วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กำลังขวัญในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร

Work Morale of Teachers of Buddhist Scripture School, General Education Division in Bangkok Area.

ภูสิทธ์ ขันติกุล

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (ภาคนิพนธ์ปริญญาโท คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า)

บทคัดย่อ
ครูโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นชาย อายุไม่เกิน 30 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สถานภาพโสด เป็นครูฝ่ายคฤหัสถ์ เป็นครูประจำ ทำงานมาแล้วไม่เกิน 3 ปี มีรายได้ต่อเดือนอยู่ระหว่าง 5,000-10,000 บาท มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ต่างจังหวัด ระยะจากบ้านพักถึงโรงเรียนน้อยกว่า 10 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 1 ชั่วโมงมีจำนวนคาบที่สอนต่อสัปดาห์ตั้งแต่ 14 คาบขึ้นไป สอนจำนวน 1 รายวิชา มีความถนัดมากในวิชาที่สอน ภาระหน้าที่ในครอบครัวน้อย และมีภาระงานที่ได้รับผิดชอบอื่น ๆ 1 หน้าที่
ครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร มีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานในภาพรวมและทุกด้านอยู่ระดับปานกลาง โดยด้านที่มีระดับความพึงพอใจมากที่สุด คือ ด้านผู้บริหารโรงเรียน รองลงมา ได้แก่ด้านความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงาน ด้านบรรยากาศและสภาพแวดล้อมการทำงาน ด้านโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ ด้านนโยบายและวัตถุประสงค์ของโรงเรียน ด้านการสนับสนุนของหน่วยงานต้นสังกัด ส่วนด้านที่มีระดับความพึง
พอใจน้อยที่สุด คือ ด้านรายได้และสวัสดิการ ส่วนกำลังขวัญในการปฏิบัติงานอยู่ในระดับดี โดยด้านที่มีระดับกำลังขวัญดีที่สุด คือด้านความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาต่อพุทธศาสนา รองลงมา ได้แก่ด้านความรู้สึกผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ด้านความสามัคคีรักใคร่ในเพื่อนครู ด้านความตั้งใจและอุทิศตนในการพัฒนาการทำงาน ด้านความรู้สึกมั่นคงและราบรื่นในอาชีพ ด้านความรู้สึกเชื่อมั่นในอาชีพและการยอมรับนับถือ และด้านความยุติธรรมในการปฏิบัติงาน
ปัจจัยที่มีผลต่อกำลังขวัญในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ จำนวนรายวิชาที่สอน ภาระหน้าที่ในครอบครัว และความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน
คำสำคัญ : กำลังขวัญในการปฏิบัติงาน, ครู, โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา, กรุงเทพมหานคร

ABSTRACT
The majority of teachers of Buddhist Scripture Schools under General Education Division in Bangkok area are males aged 30 years or less, completed a bachelor degree, and are single, layman-teachers, permanent teachers, with work experience of 3 years or less and monthly income between 5,000-10,000 bahts. They are upcountry domiciled, with less than 10 kilometers between their residence and school and 1 hour commutation. Teaching schedule ranges from 14 periods up. They teach one subject and in which they are very skillful. They have less family burden. They also have one other task.
The teachers of Buddhist Scripture School have moderate level of work satisfaction towards every aspect and in overall. Their reported most satisfaction are school administrator, followed by relationship among colleagues, work atmosphere and environment, opportunity for career progression, school policy and objectives, and support from their direct-reported division, whereas least satisfactory is stated in income and fringe benefit. And teachers reported high level of work morale: the most are their faith in Buddhism, followed by their attachment as part of school, unity among peers, intention and devotion to work improvement, sense of secured and smooth work, sense of professional confidence and respect, whereas the least is work fairness.
Factors effecting their work morale include family burden, number of teaching subjects, and work satisfaction.
