมชนในพื้นที่เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ปรีดา เจษฎาวรางกูล (2550) ได้วิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนในเขต เทศบาลเมืองคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ชูเกียรติ เปี่ยมศรี (2543) ได้ทำการวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนย่อย ศึกษาเฉพาะกรณี เทศบาลเมืองระยอง จังหวัดระยอง สมชัย ศิริสมบัติ (2545) ได้ทำการวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาเทศบาลไปสู่ “เมืองน่าอยู่” กรณีศึกษาเทศบาลเมืองบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ธนาวิทย์ กางการ (2546) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนในเขตเทศบาล ตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เจตน์ มงคล (2547) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการชุมชนเทศบาลตำบลบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สาวิตรี ทองยิ้ม (2550) ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการหมู่บ้าน ตำบลหนองประดู่ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้เป็นการศึกษาการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการชุมชน หรือผู้นำชุมชนโดยตรง แต่ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนแต่เน้นไปที่ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมและการมีส่วนร่วมในการวางแผน เช่น ภัสสุรีย์ คูณกลาง (2546) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชน ในการพัฒนาเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน เทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ธัชฤทธิ์ ปนารักษ์ (2540 อ้างถึงใน ขนิษฐา ศรีนนท์, 2544) ได้ทำการวิจัยเรื่อง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อกรณีมีส่วนร่วมของสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในการจัดทำแผนการพัฒนาตำบล ศึกษาเฉพาะกรณี อบต.ในเขตอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขนิษฐา ศรีนนท์ (2544) ได้ทำการวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนย่อยต่อการวางแผนพัฒนาเทศบาลนครนนทบุรี สุภชัย ตรีทศ (2547) ได้ทำการวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนต่อการวางแผนพัฒนาเทศบาลเมืองชลบุรี และแพทยา แก้วพวง (2533 อ้างถึงใน ชูเกียรติ เปี่ยมศรี. 2543) ได้ทำการวิจัยเรื่อง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการหมู่บ้านในการบริหารงานพัฒนาท้องถิ่น ศึกษาเฉพาะกรณีอำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้มีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การหาระดับการมีส่วนร่วมต่อการวางแผนพัฒนา เพียงด้านใดด้านหนึ่ง และปัจจัยที่มีส่วนร่วมที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยด้านความรู้ความเข้าใจ เป็นต้น

กรอบแนวคิด (Conceptual Framework)





ภาพ แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระกับตัวแปรตามกรอบแนวคิดในการวิจัย