Keyword: Work Morale, teachers, Buddhist Scripture School under General Education Division, Bangkok

บทนำ
การศึกษาเป็นระบบหนึ่งของสังคมไทยซึ่งมีความสำคัญมากในการทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ ทักษะความชำนาญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ถ่ายทอดค่านิยม ความเชื่อ ทัศนคติของคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ถ่ายทอดกฎระเบียบ จารีต ประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของมนุษย์ ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นอันล้ำค่าจากการหล่อหลอมของบรรพชนสู่เยาวชนรุ่นใหม่ ตราบเท่าที่จะดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ชาติไว้ได้การศึกษาจึงมีวิถีทางในการอบรมขัดเกลามนุษย์ให้มีระดับจิตใจที่เหนือกว่าสัตว์ทั่ว ๆ ไป หมายความว่า การศึกษาทำให้มนุษย์เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม วัฒนธรรม ประเพณีและกฎหมายที่ไม่สามารถมีได้ในสัตว์อื่น ๆ ดั้งนั้นการศึกษาจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นหลักชัยในการสร้างทรัพยากรของชาติที่ล้ำค่านี้ให้มีคุณภาพ คุณธรรมคู่กับสังคมไทย
ในปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนไปบีบบังคับมนุษย์โดยทางอ้อม ยิ่งต้องทำให้มนุษย์มีวิถีชีวิตที่อยู่บนความรีบเร่งตลอดเวลา ทั้งการหาเลี้ยงชีพ การศึกษา การทำงานเพื่อที่จะมีรายได้มาดำรงชีวิตของตนและครอบครัว จนเกิดค่านิยมขึ้นต่าง ๆ เช่น ค่านิยมในด้านการศึกษา ที่ต้องมีใบปริญญาจึงจะมีสิทธิในการเข้าทำงาน ค่านิยมในการฝากงาน หากต้องการเข้าทำงานในสถานที่นั้น ๆ จะต้องรู้จักผู้ที่ทำงานอยู่ก่อนแล้ว หรือผู้มีอิทธิพล หรือมีชื่อเสียง ฝากมา ที่เรียกกันว่า เด็กฝาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ ๆ ต้องขวนขวายให้ได้มีโอกาสเรียนในสถานศึกษาที่ดัง ๆ และคณะที่สามารถจบแล้วมีงานทำได้เลย มิใช่เลือกตามที่ตนเองอยากจะเป็น อยากจะเรียน จนทำให้คุณค่าที่แท้จริงของการศึกษาไทยแตกต่างจากอดีตอย่างมากมาย
การศึกษาได้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมาย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 15 การจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (กระทรวงศึกษาธิการ, 2546)
(1) การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตรระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผลซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน
(2) การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมายรูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม
(3) การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจศักยภาพ ความพร้อม และโอกาสโดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อหรือแหล่งความรู้อื่น ๆ
โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา เป็นโรงเรียนในสังกัดกองพุทธศาสนศึกษาสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้จัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาช่วงชั้นที่ 3 และหรือช่วงชั้นที่ 4 เป็นสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดการศึกษาในระบบที่ยึดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีจุดมุ่งหมาย “มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข และมีความเป็นไทย มีศักยภาพในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ” (กระทรวงศึกษาธิการ, 2544) เป็นโรงเรียนที่รับสมัครเยาวชน จากทั่วประเทศเข้ามาเรียนหนังสือและเยาวชนเหล่านั้นจะต้องบรรพชาก่อน จึงได้เรียนหนังสือเพื่อเป็นพุทธศาสนทายาทสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป และในเขตกรุงเทพมหานครมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาทั้งสิ้น 12 โรงเรียน ในแต่ละปีนักเรียนและครูมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ว่าความมั่นคงในการประกอบอาชีพครูในภายในโรงเรียนพระปริยัติธรรมนั้นลดลง ส่วนภาระหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ ดูแลนักเรียน นั้นยังเหมือนเดิมและมีเพิ่มมากขึ้นด้วย เมื่อภาระหน้าที่ต่าง ๆ ในการอบรมขัดเกลาพระภิกษุ สามเณร ให้เป็นพุทธศาสนทายาทที่ดีงาม เป็นที่พึ่งทางจิตใจให้กับพุทธศาสนิกชนทั้งหลายนั้น เป็นความรับผิดชอบของครู ที่จะต้องชี้แนะแนวทางอันดีงาม ถวายแก่ศิษยานุศิษย์ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 4 ได้ให้ความหมายของคำว่า “ครู หมายความว่า บุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน” (กระทรวงศึกษาธิการ,2546) ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานให้กับครูมากขึ้น เพื่อผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงาน
การจัดการศึกษาและการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอน ในโรงเรียนจะสัมฤทธิ์ผลได้มากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับผู้บริหารโรงเรียนและครูซึ่งเป็นบุคลากรหลักของโรงเรียนเป็นประการสำคัญ และทุกฝ่ายจะสามารถปฏิบัติงานให้สัมฤทธิ์ผลได้ดี หากมีกำลังขวัญในการปฏิบัติงาน ดังที่ Yoder, D. (1959) ได้กล่าวไว้ว่า กำลังใจในการปฏิบัติงานว่า “กำลังขวัญ” เป็นองค์ประกอบที่ประกอบด้วยพฤติกรรมของผู้ปฏิบัติงานและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของผู้ปฏิบัติงานที่มีต่อการทำงาน ความสัมพันธ์ในการทำงานกับนายจ้างและเพื่อนร่วมงานอื่น ๆนักบริหารส่วนใหญ่ทุกวันนี้ ให้ความคำนึงถึง “กำลังขวัญ” ของคนทำงานเป็นสำคัญ คนทำงานกำลังขวัญสูง (High Morale) จะเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน และเขาทำงานอย่างมีความสุข และตั้งใจทำงานอย่างดี ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้ที่มีกำลังขวัญต่ำ (Low Morale) จะเป็นผู้ที่ไม่ค่อยสนใจทำงาน ขาดความตั้งใจในการทำงาน ดังนั้น คุณภาพและผลผลิตของงานน่าจะมีความสัมพันธ์ในเชิงปฏิฐาน (Positive Relation) กับกำลังขวัญของผู้ปฏิบัติงานด้วย
อนึ่งครูในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร มีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากมีหน้าที่สอนแล้ว ยังต้องรับผิดชอบภาระงานในฝ่ายของตนเองด้วย จนทำให้พบว่าประสิทธิภาพในการทำงานของครูลดลง รวมถึงแรงจูงใจในการทำงานน้อย ค่าตอบแทนต่ำ ขาดความมั่นคงในหน้าที่การงาน ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพน้อยสถานภาพของครูยังไม่ได้รับรองตามกฎหมาย ศักดิ์และสิทธิต่าง ๆ ที่ครูโรงเรียนรัฐหรือเอกชนได้รับนั้น ครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาจะไม่ได้รับ จึงทำให้ครูส่วนใหญ่ขาดขวัญกำลังใจในการอบรมสั่งสอน การถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนย่อมมีผลกระทบอย่างต่อเนื่องไปด้วย ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ย่อมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอน ดังนั้นผลสำเร็จในการทำงานต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับขวัญกำลังใจในการทำงานของครูด้วยเช่นกัน ดังที่ สุนันทา เลาหนันทน์ (2531) กล่าวไว้ว่า “ขวัญกำลังใจของพนักงานเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการบริหารงาน กล่าวคือ ถ้าพนักงานมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานดี จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตและผลผลิตสูงขึ้น” ครูในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา เป็นบุคลากรที่เสียสละอย่างยิ่ง จำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญในการสร้างแรงจูงใจและพัฒนาขวัญกำลังใจให้กับครูเหล่านั้น เพราะการเอาใจใส่จากผู้บริหารเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะเป็นกำลังใจให้กับครูได้ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งชาญชัย อาจิน สมาจาร (2527) ได้กล่าวไว้อย่างสอดคล้องว่า “บุคลากรจะทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อเขาได้รับความเอาใจใส่จากองค์การที่เขาทำงานอยู่”
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผู้วิจัยในฐานะเป็นครูสอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา สังกัดกองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้พบสภาพของกำลังขวัญที่เกิดขึ้นกับครูอยู่เป็นประจำมาโดยตลอด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ผู้วิจัยตระหนักถึงความสำคัญและสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะทำการวิจัยในครั้งนี้ เพื่อให้ทราบถึงสภาพของกำลังขวัญปัจจัยที่มีผลต่อการทำให้เกิดกำลังขวัญ รวมถึงการค้นหาแนวทางในการพัฒนากำลังขวัญในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อเสนอต่อสถานศึกษา และต้นสังกัดให้หันกลับมาพัฒนาครูในสังกัดของตนเองอย่างมีวิจารณญาณและตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญกับครูทุกคนให้เท่าเทียมต่อไป

แนวคิด ทฤษฎีและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
กำลังขวัญ หรือคำว่า ขวัญกำลังใจ นั่นมีความหมายคล้ายคลึงกันและมักใช้ใกล้เคียงกัน บ้างก็ใช้กำลังขวัญ บ้างก็ใช้ขวัญกำลังใจ หรือบางคนใช้เฉพาะคำว่า ขวัญ หรือ กำลังใจ ก็มีความหมายคล้ายคลึงกัน เมื่อเป็นคำที่เปิดสำหรับการศึกษาจึงมีนักวิชาการหลายท่านให้ความหมายของคำว่า กำลังขวัญ หรือ ขวัญกำลังใจ หรือ ขวัญ ไว้ดังเช่น Flippo, E.B. (1961) ให้ความหมาย กำลังขวัญว่าหมายถึง สภาพทางจิตใจ หรือความรู้สึกของแต่ละคน บุคคลหรือของกลุ่มคน ที่บ่งให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะร่วมมือประสานงาน หรือ Davis, R.C. (1951) ให้ความหมายของขวัญกำลังใจว่า หมายถึง สภาพที่เกิดขึ้นและสะท้อนให้เห็นถึงสภาพจิตใจและสภาพการทำงาน เช่น ความกระตือรือร้น อารมณ์ ความหวัง ความเชื่อมั่น และทัศนคติ ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีต่อสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานและต่อความร่วมมือกันอย่างเต็มความสามารถของบุคคลในหน่วยงาน และยังมีพนัส หันนาคินทร์ (2542) ได้กล่าวไว้ว่า กำลังขวัญ หมายถึง ปฏิกิริยาทางอารมณ์ในองค์การมีต่องานอันมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนและเห็นได้ชัดเจน ขวัญหรือน้ำใจในการทำงานนี้อาจจะเป็นของแต่ละบุคคล หรือเป็นของกลุ่มก็ได้ แต่จะเป็นของแต่ละบุคคลหรือเป็นกลุ่มก็ย่อมจะเป็นไปในลักษณะที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อความสำเร็จของงานโดยส่วนรวมอยู่ตลอดเวลา กล่าวคือคนแต่ละคนจะเสียสละเพื่อคณะหรือส่วนรวม และในขณะเดียวกันคณะหรือส่วนรวมก็พร้อมที่จะเสียสละเพื่อแต่ละคนได้เช่นเดียวกัน ดังที่กล่าวว่า “One for all and all for one” รวมถึง วิชัย แหวนเพชร (2543) ได้ให้ความหมายของคำว่า ขวัญ หมายถึง สภาพของจิตใจที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อสภาวการณ์ต่าง ๆ โดยแสดงออกมาเป็นความตั้งใจ กำลังใจ ความสามัคคีของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่มุ่งทำงานด้วยความพยายามและความรับผิดชอบ เพื่อให้สภาวการณ์หรืองานนั้นสำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์ เป็นต้น
นอกจากนี้ทฤษฏีที่กล่าวถึงกำลังขวัญ หรือขวัญกำลังใจ เมื่อพิจารณาจากความหมายของนักวิชาการที่กล่าวมาข้างยังสะท้อนความพึงพอใจของคน หรือกลุ่มคนที่ปฏิบัติงานเอาไว้ด้วย ดังนั้นทฤษฎีที่เกี่ยวกับกำลังขวัญหรือขวัญกำลังใจจะต้องสะท้อนความพึงพอใจด้วย เป็นต้นว่า ทฤษฏีความต้องการตามลำดับขั้นของ Maslow’s ซึ่ง Maslow, A.H. (1954) ได้จัดลำดับความต้องการของมนุษย์ไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนจึงเรียกว่า ความต้องการของมนุษย์อย่างมีระเบียบนี้ว่า hierarchy of human needs โดยเรียงลำดับขั้นของความต้องการไว้ตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ 1) ความต้องการทางด้านสรีระวิทยา (physiological needs) 2) ความต้องการความมั่นคงและปลอดภัยของชีวิต (safety and security needs) 3) ความต้องการผูกพันทางสังคม (belonging and social needs) 4) ความต้องการที่จะมีเกียรติยศชื่อเสียง (esteem and self respect needs) 5) ความต้องการความสำเร็จแห่งตน (self-actualization needs) เป็นความต้องการของมนุษย์ที่สูงสุดตามแนวคิดของ Maslow และยังมีทฤษฎีสองปัจจัยของ Herzberg, F.B. & Synderman, B.B. (1959)ได้แก่ 1) ปัจจัยจูงใจ (Motivation Factor) 2) ปัจจัยค้ำจุน (Maintenance Factor) หรือ อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ปัจจัยสุขอนามัย” รวมถึงแนวคิดของ McGregor (1960) ได้เสนอทฤษฎี X และทฤษฎี Y ทฤษฎีทั้งสองนี้มีสมมติฐานในการมองมนุษย์คนละอย่างกันหรือตรงกันข้าม