วัตถุประสงค์ (Objective)
1. เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมและสภาพปัญหาของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ประโยชน์ที่จะได้รับ
1. ได้ข้อมูลระดับการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชน
2. ได้ข้อมูลสภาพปัญหาของการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชน
3. ได้ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
4. ได้ข้อเสนอแนะ และแนวทางแก้ไขต่อปัญหาและอุปสรรคของการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน
5. นำองค์ความรู้ที่ได้จาการวิจัยไปเผยแพร่เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารในการพัฒนาชุมชนของเขตดุสิต ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป
วิธีการ(Methods)
กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนในการศึกษาครั้งนี้ได้กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้แบบเจาะจงได้กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย 308 ตัวอย่างมาจากตำแหน่งตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยกรรมการชุมชน พ.ศ.2534 ในหมวด 2 ข้อ 9 คณะกรรมการชุมชน ตามวิธีการสุ่มตัวอย่าง ดังต่อไปนี้
วิธีการสุ่มตัวอย่าง
การวิจัยในครั้งนี้ใช้การสุ่มตัวอย่างใช้วิธีแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยคัดเลือกคณะกรรมการที่อยู่ในตำแหน่งตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยกรรมการชุมชน พ.ศ.2534 ที่ได้กำหนดกรรมการชุมชนไว้ในหมวด 2 ข้อ 9 คณะกรรมการชุมชน ประกอบด้วยตำแหน่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
(1) ประธานกรรมการ จำนวน 1 คน
(2) รองประธานกรรมการ จำนวน 1 คน
(3) เลขานุการ จำนวน 1 คน
(4) เหรัญญิก จำนวน 1 คน
(5) นายทะเบียน จำนวน 1 คน
(6) ประชาสัมพันธ์ จำนวน 1 คน
(7) ตำแหน่งอื่นใด ตามที่คณะกรรมการชุมชนเห็นสมควรแต่งตั้ง (กำหนดให้เป็นกรรมการชุมชน) จำนวน 1 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมาจากการศึกษากรอบแนวคิด แนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและอาศัยแนวทางจากงานวิจัยที่ผ่านมาแล้ว ในการสร้างเครื่องมือในการวิจัยในครั้งนี้ได้แบ่งเนื้อหาและโครงสร้างของแบบสอบถามออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ปัจจัยส่วนบุคคล ส่วนที่ 2 ปัจจัยด้านสังคม ส่วนที่ 3 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของกรรมการชุมชน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหาในการพัฒนาชุมชน ด้านการวางแผนดำเนินการพัฒนาชุมชน ด้านการลงทุนปฏิบัติการพัฒนาชุมชน และด้านการติดตามประเมินผลในการพัฒนาชุมชน ส่วนที่ 4 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพปัญหา อุปสรรคการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชน และข้อเสนอแนะ
การวิเคราะห์ข้อมูล
การวิจัยในครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) โดยใช้สถิติดังนี้
1. สถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) เพื่อบรรยายข้อมูลทั่วไปของกลุ่มประชากรที่ศึกษา
2. สถิติอนุมาน (Inductive Statistics) หรือ สถิติอ้างอิง (Inferential Statistics) เพื่อทำการเปรียบเทียบและทดสอบข้อมูล ได้แก่ Independent - Samples T test (T-test), One-Way ANOVA (F-test) และทดสอบค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ โดยใช้สถิติ Correlation

ผล (Result)
ผลการศึกษา เรื่อง การมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ผู้วิจัยวิเคราะห์เพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์อย่างชัดเจนโดยให้น้ำหนักความสำคัญที่ระดับการมีส่วนร่วม สภาพปัญหาและปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วม โดยนำเสนอผลการศึกษาในประเด็นที่เป็นภาพรวมและประเด็นที่น่าสนใจตามลำดับดังนี้
ประเด็นที่เป็นภาพรวม
กรรมการชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เกือบทั้งหมดเคยได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน (ร้อยละ 90.7) ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารการพัฒนาชุมชน อันดับ 1 จากเจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบ อันดับ 2 โทรทัศน์ และส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของกรรมการชุมชน
กรรมการชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.52) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีระดับการมีส่วนร่วมมากที่สุด คือ ด้านการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหาในการพัฒนาชุมชน (ค่าเฉลี่ย 3.56) รองลงมา ด้านการลงทุนปฏิบัติการพัฒนาชุมชน (ค่าเฉลี่ย 3.52) ด้านการวางแผนดำเนินการพัฒนาชุมชน (ค่าเฉลี่ย 3.50) และด้านการติดตามประเมินผลในการพัฒนาชุมชน (ค่าเฉลี่ย 3.47) ดังแผนภูมิดังต่อไปนี้