อนึ่งความพึงพอใจเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสะท้อนความมีกำลังขวัญในการปฏิบัติงานหรือไม่เช่นเดียวกัน ซึ่งนักวิชาการให้ความสำคัญไว้ว่า Wahba H. (1978) ได้แสดงทัศนะว่าความพึงพอใจในการปฏิบัติงานเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทั้งในด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ เพราะงานที่น่าพึงพอใจนั้น เป็นสิ่งที่ปรารถนาของมนุษย์ และมีความหมายต่อชีวิตของมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีคุณค่า บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ แต่ความพึงพอใจในการปฏิบัติงานนั้น จะนำไปสู่ปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจและจะเชื่อมโยงไปให้เกิดอาการป่วยไข้ทางด้านร่างกาย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น ความสำคัญนี้ได้สะท้อนความหมายของความพึงพอใจที่ว่า อุษา บุญรอด (2546) ได้กล่าวถึง ความพึงพอใจในการปฏิบัติงานไว้ว่า เป็นความรู้สึกหรือทัศนคติในทางที่ดีขอบุคคลที่มีต่องานและมีต่อปัจจัยต่าง ๆ ในการทำงาน เช่น สภาพการทำงาน ลักษณะของงาน นโยบายและการบริหารงาน เป็นต้น ความรู้สึกนี้เกิดจากหน่วยงานหรือองค์กรมีการตอบสนองความต้องการทั้งทางกายและจิตใจ เป็นผลทำให้การปฏิบัติงานของบุคคลนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรหรือหน่วยงานอย่างสมบูรณ์ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเมื่อใดที่ไม่ได้รับความพึงพอใจบุคคลนั้นย่อมจะแสดงพฤติกรรมออกมาในรูปของความก้าวร้าว ไม่สนใจในการปฏิบัติงาน ขาดงาน ตลอดลาออกจากงาน เป็นต้น มีผลให้หน่วยงานเกิดปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานได้ นอกจากนี้งานวิจัยในครั้งนี้ยังได้สะท้อนวรรณกรรมจากผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องไว้ ดังเช่น วิชัย ครองยุติ (2541) ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง กำลังขวัญในการปฏิบัติงานของข้าราชการครูในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ: ศึกษาเฉพาะกรณี อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ณรรฐพล สัญฑมาศ (2542) ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง กำลังขวัญในการปฏิบัติงานของพนักงานครูเทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มนูญ จันทร์สุข (2544) ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของข้าราชการครูในโรงเรียนเสี่ยงภัยและกันดาร จังหวัดยะลาและอารีรัตน์ อูเซ็ง (2546) ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง กำลังขวัญในการปฏิบัติงานของข้าราชการครูโรงเรียนสังกัดสำนักงานการประถมศึกษา อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น
จากแนวคิด ทฤษฎีและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องได้นำมาสังเคราะห์และประยุกต์เป็นกรอบแนวคิดในการศึกษาไว้ดังนี้















แผนภูมิ กรอบแนวคิดในการศึกษากำลังขวัญในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาระดับกำลังขวัญในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร
2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อกำลังขวัญในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร

ขอบเขตของการวิจัย
1. ขอบเขตด้านพื้นที่ประชากร กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษา คือ ครูในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร สังกัดกองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