แผนภูมิ แสดงค่าเฉลี่ยจำแนกตามรายด้านการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชน ประกอบด้วยอายุ อาชีพ รายได้ต่อเดือน และการเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม
ปัญหาอุปสรรคการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 5 ลำดับแรกที่มีความถี่มากที่สุด ได้แก่ ประชาชนไม่มีเวลาที่จะทำงานให้กับชุมชน รองลงมา งบประมาณในการดำเนินงานพัฒนาชุมชนน้อย ประชาชนขาดความสามัคคี เกิดการแตกแยกในชุมชน แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ และปัญหาส่วนตัว เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการมีภาระหน้าที่ที่ต้องทำงาน ฯลฯ ส่วนปัญหาอุปสรรคที่มีความถี่น้อยที่สุด คือ หน่วยงานของรัฐ และกรุงเทพมหานครไม่เห็นความสำคัญ ปล่อยให้ชุมชนพึ่งตนเอง
ประเด็นที่น่าสนใจ
ความเป็นเพศในการแบ่งว่าเป็นเพศชายและเพศหญิงของกรรมการชุมชนในเขตดุสิต มีบทบาทในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนไม่แตกต่างกันเลย ส่วนสถานภาพของกรรมการชุมชน ทั้งที่เป็นสถานภาพโสด, สมรส, ม่าย/หย่าร้าง และแยกกันอยู่ มีบทบาทในการมีส่วนร่วมการพัฒนาชุมชนไม่แตกต่างกัน พร้อมทั้งระดับการศึกษาของกรรมการชุมชนไม่ว่าจะจบระดับการศึกษาต่ำกว่า ม.3, ม.3, ม.6 หรือ ปวช., อนุปริญญา หรือ ปวส., ปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี มีบทบาทในการมีส่วนร่วมการพัฒนาชุมชนไม่แตกต่างกัน เช่นเดียวกัน
ส่วนเรื่องอายุของกรรมการแต่ละคน พบว่า กรรมการชุมชนที่มีอายุแตกต่างกัน มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ส่วนกรรมการที่มีอาชีพแตกต่างกันมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมการชุมชนที่มีอาชีพเป็นพ่อบ้านแม่บ้าน มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่ากรรมการที่มีอาชีพเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน ส่วนกรรมการชุมชนที่มีอาชีพรับจ้าง มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่ากรรมการที่มีอาชีพเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน และกรรมการชุมชนที่มีอาชีพเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่ากรรมการที่มีอาชีพเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน ตามแผนภูมิดังนี้

แผนภูมิ แสดงค่าเฉลี่ยจำแนกตามอาชีพของคณะกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ส่วนกรรมการที่มีรายได้ต่อเดือนแตกต่างกันมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะกรรมการชุมชนที่มีรายได้ต่อเดือน 6,001-9,000 บาท มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่ากรรมการชุมชนที่มีรายได้ต่อเดือน 9,001-12,000 บาท และ12,001-15,000 บาท และกรรมการชุมชนที่มีรายได้ต่อเดือน 15,001 บาทขึ้นไป มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากกว่ากรรมการชุมชนที่มีรายได้ต่อเดือน 9,001-12,000 บาท และ12,001-15,000 บาท ตามแผนภูมิดังนี้


แผนภูมิ แสดงค่าเฉลี่ยจำแนกตามรายได้ของคณะกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
ส่วนกรรมการชุมชนคนใดที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมอื่น ๆ นอกเหนือจากตำแหน่งกรรมการชุมชนมีความแตกต่างกันกับกรรมการชุมชนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคมอื่น ๆ
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือกรรมการชุมชนเกือบทั้งหมดอาศัยอยู่ในชุมชนตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และนับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ

วิจารณ์ (Discussion)
ถึงแม้ว่าภาพรวมของกรรมการชุมชนในเขตดุสิต กรุงเทพมหานครจะมีบทบาทที่สำคัญในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนอยู่ในระดับมากทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหาในการพัฒนาชุมชน ด้านการลงทุนปฏิบัติการพัฒนาชุมชน ด้านการวางแผนดำเนินการพัฒนาชุมชน และด้านการติดตามประเมินผลในการพัฒนาชุมชน แต่ยังมีจุดแตกต่างภายในรายด้านให้เห็นเช่นกัน เป็นต้นว่า ด้านการติดตามประเมินผลในการพัฒนาชุมชน เมื่อมีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมในการพัฒนาชุมชนแล้วนั้น ผลลัพธ์ที่เกิดจากการดำเนินงานของโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อสิ้นสุดการดำเนินงาน ยังไม่พบว่ามีการนำข้อบกพร่องของผลการปฏิบัติงานมาปรับปรุงแก้ไขในการดำเนินงานครั้งต่อไป รวมถึงการประเมินผลการปฏิบัติงานเมื่อเสร็จสิ้นสุดแผนงาน ยังขาดการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานทุกขั้นตอนของแผนพัฒนาชุมชนด้วย และการติดตาม ตรวจสอบยังไม่เป็นระบบครอบคลุมทุกขั้นตอนและยังขาดความต่อเนื่องของการประเมินผล แต่ถึงอย่างไร ทุก ๆ โครงการและกิจกรรมยังมีการติดตามประเมินผลในหลาย ๆ โครงการหรือกิจกรรมอยู่เช่นกัน ส่วนด้านการลงทุนปฏิบัติการพัฒนาชุมชน ก็พบว่ามีประเด็นในเรื่องของการเสียสละทุนทรัพย์ในการดำเนินโครงการและกิจกรรมให้กับประชาชนในชุมชนมีความแตกต่างกับประเด็นอื่น ๆ ในด้านนี้อย่างมากเช่นกัน
ดังนั้นผู้วิจัยจึงขอเสนอแนะว่า การลงทุนปฏิบัติการพัฒนาชุมชนของกรรมการชุมชนในประเด็นการเสียสละทุนทรัพย์ในการดำเนินโครงการและกิจกรรมให้กับประชาชนในชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อการดำเนินงานของชุมชน เพราะแสดงว่าถ้ากรรมการชุมชนมีความเสียสละ ความทุ่มเทให้กับประชาชนและชุมชน แล้วก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่คณะกรรมการชุมชนจะกระทำ เนื่องจากจะสะท้อนความมีน้ำใจและการเอื้ออารีต่อประชาชนในชุมชนได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนความเป็นผู้นำ ถ้าผู้นำชุมชนมีความกล้าเสียสละและทุ่มเทให้กับชุมชน ประชาชนในชุมชนย่อมให้ความศรัทธา และเชื่อมั่นตลอดไป
ส่วนการติดตามประเมินผลในการพัฒนาชุมชน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาชุมชน คณะกรรมการชุมชนจึงควรมีการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานทุกขั้นตอนของแผนพัฒนาชุมชน เพื่อจะได้นำข้อบกพร่องในการดำเนินงานของแผนพัฒนามาปรับปรุงแก้ไขในการทำงานครั้งต่อไปให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างสมบูรณ์
อีกประเด็นที่อยากเสนอไว้ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่สำคัญและมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาชุมชน คือ สำนักงานเขตดุสิตควรจัดให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลในพื้นที่ของชุมชนอย่างทั่วถึง รวมถึงเจ้าหน้าที่ควรมีมนุษยสัมพันธ์เมื่อเข้ามาติดต่อประสานงานกับชุมชน เพื่อสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน รวมถึงกรุงเทพมหานครและสำนักงานเขตดุสิตควรมีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้แต่ละชุมชนในการพัฒนาชุมชนอย่างเพียงพอ และมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันกรรมการชุมชนต้องสำรองจ่ายไปก่อนแล้วจึงนำมาเบิกแต่กว่าสำนักงานเขตจะอนุมัติให้เวลานาน 2-3 เดือน ส่งผลให้คณะกรรมการเกิดความเบื่อหน่ายที่จะดำเนินการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องต่อไป(ในประเด็นนี้นอกจากได้ผลลัพธ์จากงานวิจัยแล้ว ยังเป็นข้อเรียกร้องจากการพบปะพูดคุยกับประชาชนและกรรมการชุมชนอีกด้วย)
บทสรุปสั้น ๆ ของผู้วิจัย ว่า การพัฒนาชุมชนจะให้มีความเจริญรุ่งเรืองและตรงกับความต้องการของชุมชนนั้น ถึงแม้ว่ากรรมการชุมชนจะทุ่มเทมากสักเพียงใดก็ตาม หากขาดเสียซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนอันเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาชุมชนแล้วก็ย่อมทำให้ชุมชนนั้นพัฒนาได้ตรงตามความต้องการของชุมชนก็เป็นไปได้ยากอย่างแน่นอน จากหลักการนี้ การจะพัฒนาชุมชนภายใต้เขตดุสิต กรุงเทพมหานครทั้ง 44 ชุมชนจำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยทั้งภาครัฐ (สำนักงานเขต) ภาคประชาชน (คณะกรรมการชุมชน และประชาชน) มาร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาชุมชนให้มีตรงตามความต้องการของตนเองและพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่องไปจนกว่าจะประสบผลสำเร็จคือความกินดีอยู่ดีของประชาชนภายในชุมชน....นี้จึงเป็นความสำเร็จแท้จริงของหัวใจการพัฒนาชุมชน.