2. ขอบเขตด้านเนื้อหา ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ มีประเด็นเนื้อหาครอบคลุมองค์ประกอบของกำลังขวัญในการปฏิบัติงาน 7 ด้าน คือ ด้านความตั้งใจและอุทิศตนในการพัฒนาการทำงาน ด้านความสามัคคีรักใคร่ในเพื่อนครู ด้านความรู้สึกมั่นคงและราบรื่นในอาชีพ ด้านความรู้สึกเชื่อมั่นในอาชีพและการยอมรับนับถือ ด้านความยุติธรรมในการทำงาน ด้านความรู้สึกผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน และด้านความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาต่อพุทธศาสนา
3. ขอบเขตด้านระยะเวลา กำหนดเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผลระหว่างเดือน มีนาคม – มิถุนายน 2551
ผลการวิจัย
ผลการวิจัย เรื่อง กำลังขวัญในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า ลักษณะข้อมูลทั่วไปของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็น เพศชาย (ร้อยละ 79.7) มีอายุ อยู่ในช่วงไม่เกิน 30 ปี (ร้อยละ 33.7) จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (ร้อยละ 87.1) มีสถานภาพโสด (ร้อยละ 67.3) เป็นคฤหัสถ์(ร้อยละ 67.3) เป็นครูประจำ (ร้อยละ 58.9) ทำงานมาแล้วไม่เกิน 3 ปี (ร้อยละ 55.1) มีรายได้ต่อเดือนอยู่ระหว่าง 5,000-10,000 บาท (ร้อยละ 80.2) มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ต่างจังหวัด (ร้อยละ 64.1)มีระยะทางจากบ้านพักถึงโรงเรียนน้อยกว่า 10 กิโลเมตร (ร้อยละ 52.1) ใช้เวลาในการเดินทาง 1 ชั่วโมง (ร้อยละ 49.4) มีจำนวนคาบที่สอนต่อสัปดาห์ตั้งแต่ 14 คาบขึ้นไป (ร้อยละ 51.0) สอนจำนวน 2 วิชาขึ้นไป (ร้อยละ 52.5) มีความถนัดมากในวิชาที่สอน (ร้อยละ 52.8) มีภาระหน้าที่ในครอบครัวน้อย (ร้อยละ 55.7) และมีภาระงานที่ได้รับผิดชอบอื่น ๆ 1 หน้าที่ (ร้อยละ 60.0)
ความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ทุกด้านอยู่ในระดับปานกลาง ความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีระดับความพึงพอใจมากที่สุด คือ ด้านผู้บริหารโรงเรียน (ค่าเฉลี่ย 3.64) รองลงมา ด้านความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงาน (ค่าเฉลี่ย 3.61) ด้านบรรยากาศและสภาพแวดล้อมการทำงาน (ค่าเฉลี่ย 3.44) ด้านโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ (ค่าเฉลี่ย 3.43) ด้านนโยบายและวัตถุประสงค์ของโรงเรียน (ค่าเฉลี่ย 3.39) ด้านการสนับสนุนของหน่วยงานต้นสังกัด (ค่าเฉลี่ย 3.06) และด้านที่มีระดับความพึงพอใจน้อยที่สุดคือ ด้านรายได้และสวัสดิการ (ค่าเฉลี่ย 2.82)
กำลังขวัญในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยภาพรวมอยู่ในระดับดี เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีระดับกำลังขวัญดีที่สุด คือด้านความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาต่อพุทธศาสนา (ค่าเฉลี่ย 4.21) รองลงมา ด้านความรู้สึกผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน (ค่าเฉลี่ย 4.01) ด้านความสามัคคีรักใคร่ในเพื่อนครู (ค่าเฉลี่ย 3.83) และด้านความตั้งใจและอุทิศตนในการพัฒนาการทำงาน (ค่าเฉลี่ย 3.72) ด้านที่มีระดับกำลังขวัญปานกลาง คือ ความรู้สึกมั่นคงและราบรื่นในอาชีพ (ค่าเฉลี่ย 3.57) ด้านความรู้สึกเชื่อมั่นในอาชีพและการยอมรับนับถือ (ค่าเฉลี่ย 3.51) และด้านความยุติธรรมในการปฏิบัติงาน (ค่าเฉลี่ย 3.41)
ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อกำลังขวัญในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ จำนวนรายวิชาที่สอน ภาระหน้าที่ในครอบครัว และระดับความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน

วิจารณ์
จากผลการวิจัยดังกล่าวข้างต้นพบว่า ครูส่วนใหญ่ที่สอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่มีอัตราเงินเดือนไม่เหมาะสมกับค่าครองชีพที่อยู่ในสภาพของเมืองหลวง และมีครูจำนวนไม่น้อยที่ต้องหารายได้เสริมด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การค้าขายหลังเลิกเรียน การสอนพิเศษ เป็นต้น