-----------------------------------------------------

หนังสืออ้างอิง (References)
ขนิษฐา ศรีนนท์. การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนย่อยต่อการวางแผนพัฒนาเทศบาลนครนนทบุรี. ภาคนิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารทั่วไป บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา, 2544.
เจตน์ มงคล. การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการชุมชนเทศบาลเมืองบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2547.
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนา. กรุงเทพมหานคร : ศักดิ์โสภาการพิมพ์, 2527.
ฉวีวรรณ สุมงคล. การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการชุมชน : กรณีศึกษาชุมชนในพื้นที่เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, 2550.
ชูเกียรติ เปี่ยมศรี. การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนย่อย: ศึกษาเฉพาะกรณี เทศบาลเมืองระยอง จังหวัดระยอง. ภาคนิพนธ์รัฐประศาสนศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานโยบายสาธารณะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา, 2543.
สมชัย ศิริสมบัติ. การมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาเทศบาลไปสู่ “เมืองน่าอยู่” กรณีศึกษาเทศบาลเมืองบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี. ภาคนิพนธ์ รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารทั่วไป บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา, 2545.
ดิเรก ฤกษ์หร่าย. การพัฒนาชนบท: เป็นหลักการพัฒนาสังคมและแนวความคิดจำเป็นพื้นฐาน. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2524.
ธนาวิทย์ กางการ. การมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนในเขตเทศบาลตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา สถาบันราชภัฎธนบุรี, 2546.
ปรีดา เจษฎาวรางกูล. การมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชนในการพัฒนาชุมชนในเขต เทศบาลเมืองคูคต อำเภอ ลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี. ภาคนิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2550.
ปาริชาติ วลัยเสถียร และคณะ. กระบวนการและเทคนิคการทำงานของนักพัฒนา.กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2543.
ภัสสุรีย์ คูณกลาง. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนในรูปแบบเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน เทศบาลนครขอนแก่น. วิทยานิพนธ์ปริญญาสาธารณสุข ศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสาธารณสุข บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2546.
ยุวัฒน์ วุฒิเมธี. หลักการพัฒนาชุมชนและการพัฒนาชนบท. กรุงเทพมหานคร : อนุเคราะห์ไทย, 2536.
สาวิตร จิตรประวัติ. แรงจูงใจที่ทำให้ผู้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง การปกครองท้องถิ่น ศึกษาเฉพาะกรณีผู้นำชุมชนในเขตเทศบาลตำบลแหลมฉบัง. ภาคนิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานโยบายสาธารณะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา, 2542.
สาวิตรี ทองยิ้ม. การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของคณะกรรมการหมู่บ้าน ตำบลหนองประดู่ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี. ภาคนิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครองท้องถิ่น บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, 2550.
สุภชัย ตรีทศ. การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนต่อการวางแผนพัฒนาเทศบาลเมืองชลบุรี. ภาคนิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานโยบายสาธารณะ วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2547.
Cohen John M. and Uphoff, NormanT. Participation’s Place in Rural Development, Seeking Clarity Through Specificity” World Development. Vol. 8., 1980.
Erwin, William. Participation Management: Concept, Theory and Implementation. Atlanta : Georgia State University, 1976.

[Online]
กรุงเทพมหานคร. ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยกรรมการชุมชน พ.ศ.2534, 2534. [Online] accessed 10 May 2009. Available from http://203.155.220.217/bangkoknoi/community/pdf/ระเบียบว่าด้วยกรรมการชุมชน.pdf
ราชกิจจานุเบกษา. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, 2550. [Online] accessed 10 May 2009. Available from http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2550/A/047/1.PDF

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น