เหตุผลที่สำคัญที่ว่า ครูทำไมถึงต้องทำงานอยู่ที่โรงเรียนเหล่านี้ในเมื่อค่าตอบแทนน้อย ผลการวิจัยสะท้อนให้เห็นว่า ครูที่สอนในโรงเรียนแห่งนี้มีความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาต่อพุทธศาสนา มีความรู้สึกผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน รวมถึงความสามัคคีรักใคร่ในเพื่อนครู อันเนื่องมาจากครูส่วนใหญ่ที่สอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร ตระหนักถึงความสำคัญของโรงเรียนแห่งนี้ว่าเป็นโรงเรียนที่ทำการสอนให้แก่พระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา อันเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้มั่นคงด้วย ทำให้การได้มาสอนที่โรงเรียนแห่งนี้จะทำให้ได้มีโอกาสในการสร้างบุญกุศลซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวพุทธศาสนิกชนทุกคนปรารถนานั่นเอง และรวมถึงการเชิดชูพระพุทธศาสนาให้ยาวนานด้วยการถวายความรู้ต่อผู้เป็นพุทธศาสนทายาทตลอดไปได้ จึงทำให้ครูที่สอนอุทิศเวลาในการถวายความรู้ให้กับพระภิกษุสามเณรอย่างเต็มกำลังความสามารถ
บทสรุปสุดท้ายของผู้วิจัยอยากสะท้อน ด้วยใจความของผลการวิจัยให้ครูและประชาชนได้เข้าใจไว้ว่า “การทำงานในองค์กรใดองค์กรหนึ่งผู้ปฏิบัติงานจะทุ่มเทและเสียสละให้กับองค์กรนั้น ๆ มิใช่ปัจจัยเรื่องเงินทอง เป็นสำคัญนัก ยังคงมีปัจจัยที่มองไม่เห็นที่คอยเป็นกำลังขวัญให้กับผู้ปฏิบัติงาน ได้ช่วยกันสร้างองค์นั้น ๆ ให้ก้าวหน้า มั่นคงและยั่งยืน”
-------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ. 2544. หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544.กรุงเทพมหานคร: กระทรวงศึกษาธิการ.
________. 2546. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ).
ชาญชัย อาจินสมาจาร. 2527. การบริหารการศึกษา. ปัตตานี: สำนักงานเลขานุการ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.
ณรรฐพล สัณฑมาศ. 2542. กำลังขวัญในการปฏิบัติงานของพนักงานครูเทศบาลเมือง วารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี. ภาคนิพนธ์คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
พนัส หันนาคินทร์. 2542. ประสบการณ์ในการบริหารบุคลากร. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
มนูญ จันทร์สุข. 2544. ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของข้าราชการครูในโรงเรียนเสี่ยงภัยและกันดารจังหวัดยะลา. ภาคนิพนธ์คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
วิชัย ครองยุติ. 2541. กำลังขวัญในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ: ศึกษาเฉพาะกรณี อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี. ภาคนิพนธ์คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
วิชัย แหวนเพชร. 2543. มนุษยสัมพันธ์ในการบริหารอุตสาหกรรม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ธรรมกมล.
สุนันทา เลาหนันทน์. 2531. การพัฒนาองค์การ(Organization Development). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา.
อารีรัตน์ อูเซ็ง. 2546. กำลังขวัญในการปฏิบัติงานของข้าราชการครูโรงเรียนสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส. ภาคนิพนธ์คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
อุษา บุญรอด. 2546. ความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของบุคลากรพยาบาล โรงพยาบาล หนองจอก สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร. ภาคนิพนธ์คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
Davis, R.C. 1951. The Fundamentals of Top Management. New York: Harper and Brother, Co.
Flippo, E.B. 1961. Principles of Personal Management. New York: McGraw- Hill, Inc.
Herzberg, F.B. & Synderman, B.B. 1959. The Motivation to Work. New York: John Wiley & Sons. McGREGOR D (1960) The Human Side of Enterprise New York McGraw-Hill
Maslow, A.H. 1954. Motivation and Personality. New York: Haper and Brothers.
Yoder, D. 1959. Personnel Principles and Policies. Maruzen Company, Ltd.
Wahba, H. (1978), "Motivation, performance and job satisfaction of librarians", Law Library Journal, Vol. 71.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น